02 149 5555 ถึง 60

 

ภาวะผมร่วงเป็นหย่อม ภายหลังฉีดวัคซีนโควิด-19

ภาวะผมร่วงเป็นหย่อม ภายหลังฉีดวัคซีนโควิด-19

เรื่องของผิว เรื่องโดย. สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย

จากการฉีดวัคซีนโควิด-19 มีความเป็นไปได้ว่าการฉีดวัคซีนโควิด-19 อาจจะกระตุ้นผู้ที่ได้รับวัคซีนบางรายเกิดอาการของโรคผมร่วงเป็นหย่อม ซึ่งเป็นโรคที่พบได้บ่อยในทุกช่วงอายุ

ผู้ป่วยจะมีอาการผมร่วงเป็นหย่อมๆ ที่ศีรษะ โดยอาจจะมีขนร่วงที่บริเวณอื่นร่วมด้วย เช่น คิ้ว หนวด จอน หรือขนตามร่างกาย ในรายที่เป็นมาก อาจมีอาการผมร่างทั้งศีรษะหรือขนตามร่างกายร่วงจนหมด

ทำไมผมถึงร่วงเป็นหย่อม

โดยทั่วไปโรคผมร่วงเป็นหย่อมนี้ เกิดขึ้นโดยไม่มีสาเหตุแน่ชัด แต่จากหลักฐานทางการศึกษาเชื่อว่า เกิดจากการที่ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต้านตนเอง ร่วมกับมีการเสียการควบคุมของระบบภูมิคุ้มกัน และอาจมี ปัจจัยทางกรรมพันธุ์มาเกี่ยวข้อง โดยร่างกายอาจถูกกระตุ้นได้จากปัจจัยบางอย่าง เช่น ความเครียด ทั้งจากจากภาวะการเจ็บป่วยทางรางกายและจิตใจทำให้มีการสร้างเซลล์เม็ดเลือดขาวและสารสื่อประสาทที่บริเวณต่อมผม จึงทำให้การสร้างผมผิดปกติ และวงจรชีวิตของผมเปลี่ยนจากระยะเจริญเติบโตเป็นระยะหลุดร่วงเร็วขึ้น

พญ.ชินมนัส เลขวัด แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย อธิบายว่า ภาวะผมร่วงเป็นหย่อมภายหลังการฉีดวัคซีนโควิด-19 อาจจะเกอดขึ้นได้หลังการฉีดวัคซีน เนื่องจากวัคซีนใช้กระบวนการที่เลียนแบบการสร้างภูมิคุ้มกันจากการติดเชื้อโควิด-19 ดังนั้น มีความเป็นไปได้ที่อาจมีการกระตุ้นการเกิดภูมิคุ้มกันต้านตนเองและเกิดปฏิกิริยาอักเสบที่บริเวณต่อมผมทำให้ผมร่วงเป็นหย่อมได้

อย่างไรก็ตาม ในรายงานการศึกษาที่รวบรวมผู้ป่วยจำนวนมากพบว่า ผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด-19 ไม่ได้เป็นโรคผมร่วงเป็นหย่อมมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ แต่พบว่า มีผู้ป่วยโรคผมร่วงเป็นหย่อมบางรายที่กลับมาเป็นซ้ำหลังจากการฉีดวัคซีนโควิด-19 ดังนั้น จึงควรรอผลการศึกษามากกว่านี้ก่อนที่จะสรุปผล

นอกจากนี้ยังพบว่า โรคผมร่วงเป็นหย่อมอาจเกิดภายหลังการฉีดวัคซีนอื่นๆ ได้ด้วย เช่น วัคซันงูสวัด, วัคซีนไวรัสตับอักเสบบี และวัคซีนโรคไข้สมองอักเสบเจอี โดยจะต้องพิจารณาถึงปัจจัยอื่นๆ ที่อาจมีความสำพันธ์กับการเกิดโรคผมร่วงเป็นหย่อมร่วมด้วย เช่น ปัจจัยทางกรรมพันธุ์, ความเครียด, การเจ็บป่วย,โรคภูมิแพ้, โรคไทรอยด์, โรคลูปัส, ภาวะซีดจากการขาดแร่ธาตุ, ภาวะขาดวิตามินดี

ด้าน รศ. นพ.รัฐพล ตวงทอง แพทย์เชี่ยวชาญ สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย กล่าวเสริมว่า จากสถานการณ์ในปัจจุบันของโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบมากมายให้กับสังคมไทย โดยเฉพาะเรื่องของสุขภาพจิตที่ย่ำแย่จากการวิตกกังวล และความเครียดที่มีมากเกินไป ย่อมส่งผลเสียตามมากับการใช้ชีวิตประจำวันของคนในสังคม

โรคผมร่วงเป็นหย่อมเป็นอีกโรคที่มีความสัมพันธ์กับความเครียด การพักผ่อนน้อย การไม่สบายอื่นๆ นำมาก่อน เช่น ภาวะโรคภูมิคุ้มกันทำลายตนเองอื่นๆ อาทิโรคเอสแอลอี (SLE), โรคไทรอยด์เป็นพิษ เป็นต้น

โรคผมร่วงเป็นหย่อมเกิดจากการที่เม็ดเลือดขาวของคนไข้มาทำลายรากผม ทำให้ผมหลุดร่วงเป็นหย่อม อาจจะเริ่มจากหย่อมเดียว (alopecia areata) กระจายหลายๆ หย่อม (multiple alopecia) ผมร่วงทั้งศีรษะ (alopecia totalis) หรือมีขนตามร่างกายร่วงทั้งหมด (alopecia Universalis)

สาเหตุของการเกิดโรคเชื่อว่า เกิดจากความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ทำให้เม็ดเลือดขาว ซึ่งเดิมมีหน้าที่ทำลายเชื้อโรคต่าง กลับมาทำลายเซลล์รากผมของคนไข้เอง

โรคผมร่วงเป็นหย่อมมีโอกาสพบได้ประมาณ 1 ใน 1,000 ของจำนวนประชากร โดยพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย และสามารถเกิดได้ทั้งเกและผู้ใหญ่

จะวินิจฉัยได้อย่างไร

ตามปกติโรคนี้สามารถวินิจฉัยได้จากอาการแสดงทางคลินิก คือ มีผมร่วงเป็นหย่อม ลักษณะของผมร่วงเป็นผมร่วงแบบไม่มีแผลเป็น (non-scarring alopecia) อาจมีหย่อมเดียวหรือหลายหย่อมทั่วทั้งศีรษะ หรือมีขนคิ้ว ขนตา ขนรักแร้ ขนตามตัวต่างๆ ร่วมด้วยก็ได้

ในบางกรณีอาจจำเป็นต้องได้รับการตัดชิ้นเนื้อไปตรวจทางพยาธิวิทยากาย เพื่อยืนยันการวินิจฉัยด้วย โดยการดำเนินโรคส่วนหนึ่งสามารถหายขาดได้ ส่วนหนึ่งจะเป็นเรื้อรังและส่วนหนึ่งจะไม่หาย ถึงแม้ได้รับการรักษาอย่างเต็มที่แล้ว

ผมร่วงเป็นหย่อมจะดูแลอย่างไร

การดูแลและการรักษาโรคผมร่วงเป็นหย่อมภายหลังการฉีดวัคซีนหรือหลังการติดเชื้อโควิด-19 ควรจะรักษาตามมาตรฐานของการรักษาโรคผมร่วงเป็นหย่อม โดยการรักษาขึ้นกับขนาดพื้นที่ของผมร่วงที่ศีรษะ ในผู้ป่วยที่มีอาการน้อย มีผมร่วงเป็นหย่อมเพียงเล็กน้อย

อาการผมร่วงอาจหายได้เองหรือไปรับการรักษากับแพทย์เฉพาะทาง ด้วยการทายาสตีรอยด์ หรือฉีดยาสตีรอยด์ที่ศีรษะร่วมกับการทายาไมน็อกซิดิน (topical minoxidil) 2-5% วันละ 2 ครั้ง เพื่อกระตุ้นผมให้ขึ้นใหม่

สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการมาก มีผมร่วงทั้งศีรษะหรือมีขนตามร่างกายร่วงด้วย ควรจะพบแพทย์เพื่อพิจารณาหาวิธีการรักษา เช่น การรักษาด้วยยาทาไดฟีนิลไซโคลโพรพีโนน (ยาทาดีพีซีพี) หรือยาชนิดอื่นๆ ตามที่แพทย์เฉพาะทางพิจารณา

นอกจากนี้ การกินธาตุเหล็กและวิตามิน เช่น สังกะสี (zinc), ไบโอติน (biotin), วิตามินดี (vitamin D) ยังไม่มีหลักฐานทางการศึกษาชัดเจนว่าจะมีส่วนช่วยรักษาในผู้ป่วยที่ไม่ได้มีภาวะขาดเหล็กหรือวิตามิน

หมอชาวบ้าน ปีที่ 43 ฉบับที่ 513 เดือนมกราคม 2565

27 January 2565

By STY/Lib

Views, 4310

 

Preset Colors