02 149 5555 ถึง 60

 

รับมือการระบาดระลอกใหม่ของโควิด-19

THE NEWLY EMERGING OF COVID-19

รับมือการระบาดระลอกใหม่ของโควิด-19

เรื่องโดย ศิริกร โพธิจักร

ขณะนี้เกิดการระบาดระลอกใหม่ (NEWLY EMERGING) ของโควิด-19 (Ccovid-19) ในประเทศไทยแล้ว ชีวจิต

จึงรวบรวมข้อมูลอัพเดตสถานการณ์ดังกล่าวเพื่อให้คนรักสุขภาพทุกท่านมความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง พร้อมปรับตัว

และทราบวิธีรับมือกับโรคนี้ค่ะ

THE DEFINITION

การระบาดระลอกใหม่คืออะไร

ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) อธิบายว่า การระบาดตั้งแต่กรณีตลาดกุ้ง จังหวัดสมุทรสาครในเดือนธันวาคมที่ผ่านมานั้น คือการระบาดระลอกใหม่ (NEWLY EMERGING)

โดยเป็นการติดเชื้อใหม่จากคนอีกกลุ่ม คือกลุ่มแรงงานต่างชาติ ในเมื่อกรณีดังกล่าวไม่ได้เป็นการระบาดที่เชื่อมโยง

กับการระบาดระลอกแรก คือกรณีการระบาดที่กรุงเทพฯ จากคลัสเตอร์สนามมวยและสถานบันเทิงย่านทองหล่อใน

เดือนพฤษภาคม 2563 จึงต้องเรียกให้ถูกต้องตามหลักระบาดวิทยาว่า เป็นการระบาดระลอกใหม่ แต่ถ้าเป็นการระบาดระลอก 2 (RE-EMERGING) จะต้องมีผลพวงจากการระบาดรอบแรก

ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2563 ที่ผ่านมา นายแพทย์สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ ที่ปรึกษากระทรวงสาธารณสุขด้านต่างประเทศ ให้สัมภาษณ์กับศูนย์สื่อสารวาระทางสังคมและนโยบายสาธารณะ โดยระบุว่า

“การระบาดระลอกใหม่” จะเกิดขึ้นแน่นอน และน่าจะภายในปี พ.ศ.2563

ต่อมาการระบาดระลอกใหม่ก็เกิดขึ้นจริงๆ โดยเป็นกรณีตลาดกุ้งจังหวัดสมุทรสาครนั่นเอง ในการสัมภาษณ์ครั้งนั้น นายแพทย์สุวิทย์ อธิบายว่า หากจะกล่าวถึงสถานการณ์โควิด-19 ที่ระบาดทั่วโลกสามารถแบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม ดังนี้

กลุ่มที่ 1 ประเทสที่เกิดการระบาดแล้วยังระบาดอยู่ ตัวอย่างเช่น สหรัฐอเมริกา บราซิล ใกล้ประเทศไทย เช่น อินเดีย

บังกลาเทศ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์

กลุ่มที่ 2 ประเทศที่เกิดการระบาดแล้วและสามารถควบคุมสถานการณ์การระบาดได้ อีกทั้งยังไม่ระบาดใหม่ เช่น จีน

ไต้หวัน อิตาลี และยุโรป โดยในกลุ่มนี้มีหลายประเทศที่เคยเกิดการระบาดอย่างหนักมาแล้ว

กลุ่มที่ 3 ประเทศที่เกิดจากการระบาดแล้วและสามารถควบคุมสถานการณ์การระบาดได้ แต่ต่อมามีการระบาดระลอกใหม่แล้ว ได้แก่ ออสเตรเลีย ฮ่องกง ญี่ปุ่น อิสราเอล และ โครเอเชีย โดยแนวโน้มการระบาดนั้นมักรุนแรงเท่ากับครั้งแรกหรืออาจมากกว่าเดิมก็ได้

TIMELINE OF NEWLY EMERGING

ย้อนสำรวจไทม์ไลน์กรณีตลาดกุ้ง สมุทรสาคร

กรณีตลาดกุ้ง จังหวัดสมุทรสาคร เป็นกรณีที่ทำให้คนไทยทั่วประเทศกลับมาตื่นตัวกับการพบการระบาดระลอกใหม่ครั้งนี้ โดยมีข้อมูลเรียงลำดับตามเวลาการระบาดในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2563 ดังนี้

วันที่ 13 ธันวาคม หญิงอายุ 67 ปี อาชีพค้าขาย เป็นเจ้าของแพกุ้งในตลาด จังหวัดสมุทรสาคร มีอาการปวดเมื่อยและจมูกไม่ได้กลิ่น จึงไปตรวจร่างกายที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง ต่อมาพบว่าโควิด-19 เป็นบวก จึงได้รับการส่งตัวมาเข้าตรวจเพื่อยืนยันผล โดยผลตรวจที่ได้จากทางโรงพยาบาลสมุทรสาครและศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 5 สมุทรสงครามพบตรงกันว่าเป็นบวกแพทย์จึงส่งตัวผู้ป่วยไปรับการรักษาต่อที่โรงพยาบาลสมุทรสาครและมีการสอบสวนโรคอย่างต่อเนื่อง

17 ธันวาคม

นายวีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร พร้อม นายแพทย์ชาติชาย กิติยานันท์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสมุทรสาคร นายแพทย์อนุกูล ไทยถานันดร์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมุทรสาครและทีมปฏิบัติการสอบสวนควบคุมโรค สาธารณสุขจังหวัดสมุทรสาคร แถลงข่าวพบผู้ป่วยติดเชื้อโควิด19 ในพื้นที่ 1 ราย ซึ่งก็คือกรณี

หญิงเจ้าแพกุ้ง ในตลาดนั่นเอง

19 ธันวาคม

เวลา 22.00น. นายวีระศักดิ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร ประกาศ “ล็อกดาวน์” จังหวัด ตั้งแต่ที่ 19 ธันวาคม 2563 ถึงวันที่ 3 มกราคม 2564 โดยต้องการจำกัดวงการระบาดและมีการลงพื้นที่เพื่อตรวจหาผู้ติดเชื้อ เฉพาะในกลุ่มแรงงานต่างชาติมีเป้าหมายการตรวจ 5,000 คน ที่ผ่านมาตรวจไปแล้ว 1,192 คน พบผู้ติดเชื้อโควิด 516 คน ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่ไม่มีอาการ และมี 30 รายที่ต้องรักษาตัวในโรงพยาบาล

มาตรการอื่นๆ เพื่อการควบคุมโรคได้แก่ การปิดตลาดกุ้ง การควบคุมการเดินทางเข้า-ออกจังหวัด ขณะที่ในจังหวัดมีกำหนดปิดสถานที่ชั่วคราวตั้งแต่ 19 ธันวาคม 2563-3 มกราคม 2564 เช่น ห้างสรรพสินค้าสนามกีฬา สนามมวย สถานศึกษา ส่วนร้านอาหารเครื่องดื่ม เปิดบริการได้เฉพาะซื้อกลับไปบริโภคเท่านั้น ขณะที่ร้านสะดวกซื้อยังให้บริการได้ แต่งดบริการเวลา 22.00 น.-05.00น.

กรณีประชาชนในพื้นที่ ทางจังหวัดสมุทรสาครขอความร่วมมืองดออกจากเคหะสถานเวลา 22.00น.-05.00น. กรณีชาวต่างชาติงดออกนอกพื้นที่และงดให้เข้ามาในเขตจังหวัดเด็ดขาด ขณะที่ประชาชนไทยยังสามารถไปสถานที่ต่างๆได้ แต่ต้องแจ้งจุดหมายปลายทางและสแกนแอพไทยชนะอย่างเคร่งครัด

20 ธันวาคม

นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่าจากกรณีผู้ป่วยเจ้าของแพกุ้งในจังหวัดสมุทรสาครนำไปสู่การขยายผล การตรวจและทำให้ได้พบผู้ติดเชื้อมากที่สุดนับตั้งแต่ มีการระบาดในประเทศไทย เฉพาะในรอบ 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา ระหว่างวันที่ 19-20 ธันวาคม ตรวจพบผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มถึง 576 ราย รวมผู้ติดเชื้อที่ยืนยันก่อนหน้านี้เป็น 689 ราย และคาดว่าจะพบผู้ติดเชื้อ เพิ่มขึ้นอีกเรื่อยๆ จากมาตรการค้นหาเชิงลุก (Active Case Finding)

นายแพทย์เกียรติภูมิอธิบายต่อว่า กรณีเจ้าของแพกุ้งจังหวัดสมุทรสาครนั้นเป็นการติดเชื้อโดยไม่มีประวัติเดินทางออกนอกประเทศ แสดงว่าผู้ติดเชื้อรายนี้ไม่ได้เป็น “ต้นเชื้อ” แต่เกิดการติดเชื้อภายในประเทศนั้นเอง ทั้งนี้ผลจากการลงพื้นที่ตรวจหาผู้ติดเชื้อจากกรณีนี้พบว่า ร้อยละ 90 เป็นแรงงานเมียนมา อีกร้อยละ 10 เป็นคนไทย โดยผู้ติดเชื้อราวร้อยละ 90 ไม่มีอาการใดๆ จึงเป็นเหตุให้เกิดการแพร่ระบาดสู่ผู้อื่นได้ง่าย และเหตุผลที่พบการติดเชื้อในกลุ่มแรงงานเมียนมาสูง เพราะพวกเขาจำเป็นต้องพักอยู่รวมกันอย่างแออัด จึงเกิดการติดเชื้อได้ง่ายละมีจำนวนผู้ติดเชื้อสูง

ด้านนายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรครายงานจำนวนผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จากการระบาดในกรณีนี้ว่า มีทั้งหมด 689 ราย โดยเป็นผู้ป่วยที่ตรวจพบที่โรงพยาบาลและค้นหาผู้สัมผัส 32 ราย ผู้ป่วยที่ตรวจพบโดยการค้นหาในชุมชน 657 ราย หรือมากกว่าร้อยละ 40 ของผู้ที่ได้รับการตรวจ ในจำนวนผู้ติดเชื้อ 689 รายนี้มีบางส่วนเป็นผู้ที่เดินทางมาซื้อขายสินค้าที่ตลาดกุ้ง จังหวัดสมุทรสาครและนำเชื้ออกไป ได้แก่ สมุทรปราการ 3 ราย กรุงเทพฯและนครปฐม จังหวัดละ 2 ราย

21 ธันวาคม

กระทรวงสาธารณสุขขยายวงตรวจหาผู้มีความเสี่ยง โดยพบว่ามีผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในสมุทรสาครทั้งสิ้นทั้งหมด 821 รายและพบผู้ป่วยติดเชื้อนอกจังหวัดสมุทรสาคร ได้แก่ สมุทรปราการ 3 ราย นครปฐม 2 ราย กรุงเทพฯ 2 ราย ซึ่งเป็นรายเดิม แต่พบผู้ติดเชื้อในจังหวัดอื่นเพิ่มเป็นจังหวัดที่ 4 คือ สระบุรี 3 ราย

22 ธันวาคม

ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 แถลงว่า พบผู้ป่วยรายใหม่ 427 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 16 ราย ซึ่งเชื่อมโยงกับตลาดกุ้ง จังหวัดสมุทรสาคร และพบจากการคัดกรองเชิงรุกในกลุ่มแรงงานต่างชาติอีก 397 ราย ส่วนที่เป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศเข้าสถานกักกันโรค (QUARANTINE) มี 14 ราย

สรุปรายงานพบว่า มีผู้ติดเชื้อที่เดินทางไปตลาดกุ้งและหอพักศรีเมือง จังหวัดสมุทรสาคร ระหว่างวันที่ 1-18 ธันวาคม นอกจังหวัดสมุทรสาครรวม 22 ราย แยกเป็นรายจังหวัดดังนี้ สมุทรปราการ 3 ราย สระบุรี 3 ราย กรุงเทพฯ 9 ราย ปทุมธานี 3 ราย นครปฐม 3 ราย อุตรดิตถ์ 1 ราย

ส่วนความคืบหน้าด้านการควบคุมโรคในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาครนั้น มีการสร้างโรงพยาบาลสนามเพื่อแยกคนที่มีผลตรวจหาเชื้อเป็นบวกออกมาจากพื้นที่ชุมชน และมีเตียงรองรับผู้ป่วยประมาณ 500 เตียง

HOT-TO STAY SAFE

คำแนะนำจาก ศบค.และกรมควบคุมโรค

ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และกรมควบคุมโรคแนะนำแนวปฏิบัติตัวเพื่อ ป้องกันการติดเชื้อและรับมือการระบาดระลอกใหม่ไว้ดังนี้

กรณีประชาชนที่เดินทางไปจังหวัดสมุทรสาครตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม เป็นต้นมา ให้สังเกตอาการตนเอง หากป่วยให้ไปพบแพทย์ทันที หรือผู้ที่มีความกังวลสามารถตรวจได้ที่โรงพยาบาลทุกแห่ง

ที่ผ่านมาในหลายประเทศมีรายงานพบการปนเปื้อนเชื้อในปลาแซลมอนและอาหารทะเลบางประเภท แต่การพบเหล่านั้นเป็นการพบสารพันธุกรรมในอาหาร ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ยืนยันว่าการกินอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อโรคโควิด-19 จะทำให้ติดโรคโควิด-19

ดังนั้นก่อนกินต้องปรุงวัตถุดิบดังกล่าวให้สุก เพื่อให้ปลอดเชื้อโรคทั้งเชื้อโควิดและเชื้อโรคอื่นๆ

ขณะที่รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แนะนำแนวปฏิบัติ เพิ่มเติมดังนี้ ประชาชนต้องใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลาที่ไปข้างนอกบ้านเพื่อป้องกันตัวเอง หมั่นล้างมือบ่อยๆ และงดไปในพื้นที่มีผู้คนหนาแน่น เพื่อลดความเสี่ยงการรับเชื้อ

แม้ยังไม่มีผลวิจัยทางการแพทย์พิสูจน์ว่าคนติดเชื้อจากการกินอาหาร แต่มีการพิสูจน์ว่าพบเชื้อโควิด-19 ในอาหารแช่เย็นหรือแช่แข็ง โดยในอุณหภูมิดังกล่าวทำให้เชื้อมีชีวิตอยู่ได้ 14-20 วัน ขอแนะนำให้คนขายอาหารทะเลแช่เย็นหรือแช่แข็งใส่อุปกรณ์ป้องกันทั้งถุงมือและหน้ากากอนามัย ไม่จับใบหน้า กรณีคนที่มาซื้ออาหารทะเลแช่เย็นหรือแช่แข็งต้องล้างมือ

EXPERT SAYS

โควิด-19 กับฤดูหนาว สัมพันธ์กันอย่างไร

นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรม วิทยาศาสตร์การแพทย์ อธิบายว่า เหตุผลที่ฤดูหนาวมีการระบาดของโรคได้ง่ายกว่าฤดูอื่น ทั้งโควิด-19 และโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสอื่นๆ เช่น ไข้หวัดใหญ่ เพราะโรคทางเดินหายใจส่วนใหญ่มักระบาดในช่วงอากาศเย็น ถ้าไม่รักษาความอบอุ่นในร่างกายให้ดีจะมีโอกาสติดเชื้อได้มากขึ้น ประกอบกับเชื้อไวรัสจะอยู่ในสิ่งแวดล้อมได้นานขึ้นเมื่อเทียบกับอากาศร้อน จะเห็นได้ว่าเมื่อนำเชื้อจากคนไข้ไปตรวจ ต้องใส่ภาชนะที่เก็บความเย็นประมาณ 4-8 องศาเซลเซียส เพื่อไม่ให้ไวรัสตายก่อนถึงเวลาตรวจสอบเชื้อ

นอกจากนี้เมื่ออากาศเย็นผู้คนมักจะอยู่ในตัวอาคารมากกว่าออกมาข้างนอก มีโอกาสสัมผัสลูกบิดประตู ที่จับเปิดและปิดประตูของอาคารมากขึ้น จึงมีโอกาสที่เชื้อโรคที่ติดอยู่บนพื้นผิวสัมผัสจากคนที่มีเชื้อโควิด-19 จะแพร่ไปสู่คนอื่นๆได้ง่ายขึ้น

คำแนะนำคือ งดสัมผัสพื้นผิววัตถุต่างๆในที่สาธารณะ เช่น ลูกบิดประตู โต๊ะ เก้าอี้ ประตู และอย่าสัมผัสใบหน้า ตา จมูก ปาก หรือเมื่อสัมผัสแล้วให้ล้างมือ โอกาสเสี่ยงที่จะติดเชื้อจะลดลง

นายแพทย์ศุภกิจทิ้งทายว่า ด้วยเหตุที่ประเทศไทยตั้งอนู่ในแถบเส้นศูนย์สูตร อากาศร้อนตลอดทั้งปี และแม้จะเข้าสู่ฤดูหนาวอุณหภูมิลดลง แต่อุณหภูมิก็ไม่ได้ลดต่ำมากเมื่อเทียบกับประเทศในเขตหนาวอื่นๆ ที่มีการระบาดต่อเนื่องและรุนแรง อีกทั้งยังมีแสงแดดส่องจัดตลอดช่วงกลางวัน ดังนั้นความเสี่ยงในการระบาดจากอุณหภูมิที่ลดลงจึงไม่มาก แต่ความเสี่ยงที่อยากให้ประชาชนทุกคนช่วยกันควบคุมให้ระบาดครั้งนี้ยุติลงโดยเร็วคือ การปรับพฤติกรรมลดการรับและการแพร่เชื้อของแต่ละคนมากกว่า

ดังนั้นขอให้ทุกคนกลับไปใช้แนวทางพื้นฐานอย่างเคร่งครัดได้แก่ สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆ ลดการจับสัมผัสพื้นผิวสาธารณะ และเว้นระยะห่างระหว่างกัน 1-2 เมตรเช่นเคย

วารสาร ชีวจิต ปีที่ 23 ฉบับที่ 535 วันที่ 16 มกราคม 2564

6 May 2564

By STY/Lib

Views, 9647

 

Preset Colors