02 149 5555 ถึง 60

 

ฝุ่น-อุณหภูมิกับโรค

ฝุ่น-อุณหภูมิกับโรค

เรื่องโดย นพ.สันต์ หัตถีรัตน์

ฤดูหนาวเข้าสู่ไทยตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน พร้อมกับการหยุดลงของฤดู โดยเฉพาะในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แต่ภาคใต้ยังคงเจอฝนตกหนักต่อไปจนน้ำท่วมหนักหลายแห่งในเดือนธันวาคม ส่วนภาคกลางและภาคตะวันออกอากาศเย็นลง

อากาศเย็นลงที่โถมทับลงมาร่วมกับหมอก ทำให้ฝุ่นละอองต่างๆ ไม่ลอยขึ้นสู่ท้องฟ้า ร่วมกับภาวะแห้งแล้ง (ไม่มีฝน) ยิ่งทำให้ฝุ่นละอองต่างๆ ลอยล่องอยู่ในอากาศที่เราหายใจเข้าไป

มลพิษในอากาศที่สำคัญมี ๖ ชนิด คือ

๑.ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน ๒.๕ ไมครอน (particulate matter 2.5 หรือ PM 2.5) เกิดจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงทั้งจากยานพาหนะ วัสดุ การเกษตร ไฟป่า และกระบวนการทางอุตสาหกรรม เนื่องจากขนาดมันเล็กมาก จึงผ่านทางเดินหายใจเข้าสู่ถุงลมในปอดได้ ทำให้เกิดโรคปอดต่างๆ ถ้าได้รับเข้าไปมากๆ เป็นเวลานาน และทำให้ผู้ป่วยโรคปอดและโรคหัวใจมีอาการกำเริบและเสียชีวิตเพิ่มขึ้น

๒.ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน ๑๐ ไมครอน (PM 10) เกิดจากการเผาไหม้เชื้อเพลิง การเผาในที่โล่ง กระบวนการอุตสาหกรรม การบด การโม่ และการทำให้เป็นผงในงานก่อสร้างและอื่นๆ PM10 จะเข้าไปติดอยู่ในทางเดินหายใจ เช่น ระคายเคืองในจมูก คอหอย หลอดลม เป็นต้น

๓. ก๊าซโอโซน (ozone, O3) เป็นก๊าซที่ไม่มีสีหรือมีสีฟ้าอ่อน มีกลิ่นฉุน เกิดได้ทั้งในชั้นบรรยากาศที่สูงจากผิวโลกและในบรรยากาศที่สูงจากผิวโลก (ใกล้พื้นดิน) เกิดจากปฏิกิริยาระหว่างออกไซค์ของไนโตรเจนกับสารอินทรีย์ระเหยง่าย โดยมีแสงแดดเป็นตัวเร่งปฏิกิริยา อาจจะระคายเคืองตา ทางเดินหายใจ และเยื่อบุต่างๆ ทำให้ปอดทำงานลดลง เหนื่อยเร็ว โดยเฉพาะเด็ก คนชรา และผู้ป่วยโรคปอด (ที่ชอบพูดกันว่า “ไปสูดโอโซนในชนบทแล้วสุขภาพจะดีขึ้น” จึงเป็นการใช้คำว่า “โอโซน” ในทางที่ไม่ถูกต้อง แม้ว่าโอโซนจะนำมาใช้ฆ่าเชื้อโรคในน้ำเพื่อใช้เป็นน้ำดื่มได้ เป็นต้น)

๔.ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ (carbon monoxide,CO) ไม่มีสีและกลิ่น เกิดจากการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ของเชื้อเพลิงที่มีธาตุคาร์บอนเป็นองค์ประกอบ เมื่อเข้าสู่ปอด ก๊าซนี้จะไปจับกับเฮโมโกบินจับออกซิเจนไม่ได้ เลือดและร่างกายจึงขาดออกซิเจนจนหมดสติละเสียชีวิตได้

๕.ก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ (nitrogen dioxide,NO2) ไม่มีสีและกลิ่น มีอยู่ทั่วไปในธรรมชาติ หรือเกิดจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงต่างๆ อุตสาหกรรมบางชนิดเป็นต้น มีผลกระทบต่อระบบการมองเห็นและผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจ

๖.ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (sulfur di-oxide,SO2) ไม่มีสีหรืออาจมีสีเหลืองอ่อนๆ มีกลิ่นและรสถ้าเข้มข้นสูง เกิดได้ในธรรมชาติและจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงที่มีกำมะถัน ละลายน้ำได้ดี สามารถรวมตัวกับสารมลพิษอื่นเกิดเป็นฝุ่นขนาดเล็ก ระคายเคืองตา ผิวหนัง ทางเดินหายใจ เป็นต้น

ไทยเรากำหนด “ดัชนีคุณภาพอากาศ” (Air Quality Index , AQI) จาก มลพิษทั้ง ๖ชนิด เป็น ๕ ระดับ โดยใช้สีต่างๆ เพื่อให้เข้าใจง่าย

ตาราง ดัชนีคุณภาพอากาศของประเทศไทยตามลักษณะเข้าใจง่าย

สี AQI* คุณภาพอากาศ ข้อควรปฏิบัติ

ฟ้า ๐.๒๕ ดีมาก เหมาะกับกิจกรรมกลางแจ้งและการท่องเที่ยว

เขียว ๒๐-๕๐ ดี ทำกิจกรรมกลางแจ้งและท่องเที่ยวได้

เหลือง ๕๑-๑๐๐ ปานกลาง ประชาชนทั่วไป : ทำกิจกรรมกลางแจ้งได้

ผู้ป่วย/อ่อนแอ : ถ้าไอ/หายใจลำบาก หรืออื่นๆ ต้องลดหรืองดกิจกรรมกลางแจ้ง

ส้ม ๑๐๑-๒๐๐ เลว ประชาชนทั่วไป : ลดกิจกรรมกลางแจ้ง ใช้หน้ากากอนามัยหรืออุปกรณ์อื่นๆ ถ้าจำเป็น

ผู้ป่วย/อ่อนแอ : ลด/งดกิจกรรมกลางแจ้ง ใช้หน้ากากอนามัยและอื่นๆป้องกันตน ถ้าอาการกำเริบให้ไปพบแพทย์

แดง ๒๐๑ ขึ้นไป เลวมาก ทุกคน ควรงดกิจกรรมกลางแจ้งหรือในพื้นที่ที่มีมลพิษสูง ใช้หน้ากากอนามัยและอื่นๆ ป้องกันตนเอง ถ้ามีอาการไม่สบาย ให้ไปพบแพทย์

*Air quality index ซึ่งแปลว่า ดัชนีคุณภาพอากาศ

“อากาศเย็นลงที่โถมทับลงมาร่วมกับหมอก มำให้ฝุ่นละอองต่างๆ ไม่ลอยขึ้นสู่ท้องฟ้า”

อุณหภมิที่เย็นลง การไม่มีฝนตกลงมาชะล้างฝุ่นละอองต่างๆ ร่วมกับการใช้ยานพาหะท่องเที่ยวกันมากขึ้น และการเผาวัสดุการเกษตรต่างๆ ในหน้าแล้ง ส่งผลให้ดัชนีคุณภาพอากาศหลายพื้นที่ในประเทศไทยอยู่ในเกณฑ์อันตราย (เลวถึงเลวมาก)

ทำให้คนเป็นโรคระบบทางเดินหายใจ (เช่น ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ หลอดลมอักเสบ ปอดอักเสบ) กันมากขึ้น รวมทั้ง “โควิด-๑๙” ซึ่งเป็นโรคของระบบทางเดินหายใจและปอด ก็จะแพร่ระบาดมากขึ้นและทำให้อัตราการเสียชีวิตเพิ่มขึ้นเมื่ออากาศเย็นลง และคุณภาพอากาศเลวลง

นักวิชาการจีน (Huang Z, et al) รายงานการศึกษาผู้ป่วยโควิด-๑๙ จำนวน ๓,๗๕๐,๐๐๐ คน ใน ๑๘๕ เมืองทั่วโลก ระหว่างเดือนมกราคมถึงพฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๓ ในวารสาร

J. Total Environment ฉบับ ๒๐ กันยายน ๒๕๖๓ ว่า ร้อยละ ๖๐ ของผู้ป่วยอยู่ในพื้นที่ที่อุณหภูมิ

๕-๑๕ องศาเซลเซียส (◦C) พบสูงสุดที่ ๑๑.๕ ◦C แต่จะพบน้อยในอุณหภูมิต่ำกว่า ๐ ◦C และสูงกว่า ๓๐ ◦C

ร้อยละ ๗๔ ของผู้ป่วยอยู่ในพื้นที่ที่มีความชื้นแน่นอน (absolute humidity) ที่ ๓-๑๐ กรัม/ลูกบาศก์เมตร (g/m3) พบสูงสุดที่ ๕ g/m3

“การไม่มีฝนตกลงมาชะล้าง ฝุ่นละอองต่างๆ การใช้ยานพาหนะและการเผาวัสดุต่างๆ ส่งผลให้ดัชนีคุณภาพอากาศหลายพื้นที่อยู่ในเกณฑ์อันตราย”

ดังนั้น โควิด-๑๙ น่าจะระบาดตามฤดูกาลและพื้นที่ จากการผันแปรของอุณหภูมิและความชื้นได้

ในช่วงเวลาใกล้กัน นักวิชาการจีนอีกคณะหนึ่ง (Huang H, et al) รายงานการศึกษาผู้ป่วยจีนใน ๑๒ เมืองใหญ่ ในวารสาร J. Environmental Health Science & Engineering ฉบับ ๑๕ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๖๓ ว่า

อัตราการเสียชีวิตจากโควิด-๑๙ มีความสัมพันธ์อย่างชัดเจนกับอุณหภูมิและดัชนีคุณภาพอากาศ (AQI) แต่ไม่สัมพันธ์กับความเร็วลม ความชื้นสัมพัทธ์ (relative humidity) และปริมาณฝน

อัตราการหาย/ดีขึ้นจากโควิด-๑๙ มีความสัมพันธ์อย่างชัดเจนกับอุณหภูมิที่สูงขึ้นและปริมาณฝนที่มากขึ้น แต่ไม่สัมพันธ์กับความเร็วลม ความชื้นสัมพัทธ์และดัชนีคุณภาพอากาศ (AQI)

“ไทยเราเป็นยอดในการ “ฮึด-อึด-สู้” (resilience) กับโควิด-๑๙”

ผลของรายงานทั้งสองจึงยังมีสิ่งขัดแย้งกันอยู่ ซึ่งจะต้องการการศึกษาวิจัยต่อไป

ประเทศไทยโชคดีที่อยู่ในพื้นที่ค่อนข้างร้อน (เหนือเส้นศูนย์สูตรไม่มากนัก) และคนไทยส่วนใหญ่ตระหนักถึงความสำคัญในการป้องกันตนเองและญาติมิตรจากเชื้อโควิด-๑๙ ด้วยการ “อยู่ห่าง-ล้างมือ-ซื้อหน้ากากใส่-ไม่ไปที่แออัด เป็นต้น”

จนทั่วโลกยอมรับว่า ไทยเราเป็นยอดในการ “ฮึด-อึด-สู้” (resilience) กับโควิด-๑๙ และองค์การ อนามัยโลกได้ยกย่องให้ไทยเราเป็นต้นแบบในการจัดการโควิด-๑๙ ได้เป็นอย่างดี

อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ต้นธันวาคม ๒๕๖๓ คนไทยจำนวนหนึ่งเริ่ม “ประมาทและการ์ดตก” นำเชื้อโควิด-๑๙ จากประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะเมียนมาและมาเลเซีย เข้ามาในไทย และคนไทยในประเทศก็เริ่มละเลย “ชีวิตวิถีใหม่” (อยู่ห่าง-ล้างมือ-ซื้อหน้ากากใส่-ไม่ไปที่แออัดฯ) จึงอาจทำให้เกิดการระบาดรอบ ๒ อีกได้

ดังนั้น “อย่าประมาท อย่าการ์ดตก” และอย่าสร้างมลพิษในอากาศแล้วไทยเราจะชนะต่อไป

วารสารหมอชาวบ้าน ฉบับที่ 502 วันที่ 42 กุมภาพันธ์ 2564

10 September 2564

By STY/Lib

Views, 1063

 

Preset Colors