02 149 5555 ถึง 60

 

NEW APPROACH FOR COVID-19 VACCINE การพัฒนาวัคซีนด้วยแนวคิดใหม่

NEW APPROACH FOR COVID-19 VACCINE การพัฒนาวัคซีนด้วยแนวคิดใหม่

เรื่องโดย ศิริกร โพธิจักร

ศาสตราจารย์ ดอกเตอร์ แพทย์หญิงรวงผึ้ง สุทเธนทร ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล อธิบายวถึงเชื้อไวรัสก่อโรคโควิด19 และวิธีทำวัคซีนโดยใช้เชื้อดังกล่าวว่า เชื้อไวรัส SARS-CoV-2 เป็นเชื้อไวรัสในตระกูลไวรัสโคโรนาเช่นเดียวกับเชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคซาร์ (SARS) ซึ่งระบาดในปี 2002 และโรคเมอร์ส (MERS) ซึ่งระบาดในปี 2012

ด้วยเหตุที่มีการศึกษาวิจัยไวรัสตระกูลนี้มาจากเหตุการณ์ดังกล่าว ช่วยให้นักวิทยาศาสตร์มีความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับไวรัสโคโรนาและสามารถผลิตวัคซีนโควิด-19 ได้

เชื้อไวรัสโดยทั่วไปมีสารพันธุกรรม (Genetic Material) ที่ห่อหุ้มด้วยโปรตีนส่วนเปลือก โดยโปรตีนส่วนเปลือกหรือโปรตีนหนาม (Spike) นี้เป็นส่วนสำคัญของเชื้อไวรัสโควิด-19

สาเหตุเพราะเชื้อไวรัสชนิดนี้จะใช้โปรตีนหนามยึดตัวเองเข้ากับผนังเซลล์ด้านนอกของเซลล์มนุษย์แล้วแทรกเข้าไปในเซลล์ เมื่อโปรตีนหนามกับผนังเซลล์ด้านนอกยึดเข้าด้วยกันแล้ว เชื้อไวรัสจะแทรกเข้าไปในเซลล์และแพร่จำนวนในเซลล์ทวีคูณเพิ่มจำนวนไปเรื่อยๆ หากจำนวนไวรัสเพิ่มมากขึ้นโดยที่ระบบภูมิคุ้มกันไม่สามารถกำจัดได้ จะทำให้คนคนนั้นล้มป่วยลง

แนวทางการพัฒนาวัคซีนในปัจจุบันจึงเริ่มจากการศึกษารูปร่างของโปรตีนหนามและโครงสร้างรหัสพันธุกรรมของโปรตีนหนามเพื่อทำเลียนแบบและนำมาสกัดเป็นวัคซีน

เริ่มจากนำยีนจากโปรตีนหนามของเชื้อไวรัสโควิด-19 หรือ SARS-CoV-2 เมื่อแปลรหัสเป็นโปรตีนจะประกอบด้วยกรดแอมิโน (Amino Acid) จำนวน 1273 หน่วย แบ่งเป็นส่วน Signal Peptide (aa 14-685) และ S2 (aa 686-1273)

ขณะที่ตำแหน่งโปรตีนที่ทำหน้าที่ในการจับตัวรับบนผิวเซลล์ (Receptor-binding Domain:RBD) คือ aa 319-514 และตำแหน่งที่เป็น Fusion Peptide คือ aa 788-806 ทำให้รูปร่างของโปรตีนมีส่วนสำคัญในการกระตุ้นภูมิคุ้มกันชนิดแอนติบอดีที่จำเพาะต่อเชื้อไวรัส

จะเห็นได้ว่าการศึกษาตำแหน่งของโปรตีนในเชื้อก่อโรค นำมาซึ่งองค์ความรู้ที่นักวิทยาศาสตร์จะใช้สร้างโปรตีนเฉพาะส่วนแล้วนำมาทำวัคซีนนั้น แตกต่างจากแนวคิดดั้งเดิมที่สร้างวัคซีนจากเชื้อก่อโรคทั้งตัว โดยนำเชื้อไวรัสมาทำให้อ่อนแรงหรือตายแล้วฉีดเข้าไปในร่างกายมนุษย์เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันจำเพาะโรคนั้นๆ

นิตยสารชีวจิต ฉบับที่ 546 ปีที่ 23 1 กรกฎาคม 2564

14 July 2564

By STY/Lib

Views, 2664

 

Preset Colors