02 149 5555 ถึง 60

 

ปรับสมดุล สร้างภูมิคุ้มกัน ต้านโควิด (ตอน 1)

ปรับสมดุล สร้างภูมิคุ้มกัน ต้านโควิด (ตอน 1)

เรื่องเด่น เรื่องโดย... ศ.คลินิก แพทย์จีน นพ.ภาสกิจ วัณนาวิบูล

การสร้างภูมิคุ้มกันสู้โควิด คือการปรับสมดุลสร้างเสริมสุขภาพ

หลักการปรับสมดุลเพิ่มภูมิคุ้มกัน 3 ประการ ได้แก่

1.ความสมดุลระหว่างยินและหยาง

จุดมุ่งหมายเพื่อไม่ให้เกิดความโน้มเอียงไปด้านใดด้านหนึ่ง เช่น ระบบประสาทและฮอร์โมนในการปรับสมดุลของร่างกายมี 2 ด้าน คือ ด้านกระตุ้นการทำงานและด้านยับยั้งหรือลดการทำงานของอวัยวะภายใน

การดำเนินชีวิต การทำงาน ออกกำลังกายกับการพักผ่อน นอนหลับ อาหารและสมุนไพรมีฤทธิ์ร้อนฤทธิ์เย็น จะกินให้เหมาะสมอย่างไร

การปรับสมดุลในทุกเรื่องต้องคำนึงถึงทั้ง 2 เสมอ และต้องให้น้ำหนักว่าจะปรับด้านใดเป็นด้านหลัก ด้านใดเป็นด้านรองตามที่เป็นจริง

2. การบำรุงเจิ้งชี่ (ภูมิคุ้มกัน)* การขับเสียชี่ (สิ่งก่อโรค)

กล่าวสำหรับโควิดแล้ว จุดมุ่งหมาย คือ ด้านหนึ่งต้อง ลดการสัมผัสรับเชื้อโรค ป้องกันการรับเชื้อโรค ขจัดสิ่งก่อโรค และอีกด้านต้องการเสริมภูมิคุ้มกันต่อสู้กับไวรัส

เมื่อได้รับเชื้อ การเกิดโรคโควิด-19 ที่รุนแรงหรือไม่ เป็นผลลัพธ์ของการต่อสู้ระหว่างสิ่งก่อโรค (เสียชี่-ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่) กับพลังพื้นฐานของร่างกาย (เจิ้งชี่-ภูมิคุ้มกัน)*

⧫ ถ้าไวรัสปริมาณมาก ร่างกายอ่อนแอ ทำให้เกิดโรค

⧫ ถ้าไวรัสปริมาณน้อย ร่างกายแข็งแรง ไม่เกิดโรค

⧫ ถ้าไวรัสปริมาณมาก ร่างกายแข็งแรง เกิดการต่อสู้ มีอาการแสดงออกรุนแรง แม้ว่าในที่สุดร่างกายชนะ แต่ก็ทำให้เกิดความเสียหายแก่อวัยวะปอดรุนแรง มีผลแทรกซ้อนตามมา

⧫ ถ้าไวรัสปริมาณน้อย ร่างกายอ่อนแอ อาการของโรคก็ยืดเยื้อ และเป็นพาพาหะของโรค

* ภูมิคุ้มกัน (เจิ้งชี่) ในมุมมองแพทย์แผนจีน

พลังเจิ้งชี่กระจายอยู่ทุกอวัยวะภายในและทางเดินสันลมปราณ มีบทบาทในการผลักดันกระตุ้นให้ระบบสรีระของร่างกายทำงานเป็นปกติ ปรับการสร้างสารจำเป็น เลือด สารน้ำ รวมถึงการลำเลียง การขับถ่ายของเสีย เพื่อทำให้เลือดและพลังไหลเวียนไม่ติดขัด ไม่ก่อเกิดของเสียในร่างกาย เช่น เสมหะ ความชื้น เลือดคั่ง

แพทย์แผนจีนจะทำการตรวจสภาพสมดุลร่างกายด้วยวิธีการสื่อเจิ่น โดยใช้อวัยวะสัมผัสของแพทย์ในการรวบรวมข้อมูลมาสังเคราะห์และวิเคราะห์ประเภทของร่างกาย เพื่อวางแผนการรักษาในการปรับสมดุล

ระบบภูมิคุ้มกันหรือเจิ้งชี่ในความหมายแพทย์แผนจีน จึงไม่ได้มองไปเฉพาะระบบภูมิคุ้มกัน หรือการทำงานของเม็ดเลือดขาวชนิดต่างๆ แต่เกี่ยวข้องกับการปรับระบบการทำงานของอวัยวะภายในทุกอวัยวะ การไหลเวียนของเลือดและพลัง การป้องกันการติดขัดของเลือด พลัง สารน้ำและการขับสิ่งก่อโรคภายในที่เกิดขึ้นจากการทำงานของร่างกาย

การสร้างพลังและเก็บพลังของร่างกายเกี่ยวข้องกับอวัยวะม้ามและไต ม้ามจึงเป็นรากฐานสำคัญของชีวิตหลังกำเนิด ถ้าการทำงานของม้ามดี ทำให้มีการสร้างเลือดและพลังลมปราณได้ดี สุขภาพแข็งแรง ถ้าม้ามอ่อนแอ ทำให้เกิดอาการท้องอืด ท้องเดิน อ่อนแอ ไม่มีพลัง เลือดและพลังพร่อง

ส่วนไต คือ อวัยวะที่เกี่ยวข้องกับสารจิง การปรับสมดุลยิน-หยาง ระบบฮอร์โมน ไขกระดูกเป็นต้นทุนที่มาแต่กำเนิด

การสร้างเม็ดเลือดขาว สร้างเลือด เกล็ดเลือด เกี่ยวข้องกับไขกระดูก ทั้งม้ามและไตมีการทำงานที่เสริมกันและเป็นต้นทุนสำคัญในการสร้างเจิ้งชี่หรือระบบภูมิคุ้มกัน

3. ปรับการทำงานของอวัยวะภายในตามสภาพร่างกายของแต่ละคน

เนื่องจากสภาพร่างกายของแต่ละคนไม่เหมือนกัน แพทย์จีนแบ่งพื้นฐานร่างกายเป็น 9 แบบ การปรับสมดุลจึงมีความแตกต่างตามสภาพร่างกาย

แพทย์จีนใช้การตรวจวินิจฉัยโดยใช้การมอง การดม การฟัง การถาม การสัมผัสจับชีพจร นำข้อมูลมาวิเคราะห์แยกแยะสภาพร่างกาย

1. แบบกลางๆ 2. แบบพลังพร่อง 3. แบบหยางพร่อง

4. แบบยินพร่อง 5. แบบเสมหะชื้น 6. แบบร้อนชื้น

7. แบบเลือดติดขัด 8. แบบพลังติดขัด 9. แบบพิเศษเฉพาะ

การใช้สมุนไพรที่เน้นการฆ่าไวรัสด้านเดียวโดยเฉพาะในคนที่ร่างกายอ่อนแอ ไม่มีพลัง ขี้หนาว จำทำให้ทำลายภูมิคุ้มกันให้ต่ำลง ติดเชื้อง่าย อาการโรคจะรุนแรงหรือเป็นเรื้อรัง ร่างกายบอบช้ำมาก

ในทางกลับกัน คนที่ร่างกายมีของเสีย เสมหะคั่งค้าง เลือดคั่ง พลังติดขัดในร่างกายมาก แทนที่จะปรับสมดุลในการขับของเสีย ไปเน้นการเสริมบำรุงรวมถึงขณะติดเชื้อรุนแรงจากการมรเชื้อไวรัสในร่างกายมาก จะยิ่งทำให้โรครุนแรงมากขึ้น

ในทางปฏิบัติต้องพิจารณาทั้ง 2 ด้านในการใช้ยา แต่ให้น้ำหนักกับการรักษาในแต่ระยะต่างกัน

การเสริมภูมิคุ้มกัน ต้องเริ่มต้นที่ปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต

เพื่อสร้างเสริมภูมิคุ้มกันแบบไม่จำเพาะที่มีมาแต่กำเนิดให้แข็งแรง เพราะเป็นด่านแรกและด่านสำคัญในการต่อสู้กับเชื้อโรค ความเชื่อของแพทย์จีนที่ว่า “หมอที่เก่งที่สุดคือตัวเรา”

การทำให้กลไกร่างกายต่อสู้กับเชื้อโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือการมีสุขภาพที่ดีต้องสร้างด้วยตัวเองเท่านั้น โดยการเข้าใจกฎเกณฑ์ของธรรมชาติและดำเนินวิถีชีวิตให้สอดคล้องและเป็นจังหวะกับธรรมชาติเท่านั้น สุขภาพที่ดีบ่งบอกถึงภูมิคุ้มกันโรคที่ดี ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บ จิตใจร่าเริง มีความสุข อายุยืนยาว

การปรับสมดุลด้วยอาหารและยา

“ยามปกติปรับสมดุลด้วยอาหาร ยามเจ็บป่วยปรับสมดุลด้วยยา”

ดังนั้น ในการป้องกันโรคจึงเน้นที่อาหารหรือสมุนไพรที่เป็นอาหารมากกว่าใช้ยา เพราะยาเป็นการปรับสภาพไปด้านใดด้านหนึ่งที่รุนแรง ถ้าร่างกายไม่เสียสมดุลมาก จึงเน้นการใช้อาหาร สมุนไพรเป็นหลัก

คุณลักษณะสมุนไพร มีฤทธิ์ร้อน-อุ่น หรือเย็น มีรสชาติบอกสรรพคุณ นำยาเข้าสู่อวัยวะใด มีกลไกพลังกำหนดทิศทางของยา ขึ้นบน ลงล่าง เข้าใน กระจายออกภายนอก การใช้สมุนไพรจึงต้องคำนึงให้สอดคล้องกับลักษณะโรคหรือความเสียสมดุล

แพทย์จีนไม่ได้ใช้ยาด้วยการเริ่มต้นจากการดูสารออกฤทธิ์

การแพทย์แผนจีนใช้หลัดคิดทฤษฎีแพทย์จีนมนการใช้ยาสมุนไพรรักษาโรค ส่วนมากเป็นเชิงตำรับ จุดมุ่งหมายเพื่อปรับสมดุลร่างกายโดยรวม

ปัจจุบันสมุนไพรต่างๆ ได้ถูกนำมาวิเคราะห์แยกแยะสารออกฤทธิ์สำคัญ ทำให้รู้ถึงกลไกการออกฤทธิ์ของยาสมุนไพรจนเกิดความโน้มเอียงไปที่การเน้นสรรพคุณของสารออกฤทธิ์ไปรักษาอาการของโรคเป็นหลัก กลายเป็นการใช้สมุนไพรรักษาโรคมากกว่ารักษาคน มีผลข้างเคียงจากการใช้ยาสมุนไพร เกิดปัญหาและผลข้างเคียงจากการใช้สมุนไพร เช่น ฟ้าทะลายโจร** และกระชายขาว***

ดังนั้น ในการกินสมุนไพรหรืออาหารจึงต้องรู้ถึงคุณสมบัติร้อนหรือเย็น อย่ามองเพียงแต่สาระสำคัญและการออกฤทธิ์ของสมุนไพร แล้วนำไปใช้โดยไม่ได้คำนึงว่าความเหมาะสมกับสภาพร่างกายหรือไม่

** ฟ้าทะลายโจร

ฟ้าทะลายโจรมีสารสำคัญในการออกฤทธิ์ คือ สารกลุ่ม Lactone คือ

- สารแอนโดรกราโฟไลด์ (andrographolide)

- สารนีโอแอนโดรกราโฟไลด์ (neoandrographolide)

- 14-ดีออกซีแอนโดรกราโฟไลด์ (14-deoxy-andrographolide)

สรรพคุณ แก้ไข้ทั่วๆ ไป เช่น ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ ระงับอาการอักเสบ ไอ เจ็บคอ คออักเสบ ต่อมทอลซิล หลอดลมอักเสบ ขับเสมหะ รักษาโรคผิวหนัง ฝี แก้โรคติดเชื้อ (กลุ่มที่ทำให้ปวดท้อง ท้องเสีย บิด) และแก้กระเพาะลำไส้อักเสบ

เมื่อมีการบริโภคอย่างพร่ำเพรื่อ โดยเข้าใจว่าสามารถป้องกันโควิด-19 ได้ ทำให้มีข่าวคราวออกมาว่าบางคนท้องอืด อาหารไม่ย่อย ขาเย็นเป็นตะคริว

มองในมุมมองแพทย์แผนจีนคือ สมุนไพรฟ้าทะลายโจรมีสรรพคุณสามารถขับพิษ ขับร้อน หรือฆ่าเชื้อโรค ฆ่าไวรัส ยาฤทธิ์เย็นมาก จัดเป็นยาไม่ใช่อาหารสมุนไพร ไม่ใช่ยาบำรุง เป็นยาขับสิ่งก่อโรค ไม่เหมาะกับภาวะปกติหรือคนที่ร่างกายอ่อนแอ ขี้หนาว ท้องอืด อาหารไม่ย่อย ลิ้นบวมน้ำ ลิ้นมีรอยฟันหยัก ง่วงนอนเก่ง ท้องเสียบ่อย *** กระชายขาว

กระชายขาวเป็นได้ทั้งอาหารและสมุนไพร รสเผ็ด ฤทธิ์ร้อนและขม

สรรพคุณ เชิงกระตุ้น เสริมบำรุง ช่วยแก้อาการปวดท้อง มวนในท้อง อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ บำรุงกำลังและเสริมสมรรถภาพทางเพศ

สาระสำคัญที่อยู่ในกระชายขาว ได้แก่ pandulatin A และ pinostrobin สามารถทำหน้าที่ยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อไวรัสต้นเหตุของโควิด-19 ได้ ซึ่งสารทั้ง 2 ตัวนี้สามารถลดจำนวนเซลล์ที่ติดเชื้อจาก 100% ให้ลดลงจนเหลือ 0%

นอกจากนี้ ยังสามารถยับยั้งเซลล์ในการผลิตไวรัสได้ถึง 100% อีกด้วย

ข้อควรระวัง คือ คนที่ร่างกายมีภาวะร้อนชื้น ขี้ร้อน ท้องผูก ความดันเลือดสูง หงุดหงิดง่าย ลิ้นแดง ฝ้าบนลิ้นเหลือง หนาและเหนียว การกินกระชายขาวมากเกินไปจะทำให้เกิดความร้อนความชื้นมากขึ้น จะยิ่งทำให้ภูมิคุ้มกันตก

การใช้สมุนไพรป้องกันหรือรักษาโรคของแพทย์แผนจีนจะใช้การจัดยาเป็นตำรับ

ในประเทศจีนมีการแนะนำตำรับสมุนไพรจีนหลายสูตร ขึ้นกับว่าเป็นตำรับป้องกัน ตำรับรักษาในแต่ละระยะของโรคโควิด-19 มีการเผยแพร่ตำรับต่างๆ ออกมามากมาย ต้องเข้าใจว่า

1. ทุกตำรับที่ใช้ทางการแพทย์แผนจีน ต้องมีหลักการและเหตุผลที่นำมาใช้ให้เหมาะสมกับอาการและอาการแสดงออกรวมถึงสภาพร่างกายผู้ป่วย

2. ต้องแยกให้ออกว่าเป็นตำรับป้องกันหรือรักษา (ระยะแรกหรือปานกลางหรือรุนแรง)

3. แต่ละตำรับมีพื้นฐานมาจากความแตกต่างของสภาพคน ภูมิประเทศ ภูมิอากาศ ต้องเลือกใช้ตำรับและปรับลดตัวยาตามสภาพเป็นจริง

4. ต้องใช้สมุนไพรจีนเพื่อปรับสมดุลควรได้รับการแนะนำที่ถูกต้องจากแพทย์แผนจีนหรือผู้รู้

หมอชาวบ้าน ปีที่ 43 ฉบับที่ 506 เดือนมิถุนายน 2564

(อ่านต่อตอนต่อไป)

16 June 2564

By STY/Lib

Views, 6769

 

Preset Colors