02 149 5555 ถึง 60

 

ทำอย่างไรให้ คุณภาพชีวิตดี

ทำอย่างไรให้ คุณภาพชีวิตดี

คนไข้หัวเราะ คุณหมอที่รัก เรื่องโดย... นพ.สุรชัย ปัญญาพฤทธิ์พงศ์

คุณภาพชีวิตดี หมายถึง การมีสุขภาพกายสุขภาพจิตที่ดี มีปัจจัย 4 ได้แก่ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย ยารักษาโรค ที่เหมาะสมและเพียงพอ อยู่ในสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ดีปลอดภัยมีความเสี่ยงน้อย มีความสามารถเผชิญปัญหาต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถใช้ศักยภาพของตนเองในทางสร้างสรรค์ สามารถพัฒนาตนเองและสังคมให้อยู่ร่วมกันได้อย่างสันติสุข รวมทั้งความพึงพอใจในวิถีชีวิตของตนเอง

แต่หลายชีวิตมิได้อยู่ในสภาพเพียบพร้อมดังกล่าว ขาดความสมบูรณ์ ขาดปัจจัยที่มีผลต่อการดำรงชีวิตให้ปกติสุข

หลายชีวิตเผชิญปัญหาหนักหนาสาหัสในบางช่วงเวลาของชีวิต

ทำอย่างไรจึงจะดำรงคุณภาพชีวิตที่ดีในแต่ละสถานการณ์?

สถานการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต

1. สุขภาพกายสมบูรณ์

2. ปัญหาด้านสุขภาพจิต

3. ความขาดแคลนปัจจัย 4

สุขภาพกายสมบูรณ์

ความเจ็บไข้ได้ป่วยเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้กับคนเรา เพราะการเกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นกฎธรรมชาติ

คนเราป่วยไข้จากโรคเรื้อรัง ที่เกิดจากการทำงานของอวัยวะและระบบต่างๆ บกพร่อง จากความเสื่อมของร่างกายตามวัย เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันเลือดสูง โรคหัวใจ อัมพฤกษ์ อัมพาต โรคติดเชื้อ (เช่น ไข้เลือดออก ไข้หวัดใหญ่ โควิด-19) การบาดเจ็บจากอุบัติเหตุในกิจวัตประจำวัน จากการเดินทาง จากการประกอบอาชีพ หลายคนเป็นโรคพิการทุพพลภาพแต่กำเนิด และหลายคนเป็นโรคที่เกิดจากภูมิแพ้ตนเอง

คุณภาพชีวิตที่ดีในสถานการณ์เจ็บไข้ทางกาย

1.โรคที่รักษาหาย คนที่เจ็บไข้เพียงดูแลตนเองในระหว่างเป็นโรค เพียงรอเวลาให้โรคหายไป ซึ่งบางโรคหายเองได้ แต่บางโรคต้องได้รับการดูแลรักษาพยาบาลอย่างถูกต้อง เพื่อไม่ให้โรคลุกลามและเกิดภาวะแทรกซ้อน คุณภาพชีวิตได้รับผลกระทบเพียงช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้น

2. โรคที่ไม่หาย แต่ทุเลาได้ สามารถควบคุมอาการกำเริบได้ เพียงปรับความคิด ปรับการดำเนินชีวิตให้อยู่กับโรคนั้นๆ ได้ โดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้เหมาะสมกับภาวะของแต่ละโรค หลายคนมีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าเดิม เพราะได้กินอาหารสุขภาพ จัดเวลาออกกำลังกายและพักผ่อนอย่างเหมาะสม หลีกเลี่ยงบุหรี่ สุรา สารเสพติด ให้เวลากับตัวเองและครอบครัวมากขึ้น

3. โรคที่รักษาไม่ได้ โรคที่แม้จะรักษาดีอย่างไร อาการมีแต่ทรงกับทรุด แพทย์และทีมผู้รักษาพยาบาลสามารถธำรงคุณภาพชีวิตของคนไข้ให้ดีที่สุด โดยการวางแผนการดูแลรักษาร่วมกับคนไข้และครอบครัว ตั้งเป้าหมายเพื่อตอบสนองความต้องการของคนไข้ให้ได้มากที่สุด ลดความเจ็บปวดทุกข์ทรมาน ลดความเศร้าวิตกกังวล ให้ได้ทำสิ่งที่อยากทำ เพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีที่สุดจนวาระสุดท้าย

ปัญหาด้านสุขภาพจิต

ความวิตกกังวล ความเครียด ความเศร้าหมอง ความหมดหวัง ความทุกข์ เสียงร้องให้ เกิดขึ้นได้กับทุกคน และส่งผลลบต่อคุณภาพชีวิต

ความผ่อนคลาย ความรื่นเริง ความมีชีวิตชีวา มีความหวัง ความสุข เสียงหัวเราะ เกิดขึ้นได้กับทุกคน ส่งผลบวกต่อคุณภาพชีวิต

ในสถานการณ์เดียวกัน คนหนึ่งมีความทุกข์ อีกคนมีความสุข

ข้าราชการเกษียณได้รับเงินบำนาญ เป็นจำนวนน้อยลง เมื่อเทียบกับก่อนเกษียณซึ่งได้รับเงินเดือน เบี้ยเลี้ยง และค่าตอบแทนต่างๆ รวมกันเป็นเงินจำนวนมากกว่า

คนหนึ่ง ...คิดว่าเงินจำนวนน้อยนี้ต้องปรับชีวิตความเป็นอยู่ ใช้จ่ายน้อยลง ความสะดวกสบายน้อยลง เงินออมน้อยลง ชีวิตข้างหน้าดูท่าจะลำบาก

อีกคนหนึ่ง ...คิดว่าหลังเกษียณ งานสังคมลดลง รายจ่ายน้อยลง อยู่บ้านสบายๆ จะทำอะไรก็ได้ไม่มีภาระรับผิดชอบ ไม่ต้องทำตามคำสั่งเจ้านาย ไม่ต้องติดตามกวดขันงานลูกน้อง เพียงแค่หายใจเข้า ออก ก็ได้เงินใช้แล้ว

คนหนึ่ง ...ทำของมีค่าหาย เสียดายเงินที่สูญหายหลายหมื่น โทษตัวเองที่ไม่รอบคอบ โทษคนใกล้ชิดที่ไม่ช่วยดูแล กินไม่ได้นอนไม่หลับ ขาดสมาธิในการทำงาน พาลอารมณ์กับเพื่อนร่วมงาน

อีกคนหนึ่ง ...ตัดใจได้ เพราะของที่หายใช้มาแล้วหลายปี ตกรุ่น ล้าสมัย ถ้านำไปขาย ก็ได้ราคาน้อยกว่าตอนที่ซื้อหลายเท่า นอกจากนั้น ของที่หายอาจเป็นประโยชน์กับคนที่เก็บได้ เป็นวิธีทำบุญอย่างหนึ่ง

คนหนึ่ง ...พ่ายแพ้ในการแข่งขัน เสียดายแรงกายและแรงใจที่ได้ทุ่มเทฝึกซ้อมอย่างเต็มที่ แต่กลับไม่ประสบความสำเร็จ หมดความเชื่อมั่นในตัวเอง ความพ่ายแพ้ตัดเส้นทางอนาคต

อีกคนหนึ่ง ...ยินดีกับคู่ต่อสู้ ยึดถือเป็นแบบอย่าง กลับไปตั้งใจฝึกซ้อม ให้โอกาสตัวเองในการที่จะกลับมาใหม่ ใช้ความพ่ายแพ้สร้างแรงบันดาลใจ

ไม่มีสถานการณ์ใดจะมีอิทธิพลในด้านดีหรือร้ายต่อคุณภาพชีวิตคนเรา มากไปกว่าทัศนคติของคนเราที่มีต่อสถานการณ์นั้น

ความขาดแคลนปัจจัย 4

คนที่ขาดแคลนจนไม่มีอาหารประทังหิว มีเสื้อผ้าสวมใส่เพียงชุดเดียว ไร้บ้าน อยู่อาศัยตามที่สาธารณะ ยามเจ็บไข้ไม่มีโอกาสเข้าถึงการรักษาพยาบาล คนเหล่านี้อยู่ในภาวะพึ่งพิง ต้องได้รับการช่วยเหลือเยียวยา เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต

คนที่ไม่ขาดแคลนปัจจัย 4 แต่มีความรู้สึกมีไม่เพียงพอ ย่อมไม่มีความสุข

การจะยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น ต้องปรับทัศนคติด้วยมุมมองเชิงบวก

เพียงให้ความสำคัญกับคำว่า “สมถะ” “พอเพียง” “มีสติ” “ละกิเลส” “ไม่เปรียบเทียบ” “เชื่อมั่น” และ “ศรัทธาตนเอง” เป็นฐานสำคัญในการตอบสนองต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งนอกจากจะทำให้จิตใจสบายแล้ว ยังเกิดพลังในการสร้างสรรค์งานและได้รับผลตอบแทนเป็นการเพิ่มพูนปัจจัย 4 ให้สมบูรณ์เพิ่มขึ้น

การปฏิบัติเพื่อให้คุณภาพชีวิตดี

1. ดูแลรักษาสุขภาพให้ดี สร้างเสริมคุณภาพ ป้องกันโรคและอุบัติเหตุ การกินอาหารที่มีผลดีต่อสุขภาพ การออกกำลังกายอย่างเหมาะสม

2. ทำจิตใจให้ผ่องใส รู้จักให้อภัย ใช้มุทิตาและอุเบกขา ในสภาวะที่เหมาะสม

3. อารมณ์ดี ยิ้ม และหัวเราะ มองโลกในแง่ดี ตัดสินเหตุการณ์เชิงบวก

4. จิตอาสา พร้อมเป็นผู้ให้ เสียสละ

5. สร้างความสัมพันธ์ ทำกิจกรรมร่วมกับสังคม ไม่โดดเดี่ยวตนเอง

6. พัฒนาการเรียนรู้ เพิ่มพูนความรู้และทักษะ

7. มีสติ ฝึกสมาธิ

8. หลีกเลี่ยงอบายมุข หลีกเลี่ยงสิ่งเสพติด หลีกเลี่ยงการพนัน

9. อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี ไม่มีมลภาวะ

10. เข้าใจตนเอง ให้โอกาสตนเอง

หมอชาวบ้าน ปีที่ 43 ฉบับที่ 513 เดือนมกราคม 2565

21 February 2565

By STY/Library

Views, 14642

 

Preset Colors