02 149 5555 ถึง 60

 

มุมมองจากแพทย์แผนปัจจุบันต่อวิกฤติสุขภาพปี 2564 (ตอนที่ 4)

CONVENTIONAL MEDCINE ASPECTมุมมองจากแพทย์แผนปัจจุบันต่อวิกฤติสุขภาพปี 2564 (ตอนที่ 4)

FAST ATTACK IS THE BEST SOLUTION กำจัดไวรัสให้เร็วที่สุด คือกลยุทธ์ที่ดีที่สุด

เรื่องพิเศษ... เรื่องโดย... ศิริกร โพธิจักร, ปกวิภา

นายแพทย์สันต์ ใจยอดศิลป์ ศัลยแพทย์หัวใจและผู้เชี่ยวชาญเวชศาสตร์ครอบครัว ได้ระบุแนวทางรับมือกับวิกฤติสุขภาพที่ได้จากการศึกษาปัญหาโควิด ดังนี้

“ผมมองว่าเพื่อให้ระบบสาธารณสุขของเรารองรับผู้ป่วยได้ทัน ต้องเริ่มจากการดูแลกลุ่มเสี่ยงหรือขาประจำในการใช้บริการสุขภาพก่อนนั้นคือ กลุ่มผู้สูงอายุ เพราะปัจจุบันกลุ่มนี้คิดเป็นร้อยละ 92 ของผู้ใช้บริการโรงพยาบาล โดยเริ่มจากการฉีดวัคซีนให้กับผู้สูงอายุและผู้ป่วย 7 กลุ่มเสี่ยงให้เร็วที่สุด”

“ต่อมาเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนมีองค์ความรู้และเข้าถึงยาที่ใช้ในการดูแลสุขภาพได้ด้วยตัวเอง มียา 2 ตัวที่ใช้ คือ ฟ้าทะลายโจรและฟาวิพิราเวียร์ เมื่อมีอาการปุ๊บหรือสัมผัสกับผู้มีเชื้อโควิปุ๊บ ประชาชนต้องเข้าถึงยาและรู้วิธีใช้ที่ถูกต้อง”

“ถ้าประชาชนดูแลตัวเองได้เร็ว คนที่ป่วยหนักจะน้อย คนไข้ที่ต้องการเครื่องช่วยหายใจก็จะลดลง ระบบสาธารณสุขของเราก็จะไม่มีปัญหาเรื่องคนไข้ล้นโรงพยาบาล”

นายแพทย์สันต์อธิบายถึงการรับมือกับเชื้อกลายพันธุ์ว่า

“แรกๆ เราอาจมียาหรือวัคซีนที่ใช้รับมือได้ แต่เมื่อเชื้อกลายพันธุ์ พอถึงจุดหนึ่งที่วัคซีนและยาไม่ได้ผล เราก็ต้องหาทางอยู่ร่วมกับเชื้อนี้ให้ได้ โควิดจะไม่หายไปไหน แต่จะมีการกลายพันธุ์เหมือนเชื้อไข้เลือดออกหรือไข้หวัดใหญ่ที่มีการระบาดในทุกๆ ปี แต่ละปีก็จะมีสายพันธุ์ในการระบาดที่แตกต่างกันไป”

“ดังนั้น การให้ความรู้แก่ประชาชนในการดูแลตนเองจึงเป็นเรื่องจำเป็น วิธีการรับมือโรคติดเชื้อตรงไปตรงมามากๆ คือ เราต้องรีบทำลายเชื้อให้เร็วที่สุดก่อนที่เชื้อจะขยายจำนวนในร่างกายขึ้นมากจนเป็นอันตรายต่อสุขภาพ”

“ข้อมูลจากการศึกษาพบว่า โควิดเข้าสู่ร่างกายประมาณ 2 วันก่อนจะเริ่มมีอาการ ขั้นตอนต่อไปคือ ทำให้ประชาชนมียาที่จำเป็นและใช้ให้เร็ว ซึ่งยาที่ประชาชนเข้าถึงได้ตอนนี้คือ ฟ้าทะลายโจรเป็นยาที่ปลอดภัย เมื่อสังเกตว่าเริ่มมีอาการแล้วให้กินเลย”

“ส่วนฟาวิพิราเวียร์ตอนนี้เป็นยาที่ใช้ในระบบโรงพยาบาล ต้องมีแพทย์สั่งจ่ายถึงจะได้มา”

ในกรณีการใช้ฟ้าทะลายโจรแล้วมีข้อกังวลว่าจะมีพิษต่อตับนั้น นายแพทย์สันต์ได้ชี้แจงว่า

“ณ ขณะนี้ยังไม่มีหลักฐานที่พิสูจน์ว่าฟ้าทะลายโจรมีพิษต่อตับ มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ทำในไทย ศึกษาคนไข้ 800 คน โดยแบ่งกลุ่มให้ใช้ฟ้าทะลายโจรเพื่อบรรเทาอาการหวัดเปรียบเทียบกับยาหลอก เมื่อติดตามดูอาการข้างเคียงต่อตับและไตแล้วไม่พบเลย”

“อีกชิ้นเป็นงานวิจัยย้อนหลังที่กรมการแพทย์แผนไทยทำ ศึกษาในคนไข้ 300 กว่าคนที่ใช้ฟ้าทะลายโจรเปรียบเทียบกับคนที่ไม่ได้ใช้ก็ไม่พบผลต่อตับและไตเลย เมื่อไปดูงานวิจัยที่ทั่วโลกศึกษาการใช้ฟ้าทะลายโจรรักษาไข้หวัดและไข้หวัดใหญ่ก็ไม่พบว่ามีผลต่อตับและไตเช่นกัน”

“ขณะที่ฟาวิพิราเวียร์จะมีผลทำให้ค่าเอนไซม์ของตับขึ้น คนไข้จะเป็นดีซ่าน แต่ถ้าหยุดใช้ยาแล้วค่าตับจะลดลงมาเป็นปกติ”

“จากการศึกษางานวิจัยต่างๆ ผมขอยืนยันว่า ยาทั้ง 2 ตัว ได้แก่ ฟ้าทะลายโจร และฟาวิพิราเวียร์ เป็นยาที่มีความปลอดภัยสูง ประชาชนควรเข้าถึงยาได้และต้องมีการสื่อสารให้เกิดความรู้อย่างกว้างขวาง ประชาชนจะได้ใช้ยาดูแลสุขภาพตนเองได้อย่างรวดเร็วและถูกต้อง”

เมื่อถามถึงเรื่องการระบาดในระลอกใหม่ที่อาจเกิดขึ้นได้หลังรัฐบาลมีมาตรการผ่อนปรนเรื่องการคลายล็อกดาวน์ นายแพทย์สันต์อธิบายทิ้งท้ายว่า

“ถ้าเป็นในกรุงเทพฯ ผมไม่ค่อยกังวล เพราะมีการฉีดวัคซีนให้กับผู้สูงอายุซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงแล้วร้อยละ 95.8 ขณะที่ในต่างจังหวัดเป็นพื้นที่ที่ผมกังวล เพราะยังมีอีก 40 จังหวัดที่การกระจายวัคซีนยังไปไม่ทั่วถึง ซึ่งรัฐบาลกำลังเร่งฉีดวัคซีนอยู่”

โจทย์ของการควบคุมโรคในระลอก 5 ผมยังเน้นเรื่องการรักษาตัว ต้องให้ความรู้แก่ประชาชนในการใช้ยา ในประเทศเม็กซิโกมีการส่งยาให้ประชาชนถึงบ้าน พอรู้ว่าตัวเองมีอาการ มีประวัติเข้าพื้นที่เสี่ยงหรือสัมผัสผู้ติดเชื้อก็ให้กินยาได้เลย”

“ผมอยากให้มองเห็นภาพว่า ในเมื่อไวรัสมาหาประชาชน ณ ขณะนี้เป็นการติดเชื้อในชุมชน ดังนั้น เราต้องอุดรูรั่วโดยส่งเสริมให้ประชาชนจัดการกับไวรัสให้ได้เร็วที่สุด”

FOCUS ON PREVENTIVE MEDICINE มุ่งสู้การป้องกัน 3 ระดับ ปรับวิธีคิดในการดูแลสุขภาพ

ร้อยเอก นายแพทย์สุรชา ลีลายุทธการ แพทย์ผู้ชำนาญการด้านเวชศาสตร์ป้องกัน บีดีเอ็มเอส เวลเนส คลินิก ในเครือโรงพยาบาลกรุงเทพ มองว่า โควิดทำให้เราเห็นโครงสร้างและการรับมือปัญหาสุขภาพว่าควรปรับเปลี่ยนไปอย่างไร โดยอธิบายว่า

“ในฐานะแพทย์ศาสตร์ป้องกัน ผมมองเห็นวิธีการรับมือโควิดเป็น 3 ระดับ

ระดับที่ 1 ป้องกันคนที่ยังไม่ป่วย ขั้นตอนนี้ประชาชนต้องรู้วิธีดูแลสุขภาพตนเอง เช่น กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ ใส่แมสก์

ระดับที่ 2 ป้องกันคนป่วยไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อน คือ การรักษาคนที่ป่วยอยู่แล้วไม่ให้อาการทรุดลงหรือมีภาวะแทรกซ้อน ตรงนี้อยากให้เกิดความร่วมมือระหว่างภาครัฐกับเอกชนให้มากขึ้น

ระดับที่ 3 ป้องกันคนที่มีโรคแทรกซ้อนไม่ให้พิการหรือเสียชีวิต แปลว่าผู้ป่วยสีแดงต้องเข้าถึงการรักษาในโรงพยาบาลที่มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญหลายๆ แผนก จะได้มีความสามารถในการดูแลผู้ป่วยที่มีความซับซ้อนได้

ดังนั้น คำว่าป้องกันในความหมายของเวชศาสตร์ป้องกันจึงต้องทำให้ครบ 3 ระดับ ไม่ใช่ทำในกลุ่มคนที่ยังไม่ป่วยเพียงกลุ่มเดียว”

“การรับมือปัญหานี้ต้องทำในหลายๆ ระดับ ไล่จากคอบครัวขึ้นไปที่ระดับชุมชน หมู่บ้าน จังหวัด และประเทศ เพื่อให้การป้องกันโรคซึ่งในกรณีนี้คือโควิดได้ผลดี เราต้องการการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพเพื่อให้ข้อมูลจากระดับประเทศลงไปที่ระดับครอบครัว ตรงนี้ก็ต้องใช้ระบบไอทีเข้ามาช่วย ขณะเดียวกันระบบโรงพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชนก็ต้องร่วมมือกัน”

นายแพทย์สุรชาฝากถึงผู้ป่วยกลุ่มโรค NCDs เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันสูง โรคอ้วน โรคหัวใจว่า ในสถานการณ์แบบนี้ต้องปรับวิธีคิดใหม่เพื่อมุ่งไปสู่การลดความเสี่ยงโรคติดเชื้ออุบัติใหม่อย่างโควิด ดังนี้

“ที่ผ่านมาคนมักจะเข้าใจว่าถ้าป่วยเป็นเบาหวานหรือความดันโลหิตสูงคือจบแล้ว ต้องกินยาตลอดชีวิต ทั้งๆ ที่ในความจริงเราสามารถปรับวิธีชีวิตและหันมาดูแลสุขภาพจนเข้าสู่ภาวะปกติหรือลดการใช้ยาได้ ตรงนี้ถ้าทำได้คุณก็จะลดโอกาสติดเชื้อและป่วยหนักในกรณีของโควิดได้”

“จริงๆ แล้วเรื่องปรับวิถีชีวิตให้มีสุขภาพดีทุกคนรู้อยู่แล้วว่ามีปัจจัยไม่กี่ข้อ เรื่องอาหารมาอันดับหนึ่ง ต่อด้วยการออกกำลังกาย การพักผ่อน ลดเครียด แต่ปัจจุบันเรามักว่าคนมองว่าโรคนี้รักษาได้ เช่น ความดันโลหิตสูง ไปหาหมอเอายามากินก็จบ”

“แท้จริงแล้วถ้ามองให้ทะลุเราจะเห็นว่า ประโยชน์ของการปรับวิถีชีวิตคือการสร้างพฤติกรรมที่ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ คราวนี้คุณก็ลดความเสี่ยงการติดเชื้อโควิดและลดโอกาสการป่วยหนักจนต้องใส่เครื่องช่วยหายใจได้โดยปริยาย”

สุดท้าย นายแพทย์สุรชาชี้ว่า การมองปัญหาสุขภาพอย่างเข้าใจให้ลึกซึ้งและถ่องแท้จะทำให้รู้ว่าต้องดำเนินชีวิตในแต่ละวันอย่างไร

“ต้นตอของการดูแลสุขภาพคือ เรื่องการศึกษา ถ้าประชาชนมีความรู้เรื่องสุขภาพ เรื่องทุกอย่างจะง่ายขึ้น เอาแค่ลดกลุ่มประชาชนใน 7 โรคกลุ่มเสี่ยงได้ ทำให้เขาลงมือปรับวิถีชีวิตไม่อ้วน ไม่ป่วย หันมากินอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ออกกำลังกายเท่านี้ปัญหาผู้ป่วยติดเชื้อโควิดจนมีอาการหนักล้นโรงพยาบาลก็จะลดลง”

“ถึงจะเป็นหมอ แต่ผมยังขอยืนยันว่า การรักษาที่ดีที่สุดคือการป้องกันก่อนป่วย ซึ่งเริ่มต้นจากการปรับวิถีชีวิตทำให้สุขภาพแข็งแรงดีเป็นทุนเดิม วิธีนี้เป็นปัจจัยสำคัญช่วยส่งเสริมสุขภาพที่ทุกคนทำได้เองร้อยละ 70 อีกร้อยละ 30 ค่อยมาพึ่งหมอ แต่ทุกวันนี้เรามักจะปล่อยปละละเลยให้การดูแลสุขภาพมาอยู่ที่มือหมอร้อยละ 70 แล้วดูแลตัวเองร้อยละ 30”

“ถ้าเราใช้โควิดมาเป็นวาระในการปรับวิธีคิด หันมาดูแลสุขภาพอย่างจริงจัง จะเป็นเรื่องที่ดีมากๆ เลยนะครับ”

อ่านต่อตอนหน้า

นิตยสารชีวจิต ปีที่ 23 ฉบับที่ 553 เดือนตุลาคม 2564

18 November 2564

By STY/Lib

Views, 861

 

Preset Colors