02 149 5555 ถึง 60

 

โลกหลังโควิด

โลกหลังโควิด

บนเส้นทางชีวิต เรื่องโดย... นพ.ประเวศ วะสี

การระบาดของไวรัสโคโรนาที่เรียกว่า โควิด-19 เริ่มต้นในปี พ.ศ.2562 จนกระมั่งบัดนี้ มีผลกระทบอย่างรุนแรงทั่วโลกทุกมิติ ที่ประวัติศาสตร์คงต้องบันทึกอย่างละเอียด

ผลกระทบต่อชีวิต เศรษฐกิจ สังคม ในทุกมิติ น่าจะทำให้มนุษย์คิดทบทวนว่า

โลกก่อนโควิดเป็นอย่างไร?

โลกในอนาคตหลังโควิดจะเป็นอย่างไร?

ที่อาจสรุปไว้ล่วงหน้าก็คือ โลกน่าจะต้องเปลี่ยนใหญ่ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาแบบโควิดอีก

โควิดเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติ

ถ้ามีเหตุปัจจัยให้เกิด มันก็เกิด

สภาพของโลกที่ทำให้โควิดโดยสรุปสั้นๆ ก็คือ

การที่มีผู้คนอยู่กันหนาแน่น มีความเชื่อมโยงสัมพันธ์กันใกล้ชิด แต่มีความเหลื่อมล้ำมากเกิน ทั้งในประเทศเดียวกันและระหว่างประเทศ

ระบบเศรษฐกิจทุนนิยม บริโภคนิยม ที่อยู่บนการค้าเสรี ทำให้ชนบทล่มสลาย ผู้คนอพยพเข้ามาอยู่ในเมือง เกิดเมืองขนาดใหญ่ที่ผู้คนหนาแน่น แต่มีความเหลื่อมล้ำสุดๆ เป็นสังคมที่ขาดภูมิคุ้มกัน โควิด-19 จึงระบาดได้ง่าย

โครงสร้างอำนาจและโครงสร้างทางเศรษฐกิจเปลี่ยนแปลงได้ยากเพราะฉะนั้น หลังโควิด โครงสร้างที่ดำรงอยู่ก็จะทำเหมือนเดิม โรคแบบโควิดหรือรุนแรงกว่าโควิดก็จะระบาดอีกซ้ำๆ จนกว่าสภาพที่เหมาะกับการระบาดจะเปลี่ยนไป

สภาพของโลกที่จะมีภูมิคุ้มกันจากภยันตรายแบบโควิดคือ...

ผู้คนอยู่กระจายกันเป็นชุมชนเล็กๆ ห่างๆ ไม่กระจุกอยู่ในเมืองใหญ่ ไม่มีความเหลื่อมล้ำกันมาก ทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ เป็นสังคมอุดมปัญญาหรือสังคมปัญญานิยมแทนที่สังคมอำนาจนิยม

สังคมอำนาจนิยมทำให้สมรรถนะของบุคคลและของชาติรวมทั้งของโลกต่ำ

ในการเผชิญปัญหาต่างๆ ซึ่งรวมทั้งโรคระบาดแบบโควิด ประเทศต่างๆ จะต้องเปลี่ยนจิตและวิธีคิด จากแย่งชิงต่อสู้และทอดทิ้งกันมาเป็นความร่วมมือ เพื่อความเจริญและการอยู่ร่วมกันอย่างสมดุล

วิธีสร้างโลกยุคหลังโควิด คือ มรรค 7 ที่กล่าวถึงในหนังสือ “วิธีที่คนไทยจะเอาชนะวิกฤตการณ์คลื่นลูกที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์” (จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์หมอชาวบ้าน)

มรรค 7 ดังกล่าวอาจย่อเหลือเป็นมรรค 5 เพื่อให้จำได้ง่ายๆ ดังต่อไปนี้

มรรค 7 ในการสร้างยุคใหม่หลังโควิด

มรรค 1 มีเป้าหมายที่สิ่งสูงสุดร่วมกัน ประกอบด้วย องค์ 3 หรือไตรยางค์ คือ

⧫ การอยู่ร่วมกันอย่างสมดุล

⧫ การตื่นรู้สู่จิตสำนึกใหม่

⧫ พลังพลเมืองที่ตื่นรู้และกัมมันตะ

มรรค 2 ชุมชนขนากเล็กเป็นหน่วยย่อยพื้นฐานของสังคม ประดุจเซลล์ของร่างกาย ชุมชน

มรรค 3 ระบบต่างๆ ในสังคมต้องเชื่อมโยงระหว่างสิ่งสูงสุดและฐานของประเทศ คือ 1 และ 2

มรรค 4 กระบวนการนโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วมหรือ P4 (Participatory Public Policy Process)

มรรค 5 การสื่อสารให้ทุกคนรู้ความจริงโดยทั่วถึง

รายละเอียดทั้ง 5 ประการนี้ อธิบายไว้แล้วในหนังสือ “วิธีที่คนไทยจะเอาชนะวิกฤตการณ์คลื่นลูกที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์” (จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์หมอชาวบ้าน)

ถ้าทำความเข้าใจมรรควิธีทั้ง 5 ให้ดีๆ จะเห็นว่าเป็นการเปลี่ยนแปลง “โลกทัศน์-วิธีคิด-จิตสำนึก” ครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของมนุษย์ชาติ

ตั้งแต่มีมนุษย์เกิดขึ้นบนโลกใบนี้ อย่างที่เป็นมนุษย์ในปัจจุบันหรือ Homo sapiens เมื่อประมาณ 200,000-300,000 ปีก่อน มนุษย์ไม่เคยเห็นว่าโลกทั้งหมดเป็นหนึ่งเดียวกัน แต่เห็นแบบแยกส่วนหรือบางส่วน และคิดเชิงแย่งชิงและต่อสู้ ซึ่งมาจากสมองส่วนหลังหรือสมองสัตว์เลื้อยคลาน ซึ่งทำหน้าที่เกี่ยวกับความอยู่รอด

แม้มาในสมัยปัจจุบัน ซึ่งมนุษย์มีความรู้และวิทยาการที่ทันสมัยต่างๆ แต่โปรแกรมสมองยังเป็นโปรแกรมเดิมที่คิดเชิงแย่งชิงและต่อสู้ การเห็นบางส่วน คิดแบบแยกส่วน ด้วยสัญชาตญาณแบบแย่งชิงและต่อสู้ นำไปสู่ความขัดแย้ง ความรุนแรง การแย่งชิงในรูปแบบต่างๆ ทำให้โลกเสียสมดุลและวิกฤต

โลกหลังโควิดเป็นโลกแห่งการอยู่ร่วมกันอย่างสมดุล แทนที่จะเป็นโลกแห่งการแย่งชิง และต่อสู้แบบโลกเก่า ทั้งนี้โดยการเปลี่ยน “โลกทัศน์-วิธีคิด-จิตสำนึก” โดยเห็นความเป็นหนึ่งเดียวกันของโลกทั้งใบ ซึ่งประกอบด้วยมนุษย์และสรรพสิ่งทั้งหมด มีจิตสำนึกใหม่ ซึ่งเป็นจิตสำนึกใหญ่ ที่คิดถึงกันอยู่ร่วมกันอย่างสันติสมดุล แทนที่การคิดเชิงแย่งชิงและต่อสู้เหมือนเดิม

ในจิตสำนึกใหม่นี้ มนุษย์ต้องมีสวิตซ์จากการใช้สมองส่วนหลัง ซึ่งเป็นสมองสัตว์เลื้อยคลาน ไปใช้สมองส่วนหน้า ซึ่งเป็นสมองแห่งความเป็นมนุษย์อาริยะ ทำหน้าที่เกี่ยวกับสติปัญญา วิจารณญาณ ศีลธรรม การเข้าถึงธรรมหรือความจริง

สมองส่วนหน้านี้รอให้มนุษย์ใช้มา 200,000-300,000 ปีแล้ว แต่สภาพทางสิ่งแวดล้อมและสังคมทำให้มนุษย์ใช้สมองส่วนหลังเรื่อยมา บัดนี้มนุษย์วิกฤตจนไม่มีทางไปแบบเดิมแล้ว จึงเป็นการบังคับให้มนุษย์หันมาใช้สิ่งที่มีศักยภาพสูงสุดของความเป็นมนุษย์ นั่นคือ สมองส่วนหน้า

มนุษย์ทุกคนสามารถเกิดจิตสำนึกใหม่ ทำให้เข้าถึงความจริงตามธรรมชาติของความเป็นหนึ่งเดียวของทั้งหมด (oneness of the whole) ทำให้จิตหลุดจากความคับแคบของจิตเล็กสู่อิสรภาพ ทำให้เกิดความสุขอย่างลึกล้ำและมีไมตรีจิตอันไพศาลต่อเพื่อนมนุษย์และสรรพสิ่ง

จิตสำนึกใหม่เป็นจิตที่มีความสุขและสร้างสรรค์อย่างยิ่ง เป็นแรงจูงใจสูงสุด ถ้าทุกคนรู้หรือได้ลิ้มรสของการตื่นรู้สู้จิตสำนึกใหม่

มนุษย์ได้ค้นพบวิธีการหลายช่องทางที่จะเกิดการตื่นรู้สู่จิตสำนึกใหม่ มีทั้งที่เกี่ยวข้องกับทางศาสนาและไม่เกี่ยว วิธีการทั้งหมดมีชื้อใหม่ว่า จิตปัญญาศึกษา คือ การศึกษาหรือดูจิตแล้วเกิดปัญญา มีสถาบันทางจิตปัญญาศึกษาเกิดเพิ่มมากขึ้นในชื่อต่างๆ ในอนาคต การเจริญสติหรือจิตตปัญญาศึกษาจะเป็นวิสัยของมนุษย์ทั่วโลก

โดยสรุปโลกใหม่หลังโควิด ประกอบด้วย

❶การตื่นรู้จิตสำนึกใหม่ของมนุษย์จำนวนมาก

❷ทำให้เกิดเจตจำนงใหม่ที่จะอยู่ร่วมกันอย่างสันติสมดุล แทนที่การแย่งชิงและต่อสู้

❸สร้างระบบการอยู่ร่วมกันใหม่ที่ปลอดภัยและเป็นสุข เริ่มที่ชุมชนขนาดเล็ก

❹เกิดพลังพลเมืองที่ตื่นรู้และกัมมันตะ รวมตัวร่วมคิด ร่วมทำกิจสาธารณะเป็นกลุ่มๆ อย่างหลากหลายเต็มสังคม เป็นกลุ่มที่มีความสุขประดุจบรรลุนิพพาน

❺จิตสาธารณะที่สำคัญยิ่งอย่างหนึ่ง คือ การขับเคลื่อนระบบนโยบายครบวงจรไปสู่ความสำเร็จ ที่เรียกว่า “กระบวนการนโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วม” หรือ P4 (Participatory Public Policy Process) ซึ้งเป็นประชาธิปไตยทางตรงที่ทุกคนมีส่วนร่วมได้ และร่วมในเรื่องที่สำคัญที่สุด คือ นโยบาย P4 จะทำให้ขับเคลื่อนนโยบายไปสู่ความสำเร็จได้ทุกเรื่องในระดับเป็นประโยชน์สุขต่อคนทั้งมวล

มรรค 5 หรือพละ 5 ที่กล่าวนี้ จะทำให้ทุกคนมีความสุขประดุจบรรลุนิพพาน และสร้างสรรค์อย่างยิ่ง สามารถร่วมกันสร้างสรรค์ชีวิตและการอยู่ร่วมกันที่ดีขึ้นไปเรื่อยๆ เป็นโลกยุคใหม่ที่ศรีอาริยะ

หมอชาวบ้าน ปีที่ 43 ฉบับที่ 513 เดือนมกราคม 2565

10 February 2565

By STY/Lib

Views, 1452

 

Preset Colors