02 149 5555 ถึง 60

 

เอาชนะสงครามโควิด ด้วยพลังประชาชน

เอาชนะสงครามโควิด ด้วยพลังประชาชน

บอกเล่าเก้าสิบ... เรื่องโดย... สุรเกียรติ อาชานานุภาพ

“โรงพยาบาลนอกจากมีคนไข้โควิดเต็มแล้ว ยังมีบุคลากรติดเชื้อนับร้อยๆ คน บ้างก็ติดจากผู้มารับบริการ บ้างก็ติดจากคนในบ้านหรือชุมชน โรงพยาบาลจำเป็นต้องปิดให้บริการผู้ป่วยที่ไม่เร็งด่วน...”

นี่คือ เสียงที่บอกกล่าวมาจากโรงพยาบาลใหญ่ในกรุงเทพฯ แทบทุกแห่ง ที่ประสบปัญหาผู้ป่วยโควิดล้นมือ ไม่มีเตียงพอที่จะรับผู้ป่วยโควิดที่จำเป็นต้องเข้าพักรักษาในโรงพยาบาล

“มีคนไข้ที่ส่งตัวกลับมากรุงเทพฯ รวมทั้งผู้ติดเชื้อในชุมชนเองมาเข้าพักรักษาจนเต็มโรงพยาบาล จำเป็นต้องสร้างโรงพยาบาลสนามเพิ่ม ผู้ป่วยมีอาการรุนแรง ก็ไม่สามารถส่งตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลจังหวัดเช่นแต่ก่อน เพราะทางนั้นไม่มีเตียงรับ ทางเราก็จำเป็นต้องรับไว้รักษาเอง นอกจากนี้ เรายังต้องทำ HI (จัดบริการรักษาผู้ติดเชื้อที่บ้าน) หรือ CI (จัดบิการรักษาผู้ติดเชื้อในชุมชน) ร่วมกับ รพ.สต., อสม., เทศบาล, อบต., กำนัน, ผู้ใหญ่บ้าน, โรงงาน, วัด, โรงเรียน และภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน...”

นี้คือ เสียงที่บอกกล่าวมาจากโรงพยาบาลชุมชนหลายๆ อำเภอ ซึ่งในการทำงานในครั้งนี้ ได้ใช้แนวคิดและกลไก “เครือข่ายสุขภาพอำเภอ (DHS)” และ “คณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ)” โดยเน้นความร่วมมือร่วมแรงของภาครัฐ (มีนายอำเภอเป็นแกนนำ) ภาคเอกชน (ภาคธุรกิจ, โรงงาน, สมาคม, มูลนิธิ) และภาคประชาชน (ผู้นำชุมชน,กลุ่ม, ชมรม, พระ, นักบวช, อสม.) อันเป็นสิ่งที่ได้ก่อตัวขึ้นมาในทุกอำเภอมาก่อนหน้านี้แล้ว

“ทำงานไม่มีวันหยุดเสาร์อาทิตย์มาเป็นเดือนๆ กลับมาบ้านก็ต้องกักตัวเองไม่ให้เข้าใกล้คนในบ้าน บางครั้งกำลังกินข้าว หรือตกกลางดึกมีโทรศัพท์ตาม ก็ต้องขับรถนำถังออกซิเจนไปที่บ้านคนไข้ที่มีค่าออกซิเจนต่ำ” ... “การทำงานกับผู้ป่วยจำนวนมากและมีความฉุกเฉินเร่งด่วน จะรอการช่วยเหลือจากหน่วยงานข้างบนนั้นอาจไม่ทันการ เราจำเป็นต้องพึ่งตนเอง ด้วยการประสานความร่วมมือกับผู้นำท้องถิ่น ท้องที่ วัด โรงเรียน คนใจบุญ รวมทั้งบุคคลและหน่วยงานข้างนอกที่รู้จัก ก็ได้รับการสนับสนุนทั้งด้านสถานที่ อุปกรณ์และยาที่จำเป็นในการดูแลผู้ป่วยที่บ้านและในชุมชน อย่างการจัดตั้งศูนย์ดูแลผู้ป่วยในชุมชน หรือ CI ตอนแรกถูกชาวบ้านต่อต้านเพราะกลัวเกิดการแพร่เชื้อ ก็ได้เข้าไปขอความช่วยเหลือจากเจ้าอาวาสที่ชาวบ้านศรัทธาช่วยพูดกับชาวบ้าน จนจัดตั้งได้ มี อสม. มาร่วม ก็สอนให้ อสม. รู้จักดูแลผู้ป่วยในศูนย์ฯ สามารถแบ่งเบาภาระจองเจ้าหน้าที่สาธารณสุขไปได้มาก”

น่าคือ เสียงที่บอกกล่าวมาจากผู้บริหารและเจ้าหน้าที่สาธารณสุขของ รพ.สต. (โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล) หลายแห่งในเขตอำเภอเมืองปทุมธานี ซึ่งมีการระบาดทั้งในชุมชนชนบท ชุมชนเมือง โรงงาน คอนโด

“มีโอกาสลงพื้นที่ในชุมชนแออัดในกรุงเพทฯ ร่วมกับทีมแพทย์ชนบทที่เข้ามาจัดหน่วยบริการเชิงรุกแบบครบวงจร ทั้งการวินิจฉัย การรักษา และการฉีดซีน ทุกวัน เห็นสภาพปัญหาคนติดเชื้อตามบ้านและชุมชน การเข้าไม่ถึงการบริการ ชีวิตความเป็นอยู่ที่ยากลำบากของผู้คน มีความรู้สึกเห็นอกเห็นใจ และมีความสุขที่ตนเองมีส่วนในการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์เช่นเดียวกับทีมงาน แม้จะมีความเหนื่อยยากทำงานตั้งแต่เช้าจนมืดค่ำ ไม่มีวันหยุดก็ตาม”

นี่คือ คำบอกกล่าวของพยาบาลท่านหนึ่ง ซึ่งรู้สึกว่า นี่คือประสบการณ์ครั้งหนึ่งในชีวิต ที่ได้เข้าร่วมสู้สงครามโรคโควิดในครั้งนี้

ผมได้ยินคำว่า “เหนื่อย แต่มีความสุข” จากพยาบาลท่านนี้และนักรบด่านหน้าทุกคนที่ผมได้พูดคุยด้วย

เราเผชิญกับการระบาดระลอกสามมานานเป็นเดือนๆ จากเชื้อโควิดสายพันธุ์เดลตา ซึ่งกำลังระบาดใหญ่ไปทั่วโลก หลายวันมานี้มีรายงานตัวเลขผู้ติดเชื้อในบ้านเราวันละราวๆ 20,000 คน และเสียชีวิตวันละราวๆ 200 คน และมีการระบาดไปทั่วประเทศ นับว่าการระบาดระลอกนี้มีความหนักหน่วงมากกว่าระลอกก่อนๆ มากมาย จนเกิดปัญหาผู้ป่วยล้นโรงพยาบาล ผู้ป่วยไม่สามารถเข้ามารักษาในโรงพยาบาล และพบมีผู้ป่วยบางท่านเสียชีวิตที่บ้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล

มีการส่งผู้ป่วยบางส่วนกลับไปรักษาที่โรงพยาบาลในอำเภออันเป็นภูมิลำเนาของผู้ป่วย มีการจัดทำโรงพยาบาลสนาม การรักษาที่บ้าน (HI, home isolation) และการรักษาที่ศูนย์ดูแลในชุมชน (CI, community isolation) ในพื้นที่ที่มีการระบาดหนัก

เราได้เห็น บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขทุ่มเทกำลังในการรักษาผู้ป่วยหนักในโรงพยาบาล ซึ่งต้องแบกรับภาระอันล้นมือและเสี่ยงภัยทุกวันต่อเนื่องมายาวนาน หลายส่วนออกไปฉีดวัคซีนให้ประชาชนตามศูนย์บริการในชุมชนต่างๆ ทุกวันโดยไม่มีวันหยุด หลายส่วน (รวมทั้งทีมแพทย์ชนบทที่เข้ามาช่วยที่เมืองกรุง) ออกไปบริการเชิงรุกที่บ้านผู้ป่วยและชุมชน ให้คำปรึกษาทางไกล (ทางออนไลน์) แก่ผู้ป่วยและประชนชน

เราจะเห็นหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน องค์กรการกุศล รวมทั้งกลุ่มจิตอาสาจากคนในชุมชน นักธุรกิจ คนหนุ่มสาว พระ นักบวช ที่สนับสนุนการทำงานของบุคลกรทางการแพทย์และสาธารณสุข และเข้าไปช่วยเหลือผู้ติดเชื้อในชุมชน โดยสนับสนุนความรู้ ความคิด เงินทุน สถานที่ อาหาร อุปกรณ์ เวชภัณฑ์ ระบบไอที และสิ่งจำเป็นต่างๆ

ผมรู้สึกชื่นชมประชาชนทุกภาคส่วน ที่ได้ตื่นตัวและลุกขึ้นมารวมพลังกันในการต่อสู้กับวิกฤตการณ์ในครั้งนี้ และจากการสัมผัส พูดคุย เรียนรู้ กับคนด่านหน้าหลายๆ ส่วน จนเกิดแรงบันดาลใจเขียนบทกลอนมอบเป็นกำลังใจ “แด่นักรบแนวหน้า”

แด่นักรบแนวหน้า

โควิดระลอกนี้ มีเดลตามาจู่โจม

ลุกลามดั่งไฟโหม ทั่วแคว้นดินแดนไทย

กรุงเทพปริมณฑล สู้ศึกจนจะไม่ไหว

ป่วยไข้หมดทางไป บ้างนอนตายในบ้านตน

จำต้องกักรักษา ในเคหาและชุมชน

ร่วมใจระดมพล ทีมอาสาช่วยเหลือ

ภาคีหลากเครือข่าย สู้ด้วยใจใคร่จุนเจือ

เป็นพลังอันจะเอื้อ เอาชนะโรคาร้าย

คารวะผู้อาสา อยู่ด่านหน้าสู้ศึกใหญ่

อวยพรได้ปลอดภัย ชนะได้ในเร็ววัน

สุรเกียรติ อาชานานุภาพ

11 สิงหาคม 2564

หมอชาวบ้าน ปีที่ 43 ฉบับที่ 509 เดือนกันยายน 2564

14 October 2564

By STY/Lib

Views, 504

 

Preset Colors