ฟ้าทะลายโจร ความมั่นคงทางยา กู้วิกฤติสุขภาพระดับชาติ (ตอนที่ 2 จบ)
ฟ้าทะลายโจร ความมั่นคงทางยา กู้วิกฤติสุขภาพระดับชาติ (ตอนที่ 2 จบ)
จากธรรมชาติสู่ตำรับยา เรื่องโดย... กนกกาญจน์ เอี่ยมสะอาด
คำแนะนำการใช้ฟ้าทะลายโจรสำหรับการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) จากกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เปิดเผยเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2564
ฟ้าทะลายโจรกับโรคติดเชื้อโควิด-19
ฟ้าทะลายโจรเป็นยาแผนไทยในบัญชียาหลักแห่งชาติ พ.ศ.2542, 2549 ใช้บรรเทาอาการหวัด ไอ และท้องเสีย สาระสำคัญที่ออกฤทธิ์คือสารแอนโดรกราโฟไลด์ (Andrographolide) และอนุพันธ์ เป็นยาที่ใช้กันมานานในรูปแบบสมุนไพร และมีการวิจัยในฐานะเป็นสารสกัดแอนโดรกราโฟไลด์ที่มีฤทธิ์ยับยั้งไวรัสชนิดต่างๆ นานกว่า 10 ปี รวมทั้งมีการวิจัยหาขนาดยาและผลข้างเคียงจากการใช้ยา
เมื่อเกิดการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้มีการวิจัยในปี 2563 พบว่า ฟ้าทะลายโจรมีฤทธิ์ยับยั้งการเพิ่มจำนวนของไวรัสในเซลล์เนื้อเยื่อ ข้อมูลเบื้องต้นของการใช้ในคนที่ติดเชื้อ พบว่า มีผลข้างเคียงน้อย และชี้แนะว่ามีประโยชน์ในการช่วยรักษาผู้ที่มีอาการไม่รุนแรง
ปัจจุบันพบว่าฟ้าทะลายโจรมี 3 กลไกที่เกี่ยวข้องในการรักษาโรคติดเชื้อโควิด-19 คือ
1. การยับยั้งการเพิ่มจำนวนของไวรัส (Virostatic)
2. ลดการอักเสบ ซึ่งมีผลในการลดไข้ ลดอาการหวัด ไอ เจ็บคอ
3. ปรับภูมิคุ้มกัน
ผลิตภัณฑ์ยาฟ้าทะลายโจรเหมาะกับ
① ผู้ที่ได้รับการตรวจยีนยันว่ามีการติดเชื้อโควิด-19
1.1 ผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการ
1.2 ผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง ไม่มีปอดอักเสบ ไม่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรครุนแรงและไม่มีโรคร่วมสำคัญ
1.3 ผู้ป่วยที่ยังต้องรอการรับเข้าโรงพยาบาลเพื่อรับการรักษาเป็นระยะเวลานานเป็นวัน และไม่มีข้อห้ามต่อการใช้ฟ้าทะลายโจร
② ผู้สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อที่มีความเป็นไปได้สูงที่จะติดเชื้อ แต่ต้องรอการตรวจยืนยันเป็นระยะเวลานาน ให้พิจารณาเช่นเดียวกับข้อ ①
ขนาดยาที่แนะนำให้ใช้ใน “กรณีที่ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019” แนะนำให้ใช้ยาฟ้าทะลายโจรที่มีแอนโดรกราโฟไลด์ไม่น้อยกว่า 180 มิลลิกรัมต่อวัน เป็นเวลา 5 วัน
1. สารสกัดฟ้าทะลายโจรชนิดแคปซูลที่มีสารแอนโดรกราโฟไลด์ไม่น้อยกว่า 20 มิลลิกรัมต่อแคปซูล ให้กินครั้งละ 3 แคปซูล วันละ 3 ครั้ง ก่อนอาหารเช้า กลางวัน และเย็น เป็นเวลา 5 วัน
2. ยาจากสมุนไพร (ระบุขนาดที่ฉลากยา) เช่น ขนาด 400 มิลลิกรัมต่อแคปซูล มีสารแอนโดรกราโฟไลด์ไม่น้อยกว่า 3 เปอร์เซ็นต์ ให้กินครั้งละ 4 แคปซูล วันละ 3 ครั้ง ก่อนอาหารเช้า กลางวัน และเย็น เป็นเวลา 5 วัน
3. ยาแผนโบราณ (ระบุขนาดที่ฉลากยา) เช่น ขนาด 500 มิลลิกรัมต่อแคปซูล มีสารแอนโดรกราโฟไลด์ประมาณ 7 มิลลิกรัมต่อแคปซูล ให้กินครั้งละ 9 แคปซูล วันละ 3 ครั้ง ก่อนอาหารเช้า กลางวัน และเย็น เป็นเวลา 5 วัน
4. ผลิตภัณฑ์จากฟ้าทะลายโจรอื่นๆ ต้องศึกษาให้ดีก่อนใช้ ดังนั้นจำเป็นต้องมีใบรายงานผลการตรวจวิเคราะห์ปริมาณสารสำคัญแอนโดรกราโฟไลด์ ในผลิตภัณฑ์ยาฟ้าทะลายโจรที่ใช้ในโรงพยาบาล
ข้อพึงตระหนัก
1. เนื่องจากยาฟ้าทะลายโจรมีฤทธิ์ยับยั้งการเพิ่มจำนวนของไวรัสในเซลล์ แล้วร่างกายกำจัดเอง จึงจะได้ผลดีขึ้นเมื่อให้ยาเร็ว ในขณะที่เป็นการติดเชื้อระยะต้นและเชื้อยังน้อย ร่วมกับให้ผู้ติดเชื้อได้พักผ่อนและดูแลสุขภาพได้ดี หากจะใช้กับผู้ที่มีอาการหนัก ควรพิจารณาใช้ร่วมกับยาอื่น
2. ใช้ในกรณีที่ติดเชื้อแล้ว ไม่ใช้ในการป้องกันการติดเชื้อ เพราะยานี้ไม่ป้องกันการที่เชื้อจะเข้าเซลล์ก่อนการติดเชื้อ
3. กรณีที่ใช้รักษาอาการไข้ หวัด ไอ เจ็บคอ ที่เกี่ยวข้องกับการยับยั้งการเพิ่มจำนวนไวรัสให้ใช้ขนาดยาน้อยกว่านี้
4. ขณะนี้ถือเป็นยาที่ใช้เป็นกรณีฉุกเฉิน โดยมีข้อมูลเบื้องต้นในระดับที่ให้ความเชื่อมั่นพอควร เช่นเดียวกับยาฟาวิพิราเวียร์ ประกอบกับเป็นยาที่มีความปลอดภัยสูง ประเทศไทยผลิตได้เอง มีปริมาณให้ใช้เพียงพอ และข้อมูลเบื้องต้นแสดงว่ามีประโยชน์ จึงสมควรพิจารณาใช้และช่วยกันรวบรวมข้อมูลต่อไป
ข้อจำกัด
ผู้ป่วยเด็ก ไม่มีข้อมูลขนาดยาเพียงพอที่จะแนะนำให้ใช้ในผู้ป่วยเด็กที่ติดเชื้อโควิด-19
ข้อห้าม : ห้ามใช้ในกรณีต่อไปนี้
1. ผู้ที่แพ้ฟ้าทะลายโจร
2. หญิงตั้งครรภ์/อาจจะตั้งครรภ์/หญิงที่กำลังให้นมบุตร เพราะอาจทำให้เกิดทารกผิดรูปได้ (Teratogenic)
3. ห้ามใช้ฟ้าทะลายโจรสำหรับแก้เจ็บคอในกรณีที่เกี่ยวข้องกับการติดเชื้อในลำคอจากแบคทีเรีย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Streptococcus group A และผู้ป่วยโรคหัวใจรูห์มาติก
ข้อควรระวัง
1. หากใช้ติดต่อกันเป็นเวลานานเกินที่แนะนำอาจทำให้แขนขามีอาการชาหรืออ่อนแรง
2. ควรระวังการใช้ร่วมกับสารกันเลือดเป็นลิ่มและยาต้านการจับตัวของเกล็ดเลือด
3. ควรระวังการใช้ร่วมกับยาลดความดันเลือดเพราะอาจเสริมฤทธิ์กันได้
4. ควรระวังการใช้ร่วมกับยาที่กระบวนการเมแทบอลิซึมผ่านเอนไซม์ Cytochrome P450 (CYP 450) เนื่องจากฟ้าทะลายโจรมีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ CYP 1A2, CYP 2C9, และ CYP 3A4
อาการไม่พึงประสงค์พบได้น้อยมาก อาจทำให้เกิดอาการปวดท้อง ท้องเดิน คลื่นไส้ เบื่ออาหาร วิงเวียนศีรษะ ใจสั่น และอาจเกิดลมพิษได้
นิตยสารชีวจิต ปีที่ 24 ฉบับที่ 555 เดือนพฤศจิกายน 2564
16 December 2564
By STY/Lib
Views, 1909