02 149 5555 ถึง 60

 

J.K. ROWLING’S MENTAL HEALING

J.K. ROWLING’S MENTAL HEALING

“โรคซึมเศร้า” เป็นโรคภัยใกล้ตัวที่ใครๆก็มีโอกาสเป็นได้แม้แต่คนที่ประสบความสำเร็จและมีชื่อเสียงหลายคนก็มีประสบการณ์การเป็นโรคซึมเศร้ามาแล้วทั้งสิ้น

วันนี้ ชีวจิตจะพาทุกคนไปรู้จักกับ เจ.เค.โรว์ลิง (J.K. Rowling) นักเขียนผู้โด่งดังจากประเทศอังกฤษ ที่สร้างชื่อในฐานะผู้สร้างโลกเวทมนตร์สุดแฟนตาซีจากวรรณกรรมเรื่อง Harry Potter และ Fantastic Beasts กว่าจะมาถึงจุดนี้ได้ เธอต้องต่อสู้สิ่งต่างๆ ที่กัดกร่อนจิตใจของเธออย่างหนัก ทั้งคุณแม่ที่จากโลกนี้ไป การหย่าร้างกับสามี และความยากจนที่พ่วงด้วยตำแหน่งคุณแม่เลี้ยงเดี่ยว สุดท้ายเธอจึงกลายเป็นเหยื่อของโรคซึมเศร้าจนเกือบจบชีวิตของตนเอง แต่แล้วเธอก็ฝ่าฟันจนหายจากโรคนี้ได้ อีกทั้งเป็นตัวอย่างที่ดีให้ผู้เป็นโรคซึมเศร้าอีกด้วย

บำบัดขจัดความเศร้า

แน่นอนว่าการได้รับการบำบัดจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญย่อมเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับการรักษาสุขภาพจิต จึงนับเป็นเรื่องโชคดีที่เธอมีโอกาสเข้ารับการรักษาอย่างจริงจัง ซึ่งเธอเลือกที่จะรักษาด้วยการเข้าพบนักจิตบำบัดอย่างต่อเนื่องมาตลอด 9 เดือน ในที่สุดทางเลือกนี้ก็ทำให้เธอสามารถก้าวข้ามความเลวร้ายของโรคซึมเศร้าได้อย่างแท้จริง ถึงขนาดที่ เจ. เค. ได้เคยกล่าวไว้ว่า เธอติดใจการเข้าไปปรึกษานักจิตบำบัด โดยเฉพาะเวลาที่ต้องเจอกับเหตุการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างกะทันหัน เธอไม่เคยลังเลที่จะเข้าพบนักจิตบำบัดเลย

สิ่งที่เจ.เค.ได้เปิดเผยให้สาธารณชนรับรู้ นอกจากจะเป็นการแสดงให้เห็นถึงวิธีการเยียวยาจิตใจในแบบของเธอแล้ว ยังเป็นตัวแทนของภาพลักษณ์ให้ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าทุกคนไม่หวาดกลัวต่อการเข้ารับการบำบัด ทั้งยังแสดงให้ผู้คนทั่วโลกได้เห็นว่าการพบนักจิตบำบัดเป็นเรื่องปกติและควรเป็นที่ยอมรับในสังคมอย่างแท้จริง

นำโรคที่เป็นมาสร้างโลกอีกใบ

ด้วยจิตวิญญาณของนักเขียน เธอจึงได้ถ่ายทอดลักษณะของโรคซึมเศร้าออกมาได้อย่างมีศิลปะผ่านตัวละครภายในวรรณกรรมเรื่อง Harry Potter ซึ่งมีตัวละครสำคัญที่สะท้อนให้เห็นถึงโรคซึมเศร้าได้เป็นอย่างดีทั้งหมด 2 ตัวละคร ได้แก่ “ผู้คุมวิญญาณ” (Dementor) เป็นสิ่งมีชีวิตอันต่ำช้าในโลกเวทมนตร์ที่พร้อมจะดูดกลืนความสุขของเหยื่อจนเหลือเพียงกายหยาบที่ไร้ความรู้สึกด้วยวิธีจุมพิต ทำหน้าที่ควบคุมนักโทษภายในคุกอัซคาบัน ตัวละครนี้จึงเปรียบเสมือนโรคซึมเศร้าที่พรากความสุขอย่างไม่รู้ตัว

ในทางกลับกัน “ซีเรียส แบล็ก” (Serius Black) ปรากฏตัวครั้งแรกในฐานะนักโทษภายในคุกอัซคาบัน แท้จริงแล้วเขาเป็นเพียงแพะรับบาปเท่านั้น ด้วยแรงเชื่อมั่นในความบริสิทธิ์ของตน ทำให้เอาชนะการดูดกลืนความสุขจากผู้คุมวิญญาณและแหกคุกออกมาได้ ซีเรียสจึงเปรียบเสมือนผู้คนที่สามารถเอาชนะโรคซึมเศร้า มองกลายๆแล้วอาจเป็นกำลังใจของเจ.เค. ที่ต้องการมอบให้ผ่านปลายปากกาก็เป็นได้

หวังว่าวิธีบำบัดจิตใจของเจ.เค. โรว์ลิง จะสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้ป่วยซึมเศร้าทุกคนก้าวข้ามผ่านเส้นทางแห่งความทุกข์ไปด้วยกันนะคะ

เราทุกคนล้วนมี “ยาใจ” เป็นของตัวเอง

“กำลังใจ” เป็นสิ่งที่จะช่วยให้เรามีพลังในการต่อสู้กับโรคซึมเศร้า อาจเป็นผู้คน สิ่งของหรือสิ่งแวดล้อมก็ย่อมได้ เหมือนเจ.เค.ที่มี ลูกๆสุดที่รักเป็นกำลังใจของเธอมาโดยตลอด ฉะนั้นอย่าลืมค้นหากำลังใจของตัวเองกันนะคะ

นิตยสารชีวจิต ฉบับที่ 557 ปีที่ 24 16 ธันวาคม 2564

18 January 2565

By STY/Lib

Views, 535

 

Preset Colors