02 149 5555 ถึง 60

 

วัคซีนโควิด-19

วัคซีนโควิด-19

การพัฒนาวัคซีนเพื่อต่อสู้กับไวรัสโคโรน่ากับความคืบหน้าจากทั่วทุกมุมโลก

ตั้งแต่โควิด-19 มาเยี่ยมโลกนี้ผ่านเข้าไปหลายเดือนมากแล้ว ผู้คนทั่วโลกยังเผชิญกับภาวะวิตกกังวลว่าสุดท้ายแล้ว เมื่อไรโควิด-19 จึงจะหายไปจากโลกนี้ หรือทำให้เราดำเนินชีวิตต่อสู้กับโควิด-19 ได้อย่างมีความทุกข์ (พอทน)และสุข (บ้างตามอัตถภาพ) ได้บ้าง ซึ่ง ณ เวลานี้สิ่งเดียวที่จะสู้กับโควิด-19 ได้ คงมีแต่วัคซีนเท่านั้น วันนี้จึงมีข้อมูลอัพเดทมานำเสนอ ดังต่อไปนี้

ข้อมูลการพัฒนาวัคซีนต้านไวรัสโคโรน่าและขั้นตอนความคืบหน้าในแต่ละเฟส

จากเวปป์ไซท์นิวยอร์คไทม์ ได้นำเสนอข้อมูลความคืบหน้าการผลิตวัคซีน เมื่อปลายเดือนที่แล้ว (28 ก.ค. 63) ที่น่าสนใจคือ การนำเสนอไทม์ไลน์และความคืบหน้าในการพัฒนาวัคซีนของนักวิจัยทั่วโลก ทั้งภูมิภาคยุโรป อเมริกา หรือแม้แต่เอเชีย ทั้งนี้ มีบริษัทยาขนาดใหญ่มากกว่า 165 บริษัท ได้ทำการพัฒนาวัคซีนต่อต้านไวรัสโคโรน่า และมีอีกกว่า 27 บริษัท ที่อยู่ในขั้นตอนการทดสอบพัฒนาวัคซีนในมนุษย์ ซึ่งถือเป็นขั้นตอนที่สำคัญต่อการนำไปใช้อย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัยที่สุด เป็นที่คาดหมายว่าอย่างเร็วภายในปลายปีนี้หรือไม่ก็ต้นปีหน้า พวกเราคงได้มีวัคซีนใช้ ทั้งนี้โดยรวบรวมตามสถานขั้นตอนการผลิต แยกตามเฟสตั้งแต่ระยะเริ่มต้นจนถึงเฟสสุดท้าย แยกเป็น 5 ระดับ ดังนี้

1. ระยะเริ่มต้น (Preclinical) เป็นขั้นตอนการทดลองในสัตว์ทดลอง เช่นหนู หรือลิง เพื่อดูปฏิกิริยาการสร้างภูมิคุ้มกัน มีจำนวนผู้ผลิตมากกว่า 140 บริษัท

2. ระยะเฟส 1 Vaccines testing safety and doses เป็นขั้นตอนการหาขนาดที่เหมาะสมและปลอดภัยในการใช้ โดยเป็นการเริ่มทดสอบในร่างกายมนุษย์ ในกลุ่มตัวอย่างขนาดเล็ก ประกอบด้วย 18 บริษัท

3. ระยะเฟส 2 Vaccines in expanded safety trials การใช้ขนาดที่ปลอดภัยในข้อ 2 โดยเพิ่มจำนวนกลุ่มตัวอย่างจากเฟส 1 โดยต้องมีอย่างน้อย 100 รายขึ้นไป ทำการดสอบ ประกอบด้วย 12 บริษัท

4. ระยะเฟส 3 Vaccines in large scale efficacy test การใช้ขนาดที่ปลอดภัยจากการทดลองทางคลินิกในข้อ 3 ขยายผลในกลุ่มทดลองขนาดใหญ่ในมนุษย์ จำนวนกลุ่มตัวอย่างกว่า 1000 รายขึ้นไป โดยเฝ้าสังเกตุเปรียบเทียบปฏิกิริยของวัคซีน กับยาหลอก (Placebo) ประกอบด้วย 6 บริษัท

5. ระยะApproval ระยะยืนยันผลการทดสอบที่สามารถนำไปใช้ในร่างกายมนุษย์ และผลการทดสอบในข้อ 4 มีประสิทธิภาพเพียงพอต่อการสร้างภูมิคุ้มกัน โดยมีการใช้อย่างจำกัด เช่น ในพื้นที่ระบาดของไวรัส เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อที่จะนำไปสู่การผลิตเพื่อนำไปใช้ในสถานการปกติต่อไป มี 1 บริษัท

โดยฝั่งอเมริกา ที่อัพเดทล่าสุดคือสถาบัน NIH ของสหรัฐได้ลงขันงบประมาณกว่า 1 พันล้านอดอลลาร์ ร่วมกับบริษัทโมเดอน่า การพัฒนาวัคซีนได้เข้าสู่เฟส 3 เมื่อ 27 กรกฎาคม 2563 ที่มีการทดสอบวัคซีนในมนุษย์ กลุ่มตัวอย่างที่เป็นอาสาสมัครทั้งสิ้นกว่า 30000 ราย ทั่วสหรัฐอเมริกา ในขณะที่บริษัทไฟเซอร์กำลังสิ้นสุดเฟส 2 เข้าสู่เฟส 3 และโรงเรียนแพทย์แห่งมหาวิทยาลัยดุ๊กร่วมกับอัคทูรุส ขั้นตอนได้สิ้นสุดเฟส 1 กำลังเข้าสู่เฟส 2 แล้ว เป็นต้น

ในขณะเดียวกันฝั่งยุโรป ดูจะมีความคืบหน้าเช่นกัน เช่น ในเยอรมันนี บริษัทไบโอเอ็นเทคร่วมกับไฟเซอร์ที่นิวยอร์คและโฟซุนของจีน ได้ทำการพัฒนาวัคซีน mRNA vaccines โดยมีการพัฒนาเฟส 1 และ 2 ในสหรัฐและเยอรมันนี ในขณะที่ล่าสุดเมื่อ 27 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ได้สิ้นสุดเฟส 2 เข้าสู่เฟส 3 โดยมีกลุ่มตัวอย่างจากอาสาสมัครในประเทศอาร์เจนตินา บราซิล สหรัฐ และเยอรมันนี กว่า 30000 รายเช่นเดียวกัน

จีนกับการพัฒนาวัคซีน

เช่นเดียวกับฝั่งเอเชีย ที่เป็นต้นทางของไวรัสโคโรน่าอย่างจีน โดยสถาบันชีววิทยาแห่งเมืองอู๋ฮั่นร่วมกับบริษัทซิโนฟาร์มของจีน ได้ทำการพัฒนาวัคซีน ซึ่งอยู่ในเฟส 3 ทั้งนี้รัฐมนตรีสาธารณสุขแห่งสหรัฐอาหรับเอมิเรทส์เป็นอาสาสมัครคนแรกที่รับการฉีดวัคซีนนี้ และยังมีกลุ่มตัวอย่างกว่า 15000 ราย นอกจากนี้ บริษัทเอกชนซิโนแวคไบโอเทคของจีนเอง ก็ได้ทำการพัฒนาวัคซีนโดยมีผลการทดสอบในเฟส 1 และ 2 กลุ่มตัวอย่าง 743 ราย ที่ได้รับวัคซีนนั้นมีผลเป็นที่น่าพอใจ ขณะนี้กำลังอยู่ในเฟส 3 โดยทางบริษัทประกาศผลิตวัคซีนกว่า 100 ล้านโดส ทำการทดสอบในกลุ่มตัวอย่างเป็นอาสาสมัครในประเทศบราซิล โดยผลการทดสอบพัฒนาวัคซีนในเฟส 1 และ 2 นี้ได้รับการตีพิมพ์ผลงานในวารสาร TheLancet เมื่อกรกฎาคมที่ผ่านมานี้เอง

ในขณะที่ญี่ปุ่นโดยมหาวิทยาลัยโอซาการ่วมกับบริษัทไบโอทาคาระ ของได้ทำการพัฒนาวัคซีนชนิด DNA โดยอยู่ในขั้นตอนเฟส 1 และ 2 ทั้งนี้ ได้อัพเดทเมื่อเดือนมิถุนายน 2563 นี้เอง

มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดกับการพัฒนาวัคซีนของอังกฤษ

ในเวปป์ไซท์ของวารสาร TheLancet ซึ่งถือเป็นแหล่งข้อมูลวิจัยวิชาการที่สำคัญแหล่งหนึ่งของโลก ได้เผยแพร่ การพัฒนาวัคซีนของมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดและบริษัทแอสตราซินิกาของอังกฤษ เป็นผลการศึกษาวิจัย ในเฟส 1 และ 2 ซึ่งได้เผยแพร่เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2563 ที่ผ่านมานี้เอง โดยเป็นการศึกษา Safety and immonogeniticity of the ChAdOxl nCoV-19 vaccine against SARS-CoV-2: a preliminary report of phase1/2, single-blind, randomized controlled trial. โดย Pedro M Folegatti และคณะ เป็นการศึกษาในกลุ่มตัวอย่างจำนวน 543 ราย ระหว่างวันที่ 23 เมษายน-21 พฤษภาคม 2563 ที่ผ่านมา ผลการศึกษาได้รับการยืนยันประสิทธิภาพประสิทธิผลทางวิทยาศาสตร์ที่มีความปลอดภัยสร้างภูมคุ้มกันได้ หลังกลุ่มตัวอย่างได้รับวัคซีน เป็นเวลา 28 วัน อนึ่งก่อนหน้านี้ราวๆเดือนมิถุนายน (13 มิย. 63) ทางบริษัทแอสตราซินิกาได้ลงนามความร่วมมือกับ Europe’s Inclusive Vaccines Alliance (IVA) เพื่อกระจายวัคซีนในประเทศเยอรมัน ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ และอิตาลี กว่า 400 ล้านโดส โดยจะส่งมอบวัคซีนดังกล่าวได้ภายในสิ้นปี 2563 ซึ่งก็ไม่กี่เดือนข้างหน้านี้เอง นับเป็นข่าวดีจากฝั่งยุโรป โดยข้อมูลล่าสุดนั้น การทดสอบนี้เข้าสู่เฟส 3 เรียบร้อยแล้ว มีกลุ่มตัวอย่างกว่า 10000 ราย

ไทยกับวัคซีนโควิด-19

ในขณะที่ประเทศไทย เมื่อเร็วๆนี้มีข่าวหนึ่งที่น่าสนใจนั่นคือ การเปิดเผยของ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร ที่ปรึกษาศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ว่า ในขณะนี้ ไทยเตรียมเจรจาขอรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีวัคซีนป้องกันโควิด-19 จากมหาวิทยาลัยออกฟอร์ด โดยมีบริษัทเครือซิเมนต์ไทยหรือปูนใหญ่ (SCC Group) ที่มีบริษัทลูกชื่อ สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด ได้เป็นผู้เจรจาขอรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีมา ก็จะเป็นการผลิตวัคซีนตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ ที่สามารถรองรับการผลิตได้โดยลัดการตอนการพัฒนาตามลำดับ ลดระยะเวลาการพัฒนาวัคซีนไปได้มากทีเดียว ทั้งนี้โดยประเทศไทย เราจะสามารถผลิตได้หลังจากนั้นประมาณ 6 เดือน ซึ่งกำลังการผลิตของบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์จำกัด จะผลิตได้คือ 200 ล้านโดส ถือว่าเป็นปริมาณมากที่จะสามารถนำไปช่วยเหลือกลุ่มประเทศในอาเซียนได้อีกด้วย ในขณะที่การพัฒนาวัคซีนขั้นปกติ ที่เป็นการทดลองในเฟสต่างๆโดยสถาบันวิจัยจุฬาฯ ซึ่งอยู่ในเฟส 1 และกำลังเข้าสู่เฟส 2 ก็มีความคืบหน้าเช่นกัน

ท้ายที่สุดนี้ หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ข้อมูลดังกล่าวจะช่วยลดความกังวลให้กับท่านทั้งหลาย ได้สามารถดำเนินชีวิตประจำวันอย่างมีความสุข (บ้าง) และทุกข์ (พอทน)

แหล่งข้อมูล

https://www.nytimes.com/interactive/2020/science/coronavirus-vaccine-tracker.html

https://www.thelancet.com/journals/lancet/article/PIIS0140-6736(20)31604-4/fulltext

https://www.astrazeneca.com/media-centre/press-releases/2020/astrazeneca-to-supply-europe-with-up-to-400-million-doses-of-oxford-universitys-vaccine-at-no-profit.html

4 August 2563

By nitayaporn.m

Views, 3003

 

Preset Colors