02 149 5555 ถึง 60

 

แอปพลิเคชั่นคุยกัน (KhuiKun)

แอปพลิเคชั่นคุยกัน (KhuiKun)

คุยกัน (KhuiKun) เป็นแอปพลิเคชั่นใหม่ ที่มีให้บริการบนแอปพลิเคชั่นไลน์ เป็นบริการสุขภาพจิตให้การปรึกษาเบื้องต้น ในกลุ่มเสี่ยงที่มีปัญหาสุขภาพจิต เพื่อป้องกันปัญหาการฆ่าตัวตาย ที่คร่าชีวิตผู้คนก่อนวัยอันควร บริการดังกล่าวนี้ เป็นบริการเชิงรุกในยุคโควิดโดยอธิบดีกรมสุขภาพจิต นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ในปัจจุบัน ได้มีนโยบายให้หน่วยงานสังกัดกรมสุขภาพจิต ปรับปรุงบริการสุขภาพจิตให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตปัจจุบัน ที่พวกเราๆท่านๆทั้งหลายต้องดำเนินชีวิตท่ามกลางการระบาดของโควิด-19 ที่ยังสร้างปัญหาไปทั่วโลก ซึ่งมีบริการเชิงรุกมากมายเกิดขึ้น เพื่อตอบโจทย์ยุค New Normal ให้ประชาชนไทย (ทั้งที่อยู่ในประเทศไทยและต่างประเทศ) ได้สามารถเลือกใช้บริการ ในช่วงที่ยังมีความเสี่ยงของโควิด-19 ระบาดอยู่ค่ะ

แชทบอท (ChatBot)

หลายท่านที่เป็นลูกค้าธนาคาร จะเห็นบริการอันหนึ่งที่น่าสนใจคือ ในแอปพลิเคชั่นไลน์นั้น ธนาคารใหญ่ๆทั้งหลาย อาทิ กรุงไทย กสิกร ไทยพาณิชย์ .....มีบริการไลน์ติดต่อลูกค้า อาทิ ไทยพาณิชย์ก็มีแม่มณีคอยตอบคำถาม หากเราสนใจอยากทราบข้อมูลเบื้องต้นบางอย่าง เพียงเราเปิดแชทถาม ก็จะมีคำตอบมาให้เราทันที โดยเป็นการรวบรวมลักษณะคำถามที่ถูกถามบ่อย แล้วธนาคารจัดให้มีคำตอบสั้นๆให้เราได้ทราบ ที่หลายท่านอาจจะเคยได้ยิน “แชทบอท” บอท ที่ว่าหมายถึงหุ่นยนตร์ค่ะ เป็นบริการหนึ่งที่น่าตื่นตาไม่น้อย ไม่ต้องโทรศัพท์เข้าไปแล้วเจอการรอสายแบบเดิม (แถมเพลงที่เราไม่ค่อยอยากฟังเท่าใดนักให้ฟังนานมากกก....ที่สำคัญคือค่อยสูบเงินจากกระเป๋าเราเงียบๆ) อีกต่อไป ใช้เทคโนโลยีแอปพลิเคชั่นในโทรศัพท์ที่คนยุคปัจจุบันไม่มีใครที่ไม่มี

แชทบอท หรือผู้ช่วยอัจฉริยะ เป็นบริการตอบคำถามของผู้ใช้บริการตลอด 24 ชั่วโมง สามารถเข้าถึงลูกค้าได้ตรงจุด โดยการจัดกลุ่มลูกค้าให้ตรงตามความสนใจ เพื่อให้ผู้ให้บริการสามารถสื่อสารข้อมูลได้อย่างตรงกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น

ปัญหาสุขภาพจิตพฤติกรรมฆ่าตัวตาย

ปัญหาฆ่าตัวตายถือเป็นปัญหาที่สำคัญทั่วโลก องค์การอนามัยโลกได้กระตุ้นเตือนให้ผู้คนทั่วโลก ได้ให้ความสนใจและตระหนักในปัญหาเพื่อการป้องกัน ดังนั้น ทุกวันที่ 10 กันยายน ของทุกปี องค์การอนามัยโลกจึงกำหนดให้วันดังกล่าวเป็นวันป้องกันการฆ่าตัวตายโลก (World Suicide Prevention Day) หนึ่งในคำขวัญรณรงค์ที่ขอยกตัวอย่างนั่นคือ คำขวัญของปี พ.ศ. 2557 ที่ว่า Preventing Suicide: Reaching Out and Saving Lives การฆ่าตัวตายป้องกันได้ เพียงการยื่นมือออกมาก็ช่วยชีวิตผู้คนได้ เป็นการเน้นย้ำให้เห็นว่า ความช่วยเหลือแม้เพียงเล็กน้อย อาจจะสร้างบุญกุศลที่ยิ่งใหญ่คือ สามารถช่วยชีวิตผู้คนได้

ปัญหาการฆ่าตัวตายนั้น เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับทุกเพศทุกวัย โดยคนส่วนใหญ่ที่คิดฆ่าตัวตายมักจะส่งสัญญาณเตือนเพื่อการช่วยเหลือ เพียงแต่เราอาจจะไม่เข้าใจหรือไม่รู้ว่านั่นคือสัญญาณเตือนการฆ่าตัวตาย เช่น แยกตัวไม่พูดคุยกับใคร มีอารมณ์ขึ้นๆลงๆ มีน้ำเสียงวิตกกังวล สีหน้าเศร้าหมอง หรือ ชอบพูดเปรยๆว่าอยากตาย ไม่อยากมีชีวิตอยู่ ไม่มีค่า ไม่มีใครรัก ไม่มีใครสนใจ มีการพูดจาฝากฝัง หรือ เคยพยายามฆ่าตัวตายมาแล้ว เป็นต้น หรือบางครั้งอาจจะเห็นการพิมพ์ข้อความในสื่อโซเชียล สั่งเสียเป็นนัยๆ เช่น ขอบคุณ /ขอโทษ หรือลาก่อน พูดถึงความตาย ความเจ็บปวด การสูญเสีย หรือไม่อยากอยู่อีกต่อไปแล้ว บอกว่าตัวเองรู้สึกผิด รู้สึกล้มเหลว หมดหวังในชีวิต หรือบอกว่าตนเองเป็นภาระของผู้อื่น

สิ่งต่างๆ เหล่านี้เป็นสิ่งสำคัญที่เราไม่ควรละเลย โดยเฉพาะผู้ใกล้ชิด ครอบครัว ควรเข้าไปให้ความช่วยเหลือ ไม่ควร ตำหนิต่อว่า ท้าทายให้กระทำจริงๆ พูดล้อเลียน แชร์ หรือส่งต่อพฤติกรรมทำร้ายตนเองทางสื่อโซเชียล แต่ควรรับฟังอย่างเต็มใจ พร้อมให้ความช่วยเหลือ หรือแนะนำอย่างจริงใจ ให้กำลังใจ สร้างความหวังให้เห็นว่าปัญหาสามารถแก้ไขได้ นอกจากนั้นการถามเกี่ยวกับการคิดฆ่าตัวตาย จะช่วยลดความกดดัน ความกังวลใจ ผู้ที่คิดฆ่าตัวตายมีอยู่ และมีหลายรายที่รู้สึกโล่งใจเมื่อได้พูดถึงความคิดฆ่าตัวตายและคลายความเครียดลงจนไม่คิดฆ่าตัวตายได้

จึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่า บริการแอปคุยกันที่กรมสุขภาพจิตได้พัฒนาขึ้นมานี้และที่ได้นำเสนอในวันนี้ จะเป็นบริการทางเลือกหนึ่งในช่วงที่ผู้คนในสังคมจำเป็นต้องมี social distancing สื่อสารมีเดียจึงเป็นอุปกรณ์ที่ใกล้มือที่สุดที่จะสามารถช่วยป้องกันพฤติกรรมการฆ่าตัวตายของกลุ่มเสี่ยงที่ต้องการหาช่องทางรับการช่วยเหลือ ซึ่งหากว่าผู้ที่กำลังเผชิญปัญหาอยู่สามารถได้รับการช่วยเหลืออย่างทันท่วงที โดยที่ไม่ได้ถูกปล่อยให้เผชิญความทุกข์เพียงลำพัง จนไม่สามารถหาทางออกหรือแก้ไขปัญหานั้นได้ ก็จะช่วยให้ลดป้องกันการฆ่าตัวตายได้

บริการแชทคุยกัน (KhuiKun) รับฟัง (ทุกปัญหา) ปรึกษา (หาทางออก) คุยกัน (ได้ตลอด)

ดังนั้น กรมสุขภาพจิต โดยโรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่น ซึ่งเป็นเจ้าภาพหลักในการป้องกันปัญหาฆ่าตัวตายของกรมสุขภาพจิตมายาวนาน ได้พยายามที่จะปรับปรุงบริการต่างๆให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตปัจจุบันของผู้คน บริการแชทคุยกันจึงได้เกิดขึ้น ในเมื่อโลกทางธุรกิจทำได้ พวกเราชาวกรมสุขภาพจิตก็ทำได้เช่นกัน เพื่อการเข้าถึงกลุ่มเสี่ยงที่ตรงจุดมากขึ้น ซึ่งบริการแชทคุยกันนี้ มีมากกว่าแชทบอท ซึ่งเป็นการคุยกับข้อมูล (ที่ถูกรวบรวมมาจากคำถามคำตอบที่มักถามบ่อยๆ) ที่ทำงานโดยใช้เทคโนโลยี AI ตอบคำถามแบบ real time แต่บริการแชทบอทจึงมีข้อจำกัดตรงที่ถ้าถามไม่ตรงคำตอบที่มีก็จะจบการสนทนา

บริการให้การปรึกษาสุขภาพจิตแอปคุยกันนี้ ประชาชนที่เลือกใช้บริการจะได้มีโอกาสคุยกับเจ้าหน้าที่ผู้ให้บริการ (ตัวเป็นๆค่ะ) ในสามประเด็นหลักๆคือ รับฟัง (ทุกปัญหา) ให้การปรึกษา (หาทางออก) และ คุยกัน (ได้ตลอด) ในช่วงเวลาทำการตั้งแต่ 8.00 ถึง 0.00 น. นั่นคือ แม้ว่าจะเป็นเวลาหลังเวลาราชการยังมีผู้ให้บริการปรึกษาไปจนถึงเที่ยงคืน ซึ่งทางโรงพยาบาลเองได้จัดเจ้าหน้าที่ขึ้นเวรนอกเวลาเพื่อคอยตอบคำถามผู้ใช้บริการ เพื่อให้สามารถเข้าถึงบริการสุขภาพจิตที่เหมาะสม และได้รับการช่วยเหลือบรรเทาปัญหาอย่างทันท่วงที และท่านจะได้คุยกับบอทก็คือหลังเที่ยงคืนไปแล้ว

ถือเป็นโอกาสอันดีของประชาชนที่จะเข้าเลือกใช้บริการ โดยในช่วงที่เปิดบริการมาแล้วนี้ มีผู้ให้ความสนใจเป็นจำนวนมาก ทั้งที่เป็นชาวไทยในประเทศ ในต่างประเทศ และชาวต่างชาติ เข้าใช้บริการ ซึ่งบริการดังกล่าวนี้ถูกพัฒนาต่อยอดมาจากบริการให้การช่วยเหลือบุคคลากรช่วงปัญหาโควิด-19 ในประเทศระบาดอย่างกว้างขวางเมื่อสองสามเดือนที่ผ่านมา แม้ว่าปัญหาดังกล่าวจะบรรเทาเบาบางลงแล้ว แต่การคงบริการให้ทันท่วงทีและมีลักษณะเชิงรุกจึงได้ถูกพัฒนาให้ตอบสนองประชาชนทั่วไปมากขึ้น

แอปคุยกัน Line ID @JVKKHelpLine เวลาคุยกัน 08.00-00.00 น.

15 July 2563

By nitayaporn.m

Views, 12070

 

Preset Colors