02 149 5555 ถึง 60

 

ปอดและอาการ LONG COVID ที่ควรรู้ (ตอนที่2)

LUNG & LONG COVID SYNDROME

ปอดและอาการ LONG COVID ที่ควรรู้ (ตอนที่2)

เรื่องพิเศษ เรื่องโดย... ศิริกร โพธิจัทร

THE 1st CASE

กรณีศึกษาจากเคสผู้ป่วยรายที่ 1

เพื่อให้ผู้อ่านมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความเสียหายที่ปอดหลังติดเชื้อโควิด รองศาสตราจารย์ นายแพทย์นิธิพัฒน์จึงยกกรณีศึกษาผู้ป่วยรายหนึ่งให้ฟัง

“ในจำนวน 2-3 รายที่ทางทีมเรากำลังดูแลอยู่นี้มี 1 รายที่น่าสนใจ คนไข้ผู้หญิงอายุ 83 ปี เขาไปรักษาที่อื่นแล้วถึงส่งตัวมาที่เรา ดูจากประวัติแล้ว แม้คนไข้จะอายุมาก แต่ก่อนหน้านี้ก็แข็งแรงดี โรคประจำตัวก็ไม่มีอะไรหนัก มีเพียงโรคความดันโลหิตสูง

“เมื่อคนไข้ติดเชื้อโควิด กลายเป็นผู้ป่วยที่อยู่ในกลุ่มอาการรุนแรง เมื่อเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลก็ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ High Flow ต่อเนื่องถึง 4 อาทิตย์ หลังออกจากโรงพยาบาลกลับไปอยู่บ้าน 4 เดือน ระหว่างนั้นก็มีอาการไม่ดีบ้างจนต้องเข้าๆ ออกๆ โรงพยาบาลมาตลอด

“ปัจจุบันแม้จะผ่านมา ๕ เดือนแล้ว แต่เรายังตรวจพบว่าปอดมีการอักเสบบางส่วนอยู่เลย และมีเนื้อปอดเสียหายไปแล้วร้อยละ 50 แต่ในร้อยละ 50 นี้อาจยังไม่ใช่การเสียหายถาวร

“เราหวังว่าเมื่อคนไข้ฟื้นตัวแล้ว เนื้อปอดที่เสียหายไปจะค่อยๆ กลับคืนมาได้บ้างสักร้อยละ 10 หวังว่าจะช่วยทำให้คนไข้ไม่ต้องเป็นเคสทุพพลภาพที่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจหรือนั่งรถเข็นไปตลอด

“แนวทางการรักษาช่วงนี้เราจึงต้องให้ยาเพื่อลดการเป็นพังผืดที่ปอด คนไข้มีอาการกำเริบเป็นช่วงๆ ต้องให้ยากดภูมิคุ้มกันร่วมด้วย”

THE 2nd CASE

กรณีศึกษาจากเคสผู้ป่วยรายที่ 2

โอกาสรอดชีวิตในกรณีผู้ป่วยโควิดที่มีอาการปอดอักเสบรุนแรงนั้นขึ้นอยู่กับปัจจัย

จากกรณีศึกษาในผู้ป่วยรายที่ 2 ซึ่งรองศาสตราจารย์ นายแพทย์นิธิพัฒน์ยกเป็นเคสตัวอย่างนั้นชี้ให้เห็นว่าเวลาเป็นปัจจัยที่สำคัญ เพราะแม้คนไข้จะมีอาการรุนแรง แต่ถ้าเข้าสู่การรักษาในช่วงที่มีผู้ป่วยน้อยก็ยังมีโอกาสรอดชีวิตได้

“รายนี้อายุ 60 ปี เมื่อติดเชื้อโควิดพบว่ามีอาการรุนแรงและอาการโดยรวมหนักกว่ารายแรก ต้องใช้เครื่องหัวใจและปอดเทียม การอักเสบหนักๆ นั้นส่งผลให้ไตวายด้วย จึงต้องล้างไต

“ผ่านไป 6 เดือน คนไข้รายนี้ฟื้นตัวค่อนข้างดี ตรวจพบปอดเป็นพังผืดร้อยละ 1.-20 ถือว่าไม่หนักมาก คนไข้เดินออกกำลังกายได้ จากที่เคยเจาะคอใส่ท่อช่วยหายใจก็เอาท่อออกได้ จากที่เคยไตวายก็หยุดล้างไตได้

“เคสนี้แม้คนไข้จะมีอาการรุนแรง แต่เขามาหาเราในช่วงที่คนไข้ไม่มาก ประมาณต้นการระบาดระลอกที่ ถ ประมาณปลายเมษายน-ต้นพฤษภาคม ปี พ.ศ.2564

“ในช่วงเวลาดังกล่าวทีมแพทย์และพยาบาลจึงใช้เวลากับคนไข้ได้เต็มที ในทางกลับกันเราจะพบอัตราการเสียชีวิตของคนไข้สูงเมื่ออยู่ในช่วงที่มีการระบาดรุนแรง จนส่งผลให้คนไข้ไหลเข้ามามากจนล้นระบบ

“แม้คนไข้รายนี้เข้ามาตอนอาการหนัก เขาต้องใช้เครื่องหัวใจและปอดเทียม แต่ ณ ขณะนั้นอุปกรณ์มีเพียงพอ โอกาสที่จะรอดชีวิตเพราะเข้าถึงการรักษาที่มีอุปกรณ์ครบถ้วนจึงมีสูง”

LUNG INFECTION

ปอดอักเสบและการติดเชื้อต่างๆ ที่ตามมา

รองศาสตราจารย์ นายแพทย์นิธิพัฒน์อธิบายเพิ่มเติมว่า เมื่อคนเรารับเชื้อโควิดเข้าสู่ร่างกาย ในรายที่เกิดการอักเสบรุนแรงทั่วร่างกายหรือ Cytokine Storm มีบางรายที่เกิดความเสียหายที่ปอด แต่โดยทั่วไปถ้ามีต้นทุนสุขภาพที่ดี ก็มีโอกาสที่เนื้อปอดจะค่อยๆ ฟื้นสภาพกลับมาใช้งานได้บ้างมากน้อยแตกต่างกันไป

“โดยทั่วไปหลังเกิดการอักเสบที่ปอด 2 สัปดาห์ เรามักจะเห็นสัญญาณการฟื้นตัวของปอด ไม่เกิน 3 สัปดาห์เศษๆ ก็จะหายได้ ในกรณีที่ผ่าน 3 สัปดาห์ไปแล้ว แต่ยังพบว่ามีอาการปอดอักเสบอยู่ แพทย์จะนัดตรวจร่างกายหลังออกจากโรงพยาบาลเพื่อติดตามผลอีก 3 เดือน

“แต่ในกรณีคนไข้อายุ 83 ปีที่ผมเล่าไป เมื่อเนื้อปอดคนไข้เสียหาย จึงเกิดการติดเชื้อที่ปอดแทรกซ้อน เช่น เชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อราตามมา และทุกวันนี้คนไข้ต้องเข้ามารักษาตัวที่โรงพยาบาล เพื่อรอให้ยารักษาปอดอักเสบทำงานในระหว่างนี้คนไข้ยังต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ High Flow อยู่

“เคสนี้เราพบว่าคนไข้มีอาการปอดติดเชื้อและการอักเสบซ้ำๆ หลายครั้ง ตลอก 4 เดือนที่คนไข้อยู่บ้านบ้างเข้าโรงพยาบาลบ้าง ทีมแพทย์ก็ปรับยาเพื่อลดอาการปอดติดเชื้อ การอักเสบ ยากดภูมิ ลดการเป็นพังผืดที่ปอดมาอย่างต่อเนื่อง

“เมื่อปอดเกิดความเสียหายแบบนี้ จะเกิดการติดเชื้อแทรกได้ง่ายมาก เกิดขึ้นได้หมดนะครับ เช่น เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ เชื้อรา เชื้อแบคทีเรีย ได้หมดเลย ล่าสุดคนไข้รายนี้ปอดติดเชื้อราซึ่งเป็นผลจากการใช่ยากดภูมิ”

LIFE AFTER LUNG INFECTION

หลังปอดอักเสบต้องปรับวิถีชีวิต

ในฐานะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคติดเชื้อที่ปอดและเห็นความเสียหายของเนื้อปอดมาเป็นจำนวนมาก รองศาสตราจารย์ นายแพทย์นิธิพัฒน์อธิบายถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ดังนี้

“หลายคนอาจนึกภาพไม่ออกว่าเมื่อปอดอักเสบซ้ำๆ จนเกิดความเสียหายที่เนื้อปอดแล้ว จะส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตอย่างไร

“อาการนั้นใกล้เคียงกับผู้ป่วยถุงลมโป่งพองครับ คนไข้ต้องหายใจแรง ต้องนั่งรถเข็น เพราะถ้าใช้แรงก็จะเหนื่อย เพียงเขาขยับตัวเล็กน้อยก็หอบ หรือบางรายต้องใส่สายออกซิเจนที่จมูกตลอดเวลา

“ถ้าเนื้อปอดเสียหายไม่เกินร้อยละ 50 เรายังพอใช้ชิวิตอยู่ได้ครับ แต่ต้องลดกิจกรรมที่ออกแรงไปบ้าง เพราะเดินขึ้นบันไดหรือเดินเร็วๆ ก็เหนื่อยแล้ว แต่ถ้าเนื้อปอดเสียหายร้อยละ 50 ขึ้นไป ทำอะไรนิดหน่อยก็เหนื่อย ตรงนี้ก็ส่งผลกับหน้าที่การงานและการใช้ชีวิต

แต่ถ้าเนื้อปอดเสียหายเกินร้อยละ 70 แบบนี้ต้องนั่งรถเข็น ใส่เครื่องช่วยหายใจตลอด อยู่เฉยๆ ขยับตัวเล็กน้อยก็เหนื่อยแล้ว

สำหรับท่านที่กังวลว่าหลังหายจากโควิดแล้วมีอาการเหนื่อย สงสัยว่าปอดจะเสียหายหรือเปล่า ให้ลองเอาเครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้วมาใช้ตรวจสอบเบื้องต้นได้ ถ้าค่าออกซิเจนต่ำกว่าร้อยละ 94 ควรมาปรึกษาแพทย์ เพราะอาจมีปัญหาที่ปอดหรือหัวใจ

“ถ้าจะให้รู้แน่ชัด ควรต้องมาตรวจร่างกายที่โรงพยาบาลครับ แพทย์จะให้เอกซเรย์และตรวจสมรรถภาพปอดต่อไป”

PM2.5 FACTOR

ฝุ่นจิ๋วมีผลต่อสุขภาพปอดในยุดโควิดอย่างไร

รองศาสตราจารย์ นายแพทย์นิธิพัฒน์ได้ชี้ประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับฝุ่นจิ๋ว PM2.5 ว่าเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ส่งผลกระทบโดยเพิ่มโอกาสการเกิดปอดอักเสบให้มากขึ้นได้

“PM2.5 เป็นมลภาวะที่ลอยอยู่ในอากาศ เราทุกคนต้องใช้อากาศหายใจ ดังนั้นการที่เราต้องสูดอากาศที่มีมลภาวะเช่นนี้ย่อมส่งผลต่อปอดได้แน่นอน ฝุ่นจิ๋วนับเป็นสิ่งแปลกปลอม เมื่อเข้าสู่ทางเดินหายใจลงไปถึงปอดก็จะทำให้เกิดการระคายเคืองและการอักเสบตามมาได้เหมือนกับคนสูบบุหรี่ซึ่งควันที่มีสารประกอบต่างๆ มากมายลงไปถึงปอด

“มีงานวิจัยในต่างประเทศพบว่า พื้นที่ที่มีปัญหามลภาวะทางอากาศ ซึ่งรวมถึง PM2.5 จะมีอัตราผู้เสียชีวิตจากโควิดสูงกว่าพื้นที่ที่มีอากาศดี

“ตรงนี้เป็นข้อมูลทางระบาดวิทยา โดยตรวจสอบข้อมูลระดับฝุ่นในเมืองที่มีมลพิษทางอากาศสูงเปรียบเทียบกับเมืองที่มีปัญหามลภาวะทางอากาศน้อยกว่า เพื่อดูว่าคุณภาพอากาศมีผลต่อผู้ป่วยโควิดและผู้เสียชีวิตจากโควิดหรือไม่ โดยในรายงานนี้อธิบายว่า เมืองที่มีมลพิษในอากาศสูงมีสารที่ก่อมลพิษ เช่น ไนโตรเจนไดออกไซด์ คาร์บอนมอนนอกไซด์ ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ และรวมถึงฝุ่นอย่าง PM10 กับ PM2.5

“ทีนี้ก็มาถึงคำถามว่าเมืองที่มีมลพิษในอากาศสูงจะมีอัตราผู้ป่วยเป็นโควิดสูงกว่าเมืองที่มีมลภาวะทางอากาศน้อยหรือไม่ ตรงนี้ข้อมูลยังไม่ชัดเจนนะครับ แต่ถ้าเป็นเรื่องอัตราผู้เสียชีวิตจากโควิด อันนี้ชัดเจน คือเมืองที่มีมลภาวะสูงมีอัตราตายของผู้ป่วยโควิดสูงกว่าเมืองที่มีมลภาวะทางอากาศน้อย”

(อ่านต่อตอนหน้า☺)

นิตยสารชีวจิต ปีที่ 24 ฉบับที่ 561 เดือน 16 กุมภาพันธ์ 2565

28 March 2565

By STY/Library

Views, 893

 

Preset Colors