02 149 5555 ถึง 60

 

โรคโควิด-19 กับอาการทางผิวหนังที่ไม่ควรมองข้าม (ตอนที่ 2 จบ)

โรคโควิด-19 กับอาการทางผิวหนังที่ไม่ควรมองข้าม (ตอนที่ 2 จบ)

เรื่องของผิว... เรื่องโดย... สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย

เราทุกคนคงเคยได้รับวัคซีนกันมาหลายตัว เช่น วัคซีนคอตีบ บาดทะยัก ไอกรน โปลิโอ หัด หัดเยอรมัน คางทูม ไข้หวัดใหญ่ และอื่นๆ อีกมากมาย

วัคซีนทำหน้าที่กระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกันของร่างกาย เพื่อป้องกันไม่ให้เป็นโรคหรือลดความรุนแรงของโรค ไม่ต้องเข้าโรงพยาบาลหรือเสียชีวิต บางครั้งหลังจากได้รับวัคซีนอาจมีอาการข้างเคียงเฉพาะบริเวณที่ฉีด ได้แก่อาการปวด บวม แดง ร้อน หรืออาจมาอาการทั่วๆ ไป เช่น ไข้ต่ำๆ อ่อนเพลี ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว มีผื่น เป็นต้น

อาการเหล่านี้พบได้ทุกวัคซีน ซึ่งไม่รุนแรงและหายได้เองมักพบ 1-3 วันหลังฉีดและไม่เกิน 7 วัน

วัคซีนโควิด-19 ก็คล้ายกับวัคซีนอื่นๆ จากข้อมูลของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาซาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ระบุว่าตั้งแต่เริ่มฉีดวัคซีนวันที่ 28 กุมภาพันธ์ ถึง 10 พฤษภาคม 2564 ที่ผ่านมา จำนวนเกือบ 2 ล้านโดส ไม่พบอาการข้างเคียงเลย 89% มีเพียงส่วนน้อยที่มีอาการ โดยเป็นผื่นเพียง 0.7%

ผื่นหลังฉีดวัคซีน

รศ. พญ.จิติมา ฐิตวัฒน์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ผื่นที่เป็น

อาการข้างเคียงหลังฉีดวัคซีนจะมีลักษณะ ดังนี้

① เป็นผื่นบริเวณที่ฉีด ถ้าฉีดแขนซ้ายแต่ผื่นเป็นแขนขวาก็ไม่เกี่ยวข้องกัน หรือผื่นกระจายทั่วตัว ผื่นมักขึ้นใน 3 วัน ไม่เกิน 7 วัน

② ไม่เคยเป็นผื่นลักษณะเดียวกันนี้มาก่อน เช่น เคยเป็นผื่นคนทั่วๆ ไปเกือบทุกวัน ฉีดวัคซีนก็เป็นเหมือนเดิม หรือโดนยุงกัดเป็นผื่นพอไปโดนยุงกัดอีกหลังฉีดวัคซีนก็เป็นผื่น จึงไม่เกี่ยวข้องกับวัคซีน

③ ผื่นที่พบเป็นอาการข้างเคียงหลังรับวัคซีนที่พบได้ คือ ลมพิษและผื่นคล้ายออกหัด

④ ลมพิษลักษณะเป็นปื้น นูน แดง คัน ผื่น ขึ้นตามรอยเกา ผื่นมักหายใน 24 ชั่วโมง ไม่ทิ้งรอย อาจมีผื่นขึ้นใหม่ขึ้นๆ ยุบๆ เป็นทั่วๆ ทั้งตัว

ลมพิษอาจเกิดจากสาเหตุอื่นๆ เช่น ยา อาหาร การติดเชื้อ โรคแพ้ภูมิ หรือไม่มีสาเหตุ

⑤ ผื่นคล้ายออกหัด เป็นตุ่มสากๆ เล็กๆ สีแดงกระจายทั่วตัว ผื่นแบบนี้เกิดในไข้ออกผื่นจากเชื้อไวรัสหรือแพ้ยาหรืออื่นๆ ก็ได้

ถ้ามีผื่นหลังรับวัคซีน ควรทำดังนี้ คือ

❶ อย่าตกใจ ผื่นเป็นผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้ มักไม่รุนแรง หายได้เอง

❷ ถ่ายรูปไว้ ใช้มือถือถ่ายรูปผื่นใกล้ๆ จะได้เห็นลักษณะของผื่นชัด และถ่ายรูปทุกบริเวณที่เป็นผื่น เพื่อให้เห็นการกระจายของผื่นว่าเป็นส่วนใดของร่างกายบ้างในวันที่เราไปพบแพทย์ ผื่นอาจหายแล้ว

❸ ใส่ประวัติ บันทึกประวัติไว้เพื่อช่วยในการวินิจฉัยของแพทย์ว่าเป็นผื่นจากสาเหตุใด ได้แก่ ผื่นขึ้นกี่ชั่วโมงหรือกี่วันหลังฉีดวัคซีน บริเวณที่ผื่นเริ่มเป็น มีอาการอื่น เช่น ไข้ ไอ มีน้ำมูกร่วมด้วยหรือไม่ เป็นผื่นอยู่กี่วันหาย เคยเป็นผื่นแบบนี้มาก่อนหรือไม่ เป็นบ่อยแค่ไหน และ

❹ นัดพบแพทย์ นำภาพผื่นและประวัติที่บันทึกไว้ไปคุยกับแพทย์ให้แพทย์วินิจฉัยว่า ผื่นเป็นอาการข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนหรือสาเหตุอื่น

คำถามตามมาหลังเป็นผื่น เช่น แพ้วัคซีนหรือไม่ ฉีดวัคซีนเข็มถัดไปได้หรือเปล่า จะเป็นผื่นอีกหรือไม่

คนไข้แต่ละคนไม่เหมือนกัน ต้องแล้วแต่การวินิจฉัยของแพทย์ว่าเป็นอาการข้างเคียงหลังฉีดวัคซีนหรือไม่ และเป็นผื่นที่ต้องเปลี่ยนยี่ห้อวัคซีนหรือฉีดต่อได้ อย่าลืม ถ้าเป็นผื่นหลังฉีดวัคซีน

อย่าตกใจ ถ่ายรูปไว้ ใส่ประวัติ นัดพบแพทย์

ขอให้ทุกคน เชื่อมั่น สิ่งที่ดีที่สุดในตอนนี้ คือ การฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้เร็ว เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้กับตนเองและช่วยประเทศชาติของเราให้พ้นวิกฤตนี้

ส่วนอาการข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้นั้น มีเพียงเล็กน้อย ไม่รุนแรง ไม่น่ากลัว โปรดเชื่อมั่นในพวกเรา “บุคลากรทางการแพทย์” เราพร้อมให้คำปรึกษาและดูแลทุกๆ คน

ปัญหาจากการใส่หน้ากากอนามัย

ด้าน นพ.ชนัทธ์ กำธรรัตน์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย กล่าวว่า...

การใส่หน้ากากอนามัย (mask) อย่างไรไม่ให้เป็นสิวนั้น ผื่นที่สัมพันธ์กับการใส่หน้ากากสามารถแบ่งได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ ผื่นที่เกิดขึ้นจากการสัมผัส ซึ่งอาจเป็นการระคายเคือง เช่น การกดทับ เสียดสี หรือการแพ้สารเคมีที่ใช้เป็นส่วนประกอบต่างๆ ของหน้ากาก และอีกกลุ่มหนึ่ง คือ ผื่นจากโรคผิวหนังที่อาจมีอยู่เดิม และเป็นมากขึ้นจากการใส่หน้ากาก

โรคที่พบบ่อย ได้แก่ สิว, ผิวหนังอักเสบโรซาเชีย, ผิวหนังอักเสบซีโบเรอิก และผิวหนังอักเสบอะโทปิก โดยในที่นี้จะกล่าวถึงรายละเอียดเฉพาะสิวที่มีสัมพันธ์กับการใส่หน้ากากเท่านั้น

จากรายงานส่วนใหญ่พบว่า การใส่หน้ากากจะกระตุ้นสิวให้กำเริบและมีอาการที่แย่ลง แต่ส่วนน้อยพบว่า ทำให้เกิดโรคเหล่านี้โดยที่ผู้ป่วยไม่เคยมีประวัติสิวมาก่อน ทั้งนี้สิวที่เป็นมักจะมีความรุนแรงน้อย ถึงปานกลาง

ปัจจัยที่พบว่ามีความสำคัญ คือ เพศหญิงการมีสิวอยู่แล้วและยังควบคุมได้ไม่ดีและการใส่หน้ากากอนามัยที่ต่อเนื่องกันเกิน 4-6 ชั่วโมง

คำแนะนำสำหรับประชาชนโดยทั่วไปในการป้องกันไม่เกิดสิวเห่อจากการใส่หน้ากาก คือ

⌖ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรักษาสิวให้เข้าที่และสงบให้เร็วที่สุด ร่วมกับการดูแลสภาพผิวหนังให้แข็งแรง โดยการทำความสะอาดด้วยผลิตภัณฑ์อ่อนโยนและใช้ผลิตภัณฑ์ที่ให้ความชุ่มชื่นที่ไม่ก่อให้เกิดสิวอย่างเหมาะสมและสม่ำเสมอ

⌖ หลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเนื้อหนา เช่น Petrolatum หรือ Mineral Oil และควรรอให้ครีมที่ทาแห้งสนิทก่อนสวมใส่หน้ากากประมาณอย่างน้อย 30 นาที

⌖ ชนิดของหน้ากากที่ใส่ขึ้นอยู่กับความเสี่ยงของแต่ละบุคคล แต่ไม่ว่าเป็นชนิดไหนอย่างน้อยควรมีการถอดหรือเปลี่ยนหน้ากากทุก 4-6 ชั่วโมง (ถ้าสามารถทำได้โดยไม่กระทบต่อความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ)

นพ.ชนัทธ์ กล่าวต่อว่า... เมื่อเป็นสิวแล้วแนะนำให้ปรึกษาแพทย์เพื่อให้ได้รับการรักษาที่ถูกวิธีและเหมาะสม โดยแพทย์ผู้รักษาควรระวังในการใช้ยากลุ่มอนุพันธ์วิตามินเอ เนื่องจากจะมีโอกาสระคายเคืองได้ง่ายกว่าปกติ โดยเฉพาะบริเวณที่ใส่หน้ากาก

แนะนำให้เริ่มจากยาชนิดที่ก่อให้เกิดการระคายเคืองและความเข้มข้นที่ต่ำก่อน และให้พิจารณายาทาเฉพาะที่สิว เช่น การแต้มยาเบนโซอิลเปอร์ออกไซด์หรือกรดซาลิไซลิกเฉพาะบริเวณที่เป็นสิว เพื่อลดการระคายเคืองของผิวหนังข้างเคียง

ยาทาในกลุ่มนี้เป็นเนื้อแป้ง จะช่วยทำให้ผิวหนังที่ชื้นจากการใส่หน้ากากแห้งได้ง่ายขึ้น ในกรณีที่เป็นระดับปานกลางถึงรุนแรงให้พิจารณาให้ยากินได้ตามความเหมาะสม

ส่วนปัญหาเครื่องสำอางหรือครีมบำรุงติดหน้ากาก เป็นปัญหาที่พบได้บ่อยและอาจก่อให้เกิดความไม่สบายใจในผู้ป่วยบางคน

ในฐานะแพทย์ทางออกสำหรับปัญหานี้ คือ ให้หลีกเลี่ยงหรือลดการแต่งหน้าที่มากเกินไปในบริเวณที่สวมใส่หน้ากาก โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่มีปัญหาสิวหรือกำลังรักษาด้วยยาทารักษาสิวอยู่แล้ว เพราะนอกจากจะทำให้หลีกเลี่ยงปัญหาเรื่องที่หน้ากากอนามัยติดเครื่องสำอางแล้ว ยังสามารถป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาอื่นๆ เพิ่มเติมด้วย เช่น สิวที่เกิดจากการใช้ผลิตภัณฑ์ หรือการระคายเคืองของสิวและผิวหนังจากการทำความสะอาดใบหน้า

ส่วนครีมบำรุงควรพิจารณาเลือกเนื้อที่เป็นเจลหรือโลชั่นในคนที่มีผิวมัน และเป็นเนื้อครีมสำหรับผู้ที่มีปัญหาผิวแห้งอยู่แล้ว

นอกจากนี้ในกรณีที่ผู้ป่วยมีความจำเป็นที่ต้องแต่งหน้า แนะนำให้หลีกเลี่ยงการใช้ผลิตภัณฑ์ประเภทรองพื้น (foundation) และแป้งที่มีเนื้อหนา และเน้นการแต่งหน้าบริเวณที่ไม่ได้ปกปิดด้วยหน้ากาก เช่น รอบดวงตา แทน

สุดท้ายการทาครีมกันแดดบริเวณที่ใส่หน้ากากอนามัย อาจมีความเสี่ยงต่อการแพ้หรือทำให้สิงเห่อมากขึ้นเช่นเดียวกับเครื่องสำอาง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับชนิดของครีมกันแดดที่ใช้และสภาพผิวหนังของผู้ใช้

คำแนะนำ คือ ให้หลีกเลี่ยงการใช้ครีมกันแดดบริเวณที่ใส่หน้ากาก และใช้หน้ากากที่ทำจากผ้าที่มีคุณสมบัติในการป้องกันรังสียูวี (Ultraviolet protective factor, UPF) ตั้งแต่ 50 ขึ้นไป และควรมีจำนวนเส้นด้ายที่มากและทอแบบแน่น ส่วนบริเวณอื่นๆ อาจพิจารณาทาครีมกันแดได้ตามปกติ 

หมอชาวบ้าน ปีที่ 43 ฉบับที่ 508 เดือนสิงหาคม 2564

3 September 2564

By STY/Lib

Views, 27153

 

Preset Colors