02 149 5555 ถึง 60

 

Q & A ตอบทุกข้อสงสัยวิถียุควัคซีนโควิด

Q & A ตอบทุกข้อสงสัยวิถียุควัคซีนโควิด

เรื่องโดย ศิริกร โพธิจักร

ตั้งแต่เดือนมิถุนายนเป็นต้นมา ภาครัฐเริ่มทยอยฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้ประชาชนทั่วประเทศที่ลงทะเบียนจองวัคซีนและระบุวันจองเรียบร้อยแล้ว ซึ่งเป็นวัคซีนแอสตราเซเนกาและซิโนแวค ขณะที่ในช่วงไตรมาส 3 และ 4 จะเป็นการฉีดวัคซีนโมเดอร์นาโดยโรงพยาบาลเอกชน

ชีวจิตได้รวบรวมคำถามและคำตอบเกี่ยวกับวัคซีนโควิดที่ประชาชนทั่วไป ควรทราบมาให้คนรักสุขภาพทุกท่านใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติตัวทั้งก่อนและหลังการฉีดวัคซีน ดังนี้

LESSON LEARNED บทเรียนจากคลัสเตอร์แคมป์คนงาน

แพทย์หญิงสาริษฐา สมทรัพย์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลสุขภาพแรงงานและคนวัยทำงาน อธิบายว่ากรณีการตรวจพบการติดเชื้อในแคมป์คนงานชี้ให้เห็นว่าประชาชนต้องปฏิบัติตัวอย่างไรเพื่อให้สมาชิกในบ้านและตนเองปลอดเชื้อโควิด

“เรื่องคลัสเตอร์แคมป์คนงานเป็นสิ่งที่น่าเห็นใจ เนื่องจากพวกเขาต้องอยู่กันอย่างค่อนข้างแออัด หมอลงพื้นที่แล้วพบว่าในแคมป์คนงาน 700 คน ตรวจพบผู้ติดเชื้อ 500 คน เนื่องจากพวกเขาพักอยู่ในเรือนแถวยาวๆ แบ่งซอยเป็นห้อง 1 ห้องพักกัน 1 ครอบครัว มีพ่อแม่ลูกอยู่ด้วยกัน 1 ห้องมี 4 คน

ไม่มีการสวมมาสก์ขณะอยู่ในห้อง ขณะที่ห้องน้ำก็ต้องใช้ห้องน้ำรวมกับคนงานที่พักในห้องถัดๆไปในเรือนแถวเดียวกัน มีการจับสัมผัสตามประตู ราวบันได ก๊อกน้ำ ดังนั้นโอกาสแพร่เชื้อจึงเกิดขึ้นได้เสมอ ภาพที่เราเห็นความเป็นอยู่อย่างแออัดเช่นนี้ ใกล้เคียงกับความเป็นอยู่ของชาวอินเดีย ซึ่งตอนนี้ก็ประสบปัญหาการระบาดหนัก”

เพื่อลดการแพร่เชื้อและติดเชื้อซ้ำไปมาจนส่งผลให้เกิดเชื้อกลายพันธุ์ได้ง่าย คุณหมอจึงแนะนำวิธีปฏิบัติตัวดังนี้

1. ทำความสะอาดร่างกาย หากต้องออกไปในที่ที่มีผู้คนหนาแน่น เมื่อกลับถึงบ้านต้องถอดเสื้อผ้าแยกลงตะกร้า ล้างมือ อาบน้ำ สระผม

2. ถ้าที่พักอาศัยมีพื้นที่จำกัด ต้องอยู่ในห้องเดียวร่วมกัน ต้องสวมแมสก์ตลอเวลา

3. หลีกเลี่ยงการจับสัมผัสร่างกายสมาชิกครอบครัวที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ เช่น ผู้สูงอายุที่อายุ 60 ปีขึ้นไป ผู้ป่วย 7 กลุ่มโรคที่เป็นกลุ่มเสี่ยงโควิด ได้แก่ ผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจเรื้อรังรุนแรง โรคหัวใจและหลอดเลือดสมอง โรคมะเร็ง โรคเบาหวานและโรคอ้วน

CHOOSE THE RIGHT FOOD เลือกอาหารเพิ่มภูมิต้านทาน

คุณหมอสาริษฐาอธิบายต่อไปว่า ในช่วงที่รอฉีดวัคซีนและถึงแม้จะฉีดครบ 2 เข็มไปแล้ว ก็ต้องรอให้ครบ 14 วัน ดังนั้นขอให้ดูแลสุขภาพด้วยการเลือกกินอาหารที่เสริมการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน ดังนี้

โปรตีน กินโปรตีนคุณภาพและต้องกินให้เพียงพอ เช่น ปลาทะเลและปลาน้ำจืดวันละครึ่งตัว ถั่วเมล็ดแข็ง เต้าหู้แผ่น น้ำเต้าหู้ และธัญพืชต่างๆ เพราะเม็ดเลือดขาวที่เปรียบเสมือนทหารของร่างกายคอยจับเชื้อโรคต้องใช้โปรตีนสร้าง

ลดแป้ง โดยใช้วิธีเปลี่ยนข้าวเป็นถั่วและธัญพืช คนไทยมีพฤติกรรมกินข้าวมากกว่ากับข้าว ขอให้เปลี่ยนเป็นหุงถั่วเขียวกินแทนข้าว ทำให้ได้โปรตีนคุณภาพดีย่อยง่าย

เพิ่มผลไม้ ทำให้ร่างกายได้วิตามินและแร่ธาตุต่างๆ ไปช่วยเสริมการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน แนะนำกลุ่มผลไม้ที่มีรสเปรี้ยว ส้ม มะม่วง มะนาว ผักสีเขียว พริก เพราะมีวิตามินซีสูง กลุ่มผักผลไม้สีเหลืองส้มมีวิตามินเอสูง ช่วยทำให้เยื่อบุต่างๆ เช่น เยื่อบุตา เยื่อบุทางเดินหายใจ และเยื่อบุปอดมีความยืดหยุ่นและแข็งแรง ทำงานได้ดี ไม่เสียหายหรือติดเชื้อในกรณีที่ถูกเชื้อไวรัสโควิดโจมตีง่ายๆ

กินผักใบเขียวให้มาก เพื่อให้ร่างกายได้วิตามินบีรวม นอกจากนี้ให้เสริมด้วยธัญพืชไม่ขัดสี ถั่ว งา จมูกข้าวสาลี ซึ่งมีปริมาณวิตามินบีสูง มาช่วยเสริมการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันได้เช่นกัน

รับแสงแดดเพิ่มวิตามินดี เพียงวันละ 10 นาทีก็ช่วยให้ระบบภูมิคุ้มกันทำงานได้ดี นอกจากออกไปรับแสงแดดแล้ว การกินปลา น้ำมันตับปลา ถั่วเมล็ดแห้ง เช่น ถั่วลิสง

เม็ดมะม่วงหิมพานต์ อัลมอนด์ เห็ดหอมตากแห้ง ก็ช่วยให้ร่างกายได้รับวิตามินดีได้เช่นกัน

เสริมแร่ธาตุจำเป็น เช่น แมกนีเซียม แมงกานีส สังกะสี พบในถั่ว งา หอย อาหารทะเล ซึ่งจะช่วยให้ร่างกายดูดซึมวิตามินต่างๆได้ดี และทำให้ระบบภูมิคุ้มกันทำงานได้เต็มประสิทธิภาพ

ดื่มน้ำให้เพียงพออย่างน้อยวันละ 2 ลิตร ถ้าดื่มน้ำน้อย การเผาพลาญก็ไม่ดี ส่งผลให้การสร้างภูมิคุ้มกันลดลง เน้นว่าเป็นน้ำสะอาด ไม่ดื่มน้ำหวานหรือเครื่องดื่มที่มีกาเฟอีน แอลกอฮอล์

STOP BAD HABITS หยุดพฤติกรรมทำร้ายสุขภาพ

อีกเรื่องที่น่าสนใจคือ พฤติกรรมทำลายระบบภูมิคุ้มกันที่หลายคนยังไม่รู้ ซึ่งคุณหมอสาริษฐาระบุว่ามี 2 ข้อ ดังนี้

งดกินหวาน น้ำตาลส่วนเกินทำให้ระบบภูมิคุ้มกันทำงานลดลง มีงานวิจัยพบว่า กินน้ำตาล 1 ช้อนชาทำให้ภูมิคุ้มกันลดลงร้อยละ 50 ภายในระยะเวลา 6 ชั่วโมง คนติดหวานจะเป็นหวัดหรือติดเชื้อได้ง่ายกว่าคนทั่วไป

นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ นอนให้ครบอย่างน้อย 7 ชั่วโมง พยายามเข้านอนและตื่นนอนในเวลาเดิม เมื่อนอนหลับได้มีคุณภาพจะนอนหลับลึก ร่างกายจึงจะสามารถซ่อมแซมตัวเอง สร้างภูมิคุ้มกันได้ดี

BEFORE VACCINATIONข้อปฏิบัติก่อนไปฉีดวัคซีน

เมื่อได้วันนัดฉีดวัคซีนแล้ว คุณหมอสาริษฐาแนะนำวิธีปฏิบัติตัวก่อนไปฉีดวัคซีนดังนี้

ดื่มน้ำให้พอ เพื่อป้องกันเลือดข้น ลดโอกาสการเกิดลิ่มเลือด อุบัติการณ์คนเป็นลิ่มเลือดอุดตัน การเกิดลิ่มเลือด เกร็ดเลือดต่ำที่พบหลังการฉีดวัคซีน มักพบในผู้ใหญ่อายุ 20-50 ปี ซึ่งมีระบบภูมิคุ้มกันทำงานมากเกินไป พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย

สังเกตอาการเสี่ยงเกิดลิ่มเลือด หากมีอาการเหนื่อยง่าย มีผื่นขึ้นตามตัว ปวดข้อมีความเสี่ยงเป็นผู้ที่มีภูมิต้านทานไวกว่าปกติ (Antiphospholipid Syndrome : APS) หรือมีอาการเขียวช้ำง่าย เลือดไหลไม่หยุด เวียนหัว ถ้ามีอาการดังกล่าวควรปรึกษาแพทย์ว่าต้องกินยาหรือปฏิบัติตัวเพิ่มเติมทั้งก่อนและหลังฉีดวัคซีนอย่างไร

งดดื่มเครื่องดื่มที่มีกาเฟอีนและแอลกอฮอล์ งดสูบบุหรี่ เพราะจะทำให้การแข็งตัวของเลือดผิดปกติได้ นอกจากนี้ยังกระตุ้นการเต้นของหัวใจให้สั่นพลิ้วไหว (Atrial Fibrillation หรือ -A-Fib) การบีบตัวของหัวใจผิดปกติ อาจเกิดการแข็งตัวของเลือดในห้องหัวใจได้

ผู้ที่มีประวัติมีความผิดปกติที่หัวใจ เช่น มีอาการเจ็บอก กล้ามเนื้อหัวใจทำงานผิดปกติ กล้ามเนื้อหัวใจตาย หรือมีประวัติภาวะสมองขาดเลือด ให้ปรึกษาแพทย์ประจำตัวว่าต้องกินยาต้านเกล็ดเลือดหรือไม่

DID YOU KNOW?วัคซีน mRNA ปลอดภัยหรือไม่

ศาสตราจารย์ นายแพทย์มานพ พิทักษ์ภากร หัวหน้าศูนย์วิจัยการแพทย์แม่นยำ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล อธิบายว่า บทความในโซเซียลมีเดียที่ระบุว่า วัคซีนชนิด mRNA

จะทำให้เซลล์ร่างกายผิดปกติ เช่น ก่อให้เกิดมะเร็ง อัลไซเมอร์ หรือพาร์กินสัน เป็นความเชื่อที่ผิด

เมื่อพิจารณาโดยหลักของวัคซีน mRNA ซึ่งเป็นสารพันธุกรรมที่ต้องจัดเก็บในตู้แช่ที่มีอุณหภูมิ

-70 องศาเซลเซียสเพื่อคงคุณภาพไว้ได้นั่นเพราะ mRNA ถูกทำลายด้วยอุณหภูมิและเกิดการสลายตัวได้ง่ายมาก

ทุกท่านทราบดีว่าอุณหภูมิร่างกายคนเราอยู่ที่ 37 องศาเซลเซียส ดังนั้นเมื่อฉีดวัคซีน mRNA

ซึ่งเป็นต้นแบบในการสร้างโปรตีนหนามของไวรัสเข้าไปเพื่อให้ระบบภูมิคุ้มกันจดจำได้ เมื่อสร้างโปรตีนหนามเสร็จ จากนั้นไม่นาน mRNA จากวัคซีนก็จะสลายตัวไป เพราะอยู่ในอุณหภูมิร่างกายได้ไม่นาน

หลักการของวัคซีน mRNA ก็เหมือนกับวัคซีน Viral Vector เช่น แอสตราเซเนกาและจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน เมื่อไวรัสที่เป็นตัวนำส่งสารพันธุกรรมของโปรตีนหนามเข้าสู่ร่างกายได้แล้วก็จะสลายตัวไปเช่นกัน

นายแพทย์มานพทิ้งท้ายว่า วัคซีนทั้งสองชนิดนี้เป็นเทคโนโลยีใหม่ที่น่าจับตามองและเป็น

เทรนด์ของการผลิตวัคซีนในอนาคต

ALLERGY ALERT ข้อมูลสำหรับผู้ที่มีประวัติภูมิแพ้

ชีวจิตแนะนำว่า ต้องปรึกษาแพทย์ประจำตัว โดยพิจารณาส่วนประกอบของวัคซีนว่าก่อให้เกิดอาการแพ้หรือไม่ โดยอ้างอิงข้อมูลจากกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ที่ระบุถึงส่วนประกอบของวัคซีน 2 ชนิด คือ ซิโนแวคและแอสตราเซเนกา ยังไม่มีข้อมูลส่วนประกอบของวัคซีนซิโนฟาร์ม โดย

มีรายละเอียดดังนี้

วัคซีนซิโนแวค ประกอบด้วย

● Aluminum Hydroxide

● Disodium Hydroxide Phosphate

● Sodium Dihydrogen Phosphate

● Sodium Chloride

● Sodium Hydroxide

วัคซีนแอสตราเซเนกา ประกอบด้วย

● L-Histidine

● L-Histidine Hydrochloride Monohydrate

● Magnesium Chloride Hexahydrate

● Polysorbate 80

● Ethanol

● Sucrose

● Sodium Chloride

● Disodium Edetate Dihydrate

หากเกิดอาการผิดปกติหลังฉีดวัคซีน เช่น มีผื่นลมพิษทั่วตัว คัน มีผื่นแดง ปาก ลิ้น และเพดานอ่อนบวมแดง คัดจมูก น้ำมูกไหล เสียงแหบ หอบเหนื่อย หายใจเข้า-ออกมีเสียงหวีดจากหลอดลมตีบตันและความดันโลหิตลดลง

แบบนี้เป็นอาการแพ้รุนแรง ต้องรีบไปพบแพทย์ด่วนค่ะ

นิตยสารชีวจิต ฉบับที่ 546 ปีที่ 23 วันที่ 1 กรกฏาคม 2564

8 February 2565

By STY/Lib

Views, 439

 

Preset Colors