02 149 5555 ถึง 60

 

แอปพลิเคชัน “HERO”

แอปพลิเคชัน “HERO”

กรมสุขภาพจิต เปิดตัว แอปพลิเคชัน “HERO” เพื่อค้นหากลุ่มเสี่ยงปัญหาสุขภาพจิตในกลุ่มวัยเรียน

เมื่อเดือนที่แล้ว ได้เกริ่นนำว่ากรมสุขภาพจิตได้มีการปรับกลยุทธ์บริการสุขภาพจิต โดยเน้นไปที่บริการออนไลน์มากขึ้น คงจะสามารถเป็นทางเลือกให้ประชาชนไทยได้เข้าถึงบริการสุขภาพจิตได้สะดวก รวดเร็ว ตอบสนองวิถีชีวิตใหม่ (New Normal) ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าปัญหาโควิด-19 ยังเป็นภัยคุกคามวิถีชีวิตผู้คนบนโลกใบนี้ต่อไป อย่างไรก็ตาม พวกเราทั้งหลายในโลกใบนี้จำต้องปรับตัวเพื่ออยู่กับโควิด-19 ให้มีความเสี่ยงน้อยที่สุด อีกทั้งยังป้องกันปัญหาอื่นที่อาจจะพักตัวชั่วคราว รอวันปะทุทุกเมื่อถ้าการ์ดตกขณะเดียวกันช่วงนี้รัฐบาลได้คลายล้อกทางเศรษฐกิจมากขึ้น โรงเรียนก็ถึงวันต้องเปิดเทอม นอกจากการปรับตัวเพื่ออยู่กับโควิด-19 สิ่งหนึ่งที่เราไม่ควรมองข้ามคือปัญหาสุขภาพจิตเด็กวัยเรียน วันนี้จึงขออัพเดทข้อมูลบริการจากกรมสุขภาพจิตดังนี้ค่ะ

Hero Application

เมื่อไม่กี่วันมานี้ (29 มิ.ย.2563) กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข นำโดยอธิบดีกรมสุขภาพจิตและผู้เกี่ยวข้อง ได้เปิดตัวแอปพลิเคชั่น “HERO” (Health and Educational Reintegrating Operation) โดยเป็นนวัตกรรมจากการความร่วมมือระหว่างกรมสุขภาพจิต และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ รองรับวิถีชีวิตใหม่ ช่วยดูแลสุขภาพจิตเด็กนักเรียนในช่วงเปิดภาคเรียนภายใต้สถานการณ์โควิด-19

นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต เปิดเผยต่อสื่อมวลชนในวันเปิดตัวแอปพลิเคชั่นว่า สถานการณ์โควิด-19 ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อผู้ใหญ่เพียงเท่านั้น ในช่วงที่ผ่านมากลุ่มวัยเด็กและวัยรุ่นที่มีความจำเป็นต้องอยู่บ้านหยุดเชื้อเพื่อชาติ ไม่ได้ไปเรียนและเล่นตามวัย โดยเฉพาะหากพ่อแม่ผู้ปกครองมีความเครียดจะส่งผลต่อพฤติกรรมและอารมณ์ของเด็กตามไปด้วย ซึ่งการระบาดของโควิด-19 ในหลายประเทศพบว่า ปัญหาความรุนแรงในครอบครัวมีสาเหตุจากการที่ต้องเก็บตัวอยู่บ้านกันเพิ่มขึ้น และกลุ่มเสี่ยงสำคัญคือเด็กและวัยรุ่นซึ่งยังช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ทั้งหมด และมักแสดงออกเป็นปัญหาพฤติกรรม อารมณ์ สังคม ทำให้เด็กไม่สามารถเรียนหรือใช้ชีวิตตามปกติได้

แอปพลิเคชั่นเชื่อมต่อ เด็ก ครู หมอ พ่อแม่อย่างต่อเนื่อง

กรมสุขภาพจิต ได้พัฒนาระบบบริการสุขภาพจิตด้วยการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยพัฒนาประสิทธิภาพการดูแลและติดตามประเมินผล ในกลุ่มเด็กที่ป่วยหรือมีปัญหาการเรียนแต่ละคน โดยให้สถาบันพัฒนาการเด็กราชนครินทร์ จ.เชียงใหม่ เป็นผู้พัฒนา “แอปพลิเคชั่นฮีโร่” เชื่อมการดูแลเด็กร่วมกันระหว่างผู้ดูแล 3 ฝ่าย คือ ครู หมอ พ่อแม่อย่างต่อเนื่อง และขยายผลใช้ทุกพื้นที่ ซึ่งแอปฯ นี้จะช่วยให้เด็กที่มีปัญหาพฤติกรรมอารมณ์ที่อาจเกิดมาจากโรคทางจิตเวชที่พบได้บ่อย 6 โรค ได้แก่ โรคสมาธิสั้น โรคบกพร่องทางการเรียนรู้ โรคสติปัญญาบกพร่อง โรคออทิสติก โรคดื้อต่อต้าน และโรคซึมเศร้า เข้าถึงบริการดูแลรักษาเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันจะใช้แอปฯนี้ เป็นฐานข้อมูลของประเทศ ในการดูแลรักษาเด็กนักเรียนที่มีปัญหาการเรียนและมีปัญหาพฤติกรรมอารมณ์ในภาพรวมทั้งหมดด้วย

มีการศึกษาวิจัยยืนยันประสิทธิภาพประสิทธิผลของแอปพลิเคชัน

เดิมแบบประเมินสังเกตอาการเพื่อคัดกรองเด็กที่มีปัญหาด้านพัฒนาการนั้น ที่มีใช้กันเรียกว่า SDQ25 มีข้อคำถามทั้งหมดจำนวน 25 ข้อ แต่เมื่อประเมินผลจากการใช้งานแล้ว ค่อนข้างมีข้อจำกัด เพราะต้องตอบข้อคำถามมาก ดังนั้น กรมสุขภาพจิต โดยสถาบันพัฒนาเด็กราชนครินทร์ จึงได้พัฒนาต่อเนื่องเพื่อให้กระชับ จึงเป็นแบบสังเกตอาการตัวใหม่ โดยลงในแอปพลิเคชัน HERO ซึ่งเป็นพัฒนาการที่มีมาต่อเนื่อง โดยครั้งนี้มีชื่อเรียกว่า 9S ประเมินเพียง 9 ข้อเท่านั้น ทำให้สามารถประเมินได้ง่าย ใช้เวลาสั้น ค้นหาและช่วยเหลือได้เร็วขึ้น อีกทั้งยังได้เน้นให้เห็นความสำคัญของครู ในการเรียนรู้เทคนิคการส่งเสริมพัฒนา ป้องกัน แก้ไข เรื่องสุขภาพจิตเด็ก ดูแลประเมินผล และปรึกษาและส่งต่อได้ ซึ่งหลังคัดกรองครูก็จะต้องให้คำปรึกษา และปรับพฤติกรรมเบื้องต้น โดยครูบางท่านมีทักษะอยู่แล้ว บางท่านหากอยากเรียนรู้เพิ่มเติมในตัวระบบ HERO ก็จะมีอีเลิร์นนิงให้ไปเรียนรู้ นำไปใช้ให้คำปรึกษาหารือและปรับพฤติกรรมเด็กได้

จากการดำเนินการศึกษาทดลองนำร่องใน 13 พื้นที่ คัดกรองเด็ก ม.1 จำนวน 5,311 คน โดยใช้ 2 เครื่องมือ คือ 9S และ SDQ-25 (The Strengths and Difficulties 25 ข้อ) เปรียบเทียบกัน ผลพบว่า แบบประเมิน 9S สามารถเฝ้าระวังกลุ่มเสี่ยงได้มากกว่า คือ 24.72% ส่วน SDQ-25 ได้ 11.45% เท่านั้น ถือว่ามีประสิทธิภาพมากกว่า และมีจำนวนข้อน้อยกว่า ในแง่ประสิทธิผล พบว่าเด็กกลุ่มเสี่ยงได้รับการติดตามดูแลสุขภาพจิตจนสามารถดีขึ้นเป็นปกติรวม 70% ส่งต่อแพทย์เพียง 30% ถือว่าเป็นผลดีต่อตัวเด็ก มีการเชื่อมโยงครูและหมอในระบบดิจิทัล ทั้งนี้กรมสุขภาพจิตได้เตรียมบุคลากรสุขภาพจิต ทั้งนักจิตวิทยา นักจิตวิทยาโรงเรียน พยาบาลสุขภาพจิต จิตแพทย์ จิตแพทย์เด็กทุกอำเภอ นับว่าเป็นระบบที่มีประสิทธิภาพเด็กได้รับการช่วยเหลือโดยไม่ต้องไป รพ. ไม่เป็นภาระค่าใช้จ่าย ไม่กระทบเวลาเรียนทั้งนี้แนวทางการคัดกรองนี้จะไม่เพิ่มภาระให้กับคุณครู หากครูติดตามดูแลแล้วยังไม่ดีขั้น สามารถขอคำปรึกษาจากบุคลากรสาธารณสุขในทุกอำเภอผ่านแอปพลิเคชัน โดยกรมสุขภาพจิตเตรียมความพร้อมทีมในแต่ละพื้นที่เพื่อเป็นที่ปรึกษาด้านสุขภาพจิตสำหรับคุณครู ขณะนี้มี HERO Consultant อยู่ในทุกเขตสุขภาพ

9 ข้อง่ายๆ คัดกรองปัญหาสุขภาพจิตของเด็ก

แอปพลิเคชัน “HERO” ใช้สำหรับเป็นแนวทางการเฝ้าระวังปัญหาสุขภาพจิตของเด็กและวัยรุ่น ผ่านคำถาม 9 ข้อง่าย ๆ คัดกรองอาการของเด็ก ได้แก่ 1. ซนเกินไป 2. ใจลอย 3. รอคอยไม่เป็น 4. เศร้า/เครียด หงุดหงิดง่าย 5. ท้อแท้ เบื่อหน่าย 6. ไม่อยากไปโรงเรียน 7. ถูกเพื่อนแกล้ง 8. แกล้งเพื่อน และ 9. ไม่มีเพื่อน

แนวโน้มเด็กวัยเรียนมีปัญหาสุขภาพจิตเพิ่ม

นายสนิท แย้มเกษร รองเลขาธิการ กพฐ. ได้เปิดเผยในวันเปิดตัวแอปฯดังกล่าวเช่นกันว่า ในช่วงที่ผ่านมา รวมทั้งสถานการณ์โควิด-19 มีการรายงานข้อมูลความต้องการการช่วยเหลือด้านสุขภาพจิตของเด็กและเยาวชนในช่วงวัยเรียนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงได้ทำงานร่วมกับกรมสุขภาพจิตในหลายมิติ ซึ่งแอปพลิเคชั่น “HERO” จะช่วยดูแลสุขภาพจิตของเด็กนักเรียนได้ตั้งแต่ในระยะเริ่มต้นในการสังเกต เฝ้าระวังและคัดกรองเด็กในชั้นเรียน ที่สำคัญของแอปพลิเคชันจะเชื่อมโยงการดูแลสุขภาพจิตนักเรียนระหว่างคุณครูกับแพทย์ ไม่จำเป็นต้องนำนักเรียนไปโรงพยาบาล ช่วยลดโอกาสเสี่ยงต่อการสัมผัสเชื้อต่าง ๆ ประหยัดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง และไม่ส่งผลกระทบต่อการเรียน โดยในปีการศึกษา 2563 นี้ สพฐ. ได้มีการเชื่อมโยงข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับแอปพลิเคชั่น HERO นี้ เพื่อลดภาระครูในการกรอกข้อมูลและประมวลผลภาพรวมเพื่อดูแลส่งเสริมสุขภาพจิตของนักเรียน โดยประวัติของนักเรียนทุกคนจะถูกเก็บไว้อย่างปลอดภัยในระบบคลาวด์ เพื่อให้คุณครูได้ส่งต่อถึงทีมจิตแพทย์และ HERO Consultant ครอบคลุมทั้งประเทศ

กล่าวโดยสรุป

แอปพลิเคชั่นฮีโร่ หรือ 9s ได้รับการพัฒนามาจากแบบวัดพัฒนาการเด็ก SDQ เวอร์ชั่นก่อนหน้าคือ 25 ข้อ มาเป็น 9 ข้อ เพื่อให้สามารถใช้ง่าย ซึ่งถูกออกแบบพัฒนาต่อเนื่องมาเพื่อตอบโจทย์วิถีชีวิตแนวใหม่ หรือ New Normal ของ เด็กวัยเรียน ที่ ณ เวลานี้ได้เปิดเทอมเพื่อกลับมาสู่วิถีชีวิตปกติแม้สถานการณ์โควิด-19จะยังดำเนินอยู่ เป็นบริการสุขภาพจิตออนไลน์ อีกทางเลือกหนึ่ง ที่ครู ผู้ปกครองได้สามารถติดตามเฝ้าระวังปัญหาการพัฒนาเด็กในความดูแล ให้มีพัฒนาการสมวัยห่างไกลจากโรคทางจิตเวช หวังว่าจะสามารถลดภาระครู ผู้ปกครอง และผู้เกี่ยวข้องอื่นๆ รวมทั้งลดความเสี่ยงจากการที่ต้องมาขอรับบริการสุขภาพจิตในสถานบริการ แอปพลิเคชั่นฮีโร่ สามารถใช้ได้ทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ผลดีของแอปฯนี้ จะเป็นการค้นหาเด็กที่มีความผิดปกติแต่ยังไม่ถึงขั้นป่วย ให้ได้รับการดูแลตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อไม่ให้กลายเป็นผู้ป่วยในช่วงวัยรุ่น ส่วนเด็กที่ป่วยก็จะได้รับการดูแลรักษาอย่างต่อเนื่องและอยู่ในระบบการศึกษาที่เหมาะสม สามารถติดต่อสอบถามได้ที่กลุ่มภารกิจสนับสนุนและพัฒนาเครือข่ายบริการ สถาบันพัฒนาการเด็กภาคเหนือ จ.เชียงใหม่ เบอร์โทรศัพท์ 053 908 300 ต่อ 73140

8 July 2563

By nitayaporn.m

Views, 13943

 

Preset Colors