02 149 5555 ถึง 60

 

3 TYPES OF VACCINES รู้จักวัคซีน 3 ประเภท

3 TYPES OF VACCINES รู้จักวัคซีน 3 ประเภท

ดอกเตอร์นำชัยอธิบายว่า ปัจจุบันมีการออกแบบวัคซีน 3 ประเภท ดังนี้ย่อย ได้แก่

1.การใช้เชื้อโรค (ไวรัสหรือแบคทีเรีย) ทั้งตัว (Whole-microbe Approach) มาทำวัคซีน แบ่งเป็น 3 ประเภท

1.1 วัคซีนเชื้อตาย (Inactivated Vaccine) นำเชื้อโรคมาทำให้ตายด้วยสารเคมี ความร้อน หรือรังสี ตัวอย่างเช่น วัคซีนไข้หวัดใหญ่ วัคซีนโปลิโอ วัคซีนกลุ่มนี้ต้องฉีด 2-3 โดส และต้องใช้เวลานานกว่าระดับภูมิคุ้มกันจะขึ้น

วัคซีนโควิดที่ใช้เทคนิคนี้ ได้แก่ ซิโนแวค ซิโนฟาร์ม

1.2 วัคซีนเชื้ออ่อนแรง(Live-attenuated Vaccine) นำเชื้อโรคมาทำให้อ่อนแรง แต่เชื้อนั้นยังไม่ตาย ตัวอย่างเช่น วัคซีนหัดเยอรมัน วัคซีนคางทูม วัคซีนกลุ่มนี้ไม่เหมาะกับผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกัน ไม่มีวัคซีนโควิดที่ใช้เทคนิคนี้

1.3 วัคซีนที่อาศัยไวรัสชนิดอื่นเป็นตัวนำส่งชิ้นส่วนโปรตีนของเชื้อโรค (Viral Vector Vaccine) ตัวอย่างเช่น วัคซีนอีโบลา วัคซีนกลุ่มนี้ทำให้เกิดภูมิคุ้มกันได้โดยไม่ป่วย แต่ต้องมีเทคโนโลยีเฉพาะในการสร้างไวรัสลูกผสมขึ้นในห้องปฏิบัติการ

วัคซีนโควิดที่ใช้เทคนิคนี้ ได้แก่ แอสตราเซเนกา สปุตนิกวี ใช้ไวรัสที่ไม่เพิ่มจำนวนเป็นพาหะของยีนสไปค์ไปรตีน (Recombinant Adenovirus Vector)

2.การใช้ส่วนใดส่วนหนึ่งของเชื้อโรคที่สามารถกระตุ้นให้เกิดภูมิคุ้มกันได้ (Subunit Approach) โดยการสร้างชิ้นส่วนจำเพาะของเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรีย ไม่จำเป็นต้องใช้เชื้อทั้งตัวและไม่ต้องอาศัยไวรัสตัวอื่น เพื่อสร้างโปรตีนหรือน้ำตาลที่เป็นส่วนประกอบของเชื้อนำมาฉีดวัคซีน ส่วนใหญ่เทคนิคนี้ใช้ผลิตวัคซีนสำหรับเด็ก ตัวอย่างเช่น วัคซีนบาดทะยัก ไอกรน คอตีบ นับเป็นวัคซีนที่มีความปลอดภัยสูง

วัคซีนโควิดที่ใช้เทคนิคนี้ ได้แก่ โนวาแวกซ์ นาโนโคแวกซ์ ใบยา

3.การใช้สารพันธุกรรมของเชื้อโรค (Nucleic Acid Vaccine) ใช้ส่วนของสารพันธุกรรมของเชื้อโรคที่ควบคุมคำสั่งการสร้างโปรตีนบางอย่างอาจเป็น DNA หรือ RNA ที่เชื้อโรคนั้นๆ ใช้สร้างโปรตีน โดยถ้าเป็น DNA จะเปลี่ยนให้เป็น mRNA ก่อน

วัคซีนโควิดที่ใช้เทคนิคนี้ ได้แก่ ไฟเซอร์ โมเดอร์นา ใช้ชั้นไขมันของเซลล์ (Lipid Nanoparticles) เป็นเปลือกหุ้ม mRNA ของยีนสไปค์โปรตีน

EXPERT SAYS

คำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ

ดอกเตอร์นำชัยอธิบายว่า เมื่อฉีดวัคซีนแล้ว ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายต้องการเวลาเพื่อตอบสนองต่อวัคซีน โดยอาจต้องใช้เวลานานถึง 14 วัน และวัคซีนของหลายบริษัทจำเป็นต้องฉีดโดสที่ 2 เพื่อกระตุ้นซ้ำ

ทั้งนี้ในบางกรณีอาจมีผู้ป่วยเป็นโควิด-19 ได้แม้ว่าจะได้ฉีดวัคซีนแล้วก็ตาม นั่นอาจเพราะเกิดการติดเชื้อก่อนที่วัคซีนจะออกฤทธิ์

กล่าวโดยสรุป ในปัจจุบันแม้การฉีดวัคซีนจะเป็นการป้องกันโรคที่มีประสิทธิภาพ แต่ก็ยังได้ประสิทธิภาพไม่ถึง 100 เปอร์เซ็นต์ ด้วยเหตุที่ผลลัพธ์และประสิทธิภาพที่ได้จากวัคซีนแต่ละยี่ห้อ ซึ่งมีเทคนิคในการผลิตแตกต่างกัน ย่อมส่งผลให้ภูมิคุ้มกันของผู้ที่ได้รับวัคซีนแตกต่างกันไปด้วย

ทั้งนี้มีหลายกรณีที่หลังจากการฉีดวัคซีนอาจจะไม่เกิดภูมิคุ้มกันขึ้น อย่างไรก็ตาม การฉีดวัคซีนก็ยังถือว่าเป็นวิธีการที่มีประสิทธิภาพสูงมากสำหรับประชากรส่วนใหญ่

นิตยสารชีวจิต ฉบับที่ 546 ปีที่ 23 1 กรกฎาคม 2564

11 August 2564

By STY/Lib

Views, 52239

 

Preset Colors