02 149 5555 ถึง 60

 

ถึงเวลางดรับข่าวที่ไม่จำเป็น

IT’S TIME TO UNPLUG ถึงเวลางดรับข่าวที่ไม่จำเป็น

คุณหมอทานตะวันอธิบายว่า ณ ขณะนี้มีผู้ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ ผู้ที่มีโรคประจำตัว และผู้สูงอายุกลายเป็นผู้ป่วยทางจิตเวชรายใหม่จากภาวะเครียด วิตกกังวล หรือซึมเศร้าอยู่แล้ว ภาวะโรคระบาดยังส่งผลต่อสภาพจิตใจและทำให้อาการแย่ลงได้ จึงอยากให้รับข่าวสารแต่พอดี

“หมอจะขอคนไข้เลยว่าถ้าเป็นการหาข้อมูลเพื่อจะนำมาดูแลสุขภาพตนเอง เช่น ต้องไปฉีดวัคซีนที่ไหน ข้อควรปฏิบัติหลังฉีดวัคซีนการประกาศสำคัญๆ เช่น การปิดหรือเปิดบริการสาธารณะต่างๆ แบบนี้หาข้อมูลมาดูได้ค่ะ

“แต่ถ้าเป็นการเปิดทีวีหรือดูภาพและคลิปข่าวผู้เสียชีวิตที่มีการแชร์ต่อๆกันมา หมอจะขอให้งดเหตุผลเพราะตอนนี้มีการระบาดในประเทศต่อเนื่องเกือบ 2 ปี จำนวนผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตก็เพิ่มมากขึ้น เนื้อหาหรือภาพข่าวที่ก่อให้เกิดความเครียดนั้นไม่ดีต่อสุขภาพจิตอยู่แล้ว

“ถ้าเราไปรับข่าวสารมากๆ จะทำให้เครียด ร่างกายก็พลอยอ่อนแอลง เพราะเมื่อเราเครียด ภูมิคุ้มกันก็จะตกลง ทำให้เสี่ยงติดเชื้อโควิดเข้าไปอีก”

คุณหมอระบุว่า ใน 1 วันให้เวลาเช็กข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับโควิดเพียง 30 นาทีก็เพียงพอ หลังจากนั้นให้ไปทำกิจกรรมอื่นๆต่อไป

TOP 3 MENTAL HEALTH PROBLEMS อาการทางจิตเวชที่พบบ่อย

คุณหมอทานตะวันเล่าว่า เมื่อวิกฤติโควิดมาเยือนและดำเนินอยู่อย่างต่อเนื่องเช่นนี้ จึงส่งผลให้มีผู้ป่วยจิตเวชรายใหม่เพิ่มขึ้น

“โรคที่พบอาจจะคล้ายๆเดิม แต่มีอาการของโรคที่เข้มข้นมากขึ้น โรคที่พบบ่อยคือ โรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล โรคนอนไม่หลับ

“เนื่องจากได้ออกตรวจที่สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์สมุทรปราการ ซึ่งเป็นพื้นที่ในการระบาดช่วงต้นปี จึงมีโอกาสได้ดูแลสุขภาพจิตผู้ป่วยโควิดด้วย อาการที่พบบ่อยคือ วิตกกังวลเกี่ยวกับตัวโรคที่กำลังเป็นอยู่ บางคนก็หงุดหงิดเมื่อต้องกักตัวเป็นเวลานานๆ

“อีกปัญหาหนึ่งคือ คุณภาพการนอนแย่ลง เพราะนอนไม่เป็นเวลา เช่น พอกักตัวอยู่แต่ในห้องก็จะนอนกลางวัน บวกกับขาดการออกกำลังกาย คราวนี้ถึงเวลากลางคืนก็นอนไม่หลับ คุณภาพการนอนไม่ดี

“ประเด็นสุดท้ายคือ การเตรียมความพร้อมเรื่องจิตใจให้ผู้ป่วยโควิดก่อนส่งตัวกลับบ้าน เพราะหลายคนมีประเด็นว่ากลัวจะถูกคนในชุมชนรังเกียจว่าเป็นผู้ติดเชื้อโควิด

“ทางทีมโรงพยาบาลจึงมีการทำงานร่วมกับองค์การบริหารส่วนตำบลในพื้นที่หรือนิติบุคคลที่อยู่ประจำอาคารที่พักอาศัยเข้าไปให้ความรู้แก่ประชาชน ทั้งผู้ป่วยที่หายดีแล้วชาวบ้านในละแวกนั้นจะได้ไม่ต้องกังวลใจอีก”

ONLINE GAMBLING ติดพนันออนไลน์ ปัญหาใหม่ยุคโควิด

อีกหนึ่งปัญหาที่พบมากขึ้นในยุคโควิดระบาดคือเสพติดการเล่นพนันออนไลน์ ซึ่งคุณหมอทานตะวันเล่าว่า

“ที่น่าสนใจคือคนไข้ที่มีพฤติกรรมติดการพนันออนไลน์ หลายคนไม่เคยเล่นพนันมาก่อน บางคนเริ่มต้นจากการเล่นเพื่อฆ่าเวลา เพราะไม่มีกิจกรรมอื่นทำในช่วงที่กักตัวอยู่บ้าน แต่บางคนเริ่มเล่นเพราะขาดรายได้ เนื่องจากตกงานหรือค้าขายฝืดเคือง จึงคิดที่จะหาเงินจากการเล่นพนันออนไลน์มาเป็นค่าใช้จ่ายในบ้าน

“ในขณะที่บางคนเริ่มเล่นเพราะเห็นโฆษณาที่ขึ้นมาบ่อยๆ ในเว็บไซต์หรือโซเชียลมีเดีย เลยลองเข้าไปเล่นดูแล้วก็ติด เสียเงินเสียทองไปมาก บางคนเป็นซึมเศร้าอยู่แล้ว รักษามาจนอาการเริ่มดี อยู่ๆเขาก็ไม่มาพบหมอตามนัด พอเราถามก็เลยรู้ว่าเขาไปเล่นพนันออนไลน์และเสียเงินจนไม่มีเงินมาจ่ายค่ายารักษาโรคของตัวเองให้ต่อเนื่อง”

นิตยสารชีวจิต ฉบับที่ 550 ปีที่ 23 1 กันยายน 2564

25 October 2564

By STY/Lib

Views, 685

 

Preset Colors