9 พฤติกรรมทำสมองคนไทยพังก่อนวัยอันควร
LIFESTYLE TO AVOID 9 พฤติกรรมทำสมองคนไทยพังก่อนวัยอันควร
แพทย์หญิงสิรินทร ฉันศิริกาญจน หัวหน้าหน่วยเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า แม้จะเป็นโรคที่ดูน่ากลัวสำหรับคนทุกช่วงวัย แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีทางหลีกเลี่ยง เพียงเริ่มต้นจากการออกห่างหรือลด ละ เลิกไลฟ์สไตล์สุดเสี่ยง ดังต่อไปนี้
1.ไม่รับประทานอาหารเช้า
จะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม ไลฟ์สไตล์เช่นนี้ทำให้สมองของเราเสื่อมลงได้ เพราะช่วงเวลาที่เรากำลังนอนหลับ สมองจะขาดสารอาหารและน้ำหล่อเลี้ยงเป็นเวลาอย่างน้อย 5 ชั่วโมง จึงเป็นเหตุผลที่เมื่อตื่นนอนขึ้นมาแล้วควรเติมอาหารเช้าเข้าสู่ร่างกาย เพื่อเป็นการเติมสารอาหารให้กับสมองให้ไวที่สุด เพื่อประสิทธิภาพการทำงานของสมองที่ดี มีแรง มีพลัง มีความสดใส ร่าเริงมากขึ้น
2.รับประทานมากเกินไป
ไม่ว่ามื้อไหนของวันก็ตาม นอกจากจะเป็นการก้าวขาเข้าสู่ภาวะโรคอ้วน ยังพ่วงโรคความจำสั้นเข้าไปอีกด้วย เนื่องจากการรับประทานอาหารในปริมาณที่มากเกินไป เกินกว่าขีดจำกัดที่ร่างกายต้องการ จะทำให้หลอดเลือดแดงในสมองแข็งตัวมากขึ้น
3.การสูบบุหรี่
ใครที่ยังสูบบุหรี่นอกจากจะทำให้เสียบุคลิกภาพ เช่น ฟันเหลือง มีกลิ่นปาก ตัวเหม็น ส่งกลิ่นควันรบกวนผู้อื่น และเกิดโรคต่างๆมากมายแล้ว ยังเป็นสาเหตุแห่งการเกิดโรคสมองฝ่อและอัลไซเมอร์อีกด้วย ดังนั้นควรเลิกสูบบุหรี่ให้ได้ไวที่สุดจะดีกว่า
4.มลพิษทางอากาศ
สภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยมลพิษจากฝุ่น PM2.5 ฝุ่นละอองขนาดเล็กที่มีผลต่อระบบหายใจ ทำให้ออกซิเจนในสมองก็จะลดลง ควรพยายามหลีกเลี่ยงและหาวิธีป้องกันด้วยการสวมหน้ากากอนามัย
5.พักผ่อนน้อย
การพักผ่อนที่ไม่เพียงพอ นอนน้อย จะส่งผลโดยตรงต่อสมอง เพราะช่วงเวลาที่เราหลับอวัยวะทุกอย่างจะได้รับการฟื้นฟู สมองก็จะมีการสร้างเซลล์สมองใหม่ๆ เพื่อเอาไว้ใช้ในวันถัดไปของชีวิต การที่เราอดนอนก็เหมือนเป็นการทำลายช่วงเวลาแห่งการสร้างเซลล์สมอง ส่งผลให้ความจำแย่ลง
6.ท่าทางในการนอน
คนไทยส่วนใหญ่ติดนอนในห้องแอร์ เปิดแอร์เย็นๆแล้วห่มผ้าคลุมโปง ซึ่งเป็นไลฟ์สไตล์ที่ไม่ดีต่อการหายใจ ลามไปถึงสมอง เพราะการนอนเอาผ้าห่มคลุมโปงจะทำให้อากาศในการหายใจมีจำกัดและไม่ถ่ายเท ส่งผลให้มีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ใต้ผ้าห่มมากขึ้น ซึ่งก็เป็นอีกหนึ่งที่ทำให้สมองของเราด้อยประสิทธิภาพลงได้ ตามหลักที่ถูกคือ ควรนอนหลับในห้องนอนที่มีการถ่ายเทอากาศดี และห่มผ้าถึงช่วงอกก็พอ
7.การฝืนร่างกาย
โดยเฉพาะในช่วงป่วยไม่ควรฝืน ถ้าแพทย์สั่งให้นอนพักก็คือต้องนอนพัก เพราะการใช้สมองทำอะไรก็ตามในช่วงที่ป่วย สมองจะต้องทำงานเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า เป็นการทำร้ายสมองทางอ้อมแบบที่เราเองไม่รุ้ตัวกันเลย
8.ไม่ชอบอ่านหนังสือ
การบริหารสมองด้วยการอ่านหนังสือช่วยทบทวนความจำ เป็นการกระตุ้นให้สมองได้คิดเพิ่มรอยหยักของสมอง เมื่อความจำดีขึ้น สมองก็จะไม่ฝ่อก่อนวัยอันควร
9.ติดหวาน
การรับประทานหวานมากเกินไป นอกจากจะไปขัดขวางการดูดซึมของโปรตีนและสารอาหารอื่นๆ ที่จะไปหล่อเลี้ยงสมอง ยังส่งผลให้เกิดภาวะดื้อต่ออินซูลิน ( Insulin Resistance) ซึ่งเริ่มจากการมีระดับน้ำตาลในเลือดไม่คงที่ คือ สูงเกินหรือต่ำติดต่อกันจนฮอร์โมนอินซูลินทำงานไม่ได้ตามปกติ ส่งผลให้สมองเสื่อมไวขึ้นเรื่อยๆ
ซึ่งการกินหวานถือเป็นประเด็นปัญหาใหญ่ในวงการสุขภาพมาก เพราะความหวานล้วนคร่าชีวิตคนไม่ทางใดก็ทางหนึ่งอย่างที่โบราณว่า “หวานเป็นลม ขมเป็นยา”
นิตยสารชีวจิต ฉบับที่ 545 ปีที่ 23 มิถุนายน 2564
8 October 2564
By STY/Lib
Views, 2223