02 149 5555 ถึง 60

 

ติดห่า~หายแล้ว~แต่ทำไมยังไม่ปกติการรักษาอาการหลังหายจากการติดเชื้อห่าแบบหมอไทย

ติดห่า~หายแล้ว~แต่ทำไมยังไม่ปกติการรักษาอาการหลังหายจากการติดเชื้อห่าแบบหมอไทย

สุขภาพดี วิธีหมอไทย เรื่องโดย... คมสัน ทินกร ณ อยุธยา แพทย์แผนไทยราชสกุลทินกร

เมื่อเราป่วยติดเชื้อเป็นไข้หวัด และเมื่อหายจากไข้นั้น บางครั้งเหมือนไข้นั้นยังไม่ลงสนิทยังมีอาการไม่สบายตัว ขัดแข้งขัดขา ฯลฯ เป็นอาการรวมๆ กันอย่างละเล็กอย่างละน้อย จะสาธยายอาการก็อธิบายยาก แต่รู้ตัวว่าเรานั้นยังไม่ปกติดี

เหล่านี้เป็นอาการหลงจากการหายไข้ที่ติดเชื้อ โดนลมเพลมพัดมา

อาการเหล่านี้ในวิชาหมอไทยเรียก “ลมปลายไข้” เป็นอาการที่ไข้เคยลง แต่ไข้นั้นยังไม่จางสนิทนัก

ในพระคัมภีร์ตักศิลาท่านว่าไว้ หากไม่กระทุ้งไข้ ไข้นั้นจะเข้าไปหลบใน และเมื่อร่างกายอ่อนแอลง ไข้นั้นจะกลับมาใหม่ จะป่วยอีกเรียก “ไข้กลับซ้ำ”

ผู้ใดที่ต้องลมเพลมพัด (ติดเชื้อ) ต้องกระทุ้งไข้อีกครั้ง เป็นการเก็บกวาดเชื้อไข้พิษที่ยังเล็ดลอดเหลือหลงอยู่ แม้ตรวจสอบแล้วว่าไม่มีเชื้ออยู่ก็ตามที ก็ต้องกระทุ้ง

ตำรับยาห้าราก คือ คำตอบของการกระทุ้งไข้อีกครา

อีกทั้งห่าที่ลงนั้นลงที่ระบบปัปผาสัง (ทางเดินหายใจ) เรียก “ไข้หวัดมองคร่อ”ไข้หวัดลงปอด ยิ่งต้องกู้ระบบนั้นให้คืนมามากที่สุด หมอไทยเรียก ศอเสมหะ อุระเสมหะ คูถเสมหะ

ตำรับยาไทยเกี่ยวกับระบบเสมหะ “ตำรับยาสิงฆานิกา”พร้อมน้ำกระสายยาบำรุงปอด เพื่อขจัดของเสียที่มีในระบบอุระเสมหะ ต้องกวาดคอ ทำความสะอาดระบบศอเสมหะ พร้อมถ่ายของโสโครกในระบบคูถเสมหะ ต้องถ่ายเส้นถ่ายลม ให้เลือดลมไหลเวียนดี ต้องใช้ยาหอมมิใช่ยาลม เข้าไปจัดการระบบลมให้คืนเดิม ต้องบำรุงร่างกายด้วยน้ำข้าวแทรกเกลือทุกๆ วัน ต้องนวดเฟ้น ต้องสุมยา ต้องรมยา

เหล่านี้ต้องทำให้จบอย่างต่อเนื่อง กระทุ้งไข้ 5 วัน ดูแลระบบลม-ระบบน้ำให้แล้วใน 7 วัน พร้อมดูแลแรงกายให้คืนเดิม ให้เลือดลมแล่นงานพร้อม

การวางยาและการหัตถการในอาการหลังการติดเชื้อ

การวางยาและการหัตถการในอาการหลังการติดเชื้อ ต้องวางยาและหัตถเวชโดยแพทย์แผนไทยเท่านั้น ไม่ควรนำไปทำเองโดยอาจรู้เท่าไม่ถึงการณ์เกิดอันตรายได้

จากที่กล่าวในตอนต้นแล้วถึง อาการลมปลายไข้ที่อาจเกิดขึ้นหลังจากการตรวจทางห้องปฏิบัติการ (lab) แจ้งว่าปลอดเชื้อแล้ว ก่อนจะอ่านเนื้อหาต่อจากนี้ ให้ย้อนกลับไปอ่านตอนต้นให้เข้าใจเสียอีกครั้ง มิเช่นนั้นอาจไม่กระจ่าง ไม่สืบเนื่องกัน

1. กระทุ้งไข้หลบใน

การวางยา

- ให้วางยากระทุ้งไข้หลบด้วย “ตำรับยาห้าราก”

- ให้กินกาลเสมหะเช้าและค่ำ มื้อละ 3-5 แคปซูล กินต่อเนื่อง 5-7 วัน แล้วแต่วินิจฉัยของแพทย์

การหัตถการ

- ให้เข้ากระโจมยากาลเสมหะเช้า พอเหงื่อโทรมกาย จากนั้นต่อด้วยการสุมยา

- ให้กระทำหัตถการต่อเนื่องกัน 3-5 วัน แล้วแต่วินิจฉัยของแพทย์

2. ชำระระบบเสมหะ

2.1 คอเสมหะ (ระบบน้ำช่วงบน)

การวางยา

- ใช้ตำรับยาแหวกสมุทร กระสายตำรับยาศอเสาวรส

การหัตถการ

- ให้กวาดปากลงคอวันละ 5-7 ครั้ง

2.2 อุระเสมหะ (ระบบน้ำช่วงกลาง)

การวางยา

- ใช้ตำรับยาอุระตะกรัน, ตำรับยานภากาศ และตำรายาสิงฆานิกา

- น้ำกระสายยา “ฟื้นคืนปัปผาสัง”

- ให้กินขนาดละ 2 แคปซูลพร้อมกัน วันละ 2-3 ครั้ง เวลาท้องว่าง พร้อมน้ำกระสายยาต้ม 1 แก้ว

- ระยะเวลากินแล้วแต่วินิจฉัยของแพทย์เฉพาะราย

การหัตถการ

- ให้หัตถการรมยา เพื่อขับของเสียในระบบทางเกินหายใจ

- ทำเพียงวันละครั้ง ในความควบคุมของแพทย์แผนไทยเท่านั้น

2.3 คูถเสมหะ (ระบบน้ำช่วงล่าง)

การวางยา

- ใช้ตำรับยาธรณีสัณฑฆาต

- กินก่อนนอน ขนาดยาแล้วแต่ธาตุหนัก-เบา

- ให้กิน 2-3 วัน/ครั้ง ต่อเนื่องกัน 3 ครั้ง

การหัตถการ

- ใช้การเผายา วันละครั้งต่อเนื่องกัน 3 วัน

- ใช้หัตถการพอกยาหน้าท้อง หลังจากเผายาแล้ว

ทั้งการกระตุ้นและการชำระให้กระทำจนแล้วใน 5-7 วัน และต้องอยู่ในการดูแลของแพทย์แผนไทย

นอกจากนั้นวิธีนี้ยังเหมาะนักกับการไข้ติดเชื้อนานา ไข้หวัดใหญ่ หัด อีสุกอีใส เป็นต้น และยังสมกับการรุของเสียให้ระบบเสมหะอีกด้วย

แพทย์แผนไทยทั้งประเทศไทยยินดีดูแลผู้เคยติดเชื้อห่า ปรึกษาคลินิกการแพทย์แผนไทยได้ทั่วประเทศ ทำเสียวันนี้ ดีกว่ารอให้ป่วยอีกในวันหน้า

ตัวอย่างคอร์ส “ลมปลายไข้ห่าตำปอด”

โดย คลินิกการแพทย์แผนไทยหม่อมราชวงศ์สอาด ทินกร สาขาสัมมากร ถ.รามคำแหง

การตรวจของแพทย์ในทุกวันตลอด 5 วัน ได้แก่

- ตรวจปัปผาสัง (ทางเดินหายใจ) และหทัยวัตถุ (หัวใจ)

- ตรวจสมุนาวาตะ (ลมในเส้น) และหทัยวาตะ (ภาวะจิตใจ)

- ตรวจศอเสมหะ (เสมหะหรือเสลดที่อยู่บริเวณคอ) อุระเสมหะ (เสมหะหรือเสลดที่อยู่บริเวณทรวงอก และช่องท้องส่วนบน) และคูถเสมหะ (ของเหลวที่อยู่ในช่องท้องส่วนล่าง หรือระบบขับถ่าย)

- ตรวจปิตตะกอง 4 (ธาตุทั้ง 4 ได้แก่ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ)

ตำรับยากระทุ้งไข้

- ยาเบญจโลกวิเชียร

- กินกาลปิตตะเช้า-ค่ำ ครั้งละ 3-5 แคปซูล

- ให้กินต่อเนื่องกัน 5 วัน รวม 15-25 แคปซูล โดยกินพร้อมกระสายยาฟื้นปัปผาสัง ครั้งละ 1 แก้ว

ตำรับยาระบบอุราเสมหะ

- ยาอุระตะกรัน, ยานภากาศ, ยาสิงฆานิกา

- กินกาลเสมหะเช้า-ค่ำ ขนาดละ 2 แคปซูล รวม 3 ขนาด

- ให้กินต่อเนื่องจนครบ 7 วัน รวม 84 แคปซูล (ขนาดละ 28 แคปซูล) โดยกินพร้อมกระสายยาฟื้นปัปผาสัง ครั้งละ 1 แก้ว

หัตถการใน 1 วัน ทำตลอด 5 วัน โดย กวาดยาแหวกสมุทร กระสายยาเสาวรส 3-5 รอบ

ในระหว่างหยุดพัก ให้ทำการสุมยา รมยาแล้วพัก 20 นาที จากนั้นกระโจมยา แล้วพัก 20 นาที ต่อด้วยเผายา แล้วพัก 10 นาที พอกยาหน้าท้อง ทั้งหมดให้ทำติดต่อกัน 5 วัน ซึ่งการทำหัตถการดังกล่าวจะต้องมีผู้เชี่ยวชาญดูแลอยู่ด้วยตลอดเวลา ห้ามทำเองโดยเด็ดขาด

ยากลับบ้าน

- ตำรับน้ำกระสายยาฟื้นปัปผาสัง 3 ห่อ กินติดต่อกัน 3 สัปดาห์

- ตำรับยาธรณีสัณฑฆาต กินทุก 3 วัน จนยาหมดขวด

หมายเหตุ : ตำรับยาในบทความฉบับนี้ เป็นตำรับยาที่ใช้ในคลินิกการแพทย์แผนไทยหม่อมราชวงศ์สอาดทินกรเท่านั้น

หมอชาวบ้าน ปีที่ 43 ฉบับที่ 511 เดือนพฤศจิกายน 2564

10 January 2565

By STY/Lib

Views, 3411

 

Preset Colors