02 149 5555 ถึง 60

 

โยคะลดแพนิก ฝึกจิต ช่วยหลับสบาย

โยคะลดแพนิก ฝึกจิต ช่วยหลับสบาย

เนื่องจากคุณเสือ (นามสมมุติ) เกรงว่าครอบครัวจะเป็นห่วง จึงไม่ได้บอกอาการเจ็บป่วยให้ทราบ แต่เต็มใจเล่าประสบการณ์ความเจ็บป่วยของตนเองเพื่อเป็นประโยชน์แก่ผู้อ่านต่อไป

แม้ว่าคุณเสือไม่ได้ไปพบจิตแพทย์โดยตรง แต่จากการปรึกษาเพื่อนที่เป็นแพทย์หลายคน รวมทั้งศึกษาหาความรู้ด้วยตนเอง ทำให้ทราบว่าอาการที่เป็นนั้นเรียกว่า Panic Disorder

“เคยถูกให้ออกจากงาน เลยกลับไปอยู่บ้านที่ต่างจังหวัด ตั้งใจไปทำงานอยู่ที่โน่น แต่ไม่ประสบความสำเร็จ จนรู้สึกเครียด เพราะอายุ 41 แล้ว หางานยากมาก วันหนึ่งสะดุ้งตื่นขึ้นมากลางดึก รู้สึกเหมือนหายใจไม่ออก แล้วก็คิดวนเวียนว่าเราจะอยู่ต่อไปอย่างไร ต้องตายแน่เลย แต่ไม่ใช่การคิดฆ่าตัวตาย ยังคิดว่าต้องอยู่ต่อไป แต่กลัวจะทำมาหากินไม่ได้ กลัวอดตาย พอคิดแบบนี้ก็ยิ่งเหมือนหายใจไม่ออก จึงลุกมาเปิดประตูออกไปนอกห้อง ต้องอธิบายว่าในห้องนอนติดม่านทึบแสง จึงมืดสนิท สามารถหลับได้ถึงสายๆ โดยไม่มีแสงเข้ามา โชคดีที่บ้านมีพื้นที่ รอบๆบ้านเป็นท้องทุ่ง อากาศก็โปร่งโล่งกว่าในห้อง ก็เดินไปเดินมาอยู่พักหนึ่ง เพราะอารมณ์หม่นหมองมากพยายามหายใจ เดินประมาณครึ่งชั่วโมงแล้วก็กลับไปนอน

“ช่วงเวลา 5-6 เดือนที่อยู่ที่บ้านมีอาการแบบนี้ 2 ครั้ง เมื่อหางานที่เหมาะสมทำไม่ได้ จึงตัดสินใจกลับมากรุงเทพฯ ซึ่งก็มีอาการอีก คือกลัวไปหมด กลัวว่าแก่แล้วจะไม่มีเงินกินข้าว กลัวโน่นกลัวนี่ แล้วก็เหงื่อออก หายใจไม่ออก แต่ไม่ถึงกับแน่นหน้าอก แต่อยู่แฟลตจึงออกไปเดินข้างนอกไม่ได้ เลยใช้วิธีเดินไปเดินมาอยู่ในบ้าน

“ตอนแรกที่เป็นยังไม่รู้ว่าเป็นอะไร ก็กลัวว่าตัวเองเป็นโรคซึมเศร้าหรือเปล่า กลายเป็นความกลัวซ้อนกลัว ทั้งกลัวว่าจะอดตาย แล้วก็กลัวว่าจะเป็นซึมเศร้า แต่พอรู้ว่าไม่ได้เป็นซึมเศร้า ก็หายป่วยไปครึ่งหนึ่ง แต่ความกลัวว่าจะอดตายนอนตายอยู่ที่บ้าน ไม่มีใครดูแล อันนั้นยังเป็นอยู่ และชอบมีอาการตอนกลางคืน คือจะเริ่มหายใจไม่ทัน วูบๆในท้องแล้วก็เริ่มกลัวไปเรื่อย ถึงจะรู้ตัวว่าเป็น แต่ไม่สามารถทำให้อาการหายไปได้

“พอได้ไปคุยกับเพื่อนที่เป็นหมอสองสามคน แต่ไม่ใช่จิตแพทย์ ก็คิดว่าไม่น่าจะเป็นโรคซึมเศร้า เพราะถ้าเป็นโรคซึมเศร้า ความรู้สึกจะแย่กว่านี้ จะคิดถึงความตายหรือความหม่นหมองในชีวิตมากกว่านี้ แล้วเรามีอาการปีหนึ่ง 3 ครั้ง ความถี่น้อยเกินไปที่จะเป็นซึมเศร้า แต่ก็ทำให้เข้าใจคนที่เป็นซึมเศร้าแล้วฆ่าตัวตาย ขนาดเราเป็นแค่ Panic Disorder ยังคิดแบบมีเหตุผลไม่ได้เลย

“หลังจากนั้นจึงไปหาข้อมูลเกี่ยวกับโรคนี้ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ซึ่งอธิบายถึงโรคนี้ว่าเป็นการตื่นตระหนกต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งโดยไม่มีเหตุผล หรือไม่ได้เผชิญกับสิ่งนั้นโดยตรง ปกติเวลาเรากลัวคือเจอก่อนแล้วจึงรู้สึกกลัว เช่น อุ๊ย งูเลื้อยมาเรากลัว แต่ Panic Disorder คือกลัวทุกข์ภัยที่เรายังไม่เจอตรงๆเลย ซึ่งก็ตรงกับที่เป็นเพราะความคิดที่วนอยู่ในหัวตอนมีอาการคือมันยังไม่ได้เกิดกับเราตอนนี้ แต่แค่กลัวไปเอง อย่างเรากลัวอดตาย ถ้าเป็นตอนที่มีสติสัมปชัญญะ รู้เท่าทันความคิดของตัวเอง ก็จะมีเหตุผลคิดได้ว่าจะอดตายได้ยังไง พ่อแม่ก็มี เงินทองมรดกก็มี แต่พออาการกำเริบ มันเหมือนสารเคมีที่เกี่ยวข้องกับความมีเหตุผลของเราหายไปหมดเลย

“จริงๆ คนที่มีอาการแบบนี้กินยาควบคุมได้ แต่เนื่องจากกลัวผลข้างเคียงก็เลยลองหาวิธีรักษาอื่นๆ หลังจากไปค้นข้อมูลต่างๆก็พบว่าการทำสมาธิช่วยได้ สำหรับคนที่อาการไม่หนัก พอดีว่าเคยเล่นโยคะมาก่อน ก็เลยลองเอามาใช้ เมื่อมีอาการก็หายใจแบบโยคะ คือหายใจเข้าลึกๆ หายใจออกเนิบๆ ทำแค่ 10-20 นาที อาการที่เป็นก็ดีขึ้น

“หลังจากนั้นพอรู้สึกตัวว่ามีอาการก็รีบทำเลย โฟกัสที่ลมหายใจ ซึ่งเป็นการทำสมาธิไม่ให้คิดฟุ้งซ่าน อาการของเรานอกจากสารเคมีไม่สมดุลแล้ว ความคิดฟุ้งซ่านด้วย แต่ใช้วิธีนี้อาการดีขึ้น ระยะหลังมานี้ก็ 2-3 เดือนเป็นครั้ง แต่ไม่รุนแรงพอเรารู้วิธีจัดการกับมันก็ใช้วิธีนี้มาตลอด ไม่ได้กินยาแล้ว ต้องถือว่าตัวเองโชคดีที่อาการไม่หนักและรู้เท่าทันอาการป่วยของตัวเอง

“ทุกวันนี้ก็ยังเป็นอยู่บ้าง เช่น ถ้านอนน้อยสัก 2 วันติดกันก็จะมีอาการ จะเบลอๆ สติจะฟุ้งๆลอยๆ จึงพยายามนอนไม่เกินตี 2 ถ้าวันไหนนอนดึกมากก็ต้องตื่นสายๆไปเลยเพื่อชดเชย

“ถ้าอ่านนิยายที่เศร้ามากๆหรือดูละครเศร้าๆ พอละครจบมันจะวูบๆ เริ่มมีอาการ เข้าใจว่าความเครียดและความเศร้ากระตุ้นให้เกิดอาการแบบนี้ได้เหมือนกันหลังๆมานี้จึงไม่ดูอะไรที่เศร้ามาก ไม่อ่านนิยายเศร้า

“ตอนที่ยังไม่รู้ว่าเราเป็นอะไรจะเครียดมาก เพราะคิดว่าเป็นโรคซึมเศร้า กลัวว่าจะฆ่าตัวตาย แต่พอรู้ว่าเป็น Panic Disorder ก็ค่อยโล่งใจ เพราะเป็นกลุ่มที่คิดไปเองเสียเป็นส่วนใหญ่ แล้วอาการที่เป็นก็ยังไม่หนักมาก ยังไม่ถึงขั้นต้องกินยา ถ้าถามว่าสาเหตุของอาการเราเกิดจากอะไร ก็คงเป็นเพราะตกงานนั่นแหละ แต่เราไม่รู้ตัวว่าเครียดมากและสะสมเรื่อยๆ จนเกิดอาการทางกายขึ้นมา พอเป็นแล้วก็จะเป็นไปตลอดชีวิต ไม่มีทางหาย แต่เรารู้วิธีรับมือแล้ว

“หลังจากเล่าอาการของตัวเองลงในเฟซบุ๊กก็มีคนรู้จักทักเข้ามาว่าเป็นเหมือนกัน แต่เป็นมาก ต้องกินยา พี่คนหนึ่งเล่าให้ฟังว่าหมอสั่งว่าถ้ามีอาการให้กระโดดตบเลยนะ วันหนึ่งขณะขับรถบนไฮเวย์ที่อเมริกา จู่ๆก็มีอาการก็ต้องหาที่จอดรถแล้วลงไปกระโดดตบ คือเป็นวิธีให้โฟกัสไปที่เรื่องอื่น การกระโดดตบช่วยได้ หลังจากกลับมาอยู่เมืองไทย อาการน้อยลง แต่ยังต้องกินยา พี่คนนี้บอกว่าถ้าเราเป็นตอนดึกให้โทร.มาเลยนะ เดี๋ยวไอคุยเป็นเพื่อน ซึ่งเป็นวิธีเบี่ยงเบนความสนใจออกไปจากอาการป่วย วิธีนี้ก็ช่วยได้”

ช่วงที่โควิด-19 ระบาด มีผลกระทบอะไรกับอาการที่เขาเป็นอยู่หรือไม่ คุณเสือบอกว่า

“โชคดีว่าช่วงนี้กลับมาทำงานเป็นปกติแล้ว จึงไม่มีอาการอะไรร้ายแรง แต่ถ้าเกิดตกงานก็ไม่แน่ว่าอาการอาจกำเริบได้ ทุกวันนี้พยายามดูแลตัวเองให้ดี โชคดีที่บริษัทให้เวิร์คฟรอมโฮมเพราะกลัวโควิดมากจนไม่ออกจากบ้านไปไหนเลย จะเลือกใช้บริการเดลิเวอรี่ของสดของใช้จากเจ้าที่มีบริการส่งโดยตรงเท่านั้น และทำอาหารกินเองทุกมื้อ คิดหาเมนูทำทุกวันก็เพลินดี” (หัวเราะ)

สำหรับผู้ที่มีอาการแบบเดียวกับคุณเสือเขาแนะนำว่า

“ถ้าอาการไม่รุนแรง ให้ลองใช้วิธีหายใจแบบโยคะก่อน ลองโฟกัสลมหายใจ หายใจเข้าและหายใจออกแบบช้าๆ แล้วดูว่าอาการดีขึ้นหรือไม่ ถ้าทำแล้วไม่ได้ผลค่อยไปหาหมอการกินยาน่าจะเป็นทางเลือกสุดท้าย”

ช่วงเวลาที่เราต้องอยู่กับการระบาดของโควิด-19 กายก็ต้องระวังไม่ให้ติดเชื้อ ใจก็ต้องดูแลไม่ให้เจ็บป่วยอ่อนแอ เพื่อจะได้ผ่านช่วงเวลานี้ไปให้ได้

นิตยสารชีวจิตฉบับที่ 550 ปีที่ 23 1 กันยายน 2564

8 November 2564

By STY/Lib

Views, 1211

 

Preset Colors