02 149 5555 ถึง 60

 

New Normal ชีวิตวิถีใหม่

New Normal ชีวิตวิถีใหม่

ทำความรู้จักศัพท์คำว่า New Normal

และแล้วพวกเราทั้งหลายก็ได้ก้าวมาถึงยุคที่มีการเปลี่ยนแปลง ทั้งส่วนพฤติกรรมส่วนบุคคล ครอบครัว สังคม รวมไปถึงสภาพแวดล้อม อย่างฉับพลัน อันเนื่องมาจากโรคอุบัติใหม่ หลายคนคงจะเริ่มคุ้นเคยกับศัพท์คำว่า New Normal กันแล้ว หลายท่านอาจจะยังไม่รู้ว่า คำนี้ได้เกิดขึ้นมานานแล้ว วันนี้เราลองมาหาคำตอบดูว่า ความหมายของ New Normal ในอดีตกับปัจจุบัน และการเรียนรู้วิถีชีวิตใหม่เพื่อป้องกันตนเองและผู้อื่น ที่สำคัญเพื่อการปรับตัวดำเนินชีวิตเป็นปกติบนพื้นฐาน New normal

ประวัติความเป็นมาของคำว่า New Normal

New Normal ถูกนำมาใช้ครั้งแรกโดยบิลล์ กรอส (Bill Gross) ผู้ก่อตั้งบริษัทบริหารสินทรัพย์ชาวอเมริกัน โดยตอนนั้นเขาใช้อธิบายถึงสภาวะเศรษฐกิจโลก หลังจากเกิดวิกฤติเศรษฐกิจแฮมเบอร์เกอร์ ในสหรัฐฯ ช่วงระหว่างปี 2007-2009

สาเหตุที่ต้องใช้คำว่า “New Normal" เพราะเดิมทีวิกฤติเศรษฐกิจจะมีรูปแบบค่อนข้างตายตัวและเป็นวงจรเดิม คือเมื่อเศรษฐกิจเติบโตไปได้ช่วงระยะหนึ่ง จะมีปัจจัยที่ทำให้เกิดเป็นวิกฤติทางเศรษฐกิจ และหลังจากเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ ไม่นานเศรษฐกิจก็จะเริ่มฟื้นตัว แล้วก็กลับมาเติบโตได้ดีอีกครั้ง สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นปกติ จนเรียกได้ว่าเป็น ‘เรื่องปกติ’ (Normal) ก็ได้

แต่หลังจากการเกิดวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ หลายคนมองว่าเศรษฐกิจโลกจะไม่สามารถกลับไปเติบโตได้ดีเหมือนเดิม ด้วยปัจจัยต่างๆ เช่น การพยายามกระตุ้นเศรษฐกิจมากเกินไป ทั้งที่หลายประเทศมีหนี้สาธารณะสูงมาก การยืมเงินจากอนาคต เพื่อแลกกับการเติบโตทางเศรษฐกิจในวันนี้ จะส่งผลให้เติบโตได้ลดลงในอนาคต ดังนั้นคำว่า “New Normal" จึงถูกนำมาใช้เพื่อพูดถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ถดถอยลงและคาดว่าจะไม่กลับมาเติบโตในระดับเดิมได้อีกต่อไป

โควิด-19 กับ New Normal

ก่อนสถานการณ์โควิด-19 ในแง่การพัฒนาประเทศและเศรษฐกิจ ประเทศไทยได้เผชิญวิกฤติมาหลายครั้ง แต่โควิด-19 ถือปรากฏการณ์ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงมหาศาล เพราะเป็นการระบาดใหญ่ทั่วโลก ส่งผลให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมอย่างรุนแรงในระยะสั้น และหลายพฤติกรรมจะอยู่ถาวรกลายเป็น New Normal ซึ่งเป็นสิ่งที่หลายองค์กรกำลังศึกษาอยู่

เนื่องจากโควิด-19 เป็นโรคอุบัติใหม่ที่เรายังไม่รู้จักมาก่อน ส่งผลต่อวิถีชีวิต การทำงาน การดำเนินชีวิตประจำวัน การเกิดขึ้นและการดำเนินโควิด-19 ครั้งนี้ จึงเป็นสถานการณ์ที่หลายคนคาดว่าคงจะยาวนานพอสมควร จนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างถาวรในหลายพฤติกรรมของผู้คน ความไม่แน่นอนและการคาดเดาสถานการณ์ไม่ได้ ประกอบกับการได้รับข้อมูลข่าวสารถึงผลกระทบต่างๆ อาจก่อให้เกิดความเครียด ความกลัว ในจิตใจของคนไทยได้ทุกเพศทุกวัย

เทรนด์พฤติกรรมแบบ New Normal กับชีวิตวิถีใหม่ของคนไทย

มีข้อมูลจากเวปป์ไซท์ธรรมนิติ ได้เผยแพร่ข้อมูลการสำรวจของซุปเปอร์โพลและนำเสนอแนวทางชีวิตวิถีใหม่ของคนไทยไว้ มีดังนี้คือ

1. การใช้เทคโนโลยี และอินเทอร์เน็ต

เทคโนโลยีควบคู่กับอินเทอร์เน็ตจะเข้ามามีบทบาทกับการใช้ชีวิตมากขึ้น ที่จากเดิมมีมากอยู่แล้ว แต่ในสังคมยุค New Normal สิ่งเหล่านี้จะเข้าไปอยู่ในแทบทุกจังหวะชีวิต ไม่ว่าจะเป็น การเรียนออนไลน์ การทำงานที่บ้าน การประชุมออนไลน์ การซื้อสินค้าออนไลน์ การทำธุรกรรม และการเอ็นเตอร์เทนชีวิตรูปแบบต่างๆ อย่างดูหนัง ฟังเพลง

2. การเว้นระยะห่างทางสังคม

ผู้คนในสังคมจะเห็นความสำคัญของการเว้นระยะห่างที่เป็นแนวทางการใช้ชีวิตช่วงวิกฤติโควิด-19 และจะดำเนินชีวิตแบบนั้นต่อไป โดยรักษาระยะห่างทางกายภาพเพิ่มขึ้น และใช้เทคโนโลยีเข้ามามีส่วนช่วยในการสื่อสารและการใช้ชีวิต ลดการปฏิสัมพันธ์ การไปในสถานที่สาธารณะ และเน้นการทำกิจกรรมที่บ้านมากขึ้น

3. การดูแลใส่ใจสุขภาพทั้งตัวเองและคนรอบข้าง

โดยเกิดความคุ้นชินจากช่วงวิกฤติโควิด-19 ที่ต้องดูแลด้านสุขภาพและความสะอาดเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ ดังนั้นพฤติกรรมการใช้หน้ากากอนามัย เจลแอลกอฮอล์ และการล้างมืออย่างถูกวิธี และหมั่นสังเกตตัวเองเมื่อไม่สบายจะยังคงมีต่อไป รวมถึงการหันมาใส่ใจสุขภาพ การออกกำลังกาย และการทำประกันสุขภาพจะมีแนวโน้มมากขึ้น

4. การสร้างสมดุลชีวิต

การมีโอกาสได้ทำงานที่บ้าน ลดจำนวนวันการเข้าออฟฟิศ หรือการลดการพะปะผู้คนในสังคม แล้วหันมาใช้ชีวิต และทำงานที่บ้าน ทำให้ผู้คนมองเห็นแนวทางที่จะสร้างสมดุลชีวิตระหว่างอยู่บ้านมากขึ้น และจะเป็นแนวทางในการปรับสมดุลชีวิตระหว่างเวลาส่วนตัว การงาน และสังคมให้สมดุลมากยิ่งขึ้น

แนวทางการปรับตัวพลิกวิกฤติเป็นโอกาส

ในสถานการณ์วิกฤติที่เกิดขึ้น หากภาคส่วนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นภาคธุรกิจ ภาครัฐ หรือส่วนบุคคล ไม่ว่าจะเป็นด้านสุขภาพ สังคม เศรษฐกิจ ล้วนต้องปรับตัว อย่างไรก็ตามทุกปัญหามีทางออกเสมอ และทุกอย่างเชื่อว่ายังมีโอกาสไปต่อได้ มีแนวทางจากองค์กรภาคธุรกิจ ซึ่งดูเหมือนจะปรับตัวได้เร็วได้นำเสนอแนวทางเพื่อเป็นไอเดีย โดย 4 แนวทางที่จะต้องพัฒนาให้ดีขึ้น หลังจบโควิด-19 ประกอบด้วย

1. การเร่งปรับตัวช่องทาง Offline to Online ในธุรกิจที่มีช่องทางขายออฟไลน์ต้องมองช่องทางออนไลน์เข้ามาเพิ่มเติม เพราะท้ายที่สุดหลังจบโควิ-19 การสั่งซื้อสินค้าออนไลน์จะกลายเป็นพฤติกรรมติดตัวผู้บริโภค ส่วนด้านสุขภาพ นอกจากการติดต่อสื่อสาร ให้ข้อมูลประชาสัมพันธ์แล้ว การบริการสุขภาพผ่านช่องทางดังกล่าวน่าจะได้รับความสนใจต่อผู้คนในสังคมมากยิ่งขึ้น

2. การขยายพื้นที่เพื่อเข้าถึงผู้บริโภค ในด้านเศรษฐกิจที่เห็นชัดตอนนี้ในช่วงวิกฤติที่ผ่านมาคือ ผู้ให้บริการ food aggregator เพราะเป็นโอกาสเพิ่มจำนวนผู้ใช้บริการ จากพฤติกรรมสั่งฟู้ดเดลิเวอรี่ ที่เป็น New Normal จากนี้ไปเราคงจะเห็นบริการด้านสุขภาพมีเดลิเวอรี่มากขึ้นเช่นเดียวกัน

3. พัฒนาโลจิสติกส์ จากการเรียนรู้ในพฤติกรรมผู้บริโภคในสถานการณ์โควิด-19 หากโลจิสติกส์ส่งช้า จะเป็นปัญหาต่อการเติบโตของธุรกิจเดลิเวอรี่

4. ขยายแพลตฟอร์ม Social Media ของแต่ละธุรกิจให้เข้าถึงผู้บริโภคให้มากที่สุด เพราะเทคโนโลยีมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องให้ใช้งานได้สะดวก เป็นสิ่งที่ผู้ผลิตและค้าปลีก ต้องใช้ประโยชน์จากแพลตฟอร์มโซเชียล มีเดียให้มากที่สุด

บริการสุขด้านสุขภาพจิตยุคโควิด-19

1. พัฒนาแอพพลิเคชั่นสุขภาพจิตสำหรับประชาชน

กรมสุขภาพจิตในช่วงที่ผ่านมาได้มีการปรับตัวเพื่อตอบสนองเชิงรุกให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ New Normal หลายอย่าง เพื่อตอบโจทย์ตอบสนองพฤติกรรมบุคคลและสังคมไทย ปรับบริการให้มีรูปแบบหลากหลาย โดยเฉพาะบริการออนไลน์ หรือ e-services ทั้งนี้สามารถหาได้จากเวปไซท์กรมสุขภาพจิต www.dmh.go.th วันนี้ขอนำเสนอเป็นตัวอย่าง โดยเป็นแอพพลิเคชั่นกรมสุขภาพจิต สำหรับประชาชน ซึ่งมีทั้งหมด 5 แอพพลิเคชั่น สามารถดาวน์โหลดได้จากลิงก์นี้ค่ะ https://www.dmh.go.th/apps/ โดยตัวอย่างแอพพลิเคชั่นดังกล่าว อาทิเช่น

1.1 แอพ Smile Hub

รวบรวมข้อมูลความรู้ที่ง่ายต่อความเข้าใจ รวมถึงแบบประเมินทางสุขภาพจิตที่สามารถทำและประเมินผลได้ออนไลน์ รวมถึงคำแนะนำความรู้ทางสุขภาพจิตเพื่อนำไปใช้ในการดูแล ปรับปรุงและพัฒนาอารมณ์ ความคิด สุขภาพจิตของตนและคนใกล้ชิดให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตในปัจจุบัน

1.2 แอพค้นพบความสุขกับลูกวัยรุ่น

เป็นแอพพลิเคชั่นเพื่อการค้นพบความสุขกับลูกวัยรุ่น สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กรมสุขภาพจิต ได้พัฒนาสื่อ Application ชุด “ค้นพบความสุขกับลูกวัยรุ่น” เพื่อให้พ่อแม่สามารถเข้าถึงความรู้การเลี้ยงดูลูกหลานวัยรุ่นในสังคมปัจจุบันได้อย่างถูกต้อง เหมาะสม ผ่านช่องทางการสื่อสารที่ทันสมัย และสามารถนำความรู้เหล่านี้ไปใช้

1.3 แอพ CAMHS-Aid

เป็นแอพพลิเคชั่นที่ออกแบบมาเพื่อช่วยบุคคลากรในสถานพยาบาลในการวินิจฉัยอาการทางจิตเวชในเด็กและวัยรุ่น อันเป็นผลจากการค้นคว้าและวิจัยโดยผู้เชี่ยวชาญจากโรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์

1.4 แอพ Sabaijai

แอปพลิเคชัน Sabaijai (สบายใจ) มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยในการประเมินสภาวะทางด้านจิตใจของบุคคลว่ามีภาวะที่เสี่ยงต่อการทำร้ายตนเองหรือไม่ โดยมีแบบคัดกรองให้ทำเพื่อประเมิน ภายในแอปพลิเคชันมีคำแนะนำที่จำแนกตามความเหมาะสมกับเพศและอายุ โดยอายุแบ่งออกเป็น 3 ช่วง คือ 15-24 ปี อายุ 25-59 ปี และอายุ 60-65 ปี

1.5 แอพ Mental Health Check-up

2 บริการ e-Services

2.1 โควิด-19 กับสุขภาพจิต

โดยในช่วงระบาดรุนแรงที่ผ่านมานั้น กรมสุภาพจิตได้พัฒนาองค์ความรู้สำหรับบริการ e-services ให้สอดคล้องกับปัญหาการปรับตัวในช่วงระบาดของโควิด-19 หลายอย่าง เพื่อบรรเทาภาวะเครียด วิตกกังวลของประชาชนให้บรรเทาลงด้วยตัวเองในช่วงกักตัวที่บ้าน ท่านสามารถเข้าศึกษาได้จากลิงก์ โควิด-19 กับสุขภาพจิต จากหน้าแรกของเวปป์กรมสุขภาพจิตได้เลยค่ะ มีตัวอย่างแนะนำ อาทิ การบริการทางจิตแบบชี่กง เทคนิคการหายใจคลายเครียด ห่างกันสักพักแต่รักกันเหมือนเดิม เป็นต้น

2.2 จองคิวออนไลน์ (สำหรับผู้เคยใช้บริการในหน่วยงานของกรมสุขภาพจิตแล้ว)

2.3 รับยาใกล้บ้าน

2.4 แบบประเมินด้านสุขภาพจิต ให้ท่านผู้อ่านได้ประเมินตนเองเบื้องต้น ก่อนเข้ารับบริการด้านสุขภาพจิตจากหน่วยงานของกรมสุขภาพจิตทั่วประเทศ

ทั้งหมดที่กล่าวมาเป็นตัวอย่างที่กรมสุขภาพจิตได้ดำเนินการบริการเชิงรุกผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ และกำลังจะมีบริการใหม่ๆอีกหลายรายการที่ไม่ได้กล่าวถึงในที่นี่ค่ะ

แหล่งข้อมูล

1. https://www.dmh.go.th/apps/

2. https://www.brandbuffet.in.th/2020/04/nielsen-changing-consumer-behavior-in-covid19/

3. https://www.dharmniti.co.th/new-normal/

27 May 2563

By nitayaporn.m

Views, 155083

 

Preset Colors