02 149 5555 ถึง 60

 

อัพเดตสถานการณ์วัคซีนโควิด-19 ทั่วโลกภูมิคุ้มกันดีขึ้นไหม เราปลอดภัยหรือยัง

"อัพเดตสถานการณ์วัคซีนโควิด-19 ทั่วโลกภูมิคุ้มกันดีขึ้นไหม เราปลอดภัยหรือยัง

เรื่องโดย... ชวลิดา เชียงกูล

สถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ในภาพรวมทั่วโลกนั้นยังคงมีความน่ากังวลอยู่มาก ไม่ต่างจากสถานการณ์การระบาดในประเทศไทยบ้านเราที่คลัสเตอร์การแพร่ระบาดนั้นผุดขึ้นราวกับดอกเห็ด ทั้งที่มาตรการต่างๆ ยังมีการบังคับใช้ เกิดคำถามตามมาว่าแท้จริงแล้วเป็นเพราะอัตราการฉีดวัคซีนนั้นช้าเกินไปหรือคนส่วนใหญ่เริ่มการ์ดตกเองกันแน่

อย่างไรก็ตาม การปฏิบัติตามหลักสุขอนามัยที่ดี หรือที่ช่วงปีกว่ามานี้เราชินกับการเรียกว่ายกการ์ด อย่างการใส่หน้ากากอนามัย หมั่นล้างมือ กินช้อนแยก เว้นระยะห่าง และหลีกเลี่ยงที่ชุมชน เป็นสิ่งที่เราย้ำกันมาตลอดอยู่แล้วถึงความจำเป็นที่ต้องทำ แต่ก็ยังอดสงสัยไม่ได้ว่าตัวช่วยชั้นดีที่ทุกคนฝากความหวังไว้อย่างการฉีดวัคซีนนั้น จะพาเราออกจากเหตุการณ์การระบาดที่เลวร้ายเช่นนี้ได้เร็วแค่ไหน

ชีวจิต ฉบับนี้เรามาอัพเดตสถานการณ์โควิดทั่วโลกกับ ศ. นพ.ยง ภู่สุวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ศ. ดร. นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณะบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดลกันค่ะ

ศ. นพ.ยง ภู่สุวรรณ กล่าวว่า “วิกฤติโควิด-19 ขณะนี้มีผู้ป่วยทั้งสิ้นมากว่า 120 ล้านคน และมีผู้เสียชีวิตเข้าสู่จำนวน 2.7-2.8 ล้านคนแล้วทั่วโลก นับเป็นวิกฤติที่สำคัญในรอบ 100 ปี ถ้าเราดูสถานการณ์ของโลกในวันนี้จะเห็นว่า เดิมทีอยู่ในขาขึ้นมาตลอด จนกระทั่งหลังจากที่เริ่มมีวัคซีนใช้ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2563 และมีการฉีดกันมากขึ้นเรื่อยๆ จำนวนผู้ป่วยจากเดิม 6-7 แสนคนต่อวัน มีแนวโน้มจะลดลงเหลือ 3-4 แสนคนต่อวัน”

“แต่ทั้งนี้อัตราการฉีดวัคซีนของทั่วโลกได้มากกว่าที่คิด ขณะเดียวกันก็มีการระบาดอย่างหนักกับสายพันธุ์อังกฤษ ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่แพร่กระจายได้เร็วและติดต่อได้ง่าย ทำให้สายพันธุ์นี้เมื่อเปรียบเทียบกับอัตราการฉีดวัคซีนแล้วไปเร็วกว่า มีการเข้าสู่อเมริกา ยุโรป ทำให้ในระยะหลังจะเห็นว่าจำนวนผู้ป่วยต่อวันอยู่ในขาขึ้นใหม่ ขณะนี้ผู้ป่วยต่อวันขึ้นไปประมาณ 5-6 แสนคนอีกแล้ว และหลายประเทศก็ได้มีการล็อกดาวน์ ไม่ว่าจะฝรั่งเศส เยอรมนี แม้กระทั่งไทย หลังการระบาดระลอกใหม่เกิดขึ้นจากคลัสเตอร์ใหม่ ไม่ว่าจะในสถานบันเทิงหรือเรือนจำ ซึ่งเป็นสิ่งที่เราต้องมานึกถึงแล้วว่าเราต่อสู้กับมันมาปีกว่าแล้ว การจะมองเห็นแสงให้โรคสงบไปได้ แน่นอนว่าคงไม่พ้นเรื่องของวัคซีนที่จะนำมาใช้ในการป้องกันโรค”

อัตราการฉีดวัคซีนทั่วโลก

ศ. ดร. นพ.ประสิทธิ์มองสถานการณ์การฉีดวัคซีนทั่วโลกว่า จากการวิเคราะห์สถานการณ์การฉีดวัคซีนทั่วโลกผ่านกราฟของแต่ละประเทศ พบว่า ประเทศส่วนใหญ่มีแนวโน้มของผู้ติดเชื้อรายใหม่ลดลงในช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2564 แต่ต่อมาในช่วงเดือนมีนาคมกลับมีตัวเลขของผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นอีกครั้ง โดยพบจำนวนผู้ติดเชื้อมากสุดต่อวันมีจำนวนมากถึง 637,906 ราย

ทั้งนี้หากจำแนกตามทวีปและภูมิภาค แบ่งเป็นอเมริกา ยุโรป เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตะวันออกกลาง แอฟริกา และแปซิฟิกตะวันตก ต่างก็มีแนวโน้มของผู้ติดเชื้อรายใหม่ลดลงหลังมรการฉีดวัคซีน แต่ต่อมาพบว่าจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่กลับเพิ่มขึ้นสูงอีกครั้งเทียบเท่ากับช่วงแรกของการระบาด

“จำนวนตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่เพิ่มสูงขึ้นหลังได้รับการฉีดวัคซีนนั้น แสดงให้เห็นว่าอุบัติการณ์ต่างๆ เริ่มกลับย้อนขึ้นมาคล้ายๆ ช่วงก่อนหน้าที่ไม่มีวัคซีน และจากการวิเคราะห์แยกรายประเทศพบว่า ในประเทศที่ฉีดวัคซีนเกิน 25 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ เช่น อิสราแอล และสหราชอาณาจักรสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโรคได้ดี”

“ขณะที่ประเทศอื่นๆ ที่ฉีดวัคซีนน้อยกว่า 25 เปอร์เซ็นต์ พบว่าผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการฉีดวัคซีนในปริมาณหนึ่งที่สามารถทำให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ เป็นเครื่องมือช่วยควบคุมการแพร่ระบาดได้” ศ. ดร. นพ.ประสิทธิ์กล่าว

ศ. ดร. นพ.ประสิทธิ์ยังระบุว่า “แม้แนวโน้มของผู้ติดเชื้อรายใหม่จะเพิ่มสูงขึ้นหลังทั่วโลกเริ่มฉีดวัคซีน แต่จะพบว่าอัตราการเสียชีวิตจากการติดเชื้อโควิดต่ำลงมาก โดยมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 2.2 เปอร์เซ็นต์ แต่เนื่องจากจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่ยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจนอาจส่งผลให้เกิดปัญหาเตียงผู้ป่วยไม่เพียงพอ ดังนั้นเมื่อได้รับวัคซีนแล้ว ประชาชน ‘การ์ดห้ามตก’”

ทั้งนี้ ศ. นพ.ยง ระบุว่า “การใช้วัคซีนของทั่วโลกเพิ่มขึ้นจริง แต่เมื่อเทียบกับประชาการโลกประมาณ 7 พันล้านคนถือว่าต่ำ ถ้าต้องการให้วัคซีนเพื่อต้องการให้โรคลดลงหรือยุติได้ ต้องให้ฉีดถึง 70 เปอร์เซ็นต์ของประชากร หรือต้องให้วัคซีนประมาณ 5 พันล้านคน ฉะนั้นวัคซีนที่ต้องใช้ในการยุติโลกต้องไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นล้านโดส ซึ่งตอนนี้ยอดฉีดล่าสุดเมื่อวันที่ 4 เมษายน ทั่วโลกฉีดไปแล้วแค่ 650 ล้านโดสเท่านั้น เท่ากับฉีดไปแค่ 6.5 เปอร์เซ็นต์ของประชากรโลก โดยอเมริกาฉีดมากที่สุด เกือบ 200 ลานโดส รองลงมาคือ จีน อินเดีย อังกฤษ บราซิล ขณะที่การฉีดวันละ15 ล้านโดสจะต้องใช้เวลาถึง 650 วัน หรือ 2 ปีในการคุมโรคนี้ เพราะฉะนั้นจะต้องเร่งฉีดเพิ่มอีกเท่าตัวเป็นวันละ 3. ล้านโดส เพื่อให้ถึงเป้าหมายภายในปีเดียว”

“สำหรับประเทศไทย เราตั้งเป้าไว้ว่าภายในสิ้นปี 2564 นี้จะต้องบรรลุถึงเป้าหมายให้ได้ คือประชาชนส่วนใหญ่ต้องได้รับวัคซีนเพื่อให้มีภูมิป้องกันโรค ซึ่งมี 2 ทางคือ 1. ยอมเป็นโรค 2. ได้รับวัคซีนป้องกันโรค ถ้าให้เลือก ผมเชื่อว่าทุกคนเลือกที่จะได้รับวัคซีนมากกว่าการยอมเป็นโรค”

อิสราเอลฉีดวัคซีนสำเร็จ

นอกจากนี้ ศ. นพ.ยง ยังกล่าวถึงเคสของประเทศที่ฉีดวัคซีนมากๆ ว่า “เราจะเห็นผลกระทบที่ค่อนข้างชัดเจน อย่างประเทศอิสราเอลที่ฉีดวัคซีนให้ประชากรสูงที่สุดของโลก รองลงมาคือสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และอังกฤษ ใน 3 ประเทศนี้จะเห็นว่า อิสราเอลใช้วัคซีนของไฟเซอร์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ใช้วัคซีนของจีนคือ ซิโนฟาร์ม และสปุตนิก อังกฤษใช้แอสตร้าเซนเนก้า”

อย่างอิสราเอลเป็นประเทศเล็กก็จริง มีประชากรไม่ถึง 10 ล้านคนแต่เป็นประเทศนำร่องในการฉีดวัคซีนหมู่มาก เราจะเห็นว่าเขาขึ้นทะเบียนวัคซีนได้ในวันที่ 11 ธันวาคม 2563 ในวันที่ 20 ธันวาคม 2563 ก็เริ่มรณรงค์ให้วัคซีน กลุ่มแรกที่ให้คือผู้สูงอายุที่อายุมากกว่า 65 ปี ซึ่งถือว่าเป็นกลุ่มเสี่ยง แล้วอีกกลุ่มที่รณรงค์ไปพร้อมกันคือบุคลากรทางการแพทย์ เมื่อมีวัคซีนมากพอ วันที่ 12 มกราคม 2564 ก็ขยายอายุลงมาจาก 65 ปีขึ้นไป เป็น 55-64 ปี แล้วขยายอายุลงมาจนถึง 40 ปีขึ้นไป และถึงกลุ่มวัยรุ่น เด็กนักเรียน หลังจากนั้น 4 กุมภาพันธ์ 2564 ทุกคนที่อายุ 16 ปีขึ้นไปให้มาฉีดวัคซีน ใครฉีดครบแล้วจะได้บัตรเขียว สามารถไปเที่ยวผับบาร์ กินอาหารในร้าน ดูหนังได้ เพราะต้องการรณรงค์ให้ทุกคนลดการแพร่กระจายโรค”

“ผลลัพธ์คือในช่วงรณรงค์ฉีดวัคซีนนั้นอิสราเอลยังอยู่ในกราฟขาขึ้น มีผู้ป่วยสูงสุดถึง 6,000 รายต่อสัปดาห์ แต่ภายหลังฉีดไปแล้ว 14 วัน กราฟเริ่มลดลง เหลือจำนวนผู้ป่วยหลักร้อยต่อสัปดาห์ ส่วนอัตราการเสียชีวิตเหลือแค่หลักสิบจากที่พุ่งสูงสุดเมื่อปีก่อน เห็นได้ชัดว่าถ้าสามารถฉีดวัคซีนได้ในประชากรหมู่มาก ผลกระทบคือโรคนี้จะสงบลงอย่างแน่นอน จึงอยากรณรงค์ให้คนไทยรับวัคซีนให้เร็วที่สุดเพื่อจะเปิดประเทศได้ ซึ่งขณะนี้ประเทศไทยแดไปแล้ว 244,254 โดส ครอบคลุมประชาการอย่างน้อย 0.4 เปอร์เซ็นต์”

ยุโรป

ศ. นพ.ยงกล่าวว่า “ประเทศอังกฤษก็รณรงค์ฉีดเช่นกัน ยอดผู้ป่วยจึงลดลง แต่ฝรั่งเศสกับเยอรมนีฉีดแล้วหยุด เพราะกลัวอาการข้างเคียง กลัวอะไรต่างๆ มากมาย ในที่สุดฝรั่งเศสก็ถึงจุดพีคขึ้นใหม่จนได้ แล้วตอนนี้ต้องสั่งล็อกดาวน์ เราจะเห็นว่าถ้าเปรียบเทียบจำนวนผู้ป่วยของอังกฤษกับฝรั่งเศสต่างกัน ในทำนองเดียวกันถ้าดูอัตราการเสียชีวิต อังกฤษเคยมีโรงพยาบาลไม่เพียงพอรักษาผู้ป่วย แต่หลังรณรงค์ฉีดวัคซีน อัตราการเสียชีวิตลดลงต่อเนื่อง แม้ว่ามีสายพันธุ์ใหม่ที่ดูเหมือนว่าวัคซีนจะไม่มีผล ตรงกันข้ามกับฝรั่งเศสที่ปริมาณการฉีดค่อนข้างน้อย ทำให้อัตราเสียชีวิตยังไม่ลดลง ยังคงที่”

สหรัฐอเมริกา

ศ. ดร. นพ.ประสิทธิ์ยกตัวอย่างกรณีสหรัฐฯ ที่ปัจจุบันมรการฉีดวัคซีนโควิดไปแล้ว 157.61 ล้านโดสคิดเป็น 30.4 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งหมด 332.5 ล้านคนว่า จากกราฟจะพบว่าผู้ติดเชื้อรายใหม่หลังจากประชาชนได้รับวัคซีนมีแนวโน้มลดลง ก่อนจะพบจำนวนผู้ติดเชื้อในสหรัฐฯ เพิ่มสูงขึ้นในขณะนี้

แต่เมื่อพิจารณาอัตราผู้เสียชีวิตจะพบว่า อัตราการเสียชีวิต “ลดลงชัดเจน” สะท้อนได้จากกราฟอัตราการเสียชีวิตของประชาชนชาวสหรัฐฯจากโควิด ซึ่งพบว่าก่อนหน้าได้รับวัคซีนพบผู้เสียชีวิตต่อวัน 3,00-4,00 รายขณะนี้หลังมีวัคซีนแล้ว พบผู้เสียชีวิตต่อวันอย่างมากไม่เกิน 1,000 ราย

“มีรายงานข้อมูลว่า เมื่อมีวัคซีน ประชาชนสหรัฐฯ ก็เริ่มชะล่าใจ ละเลยการปฏิบัติตามคำแนะนำของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐฯ หรือซีดีซี ที่ระบุให้ประชาชนหมั่นล้างมือ สวมหน้ากากอนามัย และเว้นระยะห่าง เนื่องจากคิดว่าวัคซีนต้านโควิดสามารถป้องกันโรคได้”

“ทั้งๆ ที่วัตถุประสงค์หลักของวัคซีนต้านโควิดในปัจจุบันคือการลดอาการป่วย ซึ่งหมายความว่าคนที่ได้รับวัคซีนแล้วมีโอกาสที่จะได้รับเชื้อและแพร่เชื้อออกไป ตรงนี้เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้เขาเชื่อว่าเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการระบาดของโควิดเพิ่มขึ้นในสหรัฐฯ” ศ. ดร. นพ.ประสิทธิ์กล่าว

ทั้งนี้ ศ. นพ.ยงกล่าวเสริมในประเด็นของสหรัฐฯ ว่า “สำหรับอเมริกา พอขึ้นทะเบียนวัคซีนได้ก็เริ่มรณรงค์ฉีด ก่อนหน้านี้มีคนไข้วันละเป็นแสน ตอนนี้คนไข้เริ่มลดลงเหลือ 5-6 หมื่นคนต่อวัน จะเห็นว่าเขารณรงค์ฉีดวัคซีนเข็มแรกไปได้แล้ว 30 เปอร์เซ็นต์ของประชากร มีได้รับเข็มสองไปแล้วประมาณ 15 เปอร์เซ็นต์ อย่างไรก็ตาม ผลของการฉีดวัคซีนในคนหมู่มากคือเริ่มเห็นผลว่าคนไข้ลดลง เพราะเขาตั้งเป้าหมายในการฉีดวัคซีนให้ประชากรครบตามเป้าหมายภายในเดือนพฤษภาคม จุดนี้เราถึงบอกว่าทำไมทุกประเทศต้องรณรงค์ในการฉีดวัคซีนให้มากที่สุด เมื่อได้วัคซีนแล้ว ผมคิดว่าเมื่อถึงคิวใครก็ต้องรีบไปรับ”

ประสิทธิภาพของวัคซีน

ศ. นพ.ยงได้กล่าวถึงเรื่องประสิทธิภาพของวัคซีนที่ใช้กันในตอนนี้ว่า “วัคซีนเกือบทุกชนิดที่ใช้ในปัจจุบันนี้ เช่นจากจีนอย่างซิโนฟาร์ม ซิโนแวค ป้องกันอาการรุนแรงถึงต้องนอนโรงพยาบาลหรือเสียชีวิตได้ประมาณ 100 เปอร์เซ็นต์ วัคซีนทุกตัวไม่ว่าจะของอินเดียอย่างบาห์รัท จอห์นสัน โมเดอร์นา แอสตร้าเซนเนก้า ป้องกันการเสียชีวิตหรือนอนโรงพยาบาลได้ในอัตราสูงมากทีเดียว ขอให้สบายใจในประสิทธิภาพของวัคซีน แต่สิ่งที่คนกังวลมากคืออาการแทรกซ้อน วัคซีนเกือบทุกชนิดมีอาการแทรกซ้อนได้ แต่ส่วนใหญ่เป็นอาการข้างเคียงเฉพาะที่ เช่น ปวดเจ็บบริเวณที่ฉีด อาจมีไข้ 1-2 วัน แค่กินยาพาราเซตามอลก็ลง อากากรเหล่านี้ถือว่าไม่รุนแรง

โอกาสเกิดลิ่มเลือดแข็งตัวหลัดฉีดวัคซีนโควิด

นอกจากนี้ ศ. นพ.ยงได้กล่าวถึงเรื่องที่ปะเทศฝั่งยุโรปมีรายงานอาการลิ่มเลือดแข็งตัวภายหลังฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าว่า “เราไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าเหตุการณ์เหล่านี้มันเกิดหลังฉีดวัคซีนจริงๆ ถ้าเรามองย้อนดูข้อมูลต่างๆ เช่น ในอังกฤษหลังฉีดวัคซีนไป 17 ล้านโดส โอกาสหรืออุบัติการณ์เกิดลิ่มเลือดคือเท่ากับ 1 ใน 1.2 ล้านโดส”

“เพราะฉะนั้นคงไม่ต่างกับการเกิดเส้นประสาทอักเสบหลังฉีดไข้หวัดใหญ่ เพราะการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ อาการที่เรากลัวที่สุดคือเส้นประสาทอักเสบ โอกาสการเกิดเส้นประสาทอักเสบก็เกิด 1 ในล้านโดสเช่นกัน เขาบอกอีกว่าการเกิดลิ่มเลือดอุดตันนี้ในยุโรปเกิดกับผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย แล้วเกิดในผู้อายุน้อยกว่า 55 ปี เป็นวัยเจริญพันธุ์หรือวัยที่มีฮอร์โมนสูง ไม่ว่าจะคนท้องหรือคนที่กินยาคุมกำเนิด แน่นอนว่าในอนาคตต้องมาพิจารณากันดูว่ากลุ่มนี้เป็นกลุ่มเสี่ยงจริงไหม ถ้าจริง จะมีอะไรหลีกเลี่ยงได้ไหม ที่สำคัญเราต้องรอพิสูจน์ก่อนว่าเกี่ยวข้องไหม ถ้าเกี่ยวข้อง มีปัจจัยอะไรบ้าง เราต้องหลีกเลี่ยงอย่างไร”

วัคซีนโควิดในภาวุกเฉิน

“วัคซีนถูกพัฒนามาเร็วมาก เรายังไม่มีเวลาดูว่าใช้วัคซีนไปแล้ว 1 ปีเป็นอย่างไร ขณะนี้วัคซีนที่ใช้ถ้าชั่งน้ำหนักระหว่างประโยชน์ที่ได้กับความเสี่ยงอันตรายที่จะเกิดขึ้นแน่นอนว่าถ้าดูอัตราการฉีดทั่วโลก ประโยชน์จะมากกว่า ตอนนี้มีการฉีดในผู้ใหญ่จำนวนมาก ในอนาคตมองว่ากลุ่มประชาการเด็กก็ต้องได้รับวัคซีน ซึ่งขณะนี้มีการวิจัยจำนวนมากที่กำลังลดอายุ เพราะเรารู้ว่าเด็กนักเรียนอายุ 12-18 ปี เป็นอีกกลุ่มที่จะแพร่เชื้อได้ง่าย เพราะโอกาสสังสรรค์มีเยอะ ตอนนี้จึงมีการศึกษาค่อนข้างมาก มีข้อมูลเริ่มออกมามากขึ้น ภายในสิ้นปีนี้ผมเชื่อว่าเด็กกลุ่มต่อไปคือ 6-12 ปี ก็จะมีข้อมูลออกมาชัดเจนว่ากลุ่มนี้จะเป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่ได้รับวัคซีน และกลุ่มสุดท้ายที่จะศึกษาว่าควรได้รับวัคซีนคือเด็กเล็กต่ำกว่า 6 ปีลงไป กลุ่มนี้จะเป็นกลุ่มสุดท้ายเพราะเมื่อเป็นโรคอาการจะไม่รุนแรงเมื่อเทียบกับผู้ใหญ่” ศ. นพ.ยงกล่าว

มาถึงตรงนี้แล้ว คำถามที่ว่าภูมิคุ้มกันดีขึ้นไหม ก็คงจะตอบได้ว่า ในขณะนี้เรายังคงห่างไกลจากการมีภูมิคุ้มกันหมู่ (Herd Immunity) โดยการฉีดวัคซีนอยู่มาก ด้วยอัตราการฉีดที่ยังคงต่ำเมื่อเทียบกับจำนวนประชากรโลก หรือแม้กระทั่งภูมิคุ้มกันหมู่ในประเทศเรายังถือว่าห่างไกล

เพราะฉะนั้นอีกคำถามที่ว่าเราปลอดภัยหรือยัง คำตอบจึงค่อนข้างชัดเจนว่า สำหรับในช่วงเวลานี้คือยังไม่ปลอดภัย อย่างไรก็ตาม แม้ภูมิคุ้มกันหมู่อาจจะยังไม่เกิด แต่เราทุกคนสามารถสร้างภูมิคุ้มกันให้ตัวเองได้อย่างแน่นอน เพียงแค่ “การ์ดอย่าตก” เท่านั้นเองค่ะ

ขอให้สุขภาพดีอยู่กับทุกคนนะคะ

หมายเหตุ อัพเดตสถานการณ์วัคซีนทั่วโลกจากเราในฉบับนี้เป็นข้อมูลเมื่อวันที่ 5 เมษายน 2564 อย่างไรเสีย หวังว่าผู้อ่านจะอัพเดตข้อมูลสถานการณ์ของโรคและการดูแลตัวเองอยู่เสมอนะคะ😷

นิตยสารชีวจิต ปีที่ 23 ฉบับที่ 542 เดือนพฤษภาคม 2564

21 June 2564

By STY/Lib

Views, 10556

 

Preset Colors