02 149 5555 ถึง 60

 

อ.โอสถ... อย่างไรต้านภัย เอ็นซีดี*, พีเอ็ม 2.5, ไวรัสโคโรนา (ตอนที่ 3)

อ.โอสถ... อย่างไรต้านภัย เอ็นซีดี*, พีเอ็ม 2.5, ไวรัสโคโรนา (ตอนที่ 3)

ก้าวทันสุขภาพ เรื่องโดย... นพ.สมเกียรติ แสงวัฒนาโรจน์

กินยาดีกว่าไม่กิน แต่ทำเองดีกว่ากินยาอย่างเดียว

การกินยาเพื่อรักษาโรค โดยเฉพาะโรคเฉียบพลัน หรือเพื่อป้องกันโรค มีการศึกษามากมายที่สนับสนุนได้ประโยชน์ในการรักษาป้องกัน ป่วย พิการและเสียชีวิต ดีกว่าการไม่กินยา (หรือกินยาหลอก)

ในขณะเดียวกันก็มีหลายการศึกษา (โดยเฉพาะการศึกษาเพื่อการไม่ป่วยอีกและไม่เพิ่มโรค) ที่แสดงให้เห็นว่า การ “ทำเอง” ในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต ( อ.อาหาร อ.อิริยาบถ ออกแรง ออกกำลังกาย งด ส.สูบบุหรี่ สุรา) อาจได้ประโยชน์ต่อสุขภาพในระยะยาวดีกว่าการกินยาอย่างเดียวโดยไม่ได้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ตัวอย่างเช่น

การศึกษา Diabetes Prevention Program เปรียบเทียบระหว่างการป้องกันโรคเบาหวานในชาวอเมริกัน โดยกินยาเบาหวาน (metformin) หรือการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม (ลดน้ำหนัก 7% ใน 6 เดือน และเดินเร็ว 150 นาทีต่อสัปดาห์) กับยาหลอกและไม่ได้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม

เมื่อติดตามไป 5 ปี พบว่า กลุ่มที่กินยาดังกล่าวข้างต้น ลดโอกาสเป็นเบาหวานได้ 31% ส่วนกลุ่มปรับเปลี่ยนพฤติกรรมลดได้ 58% และเมื่อติดตามไปถึง 15 ปี พบว่า เฉพาะผู้หญิงกลุ่มที่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เกิดโรคแทรกซ้อน (ไตวายเรื้อรังและจอประสาทตา microvascular complications) 8.7% เทียบกับกลุ่มยาหลอก 11% และผู้ที่ไม่ได้เป็นเบาหวาน กลุ่มปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเกิดโรคแทรกซ้อนดังกล่าว 28% น้อยกว่ากลุ่มที่เป็นเบาหวาน

การศึกษา JACC ในชาวญี่ปุ่น 27,728 คน อายุ 40-79 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ.2531-2533 ติดตาม 18.5 ปี เกิดการตายจากโรคหัวใจและหลอดเลือด 1,477 คน พบว่า ในทุกๆ ช่วงความดันเลือดเดียวกัน ผู้ที่กินยาลดความดันสัมพันธ์กับการตายจากโรคหัวใจและหลอดเลือดมากกว่าผู้ที่ไม่ได้กินยาลดความดันเลือด เช่น ผู้ที่กินยาลดความดันเลือด ความดันเลือดในช่วง 130-139/85-89 มม.ปรอท อัตราการตายดังกล่าว 5.4 ต่อประชากร 1,000 คนใน 1 ปี (ซึ่งต่ำที่สุดในกลุ่มกินยาลดความดัน และช่วงความดันเลือดที่สูงกว่านี้หรือต่ำกว่านี้ อัตราการตายจะสูงขึ้นกว่านี้)

แต่ในกลุ่มที่ไม่ได้กินยาลดความดันเลือด พบว่า ช่วงความดันเลือดดังกล่าวมีอัตราการตาย 2.59 ต่อประชากร 1,000 คนใน 1 ปี และลดลงไปอีกเมื่อช่วงความดันเลือดต่ำลงกว่านี้

จะเห็นว่าแนวโน้มอัตราการตายของผู้ที่กินยาลดความดันเลือด ช่วงความดันเลือดที่ต่ำที่สุด อยู่ในช่วง 130-139/85-89 มม.ปรอท ช่วงความดันเลือดที่สูงกว่าหรือต่ำกว่านี้ อัตราการตายดังกล่าวจะสูงขึ้น ในขณะที่แนวโน้มอัตราการตายของผู้ที่ไม่ได้กินยาลดความดันเลือดจะต่ำลงเรื่อยๆ ตามช่วงความดันเลือดที่ต่ำลงและทุกช่วงความดันเลือดเดียวกัน ผู้ที่กินยาลดความดันเลือดมีอัตราตายดังกล่าวสูงกว่าผู้ที่ไม่ได้กินยาลดความดันเลือด

การศึกษาหลายการศึกษาที่เปรียบเทียบการ ฟื้นฟูหัวใจด้วยการออกกำลังกาย เป็นหลักกับการกินยาหลังจากเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ หัวใจขาดเลือด พบว่า การฟื้นฟูหัวใจสัมพันธ์กับการลดโอกาสการตาย 27 ต่อ 1,000 คน ส่วนการกินยาต้านเกล็ดเลือด ยาขยายหลอดเลือด ยาลดไขมัน ยาต้านบีตา ลดได้ 6.5-23 ต่อ 1,000 คน ตามลำดับ (https://catalyst.neim.org/doi/full/10.1056/CAT.190624)

การศึกษาเปรียบเทียบ 4 การศึกษาเดี่ยวกับการออกกำลังกายกับ 12 การศึกษาการใช้ยาในประชากรสามแสนสามหมื่นกว่าคน พบว่า การออกกำลังกาย (อิริยาบถ+ออกแรง+ออกกำลังกาย) สัมพันธ์กับการลดการตายจาก “โรคหลอดเลือดหัวใจ” “หัวใจล้มเหลว” และ “กลุ่มเสี่ยงที่จะเป็นโรคเบาหวาน” ไม่แตกต่างจาก “กินยา” แต่ “อัมพาต” การออกกำลังกายสามารถลดการตายจากอัมพาตได้ดีกว่า “กินยา”

การศึกษาผลกระทบของการลดบริโภคโซเดียมในอาหารและเครื่องดื่ม 2 กรัมต่อวัน พบว่า สัมพันธ์กับการลดผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจรายใหม่ 4-6.5% ลดกล้ามเนื้อหัวใจตาย 5.1-8.1% ลดอัมพาตรายใหม่ 3.4-5.3% และลดการตายทุกสาเหตุ 1.7-2.8% เมื่อเทียบกับการกินยาสแตติน (ยาลดไขมัน) เพื่อป้องกันโรคแบบปฐมภูมิ (หรือการป้องกันก่อนเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด) ลดผู้ป่วยได้ 5.3%, 2.9%, 0.9% และ 0.3% ตามลำดับ

นอกจากนี้ ยังพบว่า การหยุดสูบบุหรี่ลดผู้ป่วยได้ 3.7%, 11.9%, 4.4% และ 4.3% และการลดน้ำหนักด้วยตนเองลง 5% ของดัชนีมวลกายของคนอ้วน ก็ลดผู้ป่วยได้ 5.3%, 8%, 0.7% และ 2% ตามลำดับ

หมอชาวบ้าน ปีที่ 42 ฉบับที่ 505 เดือนพฤษภาคม 2564

(อ่านต่อฉบับหน้า) ตอนที่ 4

11 June 2564

By STY/Lib

Views, 908

 

Preset Colors