02 149 5555 ถึง 60

 

สองเซลล์ สามกลไก สี่หลักการ ต้านโควิด (ด้วยตนเอง) (ตอนที่ 1)

สองเซลล์ สามกลไก สี่หลักการ ต้านโควิด (ด้วยตนเอง) (ตอนที่ 1)

ก้าวทันสุขภาพ เรื่องโดย... นพ.สมเกียรติ แสงวัฒนาโรจน์

เชื้อซาร์สโควี หรือเชื้อโรคโควิด-19 เป็นจุลินทรีย์ ซึ่งก่อให้เกิดโรคระบาดที่เป็นมหันตภัยอันใหญ่หลวงกับมนุษย์ชาติอย่างไม่เคยมีมาก่อน

อย่างไรก็ตาม ประวัติศาสตร์ทุกชาติทุกภาษา ก็สอนเราเช่นกันว่า เผ่าพันธุ์มนุษย์ไม่เคยมีเชื้อโรคระบาดใดที่เอาชนะระบบภูมิคุ้มกันของมนุษย์ทุกคนได้ จนทำให้มนุษยชาติสูญพันธุ์หรือเกือบสูญพันธุ์ มีคนรอดตาย รอดจากการป่วย พิการจากโรคระบาดมากกว่าผู้ที่ป่วย พิการ หรือเสียชีวิตจากการติดเชื้อ มากมายหลายสิบถึงหลายพันเท่าตัว เช่น ตั้งแต่โควิด-19 ระบาด (ต้นปี 2563) จนถึงวันที่ 20 ตุลาคม 2564 ทั่วโลกป่วยเป็นโควิด-19 แล้วกว่า 242,000,000 คน ตายจากโควิด-19 แล้วกว่า 4,900,000 คน สำหรับประเทศไทยเรา มีผู้ป่วยกว่า 1,800,000 คน และตายกว่า 18,000 คน ตามลำดับ (https://www.worldometers.info/coronavirus)

นอกจากปัจจัยภายนอก ได้แก่ มาตรการอนามัยส่วนบุคคล เช่น ใส่แมสก์กัน หมั่นล้างมือ ถือระยะห่างกัน หรือมาตรการปิดเมือง เช่น ล็อกดาวน์ ห้ามการเดินทาง ทำงานที่บ้าน และปัจจัยภายใน เช่น การสร้างภูมิคุ้มกันในเลือดด้วยการฉีดวัคซีน กินสมุนไพรจะมีผลในการลดการติดเชื้อ การป่วยและเสียชีวิตจากโควิด-19 ในปีที่ผ่านมา

ดังนั้น การพึ่งตนเอง ในการสร้างภูมิคุ้มกันแต่กำเนิด “ในเซลล์” ที่ทำได้ทุกคน ทุกที่ ทุกเวลา และเป็นภูมิคุ้มกัน ทุกเชื้อโรค ไม่ว่าจะเป็นไวรัสตัวไหน สายพันธุ์ไหน แบคทีเรีย เชื้อรา รวมทั้งสารก่อมะเร็ง มลพิษในอากาศ จึงเป็นสิ่งจำเป็นในภาวะที่เชื้อโรคกลายพันธุ์อยู่ตลอดเวลา การสร้างภูมิคุ้มกันจากภายนอก พึ่งวัคซีน พึ่งสมุนไพร พึ่งเทคโนโลยี มีความไม่แน่นอน ไม่ยั่งยืน เปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา รวมทั้งการเข้าถึงวิธีการสร้างภูมิคุ้มกัน “นอกเซลล์” ดังกล่าวก็ไม่แน่นอน อาจไม่สามารถพึ่งได้ทันเวลา หรือไม่ทันการเจ็บป่วย

เซลล์อะไรที่เป็น “เซลล์ยุทธศาสตร์” ของโรค โควิด-19 ?

คำตอบคือ เซลล์เยื่อบุทางเดินหายใจ และเยื้อบุหลอดเลือดฝอยรอบๆ ถุงลมในปอด

เชื้อโรคโควิด-19 เข้าสู่ทางเดินหายใจทางจมูกเป็นส่วนใหญ่ ลมหายใจเข้าจะพาเชื้อดังกล่าวเข้าสู่หลอดลม ซึ่งมรการแยกแตกแขนงไป 23 แยก กว่าจะไปถึงถุงลมส่วนปลายสุด ในระหว่างทางเดินหายใจมี “เซลล์เยื้อบุทางเดินหายใจ” อยู่โดยรอบ ป้องกันไม่ให้เชื้อโรคโควิด-19 ที่มีโปรตีนส่วนหนาม (spike protein) อยู่ที่ผิวเชื้อโรคไปจับกับตัวรับบนเซลล์เยื่อบุแล้วเข้าสู่เซลล์ เพื่อแบ่งตัว ออกลูกออกหลาน เพิ่มจำนวนเชื้อโรคในเซลล์นั้น

แต่เยื่อบุหลอดลม มีเมือกที่เคลือบอยู่บนชั้นผิวเซลล์ ในเมือกมีจุลินทรีย์ที่ดีต่อร่างกาย (microbiota) มากมาย (ที่ส่งมาจากจุลินทรีย์ในทางเดินอาหาร) มีสายกรดอะมิโนต้านจุลินทรีย์ (ต้านสิ่งแปลกปลอมที่ไม่ใช่เซลล์ของมนุษย์) ที่เรียกว่า anti-microbial peptide (AMP) มีเซลล์ภูมิคุ้มกันอีกมากมาย และมีขนอ่อนที่ผิวเซลล์คอยกวาดเชื้อโรค สิ่งแปลกปลอมที่ร่างกายไมต้องการออกทางเสมหะ และน้ำลายเราตลอดเวลา

กลไกดังกล่าวนี้ เป็นภูมิคุ้มกันแต่กำเนิดที่เกิดนอกเซลล์เป็นส่วนใหญ่ ที่มีอยู่ 10 กลไกด้วยกัน

ดังนั้น ถ้ากลไกทั้ง 10 นี้ของใครบกพร่อง เชื้อโควิด-19 สามารถหลบหลีก ฝ่าด่าน 20 กว่าด่าน ทางแยกของทางเดินหายใจ เกิดการอักเสบ (อาการปวด บวม แดง ร้อน) และเชื้อเข้าไปจับกับเซลล์เยื้อบุทางเดินหายใจได้

🢖 ถ้าเป็นเซลล์เยื้อบุทางเดินหายใจที่จมูกก็เกิดอาการทางจมูกผิดปกติ เช่น มีน้ำมูก การรับกลิ่นลดลง

🢖 ถ้าเป็นเซลล์เยื้อบุในคอ ก็เกิดอาการเจ็บคอ ไอ

🢖 ถ้าเป็นเซลล์เยื้อบุในหลอดเลือดลมใหญ่ ก็เกิดอาการไอ มีเสมหะ

แต่ถ้าเป็นเซลล์เยื้อบุทางเดินหายใจส่วนปลาย (หรือถุงลม) ซึ่งเป็นเซลล์บางๆ ชั้นเดียวที่ติดกับเซลล์เยื้อบุหลอดเลือดอีก 1 ชั้น เกิดการอักเสบ มีอาการไอ เหนื่อยหอบ ไข้สูง ปอดบวม หรือน้ำท่วมปอดตามมา

ส่วนการอักเสบที่เกิดขึ้นในเยื้อบุทางเดินหายใจส่วนต้นหรือสวนปลายก็ตาม ทำให้มีการสร้างสารกระตุ้นภูมิคุ้มกัน (cytokine) และเกิดไข้ (อุณหภูมิในร่างกายที่สูงขึ้นเกิน 37.8 องศาเซลเซียส)

เมื่อเชื้อโควิด-19 เข้าสู่เซลล์เยื้อบุทางเดินหายใจได้แล้ว ก็จะใช้เซลล์นั้นเป็นโรงงานแบ่งตัว ผลิตลูกออกหลาน เชื้อโควิด-19 และเชื้อที่สร้างใหม่นี้จะออกเซลล์ไปเข้าสู่เซลล์อื่นต่อๆ ไป (ยกเว้นสายพันธุ์เดลตาที่ขยายโรงงานการผลิตไปเซลล์ข้างๆ ได้โดยตรง โดยไม่ต้องออกจากเซลล์)

ในขณะเดียวกัน ภูมิคุ้มกันแต่กำเนิดทั้ง 10 กลไก และภูมิคุ้มเฉพาะโรคที่ถูกกระตุ้นที่เกิดตามมาภายหลังหรือจากการฉีดวัคซีน (innate and adaptive immunity) ซึ่งเกือบทั้งหมดออกฤทธิ์นอกเซลล์ (ยกเว้น AMP) ทำให้เกิดการอักเสบที่เซลล์เยื้อบุทางเดินหายใจและถุงลม มีการสร้างสารกระตุ้นภูมิคุ้มกัน หรือสารที่ไปดึงเอาเซลล์การอักเสบจากที่อื่น จากในเลือดมากเกินไป (cytokine storm) มาทำให้การอักเสบลุกลามไปหลายอวัยวะ หลายระบบ (systemic inflammation response syndrome) จนไปถึงเซลล์เยื้อบุหลอดเลือดฝอยชั้นบางๆ ซึ่งติดกับเซลล์เยื้อบุถุงลม

เชื้อโรคโควิด-19 จะเข้าสู่กระแสเลือดได้หรือไม่ได้ ก็ขึ้นอยู่กับภูมิคุ้มกัน “ในเซลล์” ของเซลล์เยื้อบุหลอดเลือดฝอย มีมากน้อยแค่ไหน การทำงานของเซลล์ดังกล่าวปกติหรือผิดปกติ (endothelial normal function or dysfunction)

ถ้ามีความอ่อนแอของภูมิคุ้มกันในเซลล์เยื้อบุหลอดเลือดฝอย และ/หรือ การทำงานผิดปกติดังกล่าว ก็ย่อมทำให้เชื้อโรคโควิด-19 เข้าสู่กระแสเลือด หรืออาจมีการติดเชื้อแบคทีเรีย เชื้อราอื่นๆ ที่แทรกเข้ามากระจายไปตามอวัยวะต่างๆ เช่น หัวใจ ตับ ไต และการอักเสบ การเกิดลิ่มเลือดในหลอดเลือด หลอดเลือดตีบตันจนขาดเลือดในอวัยวะต่างๆ จนอวัยวะหลายระบบล้มเหลว (multi-organ failure syndrome) และเสียชีวิตในที่สุด

**ปัญหาอุปสรรคมากมายในการบริหารจัดการมาตรการดังกล่าว รวมทั้งวัคซีนก็ผลิตไม่ทันเชื้อโรคโควิด-19 ที่กลายพันธุ์ไปเรื่อยๆ เช่น เชื้อโรคโควิด-19 สายพันธุ์เดลตาซึ่งกำลังระบาดขณะนี้ ลดประสิทธิภาพของวัคซีนเอ็มอาร์เอ็นเอ และวัคซีนที่ใช้อดิโนไวรัส เมื่อเทียบกับสายพันธุ์แอลฟาที่ระบาดปีที่แล้ว

แม้แต่ในประเทศจีนที่คุมโควิด-19 ได้ดีที่สุดและฉีดวัคซีนได้มากที่สุดแห่งหนึ่งในโลก ก็เพิ่งพบการระบาดของเชื้อโรคโควิด-19 สายพันธุ์เดลตา 167 คน (ในช่วง 21 พ.ค. ถึง 18 มิ.ย.2564) จากผู้ติดเชื้อรายแรก 1 คน และพบว่า สายพันธุ์เดลตาตรวจพบเชื้อได้มากกว่าสานพันธุ์ดั่งเดิมประมาณ 1,000 เท่า

มีการศึกษาที่พบการลดลงของการทำลายเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์เดลตา จากการฉีดวัคซีนอีก 2 การศึกษา เพราะสายพันธุ์เดลตาสามารถแบ่งตัว “ในเซลล์” ผู้ป่วยแล้วเจาะทะลุเซลล์ข้างๆ รวมกันเป็นเซลล์ขนาดใหญ่ขึ้น (เรียกว่า syncytia) สามารถขยายการผลิตเชื้อโควิด-19 ได้เพิ่มขึ้นหลายเท่าตัวโดยไม่ต้องออกมา “นอกเซลล์” เหมือนสายพันธุ์ดั่งเดิม จึงไม่ถูกทำลายโดยภูมิคุ้มกัน ในเลือด ในทางเดินหายใจ เพราะภูมิคุ้มกันดังกล่าวมาสามารถเข้าไป “ในเซลล์” ได้

แม้แต่วัคซีนที่พ่นทางจมูก เพิ่มภูมิคุ้มกันโรคทางจมูก ซึ่งกำลังทำการวิจัยทดลองกันอยู่ ก็เป็นการเพิ่มภูมิคุ้มกัน “นอกเซลล์” ไม่สามารถเพิ่มภูมิคุ้มกัน “ในเซลล์” เพื่อแก้ปัญญาเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์เดลตาที่กลายพันธุ์ได้

นอกจากนี้ แม้ผู้ที่ฉีดวัคซีนทุกชนิดครบตามกำหนดเวลาแล้ว ก็ยังสามารถจะติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์เดลตาและแพร่เชื้อให้คนอื่นๆ ต่อไปได้**

หมอชาวบ้าน ปีที่ 43 ฉบับที่ 511 เดือนพฤศจิกายน 2564

(อ่านต่อตอนหน้า☺)

4 March 2565

By STY/Library

Views, 1176

 

Preset Colors