02 149 5555 ถึง 60

 

มุมมองจากแพทย์แผนปัจจุบันต่อวิกฤติสุขภาพปี 2564 (ตอนที่ 2)

CONVENTIONAL MEDCINE ASPECTมุมมองจากแพทย์แผนปัจจุบันต่อวิกฤติสุขภาพปี 2564 (ตอนที่ 2)

DEMOCRATIZTION OF KNOWLEDGE เมื่อทั่วโลกพร้อมใจเปิดเสรีข้อมูลโควิด

เรื่องพิเศษ... เรื่องโดย... ศิริกร โพธิจักร, ปกวิภา

ศาสตราจารย์ นายแพทย์มานพ พิทักษ์ภากร หัวหน้าศูนย์วิจัยเป็นเลิศด้านการแพทย์แม่นยำ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล หนึ่งในแพทย์นักวิจัยที่เป็นแนวหน้าในการย่อยข้อมูลโควิดจากวารสารการแพทย์ระดับโลกเผยแพร่สู่สาธารณชน อธิบายถึงปรากฏการณ์เข้าถึงข้อมูลเช่นนี้ว่า เป็นการสร้างวัฒนธรรมใหม่ที่ทำให้ผู้คนทั่วโลกเข้าถึงข้อมูลวิจัยล่าสุดได้ง่ายขึ้น

“ก่อนหน้านี้คนทั่วไปจะมองว่างานวิจัยทางวิทยาศาสตร์เป็นเรื่องของคนกลุ่มเล็กๆ เช่น นักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ หรือแพทย์ที่ต้องมีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านที่ต้องการศึกษาหัวข้อนั้นๆ เช่น แพทย์โรคติดต่อ โรคปอด แต่โควิดเปลี่ยนบริบทของหลักการและแนวคิดในการเข้าถึงข้อมูลเหล่านี้หมดเลย”

“สาเหตุหลักมี 3 ข้อครับ

ข้อที่ 1 เพราะโควิดเป็นปัญหาของคนทั้งโลกไม่มีใครหลบเลี่ยงได้

ข้อที่ 2 ทุกคนมองว่าการเข้าถึงข้อมูลคือสิ่งจำเป็นเพราะมีข้อมูลจากทั่วโลกเกิดขึ้น ความรู้เกี่ยวข้องกับโควิดก็พัฒนาไปอย่างรวดเร็ว เกิดการเผยแพร่ข้อมูลและแบ่งปันอย่างเสรี

ข้อที่ 3 คนที่เข้ามาศึกษาเรื่องโควิดไม่ได้มีจำกัดแค่นักวิชาการเรื่องโรคติดเชื้อ ไวรัส หรือโรคปอดเท่านั้น แต่เป็นใครก็ได้ที่มีความสนใจ เช่น นักฟิสิกส์ วิศวกร เพราะอย่างที่บอกว่านี่คือปัญหาของโลก ทุกคนจึงพยายามใช้ความถนัดและความเชี่ยวชาญของตนเองเข้ามาแก้ปัญหา หาคำตอบ และแบ่งปันความรู้ร่วมกัน”

ศาสตราจารย์ นายแพทย์มานพชี้ประเด็นเพิ่มเติมว่า เพราะโรคนี้เป็นสิ่งใหม่ จึงไม่มีใครรู้จักโรคนี้มากกว่าใคร สิ่งที่ควรทำคือการติดตามข้อมูลอย่างสม่ำเสมอ

“ตอนนี้ไม่มีใครเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องโควิด เพราะทุกคนเริ่มจากศูนย์เท่ากัน อยู่ที่ว่าใครติดตามข้อมูลโรคนี้อย่างทั่วถึงและเท่าทันมากกว่า”

“โควิดทำให้รูปแบบการแบ่งปันความรู้เปลี่ยนไป วารสารทางการแพทย์ทุกหัวทั่วโลกพร้อมใจเปิดให้ทุกคนเข้าถึงงานวิจัยที่มีหัวข้อเกี่ยวกับโควิดฟรี เรื่องนี้เป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน”

“สมัยก่อนเราต้องทำวิจัยและส่งตีพิมพ์ อย่างรวดเร็วกว่าจะได้เผยแพร่ก็ 3 เดือนถึงจะได้ตีพิมพ์ แต่คนที่เข้าถึงข้อมูลก็จำกัดเพราะต้องสมัครและจ่ายเงินเพื่อที่จะได้อ่านวารสารนั้นๆ”

“ปัจจุบันโควิดได้สร้างวัฒนธรรมใหม่อีกข้อคือ ทุกคนเข้าถึงงานวิจัยที่มีหัวข้อเกี่ยวข้องกับโควิดก่อนตีพิมพ์ได้ โดยมีศูนย์กลางที่เรียกว่า Preprint Server คนทั่วไป นักเรียน นักศึกษา หรือแม้แต่คนที่ไม่มีความรู้เรื่องชีววิทยามาก่อนก็สามารถเข้าไปอ่านข้อมูลเกี่ยวกับโควิดได้ บรรยากาศจะคล้ายๆ ยุคที่วิกิพีเดียเปิดใหม่ๆ”

ศาสตราจารย์ นายแพทย์มานพยังได้ระบุถึงจุดเริ่มต้นในการรีวิวงานวิจัยเกี่ยวกับโควิดเพื่อเผยแพร่สู่สาธารณชนอย่างต่อเนื่องว่า

“ผมเริ่มต้นติดตามการระบาดหนักของโควิดที่เมืองอู่ฮั่น เดือนมกราคม 2020 ช่วงนั้นทางการจีนมีมาตรการเข้มข้นโดยการสั่งล็อกดาวน์เมือง เราก็คิดว่า โอ้โห...เหมือนในหนังฮอลลีวู้ดเกี่ยวกับโรคระบาดที่ต่อมาก็กลายเป็นปัญหาระดับโลกเลย จึงคิดว่าต้องหาความรู้เกี่ยวกับโรคนี้ เพราะโควิดน่าจะส่งผลกระทบกับใครอีกหลายคน”

“พอเริ่มมีข้อมูลเกี่ยวกับโควิดออกเผยแพร่เรื่อยๆ ผมเห็นว่าสิ่งนี้เป็นเรื่องใหม่มากและความรู้จากทั่งลกก็อัพเดตทุกวัน คนทั่วไปถ้ามาอ่านก็จะใช้เวลาย่อยข้อมูลนาน แต่ถ้ามีความรู้พื้นฐานด้านชีววิทยาและอณูพันธุศาสตร์ (Molecular Genetics) ซึ่งศึกษาเรื่องโครงสร้างเชิงโมเลกุลและหน้าที่ของยีน พฤติกรรมของยีนในบริบทของเซลล์สิ่งมีชีวิต ก็จะใช้เวลาลดลงได้”

“ผมเห็นสื่อต่างประเทศทำหน้าที่สื่อกลางตรงนี้ได้ สามารถย่อยข้อมูลออกมาให้คนทั่วไปอ่านเข้าใจ แต่ในบ้านเรายังขาดตรงนี้ ผมเลยลองทำดูโดยเขียงลงในเฟซบุ๊กส่วนตัวของตนเองแล้วเปิดเป็นสาธารณะ”

“ที่ผ่านมา ปกติผมก็ไม่ได้เปิดโพสต์ตัวเองเป็นสาธารณะ แต่โควิดทำให้ผมเขียนสรุปงานวิจัยเกี่ยวกับโรคนี้ที่น่าสนใจและเปิดเป็นสาธารณะครั้งแรก จากนั้นก็พยายามทำต่อมาเรื่อยๆ”

“สิ่งนี้เกิดขึ้นได้เพราะช่วงล็อกดาวน์ด้วยครับ เมื่อเข้าตึกไปทำงานที่คณะไม่ได้ ภาระงานบางส่วนก็ชะงักไป ประกอบกับมีการจำกัดจำนวนคนไข้ที่จะมาโรงพยาบาล ผมเลยมีเวลาอ่านงานวิจัยโควิดและเผยแพร่ความรู้เรื่องนี้ ต่อมาก็มีสื่อทั้งสื่อออนไลน์และโทรทัศน์นำไปเผยแพร่ต่อ”

“จากนั้นก็เป็นยุคของการเปิดห้อง Research Espresso ใน Club House ซึ่งมีลักษณะเป็น Town Hall หรือสภากาแฟ หลังจบการสรุปรายงานวิจัยที่น่าสนใจ จะมีช่วงเปิดให้ผู้ฟังเข้ามาถามคำถาม เกิดการแลกเปลี่ยนมุมมองและทำให้ข้อมูลนี้เข้าถึงสาธารณะได้เร็วและมีชีวิตชีวาในการศึกษาองค์ความรู้ตรงนี้ร่วมกัน”

ในตอนท้าย ศาสตราจารย์ นายแพทย์มานพกล่าวว่า ควรนำนวัตกรรมที่เกิดขึ้นในการใช้รับมือโควิดมาประยุกต์ใช้กับการติดตามและดูแลสุขภาพคนไข้โรคอื่นๆ ด้วย

“ในประวัติศาสตร์มนุษยชาติเราต้องพบเจอโรคระบาดเป็นระยะๆ ตัวอย่างกรณีการระบาดของไข้หวัดใหญ่ เป็นการระบาดของเชื้อที่เรารู้จักอยู่แล้ว ส่วนโควิดเป็นตัวอย่างการระบาดของเชื้อที่เราไม่รู้จัก”

“บทเรียนสำคัญสำหรับผมคือ ไม่มีอะไรบอกได้ว่าโรคระบาดสเกลแบบโควิดจะไม่เกิดขึ้นอีก วิกฤติการณ์ทางสุขภาพเกิดได้ ของบางอย่างเมื่อเกิดขึ้น เราไม่สามารถป้องกันได้ แต่เราสามารถติดตามข้อมูลเพื่อที่จะมาทำความเข้าใจและรับมืออย่างมีประสิทธิภาพได้ ซึ่งช่วยให้เราเตรียมตัวรับมือกับปัญหาโรคระบาดในสแกลใหญ่ๆ ได้ดีขึ้นในอนาคต”

“อีกประเด็นหนึ่งคือ โควิดไม่ว่าจะเร็วหรือช้าก็ต้องจบลง เชื้อนี้จากเดิมที่ไม่มีใครรู้จัก คราวนี้ก็มีคนรู้จักแล้ว เมื่อมีองค์ความรู้สะสมมากขึ้นเราก็จะปรับวิธีการรับมือได้ดีขึ้น”

“เมื่อมีการติดตามข้อมูลและรู้วิธีรับมือกับโควิดแล้ว ผมเห็นว่าเราสามารถนำองค์ความรู้นั้นมาประยุกต์ใช้กับการดูแลสุขภาพประชาชนในโรคอื่นๆ เช่น ระบบการติดตามคนไข้แบบ Big Data ที่รวบรวมข้อมูลจำนวนมาก เอามาใช้ติดตามคนที่เป็นโรคอ้วน เบาหวาน ซึ่งเป็นโรคที่มีคนไข้ทั่วประเทศจำนวนมากได้”

ทั้งนี้ ศาสตราจารย์ นายแพทย์มานพได้ยกตัวอย่างเพื่มเติมว่า

“ส่วนการนัดหมายฉีดวัคซีนโควิดในกรณี 7 กลุ่มเสี่ยง เราเอามาประยุกต์ใช้เพื่อนัดหมายให้คนในกลุ่มเสี่ยงซึ่งเป็นกลุ่มเดิมเข้ามารับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ประจำปีให้ต่อเนื่องได้ เมื่อทำแบบนี้แล้วจะช่วยให้การกระจายวัคซีนและการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันระดับประเทศดีขึ้นมาก”

อีกตัวอย่างหนึ่งที่เป็นนวัตกรรมที่ผมชอบมากคือ Digital Mapping โดยกลุ่ม JitAsaCare ซึ่งทำให้เรามองเห็นภาพรวมเป็น Hot Spot ว่ามีคนไข้อยู่บริเวณไหน เราต้องใความช่วยเหลือลงไปตรงจุดนั้นให้เร็วที่สุด การมีแพลตฟอร์มดีๆ เช่นนี้นำไปประยุกต์ใช้ติมตามและประเมินสถานการณ์ในการรับมือโรคอื่นๆ ได้ ดังนั้นจึงควรนำมาใช้ต่อครับ”

อ่านต่อตอนหน้า

นิตยสารชีวจิต ปีที่ 23 ฉบับที่ 553 เดือนตุลาคม 2564

16 November 2564

By STY/Lib

Views, 615

 

Preset Colors