02 149 5555 ถึง 60

 

มุมมองจากแพทย์แผนปัจจุบันต่อวิกฤติสุขภาพปี 2564 (ตอนที่ 5)

CONVENTIONAL MEDCINE ASPECTมุมมองจากแพทย์แผนปัจจุบันต่อวิกฤติสุขภาพปี 2564 (ตอนที่ 5)

THE HIDDEN BURDEN OF COVID-19 สำรวจปัญหาสุขภาพที่ถูกมองข้ามไป

เรื่องพิเศษ... เรื่องโดย... ศิริกร โพธิจักร, ปกวิภา

แพทย์หญิงชัญวลี ศรีสุโข สูตินรีแพทย์โรงพยาบาลพิจิตรและกรรมการแพทยสภา พูดถึงปัญหาในปัจจุบันว่าโรคระบาดครั้งนี้ไม่ได้ส่งผลกระทบกับผู้ป่วยโควิดโดยตรงเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบไปยังคนไข้ที่ป่วยเป็นโรคอื่นอีกด้วย

“ปัญหาในปัจจุบัน คนไข้ที่ป่วยเป็นโรคอื่น โดยเฉพาะกลุ่มที่เป็นโรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน ความดัน โรคหัวใจ โรคอ้วน เข้าถึงบริการทางการแพทย์ยากขึ้น แม้ว่าสามารถส่งยาไปที่บ้าน แต่การติดตามโรคก็น้อยลง จึงมีคนเสียชีวิตเพราะโรคที่เป็นอยู่มากขึ้น”

“หมอห้องฉุกเฉินตั้งข้อสังเกตว่า ช่วงที่ผ่านมามีคนไข้เลือดในสมองแตกเนื่องจากความดันโลหิตสูงถูกส่งตัวมาโรงพยาบาลมากขึ้น บางรายไม่ได้รับยาเลย บางรายไม่ได้ติดตามโรค หลายโรคโดยเฉพาะโรคมะเร็งต้องเลื่อนการผ่าตัดออกไปก่อน คนไข้เองก็ไม่ไปโรงพยาบาลเพราะกลัวติดโควิด บางรายก็เข้าไม่ถึงบริการทางการแพทย์เพราะโรงพยาบาลรับแต่ผู้ป่วยโควิด”

“อีกกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากคือ กลุ่มคุณแม่ท้อง ตั้งแต่เข้าไม่ถึงการฝากครรภ์ เพราะโรงพยาบาลปิดบริการรับฝากครรภ์ ปิดห้องคลอด หรือคุณแม่เองก็กลัวติดโควิด รวมไปถึงความกลัววัคซีน ทำให้คุณแม่เสี่ยงเสียชีวิตพร้อมลูกหรือแม่เสียชีวิตแล้วทิ้งลูกเป็นเด็กกำพร้า”

ประเด็นต่อมาเป็นประเด็นในภาพใหญ่ เช่น ด้านสังคม ชุมชน ประเทศชาต ซึ่งแพทย์หญิงชัญวลีในฐานะกรรมการแพทยสภาอธิบายว่า

“โควิดทำให้ประเทศชาติต้องรับภาระมากมาย เพราะต้องใช้ทั้งคนและทรัพยากรต่างๆ เป็นจำนวนมากในการดูแลผู้ป่วย ยังไม่นับค่าใช้จ่ายในการซื้อวัคซีนที่คิดเป็นเงินมหาศาล พลอยทำให้ค่าใช้จ่ายสำหรับการรักษาและป้องกันโรคกลุ่มอื่นๆ เหลือน้อยลง”

“การที่ต้องปิดเมือง โดนกักตัว ไม่มีนักท่องเที่ยว ส่งผลกระทบกับศรษฐกิจอย่างมาก คนทำมาหากินไม่ได้ เคยเจอคนส่งน้ำบอกว่าเขาไม่ได้ขายน้ำแล้ว เพราะตอนนี้งานศพก็ไม่มี งานแต่งงานคนก็ไปน้อยเพราะกลัวโควิด”

“บางคนเขียนมาถามว่า เขาคันอวัยวะเพศมาก เกาจนถลอกไปหมด จะไปหาหมอ หมอก็บอกว่ารับตรวจแต่โควิด เขาจะทำอย่างไรดี เพราะไม่มีเงินไปโรงพยาบาลเอกชน เมื่อเษรษฐกิจไม่ดีก็ยิ่งทำให้คนเข้าไม่ถึงบริการทางการแพทย์ ไม่ได้รับการรักษาทำให้สถานการณ์ด้านสุขภาพยิ่งแย่ลง”

“ตอนที่ยังไม่มีโควิด ตามข้อมูลของกรมสุขภาพจิต คนไทย 1 ใน 5 มีปัญหาทางจิตอยู่แล้ว ยิ่งพอมีโควิดก็มีปัญหาสุขภาพจิตมากขึ้น คนที่ไม่ได้เป็นโควิดฟังข่าวทุกวันสุขภาพจิตก็แย่ได้ เพราะมีแต่เรื่องร้ายๆ อย่างฉีดวัคซีนลูกตายในท้อง หรือคนติดคนตายเพิ่มขึ้นทุกวัน ยิ่งถ้าเป็นคนที่มีคนในครอบครัวติดโควิดก็ยิ่งไปกันใหญ่”

ส่วนแนวโน้มการรับมือโควิดในอนาคต แพทย์หญิงชัญวลีชี้แจงว่าจะเปลี่ยนเป็นการรับมือแบบโรคระบาดประจำปี

“ปัจจุบันเรารู้วิธีรับมือโควิด-19 ด้วยมาตรการใหญ่ๆ 3 ข้อ ได้แก่ หนึ่ง ยกการ์ดสูง เช่น สวมหน้ากาก เว้นระยะห่าง ล้างมือ ฯลฯ สอง ใช้วัคซีน สาม การรักษา มีงานวิจัยมากมายว่าควรรักษาด้วยวิธีใด ใช้ยาอะไรบ้าง”

“ดังนั้นเรื่องของโรคระบาดนี้ต่อไปก็จะกลายเป็นโรคประจำปีเหมือนไข้หวัดใหญ่ ซึ่งไม่ได้ตรวจแล้วว่ามีใครติดบ้าง เพราะเรามียาต้านไวรัส มีวัคซีน มีการป้องกันที่ดี ความเห็นส่วนตัววิเคราะห์ว่า ต่อไปโควิดก็จะเป็นโรคระบาดประจำถิ่น โรคระบาดตามฤดูกาล แล้วเราก็จะกลัวมันน้อยลง เหมือนที่เรากลัวเอดส์น้อยลง”

“ก่อนเอดส์ระบาด เราก็กลัวไวรัสตับอักเสบบี กลัวกันจริงจัง จะคลอดก็ต้องแยกห้องคลอดเป็นห้องคลอดตับอักเสบบี พอเอดส์มาก็แยกห้องคลอดเอสไอวีไปคลอดอีกห้องหนึ่ง ตอนนี้คนทั่วไปก็ไม่ได้อายที่จะบอกว่าฉันเป็นเอดส์ ต่อไปโควิดก็ไม่ต่างกัน”

แพทย์หญิงชัญวลีพูดถึงการรับมือกับโรคภัยไข้เจ็บโดยรวมจากการถอดประสบการณ์ในช่วงโควิด มี 3 ข้อ ดังนี้

ข้อที่ 1 ดูแลสุขภาพ

“ไม่แต่เฉพาะช่วงโควิด แต่ควรดูแลมาตั้งแต่ก่อนหน้านั้น การดูแลสุขภาพมีหลักการไม่กี่อย่าง ได้แก่ การกินอาหารครบหมู่ การพักผ่อน การกำจัดความเครียด การดูแลน้ำหนักไม่ให้อ้วนเกินไป ผอมเกินไป การตรวจเช็คสุขภาพประจำปีหรือตามช่วงอายุวัย การฉีดวัคซีน การมีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัย การดูแลสุขภาพจิต สิ่งเหล่านี้แม้เป็นเรื่องเก่า แต่ก็เป็นพื้นฐานการดูแลสุขภาพของทุกคน”

ข้อที่ 2 อย่าหลงเชื่อเฟคนิวส์

“ทุกวันนี้เฟคนิวส์ทำได้น่าเชื้อถือมาก บางข่าวบอกว่าศาสตราจารย์คนนี้พูด แต่ตัวศาสตราจารย์เองบอกว่าไม่เคยพูดเลย การจะเชื่อข่าวสารอะไรให้พิจารณาตามคำสอนของพระพุทธเจ้า ตามหลักกาลามสูตรที่บอกว่าอย่าเชื่อเพราะเขาดูน่าเชื่อถือ”

“กรณีขิง กระชายแห่ไปซื้อมาต้มกิน ทั้งที่แพทย์แผนไทยบอกว่า กระชายที่นำมารักษาโควิดเป็นการสกัดเอาสารในกระชายมาทำยา แล้วถ้าไม่ได้เป็นโควิดก็ไม่ควรกิน เพราะในพืชเหล่านี้มีสารละลายลิ่มเลือด”

“หมอเคยพบคนไข้ที่เป็นเนื้องอกในมดลูกตกเลือด เมื่อถามว่าไปทำอะไรมาเพราะอาการก่อนหน้านั้นก็ดีอยู่แล้ว เขาบอกว่ากินน้ำกระชายต้ม ขิงต้ม แล้วกินไปค่อนข้างมากด้วย”

“ถ้าดูคลิปหรือได้รับข้อมูลข่าวสารอะไรมาให้เชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่งไว้ก่อน แล้วพิจารณาว่าเป็นข้อมูลที่มาจากสถาบันวิชาการที่น่าเชื่อถือหรือไม่ ถ้าไม่แน่ใจก็โทร.ไปถามเลย มีหลายหน่วยงานที่สามารถโทร.ไปเช็กเรื่องพวกนี้ได้”

ส่วนข้อที่ 3 ป้องกันดีกว่ารักษา เป็นน้อยดีกว่าเป็นมาก

“เราอยากกลัวโควิดจนไม่ดูแลสุขภาพ บางคนช่วงโควิดตกเลือดเป็นเดือนเลย แต่ไม่ไปพบแพทย์เพราะกลัวติดโควิด อย่างนี้เป็นอันตราย หากเป็นมะเร็งมันจะลุกลาม อย่ารอให้อาการหนัก”

“ส่วนคนที่ติดแล้วอย่าทิ้งเอาไว้ ถ้าช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ก็ต้องขอความช่วยเหลือ ถ้าโรงพยาบาลนี้ช่วยไม่ได้ก็ใช้พลังสื่อโซเชียลให้เป็นประโยชน์ ลงประกาศของความช่วยเหลือ”

“สังคมจะไปรอดได้ ทุกคนต้องมีความเมตตา เอื้อเฟื้อช่วยเหลือกัน คนมีเงินช่วยคนไม่มีเงิน คนที่ยืนได้ก็ต้องช่วยคนที่ยืนไม่ได้ โรงพยาบาลที่ไม่เต็มก็ต้องช่วยโรงพยาบาลที่เต็ม”

“ปัจจุบันระบบสาธารณสุขก็ช่วยกันมาก กรุงเทพรับไม่ไหวก็กระจายออกไปต่างจังหวัด อสม.ก็มีความเมตตากรุณาปฏิบัติหน้าที่อย่างแข็งขัน ระบบสาธารณสุขไทยถือว่าดี ยังไม่ล่ม ถ้าช่วยกันคนละไม้คนละมือจะทำให้ทุกอย่างกลับมาปกติได้”

อ่านต่อตอนหน้า

นิตยสารชีวจิต ปีที่ 23 ฉบับที่ 553 เดือนตุลาคม 2564

19 November 2564

By STY/Lib

Views, 456

 

Preset Colors