02 149 5555 ถึง 60

 

รู้ทันการเกิดโรคพร้อมไขข้อข้องใจเรื่องการป้องกัน 3 ระดับ

รู้ทันการเกิดโรคพร้อมไขข้อข้องใจเรื่องการป้องกัน 3 ระดับ

ผมอยากจะเกินก่อนว่า การป้องกันมันไม่ใช่การป้องกันนะ โอเค...ผมอาจจะเล่าอะไรที่มันงงๆ หน่อย แต่ก่อนอื่นเรามาทำความเข้าใจกันก่อนว่า การป้องกันจริงๆ แล้วในทางการแพทย์เขาแบ่งเป็น 3 ระดับก็คือ ปฐมภูมิ ทุติยภูมิ ตติยภูมิ

ระดับปฐมภูมิ หรือระดับที่ 1 ก็คือ การป้องกันคนที่แข็งแรงดีไม่ให้ป่วยเป็นโรค นิยามให้เข้าใจง่ายๆ แค่นี้เลย

ระดับทุติยภูมิ หรือระดับที่ 2 ก็คือ ป้องกันคนที่เป็นโรคแล้วไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อน

และระดับตติยภูมิ หรือระดับที่ 3 คือ ป้องกันคนที่เป็นโรคแทรกซ้อนแล้วไม่ให้เกิดภาวะทุพพลภาพ (Handicap) พิการ หรือเสียชีวิต

ถามว่าทำไมเขาถึงแบ่งเป็น 3 ระดับ ผมบอกเลยว่า การแบ่งแบบนี้มันสำคัญมากในแง่มุมของงานสาธารณสุข เพราะว่าคนเราอยู่ดีๆ จะป่วยที่ระดับที่ 3 เลยนั้นเป็นไปไม่ได้ ซึ่งเราเรียกกันว่าธรรมชาติของการเกิดโรค (Natural History of Disease) เพราะคนเราก่อนจะป่วยก็ต้องแข็งแรงมาก่อน เช่น การเกิดโรคเบาหวานก็ต้องเริ่มจากคนคนนั้นต้องไม่เคยเป็นเบาหวานมาก่อน เคยเป็นคนแข็งแรง แต่มาเป็นเบาหวานตอนอายุเกือบ 40 ปี พอคุณหมอวินิจฉัยว่าเป็นเบาหวานเสร็จก็ให้ยา ต่อมาก็มีโรคไตแทรก แล้วดวงตาก็เริ่มเสื่อมมองไม่เห็น นี่แหละคือระดับ 1, 2, 3 ที่ผมว่า

ซึ่งมันเป็นสัจธรรม ผมว่ามันคือสัจธรรมของการเกิดโรค เพราะไม่ว่าจะโรคอะไรก็แล้วแต่ จะเป็นโรคมะเร็ง โรคติดเชื้อ ทุกโรคล้วนเกิดจากความเคยชินกับความผิดปกติที่อาจมีแตกต่างในแต่ละบุคคล

ระดับปฐมภูมิ หรือระดับที่ 1

ขอยกตัวอย่าง โรคโควิด-19 เนี่ยมันก็เริ่มจากคนที่แข็งแรงคนหนึ่งได้รับเชื้อเข้าไป ระหว่างที่คนแข็งแรงได้รับเชื้อ เขาอาจจะไม่แสดงอาการก็ได้ ทำให้ไม่รู้ตัวว่าติดเชื้อหรือเปล่า เพราะรู้สึกตัวว่าตัวเองแข็งแรงเป็นปกติดี ซึ่งผมเชื่อว่าผู้ป่วยรายนี้ยังอยู่ในช่วงการป้องกันระดับที่ 1 อยู่ ซึ่งสิ่งที่ทำได้ก็คือ ล้างมือ ใช้ช้อนกลาง ใช้ภาชนะแยก ใส่แมสก์ เว้นระยะห่าง อะไรก็ว่ากันไป เพราะถือว่ายังไม่เป็นโรค

หรืออย่างโรคมะเร็งเต้านม การที่คุณไปหาหมอเช็กอัพประจำปี ให้เขาสแกนเต้านมหรือแมมโมแกรม สิ่งนี้ก็ถือเป็นการป้องกันระดับที่ 1 ได้เช่นกัน

เพราะฉะนั้นผมจะขอเน้นเลยว่า อาวุธในการป้องกันโรคต่างๆ บนโลกใบนี้นั้น เราสามารถเลือกใช้โดยไล่ไปตั้งแต่การทำ Health Screening ต่อด้วยการทำ Health Promotion แล้วก็มาปิดท้ายที่การทำ Health Education นั่นเอง

กล่าวคือ การป้องกันโรคต่างๆ นั้น 3 สิ่งสำคัญที่ต้องทำคือ การดูแลตัวเองให้ดี การส่งสุขภาพ และการเข้าถึงข้อมูลสุขภาพต่างๆ โดยง่าย ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องเริ่มทำตั้งแต่ยังแข็งแรงอยู่ เป็นสาธารณสุขขั้นพื้นฐานที่หลายๆ ประเทศที่พัฒนาแล้วให้ความสำคัญที่สุด ซึ่งประเทศเราก็ถือว่าทำได้ดีเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการมีอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) หรือโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) เป็นต้น

ระดับทุติยภูมิ หรือระดับที่ 2

มาถึงระดับที่ 2 ที่คนไข้เริ่มเป็นโรคแล้ว ความนี้พอเริ่มเป็นโรคแล้ว เครื่องมือที่จะเอามาใช้ก็คือเครื่องมือในการสอบสวน () หรือการวินิจฉัยโรค ไม่ว่าจะเป็นการเจาะเลือดหรือทำการเอกซเรย์ต่างๆ

การรักษาโรคในระดับที่ 2 นี้จะทำให้คนไข้ได้รู้และเกิดความเข้าใจว่าตอนนี้ตัวเองอยู่ตรงไหนของเส้นทางการดำเนินโรค

พอเล่ามาถึงตรงนี้ ผมก็เกิดความเสียดายโอกาสของผู้ป่วยขึ้นมา เพราะผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่ผมเจอมักไม่ค่อยมาหาหมอในช่วยที่โรคดำเนินมาถึงระยะนี้ ส่วนใหญ่จะมาหาหมอก็ตอนที่อยู่ในระยะที่ 2 กว่าๆ กำลังจะเข้าระยะที่ 3 คือระยะที่เต็มที่ประมาณหนึ่งและเริ่มกลัวตายขึ้นมาแล้ว อย่างเช่น ถ้าเกิดเป็นเบาหวาน คนอายุมากส่วนใหญ่เขาจะบอกว่าฉันไม่เป็นอะไร ฉันปกติดี ซึ่งปกติที่ว่าก็คือ น้ำตาล 160 และน้ำตาล 160 มาตั้งแต่เมื่อไหร่ก็ไม่รู้ และจะนึกถึงหมอก็ต่อเมื่อมีแผลเปื่อยที่เท้าก่อน แล้วค่อยมาหาหมอที่โรงพยาบาล

อย่างที่ผมบอกก็คือ เมื่อเข้าระยะที่เป็นโรคแล้ว ต้องทำอย่างไรไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อน

ระดับตติยภูมิ หรือระดับที่ 3

เมื่อการดำเนินโรคเข้าสู่ระยะนี้ เครื่องมือป้องกันสำหรับระดับที่ 3 ก็คือ การใช้การรักษาหรือหมอเฉพาะทาง เช่น เป็นเบาหวานจนต้องใช้หมดศัลยกรรมดูแลเท้าที่เปื่อย หรือคนไข้ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงและเกิดสโตรก เกิดเส้นเลือดในสมองแตก คนไข้ที่เป็นโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะก็เริ่มน้ำท่วมปอด เริ่มนอนราบไม่ได้ เป็นต้น

บางคนอาจจะไม่ได้สุขภาพดีอย่างที่เห็น จริงๆ แล้วอาจมีโรคแต่เพราะไม่ได้ไปหาหมอ ไม่ได้ไปเช็กอัพ สิ่งที่ผมอยากจะสื่อ อยากจะโน้มน้าวให้ทุกคนเข้าใจธรรมชาติและสัจธรรมของการเกิดโรค คุณจะต้องย้อนนึกกับตัวเองว่าเราอยู่ตรงไหน เมื่อรู้แล้วก็ขอให้รีบตัดวงจรอุบาทว์ตรงนี้อย่างทันท่วงที อยู่ระดับไหนก็ใช้การป้องกันของระดับนั้น

เพราะฉะนั้นให้ของขวัญตัวเองกันตั้งแต่วันนี้เลยครับ ไปเช็กอัพร่างกายกันสักหน่อย งบมากก็เช็กมากหน่อย งบน้อยก็เช็กน้อยลงมานิด หรือจะไปโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ไปเช็กช่องปากหรือให้คุณพยาบาลฟังปอดดูหน่อย คุณพยาบาลเขาก็ฟังปอดได้ ถือว่าหมอขอนะครับ😷

เรื่องโดย ร้อยเอก นายแพทย์สุรชา ลีลายุทธการ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ชะลอวัย

นิตยสารชีวจิต ปีที่ 23 ฉบับที่ 539 เดือนมีนาคม 2564

19 May 2564

By STY/Lib

Views, 58676

 

Preset Colors