02 149 5555 ถึง 60

 

อ.โอสถ... อย่างไรต้านภัย เอ็นซีดี*, พีเอ็ม 2.5, ไวรัสโคโรนา (ตอนที่ 2)

อ.โอสถ... อย่างไรต้านภัย เอ็นซีดี*, พีเอ็ม 2.5, ไวรัสโคโรนา (ตอนที่ 2)

ก้าวทันสุขภาพ เรื่องโดย... นพ.สมเกียรติ แสงวัฒนาโรจน์

กันไว้ดีกว่าแก้ แย่แล้วแก้ไม่ทัน

การรักษาโรค (หายป่วยไว) และฟื้นฟูหลังจากป่วย (ให้เหมือนเดิม) เมื่อเทียบกับการป้องกันโรค (ไม่เพิ่มโรค) แบบไหนดีกว่ากันในการลดโอกาส ป่วย พิการและเสียชีวิต

การศึกษากาตายจากโรคหลอดเลือดหัวใจลดลงโดยการป้องกัน “ก่อน” และ “หลัง” เกิดโรคในอังกฤษและเวลส์ ช่วงปี ค.ศ.1981-2000 พบว่าการป้องกัน “ก่อนเกิดโรค” ลดการตายได้ประมาณ 4 เท่า มากกว่าการป้องกัน “หลังเกิดโรค”

นอกจากนี้ การรักษาภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน การรักษาภาวะหัวใจล้มเหลว สัมพันธ์กับการลดการตายดังกล่าวได้น้อยกว่าการหยุดสูบบุหรี่อย่างเดียว 2-3 เท่า (Unal B. Am J Publice Health 2005;95:103)

อีกการศึกษาเรื่องภาวะหมดสตินอกโรงพยาบาล (รพ.) จากโรคหัวใจ พบว่า ผู้ที่หมดสติดังกล่าว 100 คน มีโอกาสได้รับการกู้ชีวิตและรอดมาจนถึงโรงพยาบาล 40 คน (หรือ 60 คน ตายก่อนมาถึงโรงพยาบาล) ได้ออกจากโรงพยาบาล 10 คน และมีชีวิตได้อีก 1 ปี เพียง 7 คน (Karl B. Kern. JCIN 2012;5:597)

ดังนั้น การป้องกันไว้ดีกว่าแก้ หรือ prevention is better than cure เพราะหากแย่แล้วอาจแก้ไม่ทัน พิการ หรือเสียชีวิตได้

โรคเรื้อรัง ต้องกินยาตลอดชีวิตหรือ

บุคลากรทางการแพทย์ส่วนใหญ่เวลาผู้ป่วยโรคเรื้อรังถามว่า โรคที่เป็นอยู่ต้องกินยาตลอดชีวิตหรือไม่ ก็มักจะได้คำตอบว่า ต้องกินยาตลอดชีวิตเพื่อป้องกันการเกิดความเจ็บป่วยอีก หรือป้องกันโรคแทรกซ้อนที่จะตามมา

ทั้งๆ ที่หลักฐานทางวิชาการที่สนับสนุนให้กินยาตลอดชีวิตแทบจะหาไม่ได้เลย เนื่องจากการศึกษาเปรียบเทียบผลและผลข้างเคียงจากการกิน “ยา (จริง)” เทียบกับ “ยาหลอก” ในผู้ป่วยเรื้อรังระยะยาว มักจะอยู่ในช่วงเวลาไม่เกิน 5 ปี

ดังนั้นถ้าถามว่า ผลและผลข้างเคียงใน 10, 15 หรือ 20 ปีข้างหน้า มักจะไม่มีข้อมูลหลักฐานทางวิชาการสนับสนุน บุคลากรทางการแพทย์ส่วนใหญ่ก็เลยอนุมานกันเองว่า กินยาไปเรื่อยๆ ตลอดชีวิตคงจะไม่เป็นไร กินมาเกิน 5 ปีแล้ว ก็น่าจะปลอดภัย จึงแนะนำให้กินยาตลอดชีวิต โดยไม่มีหลักฐานทางวิชาการสนับสนุนเพียงพอ

แต่...ปัจจุบัน การกินยาที่ไม่เหมาะสม โดยเฉพาะการกินยาหลายๆ ชนิดในผู้สูงอายุ ซึ่งมักมีโรคประจำตัวเรื้อรังมากกว่า 2-3 โรค กินยารวมกันแล้วเกิน 10 กว่าชนิด ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญของชาวโรคและชาวไทย เพราะส่งผลให้เกิดผลเสียหรือแม้แต่อันตราย เช่น

❣ การเสียชีวิตและการนอนโรงพยาบาลที่เพิ่มขั้น

❣ ผลข้างเคียงจากยาที่เพิ่มขั้น

❣ ผลข้างเคียงจากปฏิกิริยาระหว่างยากับยา, ยากับโรคอื่น, ยากับอาหาร, หรือยากับผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เป็นต้น

❣ หกล้ม/กระดูกหัก (โดยเฉพาะกระดูกสะโพกหัก) เพิ่มขั้น

❣ ความทรงจำ การทำงานของสมองลดลง

❣ ขาดอาหารหรือภาวะทุพโภชนาการ

❣ ปัสสาวะผิดปกติ

❣ เสียค่าใช้จ่าย เวลา บุคลากรดูแล เพิ่มขั้น

❣ คุฯภาพชีวิตลดลง

นอกจากผลเสียหรือผลข้างเคียงแล้ว ยังมีผลเสียของการกินยาอีกหรือไม่?

การกินยาเพื่อรักษาโรคหรือป้องกันโรคแทรกซ้อนจากโรคหนึ่ง อาจเพิ่มโอกาสเป็นอีกโรคหนึ่ง เช่น การกินยาลดไขมัน (สแตติน) ในคนที่ไขมันในเลือดผิดปกติ สัมพันธ์กับความตะกละที่เพิ่มขึ้น กินอาหารไขมันเพิ่มขึ้น อ้วนขึ้น และเป็นโรคเบาหวานเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับคนที่ไม่กินยาลดไขมัน

การกินยาลดความดันเลือด (เช่น ยาต้านบีตาบางชนิด) สัมพันธ์กับการเพิ่มโอกาสเป็นโรคเบาหวานเมื่อเทียบกับการกินยาลดความดันเลือด (ยาต้านแคลเซียม) ยารักษาโรคเบาหวานสัมพันธ์กับการเพิ่มโอกาสโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน กล้ามเนื้อหัวใจตาย และหัวใจล้มเหลว

หมอชาวบ้าน ปีที่ 42 ฉบับที่ 504 เดือนเมษายน 2564

อ่านต่อฉบับหน้า ตอนที่ 3

10 June 2564

By STY/Lib

Views, 1104

 

Preset Colors