02 149 5555 ถึง 60

 

เปิดใจนักรบชุดขาว สู้ภัยโควิด (ตอน 1)

เปิดใจนักรบชุดขาว สู้ภัยโควิด (ตอน 1)

รายงานโดย... สำนักงานเลขานุการกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์

สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด 19 ที่เริ่มเข้ามาสู้ประเทศไทยเมื่อปลายปี พ.ศ.2562 นับเป็นวิกฤติภัยโรคระบาดที่ร้ายแรง ส่งผลต่อสถานการณ์ในทุกด้าน ทุกมิติ เพราะ “COVID-19” เป็นโรคใหม่ที่ไม่มีใครรู้จัก ไม่มีใครรู้เลยว่าจะติดเชื้อแบบไหน แล้วจะส่งผลกับมนุษย์แค่ไหน

เหล่าบรรดานักรบชุดกาวน์ หรือเจ้าหน้าที่ที่ห้องปฏิบัติการผู้สวมใส่ชุดกาวน์สีขาวที่ทำงานภายใต้สถานการณ์อันหนักหน่วงต่างพยายามค้นหาคำตอบ ที่มีคำถามจากสังคมทุกวันไม่ว่างเว้น

ดร.พิไลลักษณ์ อัคคไพบูลย์ โอกาดะ นักเทคนิคการแพทย์ชำนาญการพิเศษ หัวหน้าศูนย์ไข้หวัดใหญ่ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เป็นหนึ่งในบรรดาแม่ทัพที่ร่วมต่อสู้กับภัยโควิด ด้วยภารกิจสำคัญของ ดร.ที่ทำงานด้านการตรวจเชื้อทางห้องปฏิบัติการของสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข (สวส.) ในฐานะเป็นห้องปฏิบัติการอ้างอิงทางด้านไข้หวัดใหญ่ การสานต่อภารกิจสำคัญระดับประเทศจึงหลีกหนีเสียไม่ได้

“ฝ่ายไวรัสระบบทางเดินหายใจ เราดูแลเรื่องตรวจเชื้อไวรัสระบบทางเดินหายใจอยู่แล้ว เมื่อเริ่มมีข่าว เราทราบว่าเป็นโรคที่ติดต่อผ่านทางระบบทางเดินหายใจ ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของฝ่าย ที่ผ่านมาทีมได้พยายามประยุกต์ใช้วิธีการตรวจเชื้อดังกล่าว นอกจากเทคนิคทั่วไปที่ใช้ในงานตรวจประจำแล้ว เรายังประยุกต์ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงที่เรียกว่า Next-generation sequencing ทำให้เราสามารถถอดรหัสพันธุกรรมเชื้อดังกล่าวได้ นำไปสู่การพัฒนาต่อยอดวิธีการตรวจด้วยเทคนิค Real-time RT-PCR ซึ่งทำได้ง่ายขึ้น เหมาะสำหรับใช้ในงานตรวจประจำวัน ด้วยระยะเวลาเพียง 2 สัปดาห์ ซึ่งถือเป็นผลงานที่ภาคภูมิใจอย่างมาก เพราะหากวันนั้นเราไม่สามารถถอดรหัสพันธุกรรมของเชื้อได้ เราก็จะไม่มีข้อมูลที่จะพัฒนาวิธีการตรวจ ซึ่งขณะนั้นทั่วโลกเองก็ยังไม่มีชุดน้ำยาสำเร็จรูปออกมาจำหน่ายเลย แต่ประเทศไทยมีวิธีการตรวจที่ถูกต้อง แม่นยำสำหรับใช้ในการตรวจจับและควบคุมโรคในบ้านเรา ตลอดจนส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพเครือข่ายห้องปฏิบัติการทั่วประเทศ ตามนโยบาย 1 จังหวัด 1 ห้องปฏิบัติการ รายงานผลภายใน 24 ชั่วโมง ส่งผลให้ประเทศไทยสามารถตรวจได้เร็วขึ้นนั้นเอง”

ดร.พิไลลักษณ์เล่าให้ฟังว่า การทำงานในระยะแรกเป็นทั้งความสนุกและความท้าทาย เพราะต้องค้นหาให้ได้ว่าเชื้อที่มีอยู่ คือเชื้ออะไร และจาสามารถตรวจหาเชื้อเจอไหม จะใช้วิธีใดที่เหมาะสม การทำงานอยู่บนพื้นฐานความคิดว่า ไม่อยากให้เกิดสถานการณ์ระบาดในบ้านเรา “ถามว่าเหนื่อยไหม ก็เหนื่อยนะ แต่ก็รู้สึกดี ภูมิใจที่ได้เป็นส่วนเล็กๆ ส่วนหนึ่งในการทำให้ประเทศสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโรคได้ค่อนข้างดีเลยทีเดียว ในช่วงระบาดมากๆ มีตัวอย่างเข้ามาวันละ 2,000-3,000 ตัวอย่าง ซึ่งต้องทราบผลภายใน 24 ชั่วโมง ทุกคนทั้งตัวเองและทีมต้องก็ทำงานอย่างเต็มที่ กรณีการตรวจเชิงรุกที่มีจำนวนตัวอย่างเยอะๆ กระบวนการอาจล่าช้าไปบ้าง เพราะเมื่อห้องปฏิบัติการรับตัวอย่างมา ต้องมีการตรวจสอบความถูกต้องของชื่อและหมายเลขของตัวอย่างก่อนจนไปถึงกระบวนการตรวจทางห้องปฏิบัติการว่าตัวอย่างใดมีเชื้อหรือไม่มีเชื้อ ดังนั้นก็อาจเกินกว่า 24 ชั่วโมงไปบ้าง จากข้อจำกัดในการจัดการตัวอย่างจำนวนมากๆ”

เมื่อย้อนกลับไปช่วงปลายปี 2562 ถึงต้นปี 2563 โควิด 19 นับเป็นเรื่องใหม่ ดร.พิไลลักษณ์ ใช้วิธีการทำงานที่ต้องค้นคว้าหาข้อมูลอยู่ตลอดเวลา โดย ดร.บอกว่าโชคดีที่เกิดมาในยุคที่มีอินเตอร์เน็ต ทำให้การค้นคว้าหาข้อมูลทำได้ง่ายขึ้น และในทุกๆ วันก็จะมีเรื่องราวเกี่ยวกับโควิดอัพเดทเข้ามาอยู่เรื่อยๆ รวมถึงการได้แลกเปลี่ยนความรู้ความคิดเห็นกับเพื่อนนักวิจัย ตลอดจนนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญทั้งในและต่างประเทศ แต่สื่อโซเชียลก็เป็นเสมือนดาบสองคม มีทั้งข้อมูลจริงและข้อมูลเท็จ ดังนั้น การให้ข้อมูลที่เป็นจริงเพื่อลบล้างสื่อที่บิดเบือนหรือเป็นเท็จจึงเป็นส่วนสำคัญที่ต้องดำเนินการควบคู่กันไป เพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง

แม้วันนี้การทำงานภายใต้สถานการณ์โควิดดูเหมือนจะสะดวกขึ้น เนื่องจากมีความเข้าใจเชื้อก่อโรคมากว่าช่วงแรก แต่ก้าวที่สำคัญต่อจากนี้ ดร.ยังคงไม่ได้หยุดอยู่แคนี้ เพราะเมื่อมีวัคซีนเข้ามาในประเทศ สิ่งที่ต้องทำต่อเนื่องและต่อไปคือ การตรวจติดตามการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ของเชื้อ และการศึกษาหาภูมิคุ้มกันในผู้ที่ได้รับวัคซีนว่ามีภาวะเป็นอย่างไรต่อไป

ก่อนจะจบบทสนทนากัน ดร.พิไลลักษณ์ ยังได้ฝากไปถึงเพื่อนร่วมวิชาชีพเดียวกันว่า “ขอให้คิดเสมอว่าวิกฤติคือโอกาส จากวิกฤติสถานการณ์ระบาดของโควิด 19 ทำให้เรามีโอกาสได้ร่วมแรงร่วมใจ ร่วมงานกันในการพัฒนาศักยภาพและสร้างความเข้มแข็งด้านห้องปฏิบัติการ ซึ่งเป็นกลหนึ่งที่สำคัญที่จะช่วยให้เราผ่านพ้นวิกฤตินี้ไปได้เหมือนกับการระบาดของโรคอื่นๆ ในหลายเรื่อง แล้วก็เชื่อว่าทุกคนเต็มที่กับการทำงานอยู่แล้ว อย่าพึ่งท้อแท้ใจ ขอเป็นกำลังใจในการทำงานต่อไป”

ณ วันนี้ ดร.พิไลลักษณ์ ได้ฟันฝ่าอุปสรรคการทำงาน และทำด้วยความตั้งใจ ทำให้ผลงานเป็นที่ประจักษ์ต่อสังคมในวงกว้าง ส่งผลให้ ดร.พิไลลักษณ์ สามารถคว้ารางวัลมามากมาย ไม่ว่าจะเป็นรางวัล Silver Award จากผลงานกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์กับการพัฒนาเครือข่าย ห้องปฏิบัติการตรวจวิเคราะห์โรคโควิด 19 เพื่อรับมือการระบาดในประเทศไทยในงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2563

“รางวัลชนะเลิศบูธนิทรรศการดีเด่นระดับกรมวิชาการ เรื่องการถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมเชื้ออุบัติใหม่”…สู่การพัฒนาชุดตรวจวินิจฉัยโรคโควิด 19 และการพัฒนาเครือข่ายห้องปฏิบัติการตรวจวิเคราะห์โรคโควิด 19 จากการประชุมวิชาการกระทรวงสาธารณสุข ประจำปี 2563 ณ โรงแรมริชมอนด์ จ.นนทบุรี วันที่ 8 กันยายน พ.ศ.2563 ล่าสุดได้รับคัดเลือกเป็นข้าราชการพลเรือนดีเด่นประจำปี 2563 ดร.พิไลลักษณ์ ยังได้กล่าวทิ้งท้ายไว้ว่ากำลังสนับสนุนที่สำคัญ คือ ครอบครัวที่เข้าใจและทีมห้องปฏิบัติการที่เข้มแข็ง ทุ่มเท ตั้งใจปฏิบัติหน้าที่... “เราจะผ่านวิกฤติโควิด 19 ไปด้วยกัน”

อีกหนึ่งขุนพลชุดกาวน์ที่ขาดเสียไม่ได้ คือคนที่ทำงานกับเชื้อเป็นที่มีหน้าที่ในการแยกเชื้อร้ายสำคัญนี้ คือ นางสาวหทัยกาญจน์ ทันไชย นักวิทยาศาสตร์การแพทย์ปฏิบัติการ ฝ่ายไวรัสระบบทางเดินหายใจ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข เล่าถึงการทำงานให้ฟังว่า หน้าที่หลักๆ คือการแยกเชื้อ และต้องทำกับเชื้อเป็น เหมือนกับการนำตัวอย่างผู้ป่วยไปแยกเชื้อในเซลล์เพาะเลี้ยง ดังนั้นจึงต้องทำงานในห้องปฏิบัติการนิรภัยระดับ 3 (BSL3) เพื่อความปลอดภัยสูงสุด ซึ่งเมื่อสามารถแยกเชื้อออกมาได้ก็จะเป็นประโยชน์ต่องานวิจัย การพัฒนายา วัคซีน วิธีวินิจฉัยโรค ตลอดจนการควบคุม ป้องกันและรักษาโรค “ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ปฏิบัติงานด้านการแยกเชื้อ เคสแรกของปีที่แล้วที่เป็นนักท่องเที่ยวชาวจีน และสงสัยติดเชื้อ เป็นเคสแรกที่ส่งมาให้ทางสถาบันฯ วิเคราะห์ และสามารถแยกเชื้อจากผู้ป่วยรายนี้ได้สำเร็จเป็นรายแรก พอเริ่มมีการระบาดระลอก 2 ที่จังหวัดสมุทรสาคร เคสคุณป้าวัย 67 ปี เจ้าของแพกุ้ง ก็แยกเชื้อได้เช่นเดียวกันทั้ง 3 ราย นับเป็นเคสสำคัญที่เป็นข่าว และผู้บริหารให้ความสำคัญค่อนข้างมาก ตรงนั้นก็รู้สึกภูมิใจที่ได้มีส่วนในการทำงานตรงนี้”

นางสาวหทัยกาญจน์ ยังบอกด้วยว่า แม้การทำงนในระยะแรกจะมีทั้งความรู้สึกกดดันและหวาดกลัว เพราะเชื้อโควิดเป็นเชื้อที่ติดต่อผ่านระบบทางเดินหายใจและคำว่าเชื้อตัวใหม่จะไม่ทราบว่า คือเชื้ออะไร แต่ก็ต้องพยายามผ่านจุดนั้นไปให้ได้ เพราะเป็นเส้นทางวิชาชีพที่เลือกแล้วเพียงแค่ทำงานด้วยความซื่อสัตย์กับตนเองและผู้อื่น ทุกครั้งที่เข้าไปในแล็บจะไม่นำพาเชื้อโรคออกมา ปฏิบัติตามมาตรฐานการใช้ห้องปฏิบัติการอย่างเคร่งครัดทุกครั้ง แต่ก็ใช้เวลาปรับตัวในเรื่องนี้ไม่นานเพียงแค่ 3-4 เดือนทุกอย่างก็ผ่านไปด้วยดี

“แรกๆ ก็เหนื่อย การทำงานในห้องแล็บ BSL3 ที่เป็นห้องความดันลบ เมื่อเข้าไป ถ้าไม่ชิน ไม่ค่อยเข้าบ่อย ไม่มีประสบการณ์ เวลาเข้าไปในนั้นจะรู้สึกเหนื่อยพอสมควร ทั้งด้วยระบบห้องและชุดที่สวบใส่การทำงานในห้องแล็บต้องมีความสำคัญมากๆ ช่วงนั้นต้องทำงานเป็นกะหมุนเวียนกันไป เข้า 2 ทุ่ม ออกตี 4 จะไม่มีการปล่อยปละละเลย ชนิดที่ว่าทำแล็บทิ้งไว้แล้วกลับบ้าน มาอ่านผลในตอนเช้า เราต้องสแตนบายอยู่ที่แล็บตลอดเวลา และเมื่อปรับตัวได้ความกลัวก็น้อยลง ยิ่งถ้ารู้ว่าเป็นภาระหน้าทีที่ต้องทำ ก็ต้องอยู่กับมันให้ได้ แค่ต้องระวังตัวเองให้มากที่สุด เพราะความปลอดภัยคือหัวใจของการทำงาน”

นอกจากนี้ นางสาวหทัยกาญจน์ ยังฝากขอบคุณไปถึงประชาชน และหน่วยงานต่างๆ ที่ได้ร่วมส่งกำลังใจให้กับคนทำงาน ไม่ว่าจะเป็นส่งอาหาร ขนม เครื่องดื่ม รวมถึงสิ่งของต่างๆ ที่มาถึงเหล่าบรรดาคนทำงานในแล็บ นับเป็นอีกหนึ่งแรงผลักดันที่ทำให้มีกำลังใจในการทำงาน และรู้สึกซาบซึ้งกับความมีน้ำใจของทุกคนเป็นอย่างมาก

ตอนหน้า เราจะพาทุกท่านไปเปิดใจนักรบชุดกาวน์ท่านใด ติดตามกันต่อนะคะ

จดหมายข่าวกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ปีที่ 35 ฉบับที่ 4 เดือนเมษายน 2564

19 August 2564

By STY/Lib

Views, 1370

 

Preset Colors