02 149 5555 ถึง 60

 

มุมมองจากแพทย์แผนปัจจุบันต่อวิกฤติสุขภาพปี 2564 (ตอนที่ 6จบ)

CONVENTIONAL MEDCINE ASPECTมุมมองจากแพทย์แผนปัจจุบันต่อวิกฤติสุขภาพปี 2564 (ตอนที่ 6จบ)

MENTAL WELLBEING CONCERNสุขภาพจิตเป็นสิ่งที่ต้องใส่ใจ

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ แพทย์หญิงทานตะวัน อวิรุทธ์วรกุล อาจารย์จิตแพทย์ประจำสถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล อธิบายว่า

“มีการคาดการณ์ว่าในอนาคตปัญหาด้านสุขภาพจิตที่มีแนวโน้มสูงขึ้นคือเรื่องซึมเศร้าและฆ่าตัวตาย เพราะเมื่อคนอยู่กับเทคโนโลยีมากๆ ได้รับข้อมูลข่าวสารมากมาย ในแง่ดีคือคนมีความเฉลียวฉลาดมากขึ้น แม้อยู่ในประเทศก็สามารถเรียนรู้เรื่องราวในต่างประเทศได้โดยไม่ต้องเดินทางไปเอง”

“แต่ในแง่จิตใจ การที่ใช้ชีวิตอยู่หน้าคอมพิวเตอร์หรือมือถือเป็นเวลานานแล้วไม่ค่อยได้เคลื่อนไหวร่างกาย จะมีผลต่อสุขภาพจิตด้วย เพราะมีงานวิจัยออกมาว่า คนที่ใช้เวลาแต่ละวันกับการนั่งหน้าคอมพิวเตอร์หรือนอนบนโซฟาอยู่กับโซเชียลมีเดียไปเรื่อยๆ โดยไม่ค่อยได้เคลื่อนไหว เสี่ยงเกิดภาวะซึมเศร้าได้ง่ายกว่าคนทั่วไปหรือถ้าเป็นแล้วก็มีแนวโน้มว่าจะหายช้ากว่าคนทั่วไป”

“จริงๆ ธรรมชาติของมนุษย์รู้สึกดีเมื่อมีความสะดวกสบาย และเมื่อทุกอย่างมันอยู่ในมือเรา คือสามารถทำโน้นทำนี่ได้ผ่านทางมือถือเราเลยสามารถอยู่คนเดียว เบื่อก็ท่องโลกโซเชียล และโลกโซเชียลก็มีเนื้อหาที่น่าสนุกน่าสนใจตอบสนองเราได้มากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้เวลาที่ใช้กับเพื่อนๆ ในชีวิตจริงลดลง เช่น เมื่อก่อนต้องออกไปหาเพื่อนเล่นด้วย วิ่งเล่นกัน แต่เดี๋ยวนี้เด็กๆ ไม่ต้องหาเพื่อนเล่นมาวิ่งเล่นด้วยกันอีกแล้ว แค่มีไอแพ็ดก็อยู่คนเดียวได้”

“แต่ถ้ามองในมุมกลับกัน พฤติกรรมการดำเนินชีวิตแบบนี้จะทำให้ทักษะบางอย่างของความเป็นมนุษย์ลดลงได้ เช่น ทักษะการสื่อสาร ทักษะสร้างความสัมพันธ์ ทักษะความอดทน ทักษะการปรับตัวเพื่ออยู่กับคนอื่นได้ เป็นต้น”

อย่างไรก็ตาม ครอบครัวเป็นรากฐานที่สำคัญที่สุดของสุขภาพจิต แม้ว่าสถานการณ์ภายนอกอาจมีตัวแปรมากมาย แต่ถ้าครอบครัวมีความรักความผูกพัน มันก็ยังสร้างความเป็นมนุษย์ที่มีความรักความเอื้ออาทร รากฐานของจิตใจที่มีคุณภาพจะเริ่มที่ 6 ขวบแรกของชีวิต ถ้า 6 ขวบแรกคุณพ่อคุณแม่ดูแลให้ความรักความอบอุ่น ให้เขาได้เติบโตอย่างเหมาะสม เด็กก็จะมีพื้นฐานคุณภาพใจที่ดีไว้แล้ว”

ถ้าครอบครัวมีความรักความเมตตา ใส่ใจเอื้ออาทร เด็กก็จะได้รูปแบบที่ดีติดตัวไป แต่ถ้าในครอบครัวทุกคนมีไอแพ็ด ลูกก็เล่นไป แม่ก็เล่นของแม่ พ่อก็เล่นของพ่อ ทุกคนหายไปอยู่ในโลกของตัวเองกันหมด ครอบครัวก็ขาดปฏิสัมพันธ์กัน ดังนั้นพ่อแม่ควรหาเวลาทำกิจกรรมร่วมกัน เช่น ชวนลูกมาทำความสะอาดบ้าน ทำกับข้าว ปลูกต้นไม้ด้วยกัน เด็กรวมทั้งพ่อแม่ก็จะได้ออกจากโซเชียลมีเดียบ้าง และได้หันมาพูดคุย ทำกิจกรรมที่สร้างสรรค์ต่อจิตใจและการใช้ชีวิตร่วมกัน”

ทั้งนี้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ แพทย์หญิงทานตะวันได้ให้คำแนะนำเทคนิคการดูแลสุขภาพจิตไว้ 6 ข้อ ดังนี้

ข้อที่ 1 การเคลื่อนไหวร่างกาย

แม้ว่าปัจจุบันวิทยาการทางการแพทย์จะช่วยให้คนเรามีอายุยืนยาวขึ้น อย่างไรก็ตาม การเคลื่อนไหวร่างกายยังเป็นสิ่งจำเป็นที่จะทำให้ร่างกายและจิตใจแข็งแรง

“ถ้าไม่ค่อยเคลื่อนไหวร่างกายจะทำให้หลับยาก มันมีผลเชื่อมโยงกันไปหมด พอพระอาทิตย์ขึ้นปุ๊บ นั้นเป็นสัญญาณตื่นว่าร่างกายควรมีการเคลื่อนไหว ทุกครึ่งชั่วโมงหรือหนึ่งชั่วโมง อย่างน้อยลุกขึ้นมาเดินไปมาสักนาทีก็ยังดี”

ข้อที่ 2 ออกกำลังกายทุกวัน

คนในปัจจุบันเคลื่อนไหวต่ำกว่าที่ร่างกายต้องการค่อนข้างมาก เพราะฉะนั้นการได้ออกกำลังกายก็ช่วยการเคลื่อนไหวร่างกายไปด้วยนั่นเอง ควรออกกำลังกายอย่างน้อยวันละ 30 นาที หรือสัปดาห์ละ 150 นาที และไม่ควรออกกำลังกายหลังสองทุ่ม เพราะจะทำให้นอนไม่หลับ

ข้อที่ 3 การมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น

หมายถึงไม่ใช่แค่พูดคุยกันในโซเชียล แต่พบปะเห็นหน้ากันด้วย การมีปฏิสัมพันธ์กับคนจริงๆ ไม่เหมือนกับการมีปฏิสัมพันธ์ทางออนไลน์

“ยกตัวอย่างกรณีนักศึกษาแพทย์ปี 1 ที่เพิ่งเข้ามาเรียนมหาวิทยาลัยแล้วต้องเรียนออนไลน์ เรียนด้วยกันมาเป็นปีแล้วยังไม่รู้จัก ไม่รู้ว่าเพื่อนชื่ออะไร จำหน้าเพื่อนไม่ได้ ความสัมพันธ์ก็ไม่ดี บางทีรู้สึกไม่ชอบเขาโดยที่ยังไม่รู้จักกัน ทั้งๆ ที่การเป็นนักศึกษาปี 1 เป็นช่วงเวลาแห่งความสุขที่เราจะได้จดจำการอยู่กับเพื่อนใหม่ๆ ถึงแม้ไม่สนิทกัน แต่อย่างน้อยก็ยังสู้สึกว่าเป็นเพื่อนคณะเดียวกัน”

“ช่วงโควิดที่ไม่สามารถพบปะกันได้บ่อยๆ ก็พอเข้าใจได้ แต่ถ้าผ่านยุคโรคระบาดไป แล้วการใช้ชีวิตยังคงเป็นแบบนี้ คือใช้เวลาส่วนใหญ่ของชีวิตแต่ละวันบนโลกโซเชียล จะส่งผลให้ความผูกพัน เห็นใจเพื่อนมนุษย์ที่มีต่อกันอาจลดลงไปด้วย”

ข้อที่ 4 ใช้สื่อออนไลน์ให้เป็นและพอดี

“ถ้าไม่ใช่คนที่ทำงานเกี่ยวข้องกับสื่อออนไลน์โดยตรง แนะนะว่าไม่ควรใช้เกินวันละ 2 ชั่วโมง เพราะถ้ามั่วแต่อยู่กับออนไลน์ พอมีข้อมูลก็เข้าไปอ่าน พออ่านก็อิน เดี๋ยวก็มีข้อมูลใหม่เข้ามาอีกวุ่นวายไปหมด ไม่รู้อันไหนจริงอันไหนเท็จ จิตเราก็ไม่สงบ ฉะนั้นจึงควรเอาตัวเองออกจากออนไลน์แล้วไปทำอย่างอื่น จิตมันก็จะสงบเอง”

“การเสพสื่อออนไลน์เราอาจคิดว่าเป็นความบันเทิง แต่จริงๆ แล้วสมองเรามีการเก็บข้อมูลตลอดเวลา สมองก็ล้า ร่างกายก็เครียด หัวใจก็ต้องทำงานหนักอยู่ตลอด ถ้ามีเวลาว่างควรใช้เวลาไปทำกิจกรรมอื่นๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพกายสุขภาพใจ และสร้างสรรค์กับชีวิตเรามากขึ้น”

ข้อที่ 5 ไปพบแพทย์เมื่อมีปัญหาสุขภาพจิต

“โรคทางจิตเวชหลายโรคเกิดจากสารชีววิทยาในสมองเสียสมดุล ไม่ใช่ว่าเราเป็นคนอ่อนแอหรือคนไม่ดีจึงเป็นโรคซึมเศร้า การไปพบแพทย์จึงเป็นเรื่องจำเป็น เพื่อปรับสารในสมองของเราให้เป็นปกติ จะได้กลับมาชีวิตได้เหมือนคนทั่วไป”

“ผู้ที่มาพบแพทย์เพื่อปรึกษาหรือรักษาตามกระบานการเป็นสิ่งที่ถูกต้องเพราะวิธีนี้เป็นการดูแลตัวเองที่ถูกวิธี จะช่วยให้ปัญหาที่หนักกลายเป็นปัญหาที่เบาลงได้ ยิ่งบางคนอาจเพิ่งเป็นเพียงเล็กน้อย การมาพบแพทย์แต่เนินๆ ช่วยแก้ปัญหาให้จบได้เร็ว”

“ส่วนยาที่นำมาใช้ในการรักษาโรคที่เกี่ยวกับอาการทางจิต ปัจจุบันก็มียาใหม่ๆ ที่เหมาะสมกับผู้ป่วยมากขึ้น มีผลข้างเคียงน้อยลง และขณะนี้ประเทศไทยยังเปิดกว้างในการนำเทคนิคการใช้จิตบำบัดที่หลากหลายมาปรับใช้”

ข้อที่ 6 กิจกรรมและตัวช่วยอื่นๆ ที่ทำให้สุขภาพจิตดี

“ปัจจุบันประเทศไทยมีกิจกรรมกลุ่ม Self Develop ment ซึ่งช่วยส่งเสริมการเจริญเติบโตด้านใน (จิตใจ) มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นดนตรีบำบัด ศิลปะบำบัด หรืออย่างที่สวนโมกข์ กรุงเทพฯ จัดอยู่เป็นประจำ กิจกรรมเหล่านี้เป็นการเพิ่มภูมิคุ้มกันจิตใจ เพิ่มทักษะในการรับมือกับความทุกข์ ความเครียด เป็นการลดความเสี่ยงที่จะเจ็บป่วยทางใจลงได้”

“นอกจากนั้นยังมีการนำเทคโนโลยีมาใช้ให้เป็นประโยชน์มากขึ้น เช่น มีแอพเพื่อให้ประเมินตนเองในเบื้องต้นว่าอารมณ์แบบนี้เสี่ยงมีอาการซึมเศร้ามากน้อยแค่ไหน และควรไปพบแพทย์หรือยัง”

นิตยสารชีวจิต ปีที่ 23 ฉบับที่ 553 เดือนตุลาคม 2564

22 November 2564

By STY/Lib

Views, 1202

 

Preset Colors