02 149 5555 ถึง 60

 

ภูมิคุมกันหมู่ (Herd immunity)

ภูมิคุมกันหมู่ (Herd immunity)

ชี้โรค-แจงยา เรื่องโดย... นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ

คำว่า “Herd immunity” กลายเป็นคำที่คุ้นหูของคนทั่วไปหลังจากเกิดการระบาดของโรคโควิด-19 เมื่อปีกลาย

คำนี้เกิดฮิตขึ้นมา เนื่องจากในช่วงแรกๆ ที่มีการระบาด มีนักสาธารณสุขและผู้นำในประเทศตะวันตก หลายประเทศ ได้พูดในทำนองว่า “จะทำให้โรคนี้หายไปได้ คงต้องใช้หลักของ herd immunity คือ รอให้คนจำนวนมากติดโรค แล้วเกิดภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติกันถ้วยหน้า” ฉบับนี้ จึงขอพูดถึงเรื่องนี้สักนิด

ความหมายของ “Herd immunity”

คำนี้มีการแปลเป็นภาษาไทยว่า “ภูมิคุ้มกันหมู่” หมายถึงภูมิคุ้มกันของหมู่คนจำนวนมากในชุมชน บางคนจึงใช้คำว่า “Community immunity”

ภูมิคุ้มกัน (immunity) ในที่นี้หมายถึงภูมิคุ้มกันต่อโรคติดเชื้อของคนเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โรคติดเชื้อไวรัสที่ระบาดง่าย เช่น หัด หัดเยอรมัน คางทูม อีสุกอีใส ไข้หวัดใหญ่ โรคโควิด-19 เป็นต้น

Herd immunity หรือ ภูมิคุ้มกันหมู่ เกิดได้ใน 2 ลักษณะ ได้แก่

❶ ภูมิคุ้มกันที่เกิดตามธรรมชาติ เกิดจากคนเราเกิดติดเชื้อ (เช่น เชื้อหวัด ไข้หวัดใหญ่) เข้าร่างกาย แล้วร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต่อโรคนั้นขึ้นมาได้เอง เมื่อรับเชื้อครั้งใหม่ภูมิคุ้มกันก็จะทำลายเชื้อ ทำให้ไม่เป็นโรคนั้นๆ ได้

❷ ภูมิคุ้มกันที่เกิดจากวัคซีน ทำให้ป้องกันโรคได้ กล่าวคือ หลังจากร่างกายได้รับวัคซีนจนมีภูมิคุ้มกันแล้ว เมื่อติดเชื้อ (ซึ่งมีวัคซีนใช้ป้องกันโรคที่เกิดจากเชื้อชนิดนั้นได้ เช่น วัคซีนป้องกันหัด หรือไข้หวัดใหญ่ เป็นต้น) ก็จะไม่เป็นโรคนั้นๆ

ในการป้องกันการระบาดของโรค ด้วยหลักของ herd immunity หรือภูมิคุ้มกันหมู่นั้น จำเป็นต้องทำให้คนส่วนใหญ่ในชุมชน (ราวๆ ร้อยละ 80 ขึ้นไป) เกิดภูมิคุ้มกัน จะโดยธรรมชาติ (รอให้คนหมู่มากติดเชื้อกันแล้ว) หรือโดยการฉีดวัคซีน (คนที่ยังปกติดีได้รับวัคซีนกันเกือบถ้วนทั่ว) หรือทั้งสองอย่างรวมกันก็ได้

กรณีตัวอย่างของโรคหัดหรือหัดเยอรมัน

ในสมัยเก่าก่อน ที่ยังไม่มีการผลิตวัคซีนใช้ พบว่าโรคหัดระบาดทุกๆ 2-3 ปี

บางท่านอาจสงสัยว่าทำไมจึงไม่พบการระบาดทุกปีเล่า

คำตอบ ก็คือ เกี่ยวข้องกับของ herd immunity หรือภูมิคุ้มกันหมู่ นั่นเอง

หัดเกิดจากการติดเชื้อไวรัสชนิดหนึ่ง (ชื่อว่า Measles virus) ซึ่งติดต่อทางระบบทางเดินหายใจได้ง่ายและรวดเร็วยิ่งกว่าไข้หวัดหรือไข้หวัดใหญ่ และพบการระบาดในเด็กเล็กเป็นส่วยใหญ่ ทำให้เกิดอาการไข้สูงและมีผื่นแดงตามตัว

โรคนี้นับเป็นภัยร้ายอันเป็นที่รู้จักกันดีของคนเรามาแต่โบราณกาล เนื่องเพราะการระบาดแต่ละครั้งมักทำให้เด็กที่ขาดสารอาหาร หรือร่างกายอ่อนแอตายจากโรคแทรกซ้อน (เช่น ปอดอักเสบ สมองอักเสบ) จำนวนมาก องค์การอนามัยโลกคาดว่า ก่อนมีวัคซีนใช้ โรคหัดคร่าชีวิตเด็กทั่วโลกราวปีละ 2.6 ล้านคน

เด็กๆ ที่แข็งแรงมักเป็นแล้วก็หายเอง และอยู่รอดปลอดภัยได้ ซึ่งจะมีภูมิคุ้มกันต่อโรคนี้ตลอดไป

เชื้อหัดถึงแม้ว่าจะยังมีอยู่ในชุมชน ก็ไม่อาจทำให้เกิดโรคในเด็กๆ เหล่านี้ได้อีก เนื่องเพราะมีภูมิคุ้มกันหมู่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ

รอจนกว่ามีเด็กๆ ที่เกิดใหม่ ซึ่งไม่มีภูมิคุ้มกันต่อโรคหัด สั่งสมเป็นจำนวนมากแล้ว ซึ่งตกประมาณ 2-3 ปี ก็จะเกิดการระบาดรอบใหม่

ปัจจุบัน เด็กไทยส่วนใหญ่ได้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคหัดกันแล้ว จึงแทบจะไม่พบมีการระบาดของโรคนี้ สมัยแรกๆ ที่มีวัคซีนใช้ ชาวบ้านจำนวนไม่น้อยที่คุ้นชินกับการระบาดของโรคหัด และเชื่อฝังใจว่าเด็กที่เกิดมาจะต้องเป็นหัดทุกคน ไม่เชื่อว่าจะมีหนทางที่ทำให้เด็กๆ รอดพ้นจากโรคนี้ได้

อย่างไรก็ตาม ในชุมชนบางแห่งที่ไม่เชื่อหรือมีความเชื้อผิดๆ เกี่ยวกับวัคซีนและไม่ได้พาลูกหลานไปฉีดวัคซีน ก็อาจพบโรคหัดระบาดได้เป็นครั้งคราว องค์การอนามัยโลกรายงานว่า ในปี 2561 แม้ว่าจะมีวัคซีนใช้แล้ว แต่โรคนี้ยังคร่าชีวิตเด็กเล็ก (อายุน้อยกว่า 5 ปี) ทั่วโลกราว 140,000 คน

ส่วนหัดเยอรมัน (โบราณเรียก “โรคเหือด”) ซึ่งเกิดจากการติดเชื้อไวรัสอีกชนิดหนึ่ง (ชื่อว่า Rubella virus) ติดต่อทางระบบทางเดินหายใจ ทำให้มีไข้และผื่นขึ้นคล้ายหัด แต่มีความรุนแรงน้อยกว่าหัด และส่วนใหญ่เป็นแล้วหายได้เป็นปกติ อันตรายที่สำคัญของโรคหัดเยอรมัน คือ ทารกที่เกิดจากมารดาที่เป็นโรคนี้ขณะตั้งครรภ์เกิดความพิการ

สมันก่อนที่มีวัคซีนใช้ ในประเทศอังกฤษ เมื่อพบเด็กเป็นโรคหัดเยอรมัน จะจัดให้เด็กๆ ที่ยังไม่เป็นโรคมาอยู่รวมกลุ่ม “สังสันทน์” กับเด็กที่ป่วย เรียกว่า “Rubella party” เพื่อทำให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ตามธรรมชาติ

ปัจจุบันมีวัคซีนฉีดป้องกันหัดเยอรมัน ซึ่งมักรวมอยู่ในวัคซีนที่ป้องกันโรคหัดและคางทูม เราจึงใช้วัคซีนรวม 3 โรคนี้เรียกว่า “วัคซีนหัด-คางทูม-หัดเยอรมัน (Measles-Mumps-Rubella vaccine หรือ MMR)” ฉีดให้เด็ก เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ ซึ่งพบให้การระบาดของ 3 โรคนี้น้อยลงมากแล้ว

โรคโควิด-19 กับภูมิคุ้มกันหมู่

ในช่วงแรกของการระบาด มีผู้นำของหลายประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางตะวันตก มองว่าโควิด-19 เป็นเพียงโรคที่คล้ายไข้หวัด คือ มีอันตรายน้อย เพราะส่วนใหญ่เป็นแล้วมีอาการเพียงเล็กน้อยและหายได้เอง จึงไม่ได้ออกมาตรการเข้มในการป้องกัน ปล่อยให้มีการติดเชื้อในชุมชน และเชื่อว่าเมื่อเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ตามธรรมชาติแบบเดียวกับหัดเยอรมันในสมัยก่อนโรคก็จะหยุดระบาดไปได้เอง

ความจริงปรากฏในเวลาต่อมาว่า ถึงแม้คนอายุน้อยเป็นโรคนี้แล้วหายได้เองเป็นส่วนใหญ่ แต่ไม่อาจป้องกันไม่ให้กลุ่มเสี่ยงสูง (ได้แก่ ผู้สูงอายุและผู้ที่มีโรคเรื้อรัง) ติดโรคได้

ในหลายๆ ประเทศจึงพบโรคนี้ระบาดกันหลายระลอก เกิดมีผู้ป่วยในประเทศนับจำนวนเป็นล้านๆ คน และคร่าชีวิตผู้คนนับแสนๆ คน

เรื่องนี้ให้อุทาหรณ์ว่า การขาดความรู้ (เกี่ยวกับโรคโควิด-19 ซึ่งเป็นโรคอุบัติใหม่) และการยึดติดกับประสบการณ์เก่า (เรื่องภูมิคุ้มกันหมู่ตามธรรมชาติที่เกี่ยวกับการป้องกันโรคที่ไม่ร้ายแรง เช่น หัดเยอรมัน) ก่อให้เกิดความเสียหายร้ายแรงและยาวนานได้

ในปัจจุบัน นอกจากการออกมาตรการเข้มในการป้องกันโรคแล้ว ทุกประเทศก็เลิกฝากความหวังกับภูมิคุ้มกันหมู่ตามธรรมชาติแล้ว และได้หันมาเร่งจัดหาวัคซีนโควิด ฉีดให้ประชากร เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่จากวัคซีนให้ได้มากและเร็วที่สุด เพื่อกำราบโรคนี้ให้อยู่หมัดในเร็ววัน ☯

หมอชาวบ้าน ปีที่ 43 ฉบับที่ 507 เดือนกรกฎาคม 2564

8 July 2564

By STY/Lib

Views, 19123

 

Preset Colors