02 149 5555 ถึง 60

 

การจัดการ โควิด-19 ที่เล็ดลอด

การจัดการ โควิด-19 ที่เล็ดลอด

เมื่อต้นปี พ.ศ. 2563 สื่อต่างๆเริ่มเผยแพร่ข้อมูลโรคระบาดชนิดหนึ่งที่มีต้นกำเนิดจากตลาดในเมืองอู่ฮั่น

สาธารณรัฐปะชาชนจีน ชื่อเรียกในปัจจุบันคือเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 ส่งผลให้มีผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก ครั้งแรกที่ได้ยินข่าวคิดว่าเป้นเรื่องไกลตัวมาก แต่กลับคิดไม่ถึงว่าเชื้อไวรัสโคโรนา 2019

จะแพร่ระบาดไปทั่วโลกอย่างรวดเร็วจนกระทั่งระบาดมาถึงไทยในที่สุด

โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์สภากาดชาดไทย เริ่มเตรียมการรับมือ เฝ้าระวังและตรวจคัดกรองโรคโควิด-19 เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นที่หน่วยอุบัติเหตุ-ฉุกเฉินหรือหอผู้ป่วยชั้น 17 โซน c อาคารภูมิสิริมังคลานุสรณ์ ก็ได้จัดเตรียมให้ผู้เข้ารับการประเมินความเสี่ยงด้วยเช่นกัน แต่ไม่มีใครคาดคิดว่าในวันที่ 27 มีนาคม 2563 ขณะที่กำลังปฏิบัติงานเวรดึก

หอผู้ป่วยชั้น 17 โซนc ได้รับเคสผู้ป่วยชายไทย อาชีพขับรถแท็กซี่ ที่มาโรงพยาบาลด้วยอาการไข้ ไอ เหนื่อย

เมื่อซักประวัติแล้วพบว่ามีความเสี่ยงสูง จึงได้รายงานแพทย์ละส่งตรวจหาเชื้อไวรัสโคโนนา 2019 ด้วยวิธี Swab COVID-19 พร้อมทั้งแยกผู้ป่วยออกจากคนอื่นๆ ระหว่างรอผลการตรวจ ราวเที่ยงคืนจึงได้รับโทรศัพท์แจ้งจากแพทย์ประจำบ้านต่อยอดว่า ผู้ป่วยรายนี้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019

เมื่อทราบผลการตรวจแล้ว ความโกลาหลก็เกิดขึ้นตามมา บรรยากาศในหอผู้ป่วยชั้น 17 โซนc วุ่นวายจนยากควบคุม เมื่อตั้งสติได้แล้วจึงแจ้งผลให้ผู้ป่วยได้ทราบที่หน้าห้องพัก ปฏิกิริยาตอบรับของผู้ป่วยค่อนข้างตกใจและกังวลอย่างยิ่ง เนื่องจากตนเองเป็นเสาหลักของครอบครัว หลังจากนั้นในฐานะที่รับผิดชอบการปฏิบัติงานเวรดึกก็ได้โทรศัพท์ติดต่อไปยังหัวหน้าหอผู้ป่วยเพื่อสอบถามถึงแนวทางในการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยไปยังหอผู้ป่วยชั้น 8 อาคารนวมินทราชินี ซึ่งเป็นสถานที่ดูแลผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โดยเฉพาะและได้รับคำแนะนำจากหัวหน้าหอผู้ป่วยให้ติดต่อพยาบาลเวรตรวจเพื่อช่วยประสานงานด้านต่างๆ

ในด้านการประสานงาน หอผู้ป่วยชั้น 17 โซน c ต้องประสานกับทั้งศูนย์บริหารงานกายภาพอาคารพิเศษ

(Facility Management Unit) ในการอำนวยความสะดวกต่างๆ เช่น ประสานงานขอรถกอล์ฟเพื่อส่งผู้ป่วย ประสานพนักงานรับส่งผู้ป่วยเพื่อเคลื่อนย้ายผู้ป่วย เจ้าหน้าที่พยาบาลในหอผู้ป่วยได้ช่วยผู้เขียนและพนักงานรับส่งผู้ป่วยในการใส่ชุด PPE สีฟ้า ที่ปิดมิดชิดตั้งแต่หัวจรดเท้า จากนั้นจึงเข้าไปรับผู้ป่วยในห้องแล้วพาโดยสารลิฟต์ที่ด้านหลังอาคารเพื่อป้องกันเชื้อแพร่กระจายและสัมผัสกับเชื้อให้น้อยที่สุด โดยมีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยคอยกำกับเส้นทางให้พนักงานรับส่งผู้ป่วยร่วมเดินทางมาส่งผู้ป่วยที่รถกอล์ฟซึ่งมีคนขับรออยู่แล้ว พร้อมทั้งจัดให้ผู้ป่วยนั่งอยู่ที่เบาะด้านท้ายสุดของรถและหันหน้าออกนอกตัวรถเพื่อป้องกันมิให้เชื้อลอยมาตามอากาศ

บรรยากาศโดยรอบระหว่างการเดินทางช่างเงียบสงัดยิ่งนัก รถกอล์ฟแล่นไปตามทางอย่างช้าๆ มีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยที่ยืนเฝ้าประจำตามจุดส่งสัญญาณมือบอกทางเป็นระยะๆ จนกระทั่งมาถึงอาคารนวมินทราชินี เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยประจำอาคารแจ้งให้เดินตามเส้นทางที่ได้กำกับไว้ แม้ว่าจะเป็นเส้นทางที่คุ้นเคยดีแต่กลับรู้สึกประหม่าอย่างบอกไม่ถูก เมื่อโดยสารลิฟต์มาส่งผู้ป่วยที่ชั้น 8 เรียบร้อยแล้ว ผู้ป่วยก็เดินต่อไปตามรอยเส้นประจนกระทั่งถึงหอผู้ป่วยโดยสวัสดิภาพ

ทันทีที่ส่งผู้ป่วยเสร็จก็ถึงคราวที่ต้องถอดชุด PPE ออก ผู้เขียนยืนอยู่หน้ากระจกบานใหญ่ พร้อมทั้งมีพยาบาลผู้เชี่ยวชาญประจำหอผู้ป่วยคอยกำกับดูแลวิธีการถอดชุด PPE อย่างถูกต้อง สำหรับการเดินทางออกจากอาคารนั้นต้องเดินออกอีกประตูหนึ่งทางด้านหน้าและไม่ย้อนกลับไปในเส้นทางที่เดินผ่านมาในตอนแรก พอเห็นรถกอล์ฟที่จอดรออยู่ไม่ไกลนัก รู้สึกโล่งใจที่ได้ส่งผู้ป่วยรายนั้นถึงที่หมายได้อย่างลุล่วง เมื่อกลับมาถึงสถานที่ปฏิบัติงาน ณ หอผู้ป่วยชั้น 17 โซน c อาคารภูมิสิริมังคลานุสรณ์ ก็รีบทำความสะอาดชำระร่างกายและเปลี่ยนเสื้อผ้าชุดใหม่ตามแนวปฎิบัติที่กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด

ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นในคืนนั้นดูเหมือนว่าจะยาวนาน แต่ก็ผ่านพ้นไปอย่างรวดเร็ว ประสบการณ์ที่นำมาเล่าสู่กันฟังนี้เพียงต้องการถ่ายทอดเรื่องราวที่เกิดขึ้นให้ทราบว่า อะไรก็เกิดขึ้นได้เสมอ หอผู้ป่วยชั้น 17 โซน c อาคารภูมิสิริมังคลานุสรณ์ ขอขอบคุณบุคลากรและเจ้าหน้าที่ทุกท่าน ทุกหน่วยงาน ทุกฝ่าย ที่ร่วมมือและประสานงานสอดรับกันเป็นอย่างดีในการสกัดกั้นเคสนี้ได้อย่างทันท่วงที ขอบคุณประสบการณ์การทำงานที่ครั้งหนึ่งที่ทำให้พวกเราได้รับมือกับเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เป็นครั้งแรกและหวังว่าจะเป็นครั้งสุดท้าย

วารสารโรงพยาบาลจุฬาลงกรณื สภากาชาดไทย ฝ่ายเวชศาสตร์ครอบครัว

ปีที่ 6 ฉบับที่ 61 ประจำเดือน เมษายน 2564

23 April 2564

By STY/Lib

Views, 666

 

Preset Colors