02 149 5555 ถึง 60

 

โทสะ...ทำให้ป่วย

โทสะ...ทำให้ป่วย

ธรรมะสบายใจ เรื่องโดย... พระวรท ธมุมธโร วัดญาณเวศกวิน

ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่า กิเลสที่เรียกว่าโทสะไม่ได้มีแต่ความโกรธอย่างเดียว ความเศร้าเสียใจก็เป็นโทสะ ความกลัวก็เป็นโทสะ สรุปแล้วตระกูลโทสะมีอาการหลักๆ คือ ความโกรธ ความเศร้า และความกลัว

ถ้าเรามาวิเคราะห์กัน อารมณ์ความรู้สึกทั้งสามตัวนี้เกิดจากความไม่ต้องการอะไรบางอย่าง ไม่ชอบใจอะไรบางอย่าง เป็นการปฏิเสธอารมณ์ที่มากระทบ เมื่อเรารู้สึกโกรธแสดงว่าเราไม่ชอบใจสิ่งนั้น ไม่อยากให้สิ่งนั้นเกิดขึ้นกับเรา ไม่อยากเห็นหน้าคนคนนี้ ไม่อยากให้ใครมาพูดจาไม่ได้ด้วย เป็นลักษณะอาการไม่อยากได้ ไม่อยากมี ไม่อยากรับ ไม่เอาด้วย

ความเสียใจก็เช่นกัน เวลาเสียใจมันบ่งบอกถึงความเจ็บปวด ความผิดหวัง อย่างเวลาที่เรารักใครสักคน ก็ไม่อยากให้เขาทิ้งเราไปหรือทำให้เราเสียใจ ไม่อยากให้คนที่เรารักต้องจากไป ไม่อยากให้สิ่งของที่เรารักถูกขโมยหรือหายไป มันเป็นลักษณะของจิตที่ไม่ต้องการให้บางสิ่งบางอย่างเกิดขึ้น

ส่วนความกลัว เวลาที่เรากลัวอะไรแสดงว่าเราไม่ชอบสิ่งนั้น เช่น กลัวแมลงสาบ กลัวตุ๊กแก กลัวผี กลัวโจร กลัวคนโรคจิต หรือแม้แต่กลัวตาย ทุกอย่างที่เรากลัวเป็นเพราะเราไม่อยากให้มันเกิดขึ้น ปรากฏขึ้น ไม่ว่าในสภาพไหน

โทสะทำให้ป่วยอย่างไร

ลักษณะจิตที่มีโทสะคือความรู้สึกที่เรียกว่าโทมนัส แปลเป็นภาษาไทยง่ายๆ ว่าความทุกข์ใจไม่สบายใจนั้นเอง มันมีลักษณะของความบีบคั้น ความรุ่มร้อน ลองสังเกตดูเวลาที่เราโกรธเป็นฟืนเป็นไฟ ตัวเราจะร้อน บางคนจะรู้สึกว่าร้อนผ่าวไปหมดทั้งตัว

ตามหลักพุทธศาสนา จิตใจเป็นอย่างไร ร่างกายก็จะได้รับผลกระทบอย่างนั้น เป็นเหตุเป็นปัจจัยสืบเนื่องเชื่อมโยงกัน หากจิตมีสภาพเย็น กายก็จะเย็น หากจิตมีสภาพรุ่มร้อน กายก็ร้อนตาม ปกติร่างกายของคนมีกระบวนการดูแลตนเองตามธรรมชาติอยู่แล้ว เช่น เมื่อมีเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย ระบบภูมิคุ้มก้นก็จะสร้างเม็ดเลือดขาวออกมาต่อสู้กับเชื้อโรค เราจึงรู้สึกตัวร้อน เป็นไข้ อ่อนเพลีย นั้นเป็นสัญญาณที่ร่างกายบอกว่าต้องพักผ่อนนอนเยอะๆ เพื่อให้ระบบต่างๆ เยียวยาตนเอง

เวลาที่เรามีโทสะเหมือนกับเราจุดไฟเผาตัวเอง ทำให้ร่างกายร้อนผิดปกติ สมองหลั่งสารแห่งความเครียด ระบบการไหลเวียนโลหิต อัตราการเต้นของหัวใจ ระบบย่อยอาหาร ทุกอย่างผิดปกติไปหมด บางคนก็หมดพลังไปเลย บางคนหลังจากทะเลาะแล้วโกรธจัดๆ จะรู้สึกอ่อนเพลีย ไม่มีอารมณ์จะทำอะไร บงคนก็หิว ต้องกินน้ำกินอาหารเพราะเสียพลังงานไปกับการด่าทอ ทะเลาะกัน

คนที่เกิดโทสะ อย่างคนที่กำลังโมโห ไปนอนก็นอนไม่หลับ หรือคนที่กำลังเศร้าเสียใจเพราะศูนย์เสียบางสิ่งบางอย่างไป นอนเท่าไหร่ก็นอนไม่หลับ เมื่อนอนไม่พอหลายวันก็ส่งผลต่อร่างกายให้ค่อยๆ ทรุดโทรมลงไปเรื่อยๆ กลายเป็นเปิดช่องให้โรคภัยไข้เจ็บถามหา

อย่างไรก็ตาม คนขี้โมโหยังมีข้อดีคือ เมื่อรู้สึกโกรธ มันจะคลายได้เร็ว แต่ที่น่ากลัวกว่าคือโทสะที่เป็นความเศร้า บางคนถอนตัวจากความเศร้าไม่ได้ มันเศร้าไปเรื่อยๆ ไม่รู้จบจึงเป็นเหมือนไฟอ่อนๆ ที่ค่อยๆ เผาทำลายร่างกายไปเรื่อยๆ โดยที่เราไม่รู้ตัว อย่างที่บางคนกลายเป็นโรคซึมเศร้า

สำหรับความกลัวนั้นมีหลายมิติ มันรวมถึงความวิตกกังวล บางคนคิดอยู่ตลอดเวลาว่าฉันจะตายไหม ทั้งๆ ที่สุขภาพก็ดีแถมดูแลตัวเองดีมาก บางคนกลัวลูกไม่รัก กลัวคนในบ้านจากไป กลัวว่าเราต้องจากกัน กลัวไม่มีเงิน เมื่อกลัวมากก็กังวลมาก กังวลมากก็คิดมาก คิดมากก็เครียดมาก กลายเป็นความทุกข์ ความไม่สบายใจ มันเชื่อมโยงกันเป็นลูกโซ่ เมื่อใจทุกข์ กายจึงทุกข์ไปด้วย

เทคนิคป้อนกันโทสะ

วิธีเบื้องต้นคือการเจริญสติอยู่กับปัจจุบัน เราต้องเข้าใจว่า ความโกรธ ความเศร้า ความกลัว พวกนี้เกิดจากความคิดปรุงแต่งของเรา เพราะในขณะนั้นจิตของเราไม่มีสติ เป็นจิตที่มีสภาพเป็นอกุศล มีลักษณะที่ไม่ดีงาม คิดลบกับชีวิต คิดลบกับคนรอบข้าง ถ้าเราปล่อยให้จิตคิดอกุศลไปเรื่อยๆ ก็จะเกิดความเครียดทางใจ เมื่อเราจัดการกับความเครียดทางใจไม่ได้ ก็จะส่งผลร้อยต่อร่างกายตามมา

ดังนั้นวิธีที่จะทำให้ความคิดลบของเราสะดุดหยุดลง ขั้นแรกคือ การเจริญสติ กลับมามีสติอยู่กับปัจจุบัน โดยอาจมีสติอยู่กับลมหายใจเข้าออก มีสติอยู่กับอิริยาบถ ยืน เดิน นั่ง นอน หรือมีสติอยู่กับงานตรงหน้าก็ได้ เช่น มีสติจดจ่ออยู่กับการปลูกต้นไม้ การทำกับข้าว อ่านหนังสือ ทำความสะอาดบ้าน หรือแม้แต่การพิมพ์เอกสารหรือรายงานอะไรก็ได้ มันเป็นการดึงจิตให้กลับมาจดจ่ออยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งในปับบุบันขณะ หรืออย่างน้อยที่สุดก็ทำให้เราลืมความคิดที่ก่อให้เกิดโทสะไป

อย่างไรก็ตาม การมีสติเป็นเพียงจุดเริ่มต้น เพราะทุกครั้งที่เรามีสติกลับมาอยู่กับปัจจุบัน มันเป็นการถอนจากความคิดฟุ้งซ่านอย่างที่ได้กล่าวไป ถ้าเราไม่กลับมาอยู่กับปัจจุบัน จิตของเราจะไหลไปตามความคิดลบต่างๆ แต่การมีสติอย่างเดียวยังไม่พอ เพราะการมีสติไม่ได้หมายความว่าจะมีปัญญาเสมอไป

ดังนั้นกระบวนการต่อมาคือ เราต้องพัฒนาปัญญา ซึ่งมี 3 ระดับ

การพัฒนาปัญญาขั้นต้น เป็นการพัฒนาปัญญาจากการฟัง การอ่าน อาจเป็นการอ่านหนังสือธรรมะ ฟังวิทยุพ็อดแคสต์ที่เกี่ยวกับธรรมะ หรือฟังคนที่มีองค์ความรู้ดีๆ ก็ถือเป็นการสร้างความรู้ สร้างปัญญาขิองเราในเบื้องต้น

การพัฒนาปัญญาในละดับต่อมา เรียกว่าเป็นปัญญาที่เกิดจากการคิดพิจารณาด้วยตนเอง โดยการนำเอาความรู้ที่ได้จากการฟัง การอ่าน ที่เป็นปัญญาตัวแรกมาคิดใคร่ครวญ ทำความเข้าใจด้วยตัวเอง เพื่อให้เราเกิดความเข้าใจที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้น

สำหรับ การพัฒนาปัญญาระดับที่สาม เป็นการพัฒนาปัญญาที่เกิดจากการภาวนา การเจริญกรรมฐาน เป็นปัญญาที่เกิดจากการมรสติในการสังเกตร่างกายและจิตใจของเรา ให้เห็นว่ามันบังคับอะไรไม่ได้เลยนะ ร่างกายและจิตใจคนเราต้องเปลี่ยนแปลงไปเป็นธรรมดา ปัญญาระดับนี้เพื่อรู้เข้าใจชีวิตตามความเป็นจริง

คนที่มีปัญญา ดำเนินชีวิตอยู่บนพื้นฐานของปัญญา จะสามารถวางจิตวางใจเป็นกลางต่อสิ่งนั้นๆ เมื่อพบคนไม่ดีก็จะให้อภัยได้ ไม่ถือสา เมื่อมีเหตุการณ์สูญเสียคนรักหรือถูกคนรักทำร้ายจิตใจ ก็ไม่ปล่อยใจให้จมอยู่กับความทุกข์ แต่จะมองว่าสิ่งต่างๆ เป็นเรื่องธรรมชาติ มีพบพานก็มีจากลา เมื่อเขาไปเจอคนใหม่ก็เป็นเรื่องธรรมดาที่ต้องจากกัน คนมีปัญญาจะไม่กลัวตาย เพราะรู้ว่าคนเราเกิดมาก็ต้องเกิด แก่ เจ็บ ตาย

คนมีปัญญาเป็นคนทุกข์ใจยาก มีใจผ่องใสเบิกบานอยู่ตลอดเวลา จึงมีกำลังใจในการดูแลตนเอง ทั้งเรื่องการกินอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ นอนหลับง่าย ร่างกายสามารถรักษาสมดุล ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยที่จะไม่เจ็บป่วยง่ายๆ นั้นเอง☯

นิตยสารชีวจิต ปีที่ 24 ฉบับที่ 555 เดือนพฤศจิกายน 2564

24 December 2564

By STY/Lib

Views, 5685

 

Preset Colors