02 149 5555 ถึง 60

 

ความรู้สึกผิดของญาติ/ผู้เกี่ยวข้องกับผู้เสียชีวิต ในสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 และแนวทางการดูแลจิตใจ

ความรู้สึกผิดของญาติ/ผู้เกี่ยวข้องกับผู้เสียชีวิต ในสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 และแนวทางการดูแลจิตใจ

โดย... ผศ. พญ.ทานตะวัน อวิรุทธ์วรกุล อาจารย์ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้เชี่ยวชาญปัญหาด้านจิตใจ ความสัมพันธ์ และโรคทางจิตเวช

Q เพื่อนดิฉันเศร้าเสียใจมากกับการจากไปของคุณแม่ที่ป่วยด้วยโรคโควิด-19 เธอโทษว่าเป็นความผิดตนเอง เนื่องจากคาดว่าคุณแม่ติดเชื้อจากตนเอง เพราะเธอทำงานขายของและที่ทำงานติดเชื้อหลายคน

หลังจากเธอและคนในครอบครัวตรวจพบเชื้อโรคโควิด-19 ได้เข้าสู่การรักษา แต่คุณแม่เสียชีวิต คุณแม่เพื่อนมีโรคประจำตัวคือโรคเบาหวานค่ะ

ตอนนี้เพื่อนดิฉันกลับบ้านแล้ว เนื่องจากร่างกายแข็งแรง แต่ยังมีอาการจิตตก เศร้า และโทษตัวเอง เธอรู้สึกทุกข์ใจมากค่ะ ดิฉันควรแนะนำให้เพื่อนดูแลจิตใจยังไงได้บ้างคะ

A ในสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งเป็นโรคระบาดที่พบการติดเชื้อได้ง่ายมาก ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีอาการไม่รุนแรง จึงอาจไม่รู้ตัวว่าติดเชื้อนี้ ทำให้สามารถแพร่เชื้อไปไห้ผู้อื่นโดยไม่รู้ตัว โดยเฉพาะกับคนสนิทและคนในครอบครัว ซึ่งในผู้ป่วยบางรายเมื่อติดเชื้ออาจมีอาการรุนแรง และบางส่วนถึงเสียชีวิตได้

ด้วยลักษณะการดำเนินโรคแบบนี้ ในญาติ/ผู้เกี่ยวข้องกับผู้เสียชีวิตจึงเกิดความรู้สึกผิดขึ้นได้ ดังนี้

1. คิดว่าตนเองเป็นสาเหตุหลักทำให้เกิดการติดเชื้อจนมีอาการรุนแรงหรือเสียชีวิต

2. คิดว่าตนได้ทำบางสิ่งบางอย่างผิดพลาดไปจนนำไปสู่การติดเชื้อ และมีอาการรุนแรงหรือเสียชีวิต

3. คิดว่าตนน่าจะทำอะไรได้ดีกว่านี้เพื่อไม่ให้เกิดการติดเชื้อ แต่ตอนนั้นไม่ได้ทำ จึงเกิดความรู้สึกผิดติดค้างในใจ

4. บริบทของชุมชนสังคมที่กระตุ้นภาวะนี้ เช่น การหาผู้ผิด การตำหนิติเตียนกัน การกล่าวโทษกัน เป็นต้น

ในทางจิตวิทยา ไม่ใช่ทุกคนจะมีความรู้สึกผิดได้ บุคคลที่จะมีความรู้สึกผิดได้ต้องมีคุณสมบัติพื้นฐาน ดังนี้

1. คนที่มีคุณธรรม คนที่มีคุณธรรมเท่านั้นถึงจะมีความรู้สึกผิด ในทางตรงข้าม คนที่ไม่มีคุณธรรมไม่ว่าทำอะไรลงไป คนอื่นเดือดร้อนแค่ไหน ไม่มีทางที่เขาจะรู้สึกผิดได้เลย เนื่องจากการพัฒนาทางจิตใจมาตั้งแต่วัยเด็กทำให้เกิดความบกพร่องที่จุดนี้ จึงไม่รู้สึกผิดบาปหรือละอายใจกับการกระทำผิดของตน

2. เป็นคนที่มีความรับผิดชอบต่อพฤติกรรมของตน รวมถึงมีจิตสำนึกในผลจากการกระทำของตนต่อส่วนร่วม

3. เป็นคนที่เห็นอกเห็นใจคนอื่น จึงสามารถรับรู้และเข้าใจความทุกข์ ความเจ็บปวดของผู้อื่น เมื่อเห็นคนคนที่มีความลำบาก

ซึ่งความรู้สึกผิดเกิดขึ้นได้กับทุกคนที่มีคุณสมบัติเหล่านี้ แต่คนที่จะมีความรู้สึกผิดได้มากจนเกิดโทษคือ

1. เกิดจากบุคลิกที่ชอบตำหนิตัวเอง ในคนที่มีบุคลิกชอบตำหนิตัวเอง มักมีแนวโน้มเพ่งโทษตัวเองเห็นข้อลบของตนเองอยู่ตลอด ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นมักคาดโทษและตำหนิตนเอง

2. คนที่ให้อภัยตนเองได้ยาก มีระดับการมีคุณธรรมที่รุนแรงมากเกินไปจนไม่เหมาะสม จึงไม่สามารถให้อภัยตนเองได้

3. เป็นคนขาดความยืดหยุ่น เช่น ถ้าดีก็ต้องดีทั้งหมด ไม่ควรมีอะไรผิดเลย ถ้ามีผิดไปนิดหนึ่งจะแปลว่าเลวร้ายไปทั้งหมด คือ มีลักษณะมองอะไรเป็นขาวหรือดำเท่านั้น ไม่สามารถมองอะไรเป็นสีเทาๆ ได้

ผลจากความรู้สึกผิดที่มากเกินไปก่อให้เกิดโทษ

1. กลายเป็นโรคซึมเศร้าหรือโรควิตกกังวลได้

2. ไม่อนุญาตให้ตนเองมีความสุข ต้องการลงโทษตัวเอง ถ้าจะใช้ชีวิตให้มีความก็รู้สึกละอายใจ จึงต้องทำให้ตนเองรู้สึกทุกข์ใจตลอด หรือทำให้ชีวิตตนเองตกต่ำอยู่เสมอ

3. พยายามฆ่าตัวตายเพื่อชดเชยความผิดนั้น

การดูแลรักษาในส่วนตนเอง

1. เข้าใจและยอมรับความรู้สึกผิดเหล่านี้ว่าเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้เมื่อเกิดการสูญเสีย การยอมรับความรู้สึกได้จึงเป็นเรื่องสำคัญ

2. ให้เวลากับความรู้สึกเศร้าเสียใจ ไม่ควรรีบปฏิเสธความรู้สึกเศร้าเสียใจนั้น

3. พูดคุยกับผู้อื่น เพราะการเก็บตัวไม่พูดคุยกับใครจะยิ่งทำให้อาการแย่มากขึ้น

4. แบ่งบันความรู้สึกกับคนใกล้ตัว เช่น เพื่อน คนในครอบครัว หรือคนที่รู้สึกสนิทใจ เป็นต้น

5. ร่วมกิจกรรม เช่น การไปร่วมพิธีศพ ได้บอกกล่าวอะไรที่อยากบอกกับผู้เสียชีวิตหรือญาติ เช่น การขอโทษ การขอบคุณ การบอกกล่าวสิ่งที่ติดค้างในใจ เป็นต้น

6. เปลี่ยนความรู้สึกผิดเป็นการกระทำเชิงบวกและสร้างสรรค์

6.1 การทำงานอาสาสมัครต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม ช่วยให้ลดความรู้สึกผิดและกลับมาเห็นคุณค่าในตนเองได้

6.2 มองว่าความผิดนั้นเป็นการเรียนรู้ เป็นบทเรียนที่มีคุณค่าและมีประโยชน์ ช่วยให้การใช้ชีวิตต่อไปดียิ่งขึ้นทั้งต่อตนเอง ต่อคนในครอบครัว และต่อสังคม

7. ใคร่ครวญอย่างมีสติ รู้เท่าทันความคิดลบและความคิดตำหนิตนเอง

8. ให้อภัยตนเองและเริ่มต้นชีวิตใหม่ ในความเป็นจริงคนเราทุกคนล้วนทำผิดได้ ความผิดพลาดเป็นเรื่องธรรมดาของมนุษย์ และลักษณะของโรคโควิด-19 นี้ ติดต่อกันง่ายมาก จึงเป็นโรคที่ป้องกันได้ยากมาก แทบจะไม่สามารถใช้ชีวิตที่เป็นปกติได้เลย การเผลอนำเชื้อไปติดต่อผู้อื่นจึงเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้

ดังนั้นควรให้อภัยตนเองและเริ่มต้นใหม่ด้วยการใช้ชีวิตที่ดีขึ้น เพราะเราได้มีบทเรียนที่ดีสอนใจเราแล้ว

การดูแลของคนใกล้ตัวต่อผู้ที่รู้สึกผิด

1. รับฟังเขาอย่างเข้าใจ

2. ทำความเข้าใจว่าความรู้สึกผิดนั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร มีที่มาอย่างไร

3. อย่าซ้ำเติม การซ้ำเติมไม่ช่วยให้อะไรดีขึ้น

การติดต่อขอความช่วยเหลือ

ถ้ามีอาการวิตกกังวลหรือซึมเศร้ามากผิดปกติ เช่น คิดวนเวียนเฝ้าโทษตนเองซ้ำๆ หรือมีความคิดอยากฆ่าตัวตาย

ควรปรึกษาแพทย์หรือนักจิตวิทยาให้คำปรึกษาในแผนกจิตเวชในโรงพยาบาลหรือคลินิกต่างๆ

นิตยสารชีวจิต ปีที่ 23 ฉบับที่ 551 เดือนกันยายน 2564

1 November 2564

By STY/Lib

Views, 1732

 

Preset Colors