02 149 5555 ถึง 60

 

ปวดหัวจากความเครียด

ปวดหัวจากความเครียด

สุขภาพต้องรู้... เรื่องโดย....นพ.ยงยศ จริยวิทยาวัฒน์

ปวดหัวเป็นเรื่องที่พบได้บ่อยๆ ในชีวิตประจำวัน สาเหตุมีมากมาย เป็นไข้ ไข้หวัด หรือเมื่อคืนดื่มหนักไปหน่อย เช้ามาก็ปวดหัว มีประจำเดือนก็ปวดหัว ออกกำลังกายมากไป เล่นโทรศัพท์มากไป ใกล้สอบอ่านหนังสือไม่ทัน เตรียมข้อมูลเข้าประชุมไม่ทัน ถูกดุ หรือดุคนอื่น ก็ปวดหัวได้ ในบรรดาสาเหตุต่างๆ กว่า 100 สาเหตุนั้น พบว่าความเครียดเป็นสาเหตุที่พบบ่อยที่สุด...

ปวดหัวจากความเครียดแล้วมีอาการอย่างไร?

อาการมีหลากหลาย ผู้ป่วยจะรู้สึกปวดที่ศีรษะ มีตั้งแต่เล็กน้อยถึงปานกลาง ปวดดื้อๆ ปวดบีบๆ รู้สึกเหมือนมีอะไรมารัดศีรษะ อาจเจ็บแปล๊บๆ ที่หนังศีรษะ บางคนปวดข้างเดียว ปวดมาที่กระบอกตา คล้ายไมเกรนแต่มักไม่มีอาการทางระบบประสาท เช่น ไม่มีอาการทางสายตา ไม่มีอาการคลื่นไส้อาเจียนร่วมด้วย

ปวดหัวจากความเครียดอาจมีอาการเป็นครั้งคราว นานๆ ปวดครั้ง แต่ละครั้งอาจปวดนานเป็นชั่วโมง หรือเป็นวัน แต่บางคนอาจปวดเรื้อรัง ปวดแทบทุกวัน เดือนหนึ่งๆ ปวดมากกว่า 15 วัน กรณีอย่างนี้ อาจมีภาวะซึมเศร้าร่วมด้วย

โรคนี้พบได้ในทุกวัย มักเริ่มมีอาการครั้งแรกตั้งแต่วัยรุ่นหรือวัยหนุ่มสาว (มีโอกาสน้อยมากที่จะมีอาการครั้งแรกหลังอายุ 50 ปี) และพบมีอาการกำเริบบ่อยในช่วงอายุ 20-50 ปี พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย 1.5-2 เท่า

สาเหตุที่ทำให้ปวดหัว เชื่อว่าเป็นเพราะกล้ามเนื้อรอบๆ ศีรษะมีการเกร็งตัวซึ่งเป็นผลมาจากความเครียด คร่ำเคร่งกับงาน ความหิว อดนอน อ่อนเพลีย ตาผลจากงานวิจัยยังไม่สามารถยืนยันได้คงบอกได้แต่ว่า ความเครียดเป็นสิ่งกระตุกให้เกิดอาการปวดหัว

นอกจากนี้ ยังอาจพบร่วมกับโรคไมเกรน โรควิตกกังวล ภาวะซึมเศร้า ความผิดปกติทางอารมณ์หรือการปรับตัว

ปวดหัวขึ้นมาแล้วทำอย่างไรจะหาย

การกินยาช่วยแก้อาการปวดหัวได้ แต่บางครั้งก็ไม่จำเป็นต้องกินยา ลองทำอย่างนี้นี้สิครับ

⬧ พัก อยู่ในที่เงียบๆ ไม่มีสิ่งรบกวน ทั้งเรื่องแสง เสียง ความร้อนอุณหภูมิ

⬧ ใช้ความเย็น (น้ำแข็ง) ประคบศีรษะ ต้นคอ แต่คนไข้บางคนชอบใช้กระเป๋าน้ำร้อนมากกว่า

⬧ การนวดแถวต้นคอ โดยเฉพาะผู้ที่มีอาการปวดต้นคอร่วมกับการปวดหัว ทำให้กล้ามเนื้อผ่อนคลาย

⬧ ทำจิตใจให้สงบ เข้าสมาธิ บังคับตัวเองให้คิดถึงสิ่งดีๆ คำพูดดีๆ ของเพื่อน หรือของใครก็ตามที่ทำให้เรายิ้มได้ หัวเราะได้

⬧ จิบเครื่องดื่มที่ชอบโดยเฉพาะเครื่องดื่มที่มีกาเฟอีน เพราะกาเฟอีนมีฤทธิ์ลดอาการปวดหัวได้

แค่นี้ก็อาจทำให้อาการปวดหัวหายไปได้แล้ว

แพทย์จะวินิจฉัยได้อย่างไร?

โดยทั่วไปจากคำบอกเล่าของผู้ป่วยถึงลักษณะอาการปวดศีรษะก็ช่วยในการวินิจฉัยได้แล้ว ลักษณะอาการของอาการปวดศีรษะ เช่น ปวดดื้อๆ ปวดบีบๆ ปวดเหมือนมีอะไรมารัดศีรษะ ดูจากตำแหน่งที่ปวด ดูว่ามีอาการอื่นร่วมด้วยหรือไม่ เช่น เห็นภาพซ้อน มีเสียงดังในหู นั้นอาจเป็นอาการที่แสดงว่าไม่ใช่ปวดศีรษะจากความเครียดธรรมดา

ในกรณีเช่นนี้อาจจะต้องมีการตรวจร่างกายทางระบบประสาท และตรวจพิเศษเพิ่มเติม เช่น CT scan (เอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง) หรือ MRI

ถ้าต้องกินยา มียาอะไรให้กินบ้าง?

🢚ยาแก้ปวด แก้อักเสบทั่วไปอย่างแอสไพริน พาราเซตามอล ให้กินได้

🢚ถ้าต้องใช้ยาที่แรงขึ้น ยาที่ใช้กันประจำและสามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป ได้แก่ ibuprofen, naproxen

🢚ยาแก้ปวดหัวที่ใช้รักษาไมเกรน สามารถใช้ได้

🢚ในกรณีปวดมากและมีภาวะซึมเศร้าร่วมด้วย แพทย์อาจให้ยาคลายเครียด หรือยารักษาอาการซึมเศร้าด้วย ส่วนยาแก้ปวดที่มีฤทธิ์เสพติด (narcotic) มักไม่จำเป็น

🢚การฝังเข็มจะช่วยลดอาการปวดได้เช่นกัน

แล้วคนที่ปวดหัวรุนแรง เลือดออกในสมอง จะมีอาการอย่างไร?

มีคนไข้ที่เลือดออกในสมองหรือหลอดเลือดในสมองตีบ เล่าถึงอาการปวดหัวตอนนั้นว่า ปวดรุนแรงที่สุดในชีวิต จู่ๆ ก็ปวดเหมือนโดยสายฟ้าฟาด ไม่เคยปวดมากขนาดนี้มาก่อน ปวดแทบหัวระเบิด

ทากมีอาการปวดหัวรุนแรง ปวดกะทันหันทันที ไม่ใช่ค่อยๆ ปวดมากขึ้นๆ ทีละน้อย ยิ่งหากมีอาการร่วม คือ แขนขาอ่อนแรงไปข้างหนึ่ง ปากเบี้ยว พูดไม่ชัด เหล่านี้อาจเป็นอาการของโรคหลอดเลือดในสมอง ไม่ว่าจะเป็นหลอดเลือดตีบ หลอดเลือดแตก หรือหลอดเลือดตัน ซึ่งเป็นเหตุของอัมพาต หรือเสียชีวิตได้

กรณีเช่นนี้ ต้องไปโรงพยาบาลไปพบแพทย์โดยด่วน อาจยังมีวิธีรักษาได้

มีวิธีป้องกันไม่ให้ปวดหัวบ่อยๆ ไหมครับ?

เนื่องจากความเครียดเป็นตัวกระตุก (trigger) ทำให้ปวดหัว การจัดการกับความเครียดจึงมีส่วนสำคัญในการป้องกัน

คนบางคนอารมณ์เสียง่าย มีเรื่องไม่ชอบใจเล็กน้อยก็ปวดหัวแล้ว การปรับพฤติกรรมทางอารมณ์เรียนรู้ที่จะจัดการอับอารมณ์ขุ่นมัว จะช่วยลดความถี่และความรุนแรงของอาการปวดศีรษะได้

รู้จักผ่อนคลาย มีวิธีผ่อนคลายได้หลากหลาย อาจจะเป็นการสูดลมหายใจเข้าลึกๆ หลายๆ ครั้ง การนับหนึ่งถึงสิบ การเล่นโยคะ การทำสมาธิ ทำจิตใจให้แน่วแน่ นึกถึงแต่สิ่งดีๆ ที่เคยพบ นึกถึงแต่สิ่งที่ทำให้เรามีความสุข ไม่ใส่ใจกับสิ่งที่ทำให้อารมณ์หมองมัว

รู้จักใช้ชีวิตที่ผ่อนคลาย ไม่เร่งรีบ เช่น นอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอ แต่ไม่มากเกิน ไม่สูบบุหรี่ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ กินอาหารที่มีประโยชน์ (คนที่เป็นไมเกรน อาจปวดหัวเมื่อกินอาหารมันๆ มาก) ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป

เรื่องปวดหัวจากความเครียดนี้ มีสิ่งซึ่งอยากจะเน้นให้คนไข้ได้ทราบอย่างนี้ครับ

โรคปวดหัวจากความเครียดมิใช่โรครุนแรงที่จะเป็นอันตรายต่อชีวิต เพียงแต่จะบั่นทอนประสอทธิภาพการทำงาน ดังนั้นไม่ต้องกังวลมากนัก

เมื่ออายุมากขึ้น EQ สูงขึ้น รู้จักวิธีควบคุมอารมณ์ได้ดีขึ้น โรคปวดหัวจากความเครียดจะหายไปเอง

อย่าเข้าใจผิดคิดว่าจะรักษาโรคปวดหัวด้วยยาอย่างเดียวเท่านั้น ต้องหาสาเหตุและแก้ไขที่สาเหตุนั้นให้ได้ และสาเหตุที่สำคัญคือ เรื่องของอารมณ์นั่นเอง 

หมอชาวบ้าน ปีที่ 43 ฉบับที่ 509 เดือนกันยายน 2564

7 October 2564

By STY/Lib

Views, 65951

 

Preset Colors