02 149 5555 ถึง 60

 

ฟ้าทะลายโจรกับการระบาดของโควิด-19

ฟ้าทะลายโจรกับการระบาดของโควิด-19

เรื่องโดย ภญ.อาสาฬา เชาวน์เจริญ, ภญ.ดร.ผกากรอง ขวัญข้าว

ศูนย์หลักฐานเชิงประจักษ์ด้านการแพทย์แผนไทยและสมุนไพร

โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร

ฟ้าทะลายโจรมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Andrographis paniculata (Burm.f.) Nees อยู่ในวงศ์ Acanthaceae

พืชที่อยู่ในวงศ์เดียวกันเช่น พญายอ ทองพันชั่ง และพญาวานร (หรือฮว่านง็อก) ดังนั้น จึงเป็นข้อห้ามที่ว่า เมื่อแพ้พืชในวงศ์นี้แล้วห้ามใช้ฟ้าทะลายโจรด้วย

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

ไม้ล้มลุก ลำต้นสูงประมาณ ๓๐-๗๐ เซนติเมตร ทุกส่วนมีรสขม ใบเดี่ยวสีเขียว รียาว ปลายใบแหลม ดอกขนาดเล็กสีขาว มีรอยกระสีม่วงแดง ลักษณะเป็นหลอด เมื่อแก่สีน้ำตาลแตกได้ ภายในมีเมล็ดรูปไข่สีน้ำตาลจำนวนมาก ช่วงการออกดอกและติดผลตลอดทั้งปี ขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ด เก็บเกี่ยวเมื่อดอกออกประมาณร้อยละ ๓๐

สารสำคัญในฟ้าทะลายโจร

สารสำคัญในฟ้าทะลายโจรเป็นสารกลุ่มแล็กโทน(lactone) เช่น แอนโดรกราโฟไลด์ (andrographolide)

ดีออกซีแอนโดรกราโฟไลด์ (deoxyandrographolide) นีโอแอนโดรกราโฟไลด์ (neoandrographolide)

แอนโดรกราฟิไซค์(andrographiside) ซึ่งสารสำคัญเหล่านี้ถูกใช้ในการควบคุมคุณภาพของยาและสารสกัดฟ้าทะลายโจร

ในตำรามาตรฐานยาสมุนไพรไทย (Thai Herbal Pharmacopoeia)กำหนดให้วัตถุดิบสมุนไพร (ส่วนเหนือดินแห้ง) มีสารสำคัญ คือ แล็กโทนรวม (total lactone) โดยคำนวณเป็นแอนโดรกราโฟไลด์ไม่น้อยกว่าร้อยละ ๖ โดยน้ำหนัก (W/W) และปริมาณแอนโดรกราโฟไลด์ไม่น้อยกว่าร้อยละ ๑ โดยน้ำหนัก (W/W) ดังนั้น การเลือกซื้อผลิตภัณฑ์จากฟ้าทะลายโจร จึงต้องพิจารณาสารสำคัญที่มีในผลิตภัณฑ์ด้วย

ฟ้าทะลายโจรได้รับการบรรจุ ในบัญชียาหลักแห่งชาติ ในปีพ.ศ. ๒๕๔๒ ด้วยข้อบ่งใช้บรรเทาอาการเจ็บคอ บรรเทาอาการของโรคหวัด

การใช้ฟ้าทะลายโจร

โครงการสมุนไพรเพื่อการพึ่งตนเองได้รวบรวมองค์ความรู้การใช้ฟ้าทะลายโจรจากประชาชน และได้จัดพิมพ์เผยแพร่เป็นหนังสือเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๑ นำไปสู่การใช้ฟ้าทะลายโจรที่กว้างขวางขึ้น

ต่อมาโรงพยาบาลหลายแห่งได้นำฟ้าทะลายโจรไปผลิตในรูปแบบแคปซูล ลูกกลอนยาเม็ดประกอบกับมีงานวิจัยในมนุษย์ที่แสดงถึงประสิทธิผลในการบรรเทาอาการหวัด จึงทำให้ฟ้าทะลายโจรได้รับการบรรจุในบัญชียาหลักแห่งชาติ ในปีพ.ศ. ๒๕๔๒ ด้วยข้อบ่งใช้บรรเทาอาการเจ็บคอบรรเทาอาการของโรคหวัด (common cold) เช่นเจ็บคอ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ

การใช้ฟ้าทะลายโจรนั้นไม่ได้มีเพียงประเทศไทย จีนและอินเดียก็มีการใช้ด้วย และเป็นหนึ่งในรายการยาจากสมุนไพรที่องค์การอนามัยโลกแนะนำให้ใช้ป้องกันและรักษาการติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน หลอดลมอักเสบ และทอนซิลอักเสบ

นอกเหนือจากสรรพคุณที่เก่ยวข้องกับการบรรเทาอาการติดเชื้อและอักเสบบริเวณทางเดินหายใจแล้ว ฟ้าทะลายโจรมีผลเพิ่มการทำงานของเซลล์ภูมิคุ้มกันหลายชนิดในร่างกาย เช่น กระตุ้นการจับกินเชื้อของเม้ดเลือดขาว เพิ่มการทำงานของอินเทอร์เฟอรอน ซึ่งเป็นสารที่โดดเด่นในการต่อสู้กับเชื้อไวรัส และกระตุ้นให้ “เซลล์นักฆ่าเชื้อโดยธรรมชาติ” (natural killer cell หรือ NK) เพิ่มจำนวน

ต้นตำรับที่มีการนำยาฟ้าทะลายโจรมาใช้จนทำให้ผลิตภัณฑ์จากฟ้าทะลายโจรเป็นที่ยอมรับในตะวันตก คือ สวีเดน โดยสถาบันสมุนไพรสวีเดน (Swedish Herbal lnstitute) ได้ผลิตยาที่มีสารสกัดของฟ้าทะลายโจร ที่มีการควบคุมปริมาณสารแอนโดรกราโฟไลด์ มีชื่อการค้าว่า Kanjang และได้นำมาใช้ในการศึกษาผลการป้องกันหวัดในนักเรียนชาวชิลี และพบว่ายาสามารถป้องกันการเกิดหวัดได้ ๓๓% ในช่วงฤดูหนาว ต่อมามีการผสมโสมไซบีเรียนเข้าไปในตำรับด้วย ปัจจุบันไม่มียาฟ้าทะลายโจรจำหน่ายภายใต้ชื่อการค้านี้แล้ว

สารสำคัญที่พบในฟ้าทะลายโจรคือ “สารแอนโดรกราโฟไลด์และอนุพันธ์” มีบทบาทในการเข้าจับกับเชื้อในหลายตำแหน่ง

ข้อบ่งใช้

ในต่างประเทศผลิตภัณฑ์จากฟ้าทะลายโจรที่มีในท้องตลาดมีทั้งรูปแบบที่เป็นสมุนไพรเดี่ยวและตำรับ

(มีส่วนประกอบมากกว่า ๑ ชนิด)

ข้อบ่งใช้ของฟ้าทะลายโจรที่มีจำหน่ายในตลาดต่างประเทศมี ๒ ข้อบ่งใช้คือ

๑.เสริมภูมิคุ้ม (support healthy immuneity) มักให้บริโภคในขนาดต่ำกว่าการรักษา และ

๒.ใช้เพื่อบรรเทาอาการหวัด (cold relief) มักจะใช้ในขนาดที่สูงขึ้น

ฟ้าทะลายโจรกับไวรัสโคโรนา

หลักฐานการใช้ฟ้าทะลายโจรกับการติดเชื้อไวรัสก่อโรคโควิด-๑๙ โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ซึ่งมีภารกิจในด้านสมุนไพรและการแพทย์แผนไทยได้ค้นคว้าข้อมูลเพื่อสนับสนุนการใช้และวิจัยสมุนไพรในภาวะที่มีการระบาดของโควิด-๑๙ พบว่า

ฟ้าทะลายโจรน่าจะเป็นสมุนไพรที่น่าจะเป็นประโยชน์ต่อการป้องกันและรักษาโรคโควิด-๑๙ เพราะก่อนหน้านี้มีสิทธิบัตรการป้องกันและรักษาการติดเชื้อไวรัสซาร์ส หรือ Severe acute respiratory syndrome;SARS (ซึ่งเป็นไวรัสตระกูลโคโรนาเช่นเดียวกับโควิด-๑๙) ของสารแอนโดรกราโฟไลด์และอนุพันธ์

นอกจากนั้นยังมีการศึกษาเพิ่มเติมถึงฤทธิ์ต้านเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่ ๒๐๑๙ และบรรเทาอาการของโรคโควิด-๑๙ ดังนี้

๑. งานวิจัยที่จีน เมื่อวันที่ ๑๘ กุมภาพันธุ์ ๒๕๖๓ พบว่าทางทีมวิจัยจีนได้คัดสมุนไพรจากคลังข้อมูล ๑,๐๖๖ ชนิด เหลือสาร ๗๘ ชนิด ที่มีฤทธิ์ต้านไวรัสสายพันธุ์ใหม่ ๒๐๑๙ มาทดสอบด้วยเทคนิคการจับของโครงสร้างยากับเชื้อ (molecular docking) ในคอมพิวเตอร์ ในบรรดายาที่นำมาทดสอบ พบว่าสารสำคัญที่พบในฟ้าทะลายโจร คือ “สารแอนโดรกราไฟไลด์และอนุพันธ์” มีบทบาทในการเข้าจับกับเชื้อในหลายตำแหน่ง โดยเป็นตำแหน่งสำคัญในการยับยั้งการเข้าเซลล์ของไวรัส และยับยั้งการแบ่งตัวของเชื้อไวรัส

๒. กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ร่วมกับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์และองค์การเภสัชกรรม ดำเนินการศึกษาในหลอดทดลอง โดยทดสอบฤทธิ์ของสารสกัดฟ้าทะลายโจรและสารแอนโดรกราโฟไลด์ต่อการติดเชื้อโควิด พบว่า สารสกัดหยาบของฟ้าทะลายโจรและสารแอนโดรกราโฟไลด์ มีฤทธิ์ทำลายเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่ ๒๐๑๙ ส่วนสารแอนโดรกราโฟไลด์มีฤทธิ์ต้านการแบ่งตัวของไวรัสชนิดนี้ แต่ไม่มีฤทธิ์ป้องกันการติดเชื้อไวรัสของเซลล์ปกติ (ทั้งนี้ยังไม่มีการศึกษาผลด้านภูมิคุ้มกัน) (รายงานผลเมื่อวันที่ ๒๕ มีนาคม 2563) จากนั้นจึงนำมาทดสอบในผู้ติดเชื้อโควิด-๑๙ มีอาการอยู่ในระยะเวลาไม่เกิน ๗๒ ชั่วโมง ที่รักษาตัวอยู่ในสถานที่กักกันโรคที่รัฐจัดให้ (state quarantine) มีอาการระดับเล็กน้อยถึงปานกลาง คือ ไข้ ไอ ตัวร้อน (ซึ่งปกติจะไม่ได้มีการให้ยาชนิดใดอยู่แล้ว) โดยให้ยาแคปซูลสารสกัดฟ้าทะลายโจร ครั้งละ ๖๐ มิลลิกรัม หรือ ๓ เท่าของขนาดปกติ วันละ ๓ ครั้ง จำนวน ๖ ราย

ผลการศึกษาเบื้องต้น พบผู้ป่วยทุกรายมีอาการดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ

ปัจจุบันกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกกำลังจัดทำโครงร่างวิจัยเพื่อศึกษาประสิทธิผลและความปลอดภัยในผู้ป่วยโควิด-๑๙ กลุ่มใหญ่ขึ้น

๓. จีนจัดทำแนวทางมาตรฐานในการวินิจฉัยและรักษาผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคโควิด-๑๙ ที่มีปอดอักเสบติดเชื้อ มีการแนะนำให้ใช้ยาฉีดกึ่งสังเคราะห์จากสารแอนโดรกราโฟไลด์ ในผู้ป่วยที่ยืนยันว่าติดเชิ้อโควิดในระยะกลางถึงรุนแรง ร่วมกับยาตำรับแผนโบราณจีนอื่นๆ

๔. มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์สาขาสาธารณสุขศาสตร์ (National University of Singapore,Saw Swee Hock School of Public Health) ตีพิมพ์แนวทางการรักษาการติดเชื้อโควิด และทบทวนรายชื่อยาที่น่าจะนำมาใช้รักษาภาวะปอดเสียหายเฉียบพลัน พบว่าอนุพันธ์ฟ้าทะลายโจรชื่อ Dehydroandrographolide succinate ซึ่งได้ขึ้นทะเบียนที่จีนเป็นยาฉีดรักษาปอดอักเสบจากการติดเชื้อไวรัสและติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจส่วนบน อาจจะนำมาใช้เยียวยาภาวะปอดเสียหายจากการติดเชื้อโควิดได้ โดยใช้แบบพ่นละออง เพื่อหลีกเลี่ยงอาการไม่พึงประสงค์จากการให้แบบฉีดเข้าเส้นเลือด

ยานี้ห้ามใช้ในผู้ป่วยที่มีการทำงานของตับและไตที่ไม่ดี ผู้ป่วยที่ใช้ยาวาร์ฟาริน หญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตร รวมถึงผู้ที่มีประวัติการแพ้ฟ้าทะลายโจรมาก่อน

การประยุกต์ใช้ฟ้าทะลายโจรในโรคโควิด-๑๙

ฟ้าทะลายโจรมีฤทธิ์ต้านไวรัสที่ก่อให้เกิดการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจได้หลายชนิด เช่น ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A ไวรัสเริม ไวรัสตับอักเสบชนิด B และ C โดยมีกลไกต้านไวรัสที่สำคัญ 4 กลไก คือ

-การป้องกันไม่ให้ไวรัสเข้าเซลล์

-ลดการแบ่งตัวของไวรัส

-การเพิ่มภูมิคุ้มกัน

-ลดการอักเสบ (โดยเฉพาะที่ปอด)

การทบทวนวรรณกรรมและพิจารณาจากปัจจัยความปลอดภัย ประสิทธิผล ความคุ้มค่า การเข้าถึงและความยั่งยืนของระบบ พบว่า ฟ้าทะลายโจร สามารถนำมาใช้ในการติดเชื้อไวรัสโควิด-๑๙ ได้โดยใช้ในกรณีที่มีอาการคล้ายหวัด (flu-like symptoms) ได้แก่ ไข้ ไอ อ่อนเพลีย ที่ยังไม่รุนแรง โดยเลือกกินฟ้าทะลายโจรที่มีมาตรฐานผ่านการตรวจวิเคราะห์ปริมาณแล็กโทนรวม ที่คำนวณเป็นแอนโดรกราโฟไลด์ไม่น้อยกว่าร้อยละ ๖ โดยน้ำหนักโดยกินครั้งละ ๑.๕-๓ กรัม วันละ ๓-๔ ครั้ง เมื่อหายแล้วหยุดยาได้

ยานี้ห้ามใช้ในผู้ป่วยที่มีการทำงานของตับและไตที่ไม่ดี ผู้ป่วยที่ใช้ยาวาร์ฟาริน หญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตร รวมถึงผู้ที่มีประวัติการแพ้ฟ้าทะลายโจรมาก่อน แม้มีอาการแพ้เพียงเล็กน้อยก็ตาม

ปัจจุบันถึงแม้จะมีงานวิจัยที่แสดงถึงประสิทธิผลและความปลอดภัยของฟ้าทะลายโจรในผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโควิด-๑๙ ที่มีอาการรุนแรงน้อยถึงปานกลางแล้วก็ตาม แต่งานวิจัยดังกล่าวยังขาดกลุ่มควบคุมที่ทำให้มั่นใจว่าอาการที่ดีขึ้นนั้นเกิดจากผลของฟ้าทะลายโจร ไม่ใช่ดีขึ้นด้วยการรักษามาตรฐาน

นอกจากนั้นแล้วโควิด-๑๙ เป็นโรคอุบัติใหม่ที่ยังไม่ทราบการดำเนินของโรคที่ชัดเจน หากผู้ป่วยมีอาการคล้ายหวัดที่รุนแรง เช่น น้ำมูกไหล ปวดเนื้อตัวมาก ปวดศีรษะรุนแรง ไอรุนแรง หรือ กินยาบรรเทาอาการหวัดแล้วไม่ดีขึ้นภายใน ๒-๓ วัน ควรไปพบแพทย์เพื่อการตรวจวินิจฉัยให้แน่ชัดเสียก่อนและควรให้แพทย์เป็นผู้พิจารณาสั่งใช้ยาและติดตามอาการอย่างใกล้ชิด เพราะในปัจจุบันการตรวจหาเชื้อโควิด-๑๙ ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายหากเข้าเกณฑ์

ส่วนในกรณีที่มีอาการรุนแรง ต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ และต้องพิจารณาเป็นรายๆไป เนื่องจากในแนวเวชปฏิบัติของจีนใช้เป็นยาฉีดกึ่งสังเคราะห์จากสารสำคัญของฟ้าทะลายโจร ไม่ได้ใช้ผงฟ้าทะลายโจร หรือสารแอนโดกราโฟไลด์แต่อย่างใด

ในกรณีของการป้องกันไม่ให้ติดเชื้อโควิด-๑๙ ยังไม่มีหลักฐานที่ชัดเจน

สารสกัดหยาบของฟ้าทะลายโจรมีฤทธิ์ทำลายเชื้อไวรัส SARS-CoV-2 ซึ่งก่อให้เกิดโรคโควิด-๑๙ แต่ไม่มีฤทธิ์ป้องกันการติดเชื้อไวรัสของเซลล์ปกติ

จากงานวิจัยของกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก พบว่าสารสกัดหยาบของฟ้าทะลายโจรมีฤทธิ์ทำลายเชื้อไวรัส SARS-CoV-2 ซึ่งก่อให้เกิดโรคโควิด-๑๙ แต่ไม่มีฤทธิ์ป้องกันการติดเชื้อไวรัสของเซลล์ปกติ (ทั้งนี้ยังไม่มีการศึกษาผลด้านภูมิคุ้มกัน)

ดังนั้น อาจกล่าวได้ว่า หากในเซลล์มีเชื้อไวรัส SARS-CoV-2 อยู่ การใช้ฟ้าทะลายโจรจะมีประโยชน์สูงสุด แต่ในทางปฏิบัติการจะทราบว่ามีการติดเชื้อไวรัสแล้ว ก็ต่อเมื่อมีการตรวจหรือแสดงอาการ

การป้องกันที่ดีที่สุดคือ การใส่หน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัยเมื่ออกไปในที่ชุมชน ล้างมือ รักษาระยะห่างระหว่างบุคคล กินอาหารที่มีประโยชน์พักผ่อนให้เพียงพอและออกกำลังกาย จะคุ้มค่าและมีประสิทธิผลที่สุด

วารสารหมอชาวบ้าน ฉบับที่ 497 ปีที่ 42 กันยายน 2563

26 August 2564

By STY/Lib

Views, 30978

 

Preset Colors