02 149 5555 ถึง 60

 

ดูแลจิตอย่างไรในยุค 5G

ดูแลจิตอย่างไรในยุค 5G

เรื่องโดย การแพทย์แผนไทยประยุกต์ศิริราช

คำกล่าวว่า “มนุษย์ทุกคนมีจิตใจเป็นนาย มีกายเป็นบ่าว” นั่นคือจิตเป็นกำหนด กำกับ หรือควบคุมพฤติกรรมของกาย ทั้งการพูดและการกระทำ ดังนั้นสิ่งที่สำคัญไม่น้อยไปกว่าการพัฒนาทางกายคือ การพัฒนาจิต

องค์ประกอบสำคัญของแนวปฏิบัติในการสร้างสุขภาพเพื่อการพัฒนาจิตตาม “หลักธรรมานามัย” คือ

จิตตานามัย มาจากคำว่า “จิต” และ “อนามัย” การดูแลให้เกิดอนามัยของจิตเป็นจิตที่สมบูรณ์ ประกอบด้วย ๓ ภาวะ ดังนี้

จิตที่สมบูรณ์ประกอบด้วย ๓ วาระ

๑. คุณภาพจิต มีคุณธรรม เอื้อเฟื้อ เมตตากรุณา และซื่อสัตย์

๒. สมรรถภาพจิต เข้มแข็งมั่นคง มุ่งมั่น เพียรพยายาม มีสติและสมาธิ

๓. สุขภาพจิต มีความสุข ปิติอิ่มใจ ร่าเริงเบิกบานใจ ผ่องใส

ผู้ที่ฝึกจิตจนเกิดสตินำไปสู่สมาธิ และปัญญาจะทำให้รู้เท่าทัน และเข้าใจสิ่งต่างๆ ตามความเป็นจริง และรู้สิ่งที่ควรปฏิบัติต่อสิ่งต่างๆ อย่างไร ถึงจะถูกต้องเหมาะสม ย่อมเป็นประโยชน์ต่อตนเอง และสังคม ทั้งการปฏิบัติหน้าที่การงานในความรับผิดชอบ การแก้ปัญหาในการดำรงชีวิต รวมถึงสร้างสรรค์สังคมด้วย

ท่ามกลางการแพร่ระบาดของ COVID-19 ทำให้ไม่อาจจัดกิจกรรมแบบมีปฏิสัมพันธ์อย่างเดิมได้ มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นมากมายหนึ่งในนั้นคือ โครงการฝึกอบรมธรรมมะเพื่อการสร้างเสริมคุณธรรมจริยธรรมสำหรับนักศึกษาแพทย์แผนไทยประยุกต์ ชั้นปีที่ ๒ เนื่องจากหลักสูตรฯ ให้ความสำคัญกับการสร้างพื้นฐานค่านิยมของการมีคุณธรรม จริยธรรมในการดำเนินชีวิตเพื่อให้เข้าใจธรรมชาติของตนเองและประพฤติปฏิบัติในสิ่งที่ถูกที่ควรเป็นประโยชน์ต่อตนเองและสังคม จึงปรับกิจกรรมเป็นรูปแบบออนไลน์ผ่านโปรแกรม Zoom เมื่อวันที่ ๒๒-๒๖ ธันวาคม ๒๕๖๓ กิจกรรมดังกล่าวเป็นลักษณะผสมผสานแนวคิดหลักธรรมทางศาสนา โดยมุ่งเน้นให้นักศึกษาได้ลองฝึกและปฏิบัติด้วยตนเอง นอกจากนี้ยังมีการถอดบทเรียนโดยการสนทนากลุ่มย่อย ที่มีพระภิกษุเป็นผู้นำกลุ่มร่วมกับอาจารย์แพทย์แผนไทยประยุกต์

โดยกิจกรรมแต่ละวันมีวัตถุประสงค์ดังนี้

วันที่ ๑ เรียนรู้ตนเองและการอยู่ร่วมกับผู้อื่น ประสานข้อดีที่แตกต่างให้อยู่ร่วมกันอย่างสร้างสรรค์

วันท่ ๒ ฝึกทักษะการสังเกตและมีสติรับรู้ ทั้งสภาวะทางกายและใจของตนตามเป็นจริง อย่างลึกซึ้ง ด้วยวิธีที่เหมาะสมกับวัยและยุคสมัย

วันที่ ๓ วางแผนเป้าหมายชีวิต ให้สอดคล้องกับทั้งศักยภาพและความปรารถนาของตน ภายใต้ข้อจำกัดของสังคมและความถูกต้องเพื่อประโยชน์และความสุขทั้งแก่ตนและสังคม

วันที่ ๔ พัฒนาเจตนาที่ดีต่อผู้คนและสรรพชีวิต ขยายขอบเขตของ ความรักความเกื้อกูลไปสู่คนรอบข้างและสังคมในฐานะพลเมือง ด้วยเจตนาดีที่ประกอบด้วยปัญญา

วันที่ ๕ ชวนให้เห็น ตระหนักถึงความไม่ประมาท และสร้างกำลังใจในการลงมือกระทำสิ่งที่ดี ทั้งต่อตนและผู้อื่นไม่ปล่อยเวลาล่วงเลยจนสายเกินไป

วารสารศิริราชประชาสัมพันธ์ปีที่ 33 ฉบับที่ 440 มีนาคม 2564

17 September 2564

By STY/Lib

Views, 1516

 

Preset Colors