02 149 5555 ถึง 60

 

รับมือโควิดด้วยสมุนไพรสไตล์อภัยภูเบศร (ตอนที่ 3)

HERBAL GUIDE FOR COVID-19 รับมือโควิดด้วยสมุนไพรสไตล์อภัยภูเบศร (ตอนที่ 3)

HOT ISSUE เรื่องโดย... ศิริกร โพธิจักร

RECOMMENDED LISTยาตำรับฟื้นฟูสุขภาพหลังติดโควิด

ดอกเตอร์ เภสัชกรหญิงผกากรองระบุว่า กรณีของผู้ที่มีการทางปอด สามารถใช้ตำรับยาฟื้นฟู 4 ตำรับ ได้แก่

🢒 ตำรายาบำรุงปอด ช่วยบำรุงปอดที่เสียหายให้ค่อยๆ ฟื้นฟูขึ้นได้บางส่วน

🢒 ยาตรีผลา เสริมการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน

🢒 ยาอภัยสาลี ช่วยกระจายเลือดลม บำรุงโลหิต และมีสมุนไพรบางตัวที่มีสรรพคุณบำรุงปอด

🢒 ยาปรบชมพูทวีป เป็นยารักษากลุ่มอาการของระบบทางเดินหายใจ มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ต้านการอักเสบ ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน

โดยการใช้ตัวยาแต่ละตำรับมีรายละเอียด ดังนี้

1. ตำรายาบำรุงปอด

มีส่วนประกอบดังนี้ ใบอนุมาน 30 กรัม, ฝาง 30 กรัม, ใบมะคำไก่ 30 กรัม, แสมสาร 30 กรัม, แห้วหมู 30 กรัม, เถาวัลย์เปรียง 30 กรัม

วิธีทำ นำสมุนไพรทั้งหมดใส่ลงในหม้อดิน หม้อเคลือบ หรือหม้อสเตนเลส เติมน้ำ 3 ลิตร ต้มเดือด 15 นาที

วิธีใช้ รินเอาแต่น้ำมาดื่ม ครั้งละ 1 ถ้วยชา (ประมาณ 150 ซีซี) ก่อนอาหาร เช้า กลางวัน เย็น

ข้อห้ามใช้ ห้ามใช้ในหญิงตั้งครรภ์ หญิงให้นมบุตร และเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี เนื่องจากยังไม่มีข้อมูลความปลอดภัย

ข้อควรระวัง ควรระวังในการใช้ร่วมกับยาในกลุ่มยาละลายลิ่มเลือด (Anticoagulant) และยาต้านการจับตัวของเกล็ดเลือด (Antiplatelet) และระวังการใช้ในขนาดสูงติดต่อกันเป็นเวลานาน เนื่องจากอาจมีผลลดความดันโลหิตและระดับน้ำตาลในเลือด

2. ยาตรีผลา

มีส่วนประกอบดังนี้ น้ำสะอาด 3 ลิตร, น้ำผึ้ง 30 มิลลิลิตร, น้ำมะนาว 10 มิลลิลิตร, เกลือ 1/8 ช้อนชา, ผลมะขามป้อมแห้ง 100 กรัม, ผลสมอไทยแห้ง 50 กรัม, ผลสมอพิเภกแห้ง 30 กรัม

วิธีทำ นำสมุนไพรแห้งทั้ง 3 ชนิดมาต้มในน้ำสะอาด 3 ลิตร ต้มจนเหลือ 1 ลิตร จากนั้นกรองด้วยผ้าขาวบาง พักให้หายร้อนสักครู่แล้วปรุงรสด้วยเกลือ น้ำผึ้ง น้ำมะนาว

วิธีใช้ ดื่มครั้งละ 100 มิลลิลิตร เช้า-เย็น

ข้อควรระวัง ผู้ที่ธาตุเบาอาจทำให้ท้องเสียได้ ในทางการแพทย์แผนไทยใช้ตรีผลาเป็นยาลดธาตุไฟในร่างกาย การกินต่อเนื่องนานๆ อาจทำให้ร่างกายเย็นได้ กรณีผู้ป่วยโรคตับและไตควรใช้ด้วยความระมัดระวัง

3. ยาตรีผลา

มีส่วนประกอบดังนี้ เหงือกปลาหมอทั้งต้น-พริกไทยดำ-ใบกัญชาเทศ หนักสิ่งละ 120 กรัม, หัสคุณเทศ-ดอกก้านพลู หนักสิ่งละ 10 กรัม, เนื้อลูกสมอเทศ-เนื้อลูกสมอไทย-รากเจตมูลเพลิงแดง-เหง้าขิง หนักสิ่งละ 8 กรัม, เทียนแดง-เทียนตาตั๊กแตน-เทียนแกลบ หนักสิ่งละ 6 กรัม, เทียนดำ-โกฐสอ-โกฐเขมา-ลูกพิลังกาสา-ลำพังหางหมู หนักสิ่งละ 4 กรัม, ดอกดีกล่ำ-การบูร หนักสิ่งละ 2 กรัม, ลูกจันทร์-ดอกจันทร์-ลูกกระวาน หนักสิ่งละ 1 กรัม

วิธีทำ นำหัสคุณเทศไปคั่วหรือหั่นเป็นชิ้นเล็กๆ คลุกเคล้าด้วยสุราให้ชุ่ม แล้วตั้งไฟคั่วให้แห้ง จากนั้นนำตัวสมุนไพรยกเว้นการบูรมาทำความสะอาดแล้วคั่วที่อุณหภูมิ 50-55 องศาเซลเซียส 4-6 ชั่วโมง หรือจนกว่าจะแห้ง จากนั้นนำมาบดรวมกันให้ละเอียด ผสมผงยาให้เข้ากันแล้วบรรจุแคปซูลลงบรรจุภัณฑ์

วิธีใช้ กินครั้งละ 3 แคปซูล แคปซูลละ 250 มิลลิกรัม วันละ 4 ครั้ง ก่อนอาหาร เช้า กลางวัน เย็น และก่อนนอน

ข้อควรระวัง ไม่ควรใช้เมื่อพบภาวะแทรกซ้อนจากภาวะการแพ้อากาศ เช่น ไซนัสอักเสบ หรือติดเชื้อจากแบคทีเรีย ซึ่งจะมีอาการเจ็บบริเวณไซนัส ไข้สูง น้ำมูกและเสมหะเขียว

ควรระวังการใช้ยาเกินขนาดในผู้ป่วยที่มีความผิดปกติของตับ ไต และทางเดินปัสสาวะ เนื่องจากอาจเกิดพิษจากการบูร

ควรระวังการใช้ยาร่วมกับ Phenytoin, Propranolol, Theophylline และ Rifampicin เนื่องจากยาตำรับนี้มีพริกไทยในปริมาณสูง

ข้อห้ามใช้ หญิงตั้งครรภ์ ผู้ที่มีไข้ เด็ก ควรงด นอกจากนี้ กรณีผู้ป่วยความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ ผู้ป่วยโรคแผลเปื่อยเพปติก และกรดไหลย้อน ควรงด เนื่องจากเป็นตำรับยารสร้อน จึงอาจทำให้เกิดการระคายเคืองได้

4. ยาอภัยสาลี

มีส่วนประกอบดังนี้ หัสคุณเทศ หนัก 24 กรัม, พริกไทยล่อน-แก่นจันทร์เทศ หนักสิ่งละ 16 กรัม, รากเจตมูลเพลิงแดง หนัก 12 กรัม,หัวบุกรอ หนัก 15 กรัม, เนื้อลูกสมอเทศ-เนื้อลูกสมอไทย หนักสิ่งละ 13 กรัม, เทียนแดง หนัก 11 กรัม, เทียนเปลือกข้าว หนัก 10 กรัม, เทียนตาตั๊กแตน หนัก 9 กรัม, เทียนขาว หนัก 8 กรัม, โกฐเขมา หนัก 9 กรัม, โกฐสอ หนัก 8 กรัม, เหง้าว่านน้ำ หนัก 7 กรัม, ดอกกานพลู หนัก 4 กรัม, ลูกกระวาน หนัก 3 กรัม, ดอกจันทร์ หนัก 1 กรัม, ลูกจันทร์ หนัก 1 กรัม, ลูกพิลังกาสา หนัก 6 กรัม

วิธีใช้ กินครั้งละ 1.2-2 กรัม แคปซูลละ 050 มิลลิกรัม ครั้งละ 2 แคปซูล วันละ 2 ครั้ง ก่อนอาหาร เช้า-เย็น

ข้อควรระวัง ไม่ควรใช้เมื่อพบภาวะแทรกซ้อนจากภาวะการแพ้อากาศ เช่น ไซนัสอักเสบ หรือติดเชื้อจากแบคทีเรีย ซึ่งจะมีอาการเจ็บบริเวณไซนัส ไข้สูง น้ำมูกและเสมหะเขียว

นอกจากนี้ต้องระวังเมื่อใช้ร่วมกับยาในกลุ่มสารกันเลือดเป็นลิ่ม และยาต้านการจับตัวของเกล็ดเลือด ควรระวังการใช้ยาร่วมกับ Phenytoin, Propranolol, Theophylline และ Rifampicin เนื่องจากยาตำรับนี้มีพริกไทยในปริมาณสูง

ข้อห้ามใช้ หญิงตั้งครรภ์ ผู้ที่มีไข้ และเด็ก ควรงด นอกจากนี้ กรณีผู้ป่วยความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ ผู้ป่วยโรคแผลเปื่อยเพปติก และกรดไหลย้อน ควรงด เนื่องจากเป็นตำรับยารสร้อน จึงอาจทำให้เกิดการระคายเคืองได้

นิตยสารชีวจิต ปีที่ 23 ฉบับที่ 551 เดือนกันยายน 2564

(อ่านต่อตอนต่อไป)

1 October 2564

By STY/Lib

Views, 6254

 

Preset Colors