02 149 5555 ถึง 60

 

เปิดมุมมองจิตแพทย์ แนะวิธีฟื้นฟูใจยุคโควิด

PSYCHIATRIST’S POINT OF VIEW เปิดมุมมองจิตแพทย์ แนะวิธีฟื้นฟูใจยุคโควิด

ผ่านมาเกือบ 2 ปีแล้ว โควิดส่งผลต่อสุขภาพใจคนไทยอย่างไรบ้าง ในปักษ์นี้ ชีวจิตได้รับเกียรติจาก ผู้ช่วยศาสตราจารย์ แพทย์หญิงทานตะวัน อวิรุทธ์วรกุล อาจารย์ประจำภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทย์ศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล มาบอกเล่าถึงการทำความเข้าใจบทเรียนชีวิตในช่วงเวลาเช่นนี้ไปด้วยกันค่ะ

ECONOMIC ISSUE จน-เครียด วงจรก่อปัญหาสุขภาพจิต

คุณหมอทานตะวันเริ่มต้นจากการเล่าถึงประสบการณ์ในการดูแลคนไข้ว่าปัจจัยที่กระทบต่อสุขภาพจิตของคนไทยในยุคโควิดระบาดที่พบมากที่สุดคือ ปัญหาเรื่องเศรษฐกิจ

“คนไข้มักมาเพราะมีภาวะเครียดสะสม เนื่องจากถูกเลิกจ้าง จึงทำให้ขาดรายได้ ตรงนี้พวกเราคงพอเข้าใจได้ แต่มีไม่น้อยเหมือนกันที่คนไข้เป็นนายจ้าง เขามาปรึกษาว่าเศรษฐกิจแบบนี้ไม่สามารถเลี้ยงดูลูกน้องได้เท่าเดิม จำเป็นต้องเลิกจ้าง ทำให้รู้สึกไม่สบายใจมาก

“อีกรายเป็นผู้ค้ำประกัน พอมีคนหนีหนี้เนื่องจากขาดรายได้ ตัวเขาซึ่งเป็นคนค้ำประกันตามสัญญาเลยต้องรับภาระใช้หนี้ต่อ ทำให้เครียดมากเพราะลำพังค่าใช้จ่ายในครอบครัวก็แทบไม่พอเลี้ยงดูกันเองอยู่แล้ว”

ด้วยเหตุที่คุณหมอทานตะวันออกตรวจ 2 แห่งคือ โรงพยาบาลรามาธิบดีถนนพระราม 5 และสถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ สมุทรปราการ จึงทำให้เจอคนไข้หลากหลายรูปแบบ

“ยกตัวอย่างกรณีคนไข้ที่สมุทรปราการ เราพบทั้งลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้างและนายจ้างที่ต้องตัดใจเลิกจ้างลูกจ้างที่ไม่มีความผิดใดๆ เพราะไม่มีเงินมาจ่ายค่าแรงได้อีกต่อไป

“นอกจากนี้การปิดโรงงาน 1 แห่งยังทำให้พ่อค้าแม่ค้าที่ทำมาหากินในละแวกโรงงานต้องขาดรายได้ไปด้วย เขาก็มาปรึกษาเราเหมือนกัน จากสาเหตุ 1 เรื่อง แต่ทำให้มีคนไข้ต้องมาหาเราถึง 3 กลุ่ม”

EVERYBODY HURTS วิกฤติที่ส่งผลต่อคนทุกกลุ่ม

คุณหมอทานตะวันระบุว่า โควิดส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตเป็นวงกว้างเมื่อเทียบกับวิกฤติที่ผ่านมา โดยอธิบายว่า

“พูดถึงวิกฤติที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตของคนไทยหลายคนก็มักจะนึกถึงวิกฤติต้มยำกุ้งปี พ.ศ.2540 ตอนนั้นแม้ว่าหมอจะยังเรียนไม่จบ แต่ก็พอรู้จากข่าวสาร ณ ขณะนั้นบ้างว่าวิกฤติรอบนั้นส่งผลต่อนักธุรกิจและคนที่ลงทุนในตลาดหุ้น มีอัตราการฆ่าตัวตายสูง แต่โดยรวมทุกคนก็ยังสามารถใช้ชีวิตเหมือนเดิมได้ ไปไหนมาไหนได้ตามปกติ

“ขณะที่การระบาดของโควิดตลอดเกือบ 2 ปีนี้ทำให้คนทุกกลุ่มอาชีพได้รับผลกระทบกันหมด กลุ่มที่หนักที่สุดคือคนที่ถูกเลิกจ้าง ขาดรายได้ คนที่ยังมีงานทำก็นับว่าโชคดี แต่การปรับไปทำงานที่บ้านก็ไม่ใช่ เรื่องที่ทุกคนจะปรับตัวได้ง่าย คนที่มีครอบครัวก็ต้องช่วยดูแลลูกที่เรียนออนไลน์ งานตัวเองก็ต้องทำ งานบ้านก็ต้องทำ ไหนจะกังวลเรื่องโรคระบาดอีกต้องมีหน้ากากอนามัย มีเจลแอลกอฮอล์ล้างมือ มีเฟซชิลด์ ออกจากบ้านแต่ละทีต้องมีอุปกรณ์พร้อม ดังนั้นหลายคนจึงมีความเครียดสะสมมากขึ้นโดยไม่รู้ตัว”

นิตยสารชีวจิต ฉบับที่ 550 ปีที่ 23 1 กันยายน 2564

25 October 2564

By STY/Lib

Views, 623

 

Preset Colors