02 149 5555 ถึง 60

 

อ.โอสถ... อย่างไรต้านภัย เอ็นซีดี*, พีเอ็ม 2.5, ไวรัสโคโรนา (ตอนที่ 1)

อ.โอสถ... อย่างไรต้านภัย เอ็นซีดี*, พีเอ็ม 2.5, ไวรัสโคโรนา (ตอนที่ 1)

ก้าวทันสุขภาพ เรื่องโดย... นพ.สมเกียรติ แสงวัฒนาโรจน์

หายป่วยไว ให้เหมือนเดิม ไม่ป่วยอีก ไม่เพิ่มโรค

ทุกครั้งที่เราเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรัง เราจะเริ่มเข้าไปสู่วงจร “ป่วย-เสื่อม-ป่วยอีก-เพิ่มโรค-ป่วยจากโรคใหม่-...” เช่น “ป่วย” เป็นโรคความดันโลหิตสูง (โรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่พบมากที่สุดโรคหนึ่ง) อวัยวะต่างๆ คือ สมอง หัวใจ ไต ตา ก็จะเริ่ม “เสื่อม” ตาม หรือเกิดมีการบาดเจ็บเสียหายของอวัยวะดังกล่าว

ถ้าเรายังปล่อยให้โรคโรคความดันโลหิตสูงเป็นอยู่เรื่อยๆ (“ป่วยอีก”) ก็จะเป็นเหตุปัจจัยให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ กล้ามเนื้อหัวใจตายหรือขาดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง อัมพฤกษ์ อัมพาต โรคไตวายเรื้อรัง หรือแม้แต่มะเร็งบางชนิดตามมา (“เพิ่มโรค”)

โรคใหม่ที่เพิ่มมาก็จะทำให้ป่วย เสื่อม ป่วยอีกและเพิ่มโรคอีก วนเวียนไปจนกว่าอวัยวะต่างๆ จะป่วย พิการ และเสียชีวิตก่อนวัยอันควรในที่สุด

เพราะต้นเหตุของการเกิดโรคเรื้อรังคือ การใช้ชีวิต การกินอบยู่ ไม่ได้รับการแก้ไข ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ หรือมัวแต่แก้ปัญหาที่ปลายเหตุคือ อาการและ/หรืออาการแสดงของโรค ดังนั้น จุดมุ่งหมายที่ทุกคนอยากจะมี อยากจะได้มากที่สุด เวลาเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรัง มี 4 ประการ คือ

1. หายป่วยไว : เวลาเจ็บป่วย ก็อยากให้คุณหมอ คุณพยาบาล บุคลากรทางการแพทย์ช่วย “รักษา” ให้หายป่วยโดยเร็วที่สุด

2. ให้เหมือนเดิม : หายป่วยแล้ว ถ้ามีความพิการหรือความผิดปกติของร่างกาย-จิตใจ ก็อยากให้ช่วย “ฟื้นฟู” ให้กลับมาเหมือนเดิม (อย่างน้อย ขอให้เหมือนเดิม) หรือดีกว่าเดิม

3. ไม่ป่วยอีก : เหมือนเดิมแล้วก็อยากให้ไม่กลับมาป่วยซ้ำอีก โดยต้องรู้ว่า ทำไมจึงป่วย การใช้ชีวิตแบบไหนทำให้ป่วย แล้วแก้ต้นเหตุการใช้ชีวิตแบบนั้น เพื่อ “ป้องกัน” ไม่ให้ป่วยซ้ำๆ อีก

4. ไม่เพิ่มโรค : ป่วยเป็นหนึ่งโรคแล้ว ก็ไม่อยากจะเพิ่มโรคเป็น 2, 3 หรือ 4 โรคตามมา โดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม การกินอยู่ การใช้ชีวิต ซึ่งเป็นเหตุปัจจัยหลักของการเจ็บป่วย เพื่อ “สร้างเสริม” สุขภาพ สุขภาวะ เพื่อความมีโรคน้อยหรือการ “ไม่เพิ่มโรค” นอกจากจะไม่เพิ่มโรคเรื้องรังแล้วโรคเฉียบพลันก็ต้องไม่เพิ่มด้วย

ยกตัวอย่าง ป่วยเป็นโรคเบาหวานแล้ว ต้องสร้างเสริมสุขภาพ ไม่ให้เพิ่มโรคเอ็นซีดี (โรคเรื้อรัง) อื่นๆ (เช่น โรคความดันโลหิตสูง มะเร็ง) ตามมา และไม่ให้เพิ่มโรคเฉียบพลันที่สัมพันธ์กับโรคเบาหวาน เช่น โรคติดเชื้อโควิด-19 อัมพาต โรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน หรือโรคที่มากับฝุ่นพิษ พีเอ็ม 2.5 เป็นต้น

อ.โอสถ (ยา) และ อ.อุปกรณ์ ต้านภัยเอ็นซีดี, พีเอ็ม 2.5, ไวรัสโคโรนา

ยาและอุปกรณ์ทางการแพทย์ตะวันตก เช่น การผ่าตัด ขยายหลอดเลือด ฉายแสง ทำกายภาพบำบัด เป็นสิ่งที่จำเป็นในการ “รักษา” และ “ฟื้นฟู” โรคเอ็นซีดี เพื่อให้ผู้ป่วยหายป่วยไว ให้เหมือนเดิม

โดยเฉพาะในภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์ แพทย์แผนตะวันตกได้พิสูจน์มาช้านานแล้วว่า ได้ผลในการรักษาภาวะเฉียบพลัน ช่วยลดความทุกข์ทรมาน พิการ เสียชีวิต การฟื้นฟูอวัยวะในหลายระบบ เช่น ฟื้นฟูหัวใจ ฟื้นฟูสมอง ก็ได้ผลเช่นเดียวกัน

ส่วนโรคภัยอันเกิดจาก อ.อาการเป็นพิษ เช่น พีเอ็ม 2.5 และ อ.อณูชีวะ เช่น โควิด-19 ยังไม่มียาหรืออุปกรณ์การแพทย์ที่ให้ผลในการ “รักษา” ต้นเหตุ ได้ดีกว่า “การบรรเทา” ความรุนแรงของอาการและอาการแสดงของโรค ป้องกันโรคแทรกซ้อนที่จะตามมา เพื่อให้เวลาร่างกายในการ “รักษาและฟื้นฟูตนเอง” เนื่องจากเป็นโรคที่อุบัติ (เกิดขึ้น) ใหม่ การศึกษาวิจัยยังไม่มากพอที่จะสรุปการรักษาฟื้นฟูที่ได้ประโยชน์

ตรงข้ามกับการรักษาและฟื้นฟู การป้องกันโรคและสร้างเสริมสุขภาพในระยะยาว ยาและอุปกรณ์การแพทย์ตะวันตกกลับไม่ได้ผลดีเท่าภาวะฉุกเฉินฯ

เนื่องจากการป้องกันโรค (ไม่ป่วยอีก) และสร้างเสริมสุขภาพ (ไม่เพิ่มโรค) ไม่ว่าจะเป็นเอ็นซีดี โรคที่เกิดจากพีเอ็ม 2.5 หรือจากเชื้อโรคต่างๆ ผู้ป่วยต้อง “ทำเอง” บถคลากรทางการแพทย์เป็นเพียงผู้แนะนำ ชักชวน สนับสนุนให้ผู้ป่วยดูแลการกินอยู่ การใช้ชีวิตที่เป็นต้นเหตุของโรคดังกล่าวด้วยตนเอง (Self-management support)

ดังเช่น คำสอนของพระพุทธเจ้าที่ว่า สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม มีกรรมเป็นของตน ทำกรรมใดไว้ ดีก็ตาม ชั่วก็ตาม ยอมเป็นผู้รับผลของกรรมนั้น หรือที่ฝรั่งเรียวว่า You are what you eat (กินอะไร ก็จะเป็นอย่างนั้น)

แพทย์ พยาบาล บุคลากรสาธารณสุข แม้มีความรู้ความชำนาญแค่ไหน ก็ไม่สามารถจะป้องกันโรคและสร้างเสริมสุขภาพ “ทำแทน” ผู้ป่วยหรือใครคนอื่นได้⦻

* โรคเอ็นซีดี (NCDs) หรือ non-communicable diseases เป็นกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง คือ ไม่ได้เกิดจากเชื้อโรคและไม่สามารถแพร่กระจายจากคนสู่คนได้ แต่เป็นโรคที่เกิดจากนิสัยหรือพฤติกรรมการดำเนินชีวิต ซึ่งจะมีการดำเนินโรคอย่างช้าๆ ค่อยๆ สะสมอาการอย่างต่อเนื่อง และเมื่อมีอาการของโรคแล้วมักจะเกิดการเรื้อรังของโรคด้วย โรคในกลุ่มนี้ ได้แก่ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคไตเรื้อรัง โรคไขมันในเลือดผิดปกติ โรคมะเร็ง โรคทางพันธุกรรม โรคตับแข็ง และโรคสมองเสื่อม (อัลไซเมอร์) เป็นต้น

หมอชาวบ้าน ปีที่ 42 ฉบับที่ 503 เดือนมีนาคม 2564

อ่านต่อฉบับหน้า

9 June 2564

By STY/Lib

Views, 815

 

Preset Colors