02 149 5555 ถึง 60

 

ความรู้สึกที่ส่งผลลบต่อจิตใจ

THE 3 FACTORS ความรู้สึกที่ส่งผลลบต่อจิตใจ

เรื่องโดย ศิริกร โพธิจักร

เมื่อต้องใช้ชีวิตอยู่ในยุคโควิดระบาดต่อเนื่องและไม่มีใครรู้ว่าจุดสิ้นสุดคือเมื่อไหร่สถานการณ์เช่นนี้จะส่งผลอย่างไรต่อจิตใจของเราบ้าง

นายแพทย์สมัย ศิริทองถาวร รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข อธิบายว่า ในช่วงเวลานี้ประชาชนมักมีความรู้สึก 3 ประการหลักๆ ซึ่งเป็นผลกระทบจากวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป ได้แก่

⚫ความตระหนก หวาดกลัว

⚫ความกังวล

⚫ความโกรธเคือง

ทั้งนี้นายแพทย์สมัยแนะว่า ความรู้สึกในเชิงลบทั้ง 3 ข้อนี้ปรับแก้ได้ด้วยการ “ สร้างความสม่ำเสมอ” ให้ชีวิต ได้แก่ การกำหนดเป้าหมายให้ชัดเจนแล้วลงมือทำสร้างแรงบันดาลใจให้ตนเอง ใส่ใจพัฒนาตนเอง หมั่นให้กำลังใจตนเอง ใช้คำง่ายๆว่า “ฉันทำได้”

สุดท้ายต้องทำควบคู่กับการดูแลสุขภาพกายให้แข็งแรง โดยทำให้ครบและสมดุลทั้งการกิน ทำงาน และนอนหลับพักผ่อน เช่นเดียวกับสุขนิสัยยุคโควิดที่เป็นบรรทัดฐานหลัก นั่นคือสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆ งดไปในที่ที่มีผู้คนแออัด และพยายามรักษาระยะห่างจากกัน

SUICIDE RATE วิเคราะห์จากสถิติฆ่าตัวตาย

ก่อนที่จะไปสู่ผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อจิตใจของคนกลุ่มต่างๆในสังคม ชีวจิตขอพาไปสำรวจข้อมูลอัตราการฆ่าตัวตาย ซึ่งเป็นหนึ่งในดัชนีชี้วัดที่ทั่วโลกใช้ประเมินว่าผู้คนในสังคมนั้นๆ ได้รับผลกระทบทางใจมากน้อยเพียงใด

นายแพทย์วรตม์อธิบายถึงสถานการณ์โดยเปรียบเทียบกับวิกฤติครั้งใหญ่ๆที่ผ่านมาโดยชี้แจ้งว่า

“กรณีวิกฤติต้มยำกุ้ง พ.ศ. 2540 ก่อนหน้านั้นฐานเดิมอัตราการฆ่าตัวตายอยู่ที่ประมาณปีละ 6.92 คนต่อ 1 แสนประชากร พอถึงปีพ.ศ.2541 ตัวเลขพุ่งขึ้นไปที่ 8.12 คนต่อ 1 แสนประชากร ดังนั้นอัตราการฆ่าตัวตายจึงเพิ่มขึ้นมาอีกราว 1.2 คนต่อ 1 แสนประชากร

“ในปี พ.ศ. 2542 คือจุดสูงสุดอยู่ที่ 8.59 คนต่อ 1 แสนประชากร ปีพ.ศ. 2543 คือ 8.4 คนต่อ 1 แสนประชากร ปีพ.ศ. 2544 จึงลดลงมาเป็น 7.74 คนต่อ 1 แสนประชากร และขึ้นไปอีกเล็กน้อยที่ 7.84 ในปีพ.ศ. 2545 จากนั้นจึงลดลงมาที่ 7.13 คนต่อ 1 แสนประชากรในปี พ.ศ. 2546

“จะเห็นได้ว่าวิกฤติเศรษฐกิจส่งผลต่อตัวเลขการฆ่าตัวตายต่อเนื่องอีก 5 ปี กว่าจะค่อยๆ ลดลงมาอยู่ที่ 6.87 ในปี พ.ศ. 2547 ซึ่งใกล้เคียงกับฐานเดิมก่อนเกิดวิกฤติ

“ขณะที่กรณีโควิด ก่อนหน้าเกิดวิกฤติฐานเดิมในปี พ.ศ. 2562 อยู่ที่ 6.64 คนต่อ 1 แสนประชากร ขณะที่เมื่อเกิดการระบาดโควิดทำให้ตัวเลขในปี พ.ศ. 2563 เพิ่มขึ้นเป็น 7.37 คนต่อ 1 แสนประชากร หรือเพิ่มขึ้นอีกราว 0.73 คนต่อ 1 แสนประชากร”

นายแพทย์วรตม์อธิบายว่า ในปีพ.ศ. 2564 นี้ สถิติต้องเพิ่มขึ้นแน่นอน โดยกรมสุขภาพจิตคาดการณ์ว่าจะอยู่ที่ 8 คน ต่อ 1 แสนประชากรหรือมากกว่านั้น โดยชี้แจงว่า ขณะนี้ผู้ปฏิบัติงานทุกฝ่ายพยายามทำอย่างเต็มที่ในการให้ความช่วยเหลือคนที่ได้รับผลกระทบทางจิตใจ เพื่อไม่ให้เกิดเหตุสลดเพิ่มขึ้น

2 BASIC RULES แก้ที่จุดเริ่มต้น “สื่อสารให้เข้าใจ”

ในช่วงเวลาเช่นนี้ นายแพทย์วรตม์แนะนำว่า อยากให้เริ่มต้นจากจุดที่เล็กที่สุดก่อน นั่นคือการดูแลจิตใจคนในครอบครัว ซึ่งแนวทางนี้นำไปปรับใช้ในสเกลใหญ่ๆได้ เช่น ในที่ทำงาน หรือแม้กระทั่งการสื่อสารระหว่างรัฐกับประชาชน เพื่อช่วยลดช่องว่างที่เกิดขึ้นในช่วงวิกฤติโควิดเช่นนี้

“นอกจากฐานะจิตแพทย์แล้ว ผมขอพูดในฐานะนักจิตวิทยาสังคมด้วย ก่อนที่แต่ละคนจะจมดิ่งไปกับความเศร้า เรายังสามารถดูแลกันและกันไม่ให้ไปถึงตรงนั้นได้นะครับ โดยผมขอเชิญชวนให้ปับวิธีการสื่อสารเพื่อดูแลจิตใจกันและกัน”

ขั้นตอนที่ 1 ฟังอย่างตั้งใจ นายแพทย์วรตม์ย้ำว่าขั้นตอนนี้สำคัญมาก พอบอกว่าให้สื่อสารกัน

ทุกคนจะนึกว่าทุกฝ่ายต้องพูดให้มากขึ้น แต่จริงๆแล้วการสื่อสารที่ดีต้องเริ่มจากการฟัง หลายท่านอาจไม่ทราบว่ามนุษย์ถูกออกแบบมาให้ฟังมากกว่าพูด เราพูดได้นาทีละ 150-200 คำ แต่สามารถฟังได้มากกว่านั้นถึง 6-7 เท่า

เมื่อสามารถฟังอีกฝ่ายได้อย่างเข้าใจแล้ว ย่อมทำให้เกิดความเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน ส่งผลให้บทสนทนาระหว่างกันนับจากนี้มีการใช้คำพูดที่อ่อนโยนและเข้าถึงความรู้สึกของอีกฝ่ายได้ดียิ่งขึ้น

ขั้นตอนที่ 2 ใช้เวลาคุณภาพร่วมกัน นายแพทย์วรตม์อธิบายว่า คนส่วนใหญ่คิดว่าครอบครัวสมัยใหม่ไม่มีเวลาให้กัน แต่จริงๆแล้วมีงานวิจัยระบุว่า คนในยุคนี้มีเวลาให้สมาชิกครอบครัวใกล้เคียงกับคนในอดีตเมื่อก่อนเราอาจเสียเวลาไปกับการเดินทาง แต่ปัจจุบันปัญหานี้แก้ไขได้ด้วยกาใช้เทคโนโลยี

นิยามของเวลาคุณภาพ นายแพทย์วรตม์ชี้แจงว่าไม่ได้หมายถึงการพูดบอกสอนกัน แต่ให้ย้อนกลับไปที่ขั้นตอนที่ 1 ไม่ว่าจะทำกิจกรรมใดๆ ร่วมกันก็ขอให้เกิดกระบวนการรับฟังซึ่งกันและกันด้วย

THE UNFINISHED BUSINESS การสั่งลามีความหมายต่อผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่

นายแพทย์วรตม์อธิบายว่า ก่อนจะถึงวาระสุดท้าย ผู้ป่วยโควิดต้องเผชิญกับความอ้างว้าง ขณะที่ญาติของผู้ป่วยก็มีบาดแผลในใจ เพราะ ณ ขณะนี้มีข้อจำกัดที่ทำให้ไม่มีโอกาสได้สั่งเสียหรือบอกลากันเป็นครั้งสุดท้ายเนื่องจากเกรงว่าจะมีการรับเชื้อ

“โดยส่วนตัวผมเองอยากให้มีการผ่อนปรนให้ผู้ป่วยและญาติมีโอกาสได้สั่งลากันเป็นครั้งสุดท้าย สิ่งนี้มีความหมายมาก เพราะจะทำให้ผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่สามารถใช้ชีวิตต่อไปได้โดยไม่มีความรู้สึกติดค้างอะไรในใจ”

นิตยสารชีวจิต ฉบับที่ 550 ปีที่ 23 1 กันยายน 2564

19 October 2564

By STY/Lib

Views, 809

 

Preset Colors