02 149 5555 ถึง 60

 

ทำอย่างไร...ให้ปอดแข็งแรง

ทำอย่างไร...ให้ปอดแข็งแรง

คนไข้หัวเราะ คุณหมอที่รัก เรื่องโดย... นพ.สุรชัย ปัญญาพฤทธิ์พงศ์

ในสถานการณ์โรค โควิด-19 ระบาด ความน่ากลัวของโรคนี้คือ เชื้อไวรัสลงปอด ทำให้ปอดอักเสบ เกิดปัญหากับระบบทางเดินหายใจ คนไข้เกิดภาวะพร่องก๊าซออกซิเจนต้องได้รับการรักษาด้วยก๊าซออกซิเจนในรายที่อาการรุนแรงมาก ต้องเข้ารับการรักษาใน ไอซียู ใส่ท่อช่วยหายใจ และใช้เครื่องช่วยหายใจ

ภาวะการหายใจล้มเหลว เป็นสาเหตุการตายที่สำคัญของโรคโควิด-19

คนไข้ที่ได้รับการรักษาจนหาย หลายรายยังคงมีรอยโรคหลงเหลืออยู่ที่ปอด ทำให้สมรรถภาพการทำงานของปอดลดลง ถึงจะรอดตายแต่คุณภาพชีวิตไม่เหมือนเดิม

หน้าที่ของปอด

ปอดทำหน้าที่สำคัญ ได้แก่

1. การฟอกอากาศ เพื่อให้ร่างกายได้รับก๊าซออกซิเจนเข้าสู่กระแสเลือดไปเลี้ยงเซลล์ต่างๆ ของร่างกาย และรับเอาก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ขับออกทางลมหายใจ

2. การเป็นภูมิคุ้มกันของร่างกาย ในเนื้อเยื่อหุ้มปอด มีเม็ดเลือดขาวทำหน้าที่ทำลายเชื้อโรคและสิ่งแปลกปลอม ที่เข้ามาทางเดินหายใจ

3. การป้องกันร่างกายจากสารอนุมูลอิสระ เนื่องจากการหายใจเข้าออกทำให้เกิดอนุมูลอิสระขึ้นในร่างกาย อนุมูลอิสระเป็นของเสียที่เกิดจากกระบวนการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย และทำลายระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายให้อ่อนแอ

สมรรถภาพของปอด

ปอดที่มีสมรรถภาพดี มีความแข็งแรง มีความจุมาก ทำให้ระบบการหายใจดี ส่งผลให้ระบบการไหลเวียนของร่างกายดี เซลล์และเนื้อเยื่อต่างๆ ของร่างกายได้รับออกซิเจนอย่างทั่วถึงเพียงพอ อวัยวะต่างๆ ทำงานได้อย่างเต็มที่ เป็นคนมีสุขภาพดี

ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ความจุของปอดลดลง คืออายุ

- ชายอายุ 17-19 ปี มีความจุปอดสูงสุด 57.6 มิลลิลิตรต่อกิโลกรัมน้ำหนักตัว แต่เมื่ออายุ 60-69 ปี ความจุปอดลดเหลือ 39 มิลลิลิตรต่อกิโลกรัมน้ำหนักตัว

- หญิงอายุ 17-19 ปี มีความจุปอดสูงสุด 45.6 มิลลิลิตรต่อกิโลกรัมน้ำหนักตัว แต่เมื่ออายุ 60-69 ปี ความจุปอดลดเหลือ 31 มิลลิลิตรต่อกิโลกรัมน้ำหนักตัว

คนที่เป็นโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจและโรคประจำตัวอื่นๆ ที่มีผลต่อปอด ส่งผลให้สมรรถภาพการทำงานของปอดลดลง

คนติดเชื้อโควิด-19 ที่มีอาการรุนแรง เข้าสู่ภาวะวิกฤต และเสียชีวิต จึงมักเป็นผู้สูงอายุ และมีโรคเรื้อรัง

การดูแลรักษาปอดให้ดี มีความแข็งแรง และมีสมรรถภาพในการทำงานดีจึงเป็นเรื่องสำคัญ เพื่อให้ปอดสามารถต่อสู้กับโรคร้ายได้

การทำปอดให้แข็งแรง

ปอดเป็นอวัยวะที่สามารถฝึกฝนให้มีความแข็งแรง และมีสมรรถภาพในการทำงานที่ดีได้ โดยการปรับพฤติกรรม และทำกิจกรรมบางอย่างที่ทุกความสามารถปฏิบัติได้

1. การบริหารปอด

การบริหารปอดทำง่ายๆ โดย...

การหายใจเข้า ทางจมูกช้าๆ ลึกๆ ให้มีอากาศเข้าปอดมากที่สุด กลั้นไว้สักพักประมาณ 3-5 วินาที หรือเท่าที่กลั้นหายใจได้สบายๆ แล้วหายใจออกช้าๆ ให้อากาศออกจากปอดมากที่สุด แล้วเริ่มหายใจเข้าใหม่

การหายใจออก อาจหายใจออกทางปากโดยห่อริมฝีปากทำปากจู๋ แล้วเป่าลมออกช้าๆ

การหายใจออกทางปากวิธีนี้ ทำให้เกิดแรงดันและแรงต้านกลับเข้าไปยังท่อทางเดินหายใจ เกิดการขยายตัวของถุงลมในปอด และมีปริมาณลมค้างในปอดเพิ่มขึ้น เกิดการแลกเปลี่ยนก๊าซได้ดีขึ้น

การบริหารปอดโดยการหายใจเข้าและออกนี้สามารถทำได้ ทุกเวลา ทุกสถานที่ ทำได้บนเตียงในท่านอน ก่อนนอน ตื่นนอน ทำได้ในท่านั่ง ขณะพักผ่อน ขณะทำงาน ทำได้ในขณะยืน หรือกำลังเดิน

1.1 การหายใจด้วยกะบังคม

ใช้ฝ่ามือสองข้างแนบที่หน้าท้อง หายใจเข้าช้าๆ ลึกๆ ให้พุงป่อง แล้วหายใจออกช้าๆ ให้พุงยุบ ทำ 5-10 ครั้ง

1.2 การหายใจด้วยชายโครง

ใช้ฝ่ามือสองข้างแนบชายโครงซ้ายและขวา หายใจเข้าช้าๆ ลึกๆ ให้ชายโครงบานออก แล้วหายใจออกช้าๆ ให้ชายโครงหุบเข้า ทำ 5-10 ครั้ง

1.3 การหายใจพร้อมการเคลื่อนไหวทรวงอก

หายใจเข้าช้าๆ ลึกๆ พร้อมกับกางแขนทั้งสองข้างขึ้นเหนือศีรษะหายใจออกช้าๆ พร้อมกับปล่อยแขนลงแนบลำตัว ทำซ้ำ 5-10 ครั้ง

อาจเปลี่ยนท่าของแขนได้หลายท่า เช่น กางแขนออก 2 ข้างระดับไหล่ แล้วแขนลงแนบลำตัว อาจเคลื่อนไหวลำตัวร่วมด้วย เช่น เอี้ยวตัวไปทางซ้าย เอี้ยวตัวไปทางขวา

1.4 เดินแกว่งแขนพร้อมกับหายใจเข้าออกช้า

1.5 ยืนซอยเท้าอยู่กับที่

โดยพยายามยกเข่าให้สูงที่สุดเท่าที่ทำได้ พร้อมหายใจเข้าออกช้าๆ หากทำในท่านอนใช้วิธีปั่นจักรยานในอากาศ

1.6 ทำกิจกรรมต่างๆ โดยการออกเสียง

เช่น การร้องเพลง กาสรสวดมนต์ การอ่านหนังสือ รวมทั้งการหัวเราะ

2. การออกกำลังกาย

การออกกำลังกายที่ดี ได้แก่ การออกกำลังกายแบบแอโรบิก เช่น การเดินเร็ว วิ่ง ปั่นจักรยาน ว่ายน้ำ เต้นแอโรบิก ฝึกโยคะ รำมวยจีน ควรออกกำลังสัปดาห์ละ 3-4 วัน

3. การพักผ่อนนอนหลับ

ควรนอนหลับลึกเต็มที่วันละ 6-8 ชั่วโมง ไม่ควรนอนดึก ควรนอนแต่หัวค่ำและตื่นแต่เช้า สำหรับผู้สูงอายุ และผู้ที่ไม่แข็งแรง อาจต้องงีบหลับตอนกลางวัน

4. การกินอาหาร

ควรกินอาหารให้ครบ 5 หมู่ ในปริมาณที่เหมาะสมในแต่ละมื้อ ไม่กินอิ่มจนเกินไป กินอาหารที่มีสารต้านอนุมูลอิสระ สำหรับผู้ที่มีโรคประจำตัวควรเลือกอาหารที่เหมาะกับโรค

5. การดื่มน้ำ

ควรดื่มให้เพียงพอ โดยเริ่มตั้งแต่ตื่นนอนเช้า การดื่มน้ำที่เพียงพอทำให้ทางเดินหายใจมีความชุ่มชื้น ในภาวะที่มีไข้ เป็นโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ คนไข้จำเป็นต้องได้ดื่มน้ำเพิ่มขึ้น

6. ไม่สูบบุหรี่ รวมทั้งไม่สูบบุหรี่ไฟฟ้า

7. อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี อากาศถ่ายเท

หลีกเลี่ยงสถานที่อับชื้น มีมลภาวะทางอากาศ ถ้าปลูกพืชฟอกอากาศในบ้านหรือสถานที่ทำงานได้จะเป็นการดี เช่น ลิ้นมังกร พลูด่าง เดหลี หมากเหลือง เป็นต้น

8. รักษาอนามัยส่วนบุคคลให้ดี

ได้แก่ การล้างมือ ใส่หน้ากากอนามัย และเว้นระยะห่างระหว่างบุคคล

หมอชาวบ้าน ปีที่ 43 ฉบับที่ 511 เดือนพฤศจิกายน 2564

7 January 2565

By STY/Lib

Views, 3716

 

Preset Colors