02 149 5555 ถึง 60

 

ปอดและอาการ LONG COVID ที่ควรรู้ (ตอนที่3)

LUNG & LONG COVID SYNDROME

ปอดและอาการ LONG COVID ที่ควรรู้ (ตอนที่3)

เรื่องพิเศษ เรื่องโดย... ศิริกร โพธิจัทร

THE 5 KEY SUCCESS FACTORS

ปัจจัยสำคัญในการฟื้นฟูปอดหลังโควิด

เมื่อเนื้อปอดเกิดความเสียหายจากการติดโควิดแล้ว อะไรคือปัจจัยที่กำหนดความสำเร็จในการฟื้นฟูปอดให้กลับมาทำงานได้อีกครั้ง

รองศาสตราจารย์ นายแพทย์นิธิพัฒน์อธิบายไว้ดังนี้

“ปัจจัยข้อที่ 1 ต้นทุนเดิมที่คนไข้มีอยู่ ตรงนี้ถ้าคนมีโรคประจำตัว โดยเฉพาะโรคที่เกี่ยวข้องกับการอักเสบของร่างกาย เช่น เบาหวาน น้ำตาลในเลือดสูง โรคอ้วน ไขมันในเลือดสูง แบบนี้ติดโควิด โอกาสที่จะเกิดการอักเสบรุนแรงก็จะเพิ่มขึ้น

“ปัจจัยข้อที่ 2 อายุ ถ้าคนไข้อายุน้อย โอกาสที่ร่างกายจะฟื้นฟูตนเองให้กลับมาแข็งแรงได้อีกครั้งก็ย่อมมีมากกว่าผู้สูงอายุ กรณีที่ผมเล่าให้ฟังว่าคนไข้เป็นโควิดแล้วมีความเสียหายที่ปอดมากเป็นผู้สูงอายุทั้งสองท่านเลย คืออายุ 83 ปี กับ 60 ปี

“ปัจจัยข้อที่ 3 การเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลที่มีศักยภาพสูง เมื่อทีมแพทย์และพยาบาลมีอุปกรณ์ครบ ย่อมช่วยให้คนไข้มีโอกาสที่จะหายดีขั้นได้เร็วกว่า

“ปัจจัยข้อที่ 4 ช่วงเวลาที่เข้ารับการรักษา เนื่องจากโควิดเป็นโรคระบาด การที่มีคนไข้ล้นระบบสาธารณสุขในช่วงเวลาที่กราฟผู้ติดเชื้อขึ้นสูง ย่อมส่งผลต่ออัตราการรอกชีวิตและการฟื้นตัวของคนไข้

“ปัจจัยข้อที่ 5 ความร่วมมือระหว่างคนไข้ ผู้ดูแลหรือญาติคนไข้ แพทย์และพยาบาลตรงนี้สำคัญ เพราะเราทุกคนต้องช่วยกันทำงานเป็นทีม เพื่อให้คนไข้กลับมาอาการดีขึ้นได้โดยเร็วที่สุด”

5 TIPS FOR PATIENTS

แนวทางดูแลปอดหลังเป็นโควิด

รองศาสตราจารย์ นายแพทย์นิธิพัฒน์อธิบายถึงแนวทางการฟื้นฟูปอดในการดูแลผู้ป่วยที่หายจากโควิดแล้วดังนี้

ข้อที่ 1 การรับยาและทำกายภาพบำบัด ถ้าเป็นกรณีที่ความเสียหายของเนื้อปอดไม่ถึงร้อยละ 50 แพทย์จะใช้ทั้งการให้ยาและกายภาพบำบัด เช่น ฝึกหายใจ ฝึกไอเพื่อขับเสมหะ เพื่อฟื้นฟูสมรรถภาพของปอด

“ข้อที่ 2 ลดปัจจัยเสี่ยงรับเชื้อซ้ำ เช่น สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆ หลีกเลี่ยงการไปในที่ที่มีผู้คนแออัด ตรงนี้เป็นพื้นฐานที่ขาดไม่ได้ครับ

“ข้อที่ 3 ฉีดวัคซีนให้ครบตามกำหนดที่แพทย์แนะนำ เช่น วัคซีนไข้หวัดใหญ่ วัคซีนปอดอักเสบ และแน่นอนว่ารวมถึงวัคซีนโควิดด้วย ถ้ารับครบ 2 เข็มแล้ว ก็ต้องรับเข็มกระตุ้นเข็มที่ 3 ต่อไป โดยมีระยะเวลาขึ้นอยู่กับการรับเข็มที่ 2 ตรงนี้คนไข้สามารถปรึกษาแพทย์เจ้าของไข้ให้เขาแนะนำได้เลย

“ข้อที่ 4 การลดปัจจัยก่ออาการระคายเคืองปอด เช่น ควันไฟ ควันบุหรี่ และมลพิษในอากาศอย่างฝุ่นจิ๋ว PM2.5 เรื่องมลพิษอาจจะยากเมื่อเทียบกับเรื่องควันไฟหรือควันบุหรี่ เราก็จะขอให้คนไข้ตรวจเช็กค่ามลพิษในอากาศและวางแผนการเดินทางเสมอ ถ้าวันไหนค่ามลพิษในอากาศสูงก็แนะนำให้งดเดินทางนะครับ

“ข้อที่ 5 ปรับวิถีชีวิต เราต้องอธิบายแนวทางการดูแลสุขภาพกายและใจ รวมถึงการปรับวิถีชีวิตให้คนไข้เข้าใจว่าเมื่อปอดไม่แข็งแรงเหมือนเดิมแล้ว ก็ต้องเอาใจใส่ดูแลสุขภาพให้แข็งแรงมากกว่าเดิม”

THE SUCCESS STORY

กรณีการรักษาอดีตผู้ว่าสมุทรสาคร

ย้อนกลับไปในปี พ.ศ.2563-2564 หนึ่งในกรณีศึกษาที่สำคัญคือการรักษานายวีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี ซึ่ง ณ ขณะนั้นดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร โดยทีมแพทย์และพยาบาลของศิริราชให้การดูแล

ในกรณีนี้นายวีระศักดิ์ได้รับการตรวจว่าติดเชื้อโควิดและเข้ารับการรักษาตั้งแต่วันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ.2563 ใช้เวลารักษาต่อเนื่อง 3 เดือน จึงออกจากโรงพยาบาลในวันที่ 19 มีนาคม พ.ศ.2564 และใช้เวลาอีก 1 เดือนในการพักฟื้นที่บ้าน ปัจจุบันนายวีระศักดิ์ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดอ่างทองซึ่งเป็นจังหวัดบ้านเกิด

จากการให้สัมภาษณ์ของนายวีระศักดิ์ ระบุถึงอาการในช่วงวิกฤติว่า

“ตื่นขึ้นมารู้สึกตัว แต่ไม่รู้สึกถึงกล้ามเนื้อแขนและขา วันแรกยังพูดไม่ได้ เพราะใส่ท่อช่วยหายใจ”

ในกรณีนี้รองศาสตราจารย์ นายแพทย์นิธิพัฒน์อธิบายว่า

“เคสท่านผู้ว่าฯ ตอนที่มาถึงมือเราก็มีอาการปอดอักเสบรุนแรง แรกสุดปอดอักเสบร้อยละ 30 ผ่านมาเพียง 3 วันก็เข้าสู่อาการปอดอักเสบเต็มที่ (100 เปอร์เซ็นต์) ทีแรกเราใช้ High Flow แต่ไม่ไหว ในที่สุดต้องใช้เครื่องช่วยหายใจและต้องใช้ต่อเนื่อง 42 วัน

“แต่กรณีนี้โชคดีว่าท่านผู้ว่าฯ เข้ามาในช่วงการระบาดระลอกที่ 2 คนไข้ยังไม่มาก ทีมแพทย์และพยาบาลมีทั้งอุปกรณ์และกำลังคนในการดูแลเต็มที่ หลังจากออกจากโรงพยาบาลก็ต้องทำกาบภาพบำบัดอีก 40 วันกว่าจะเดินและเอาออกซิเจนออกได้

“เรื่องปอดก็ค่อยๆ ฟื้นตัวครับ ก่อนออกจากโรงพยาบาลเราตรวจร่างกายอย่างละเอียด พบว่ามีพังผืดไม่ถึงร้อยละ 10 ถือว่าค่อนข้างน่าพอใจ เพราะจะไม่รบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน

“อย่างที่กล่าวไปแล้วว่าธรรม๙ติของปอดเมื่อเกิดการอักเสบ เขาจะกลับมาฟื้นตัวได้ แต่จะเร็วหรือช้าขึ้นอยู่กับ ณ ขณะนั้นมีอวัยวะอื่นๆ เสียหายจากการอักเสบด้วยหรือไม่ ส่วนปอดมีการติดเชื้อแทรกซ้อนอีกหรือไม่ ยาที่แพทย์ให้ตอบสนองกับอาการของคนไข้ดีหรือไม่”

อีกประเด็นหนึ่งที่รองศาสตราจารย์ นายแพทย์นิธิพัฒน์ชี้คือ ผลจากการที่คนไข้ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจนานๆ

“เราลองนึกภาพดูว่าคนไข้ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจนานถึง 42 วัน เขานอนอยู่บนเตียง ผอมมาก กล้ามเนื้อลดลง ดังนั้นในการดูแลขึ้นตอนต่อมาคือการทำกายภาพบำบัด เพื่อฟื้นฟูทั้งสมรรถภาพการหายใจ เช่น การหายใจ การไอเพื่อขับเสมหะ และฟื้นฟูกล้ามเนื้อทั่วร่างกาย เช่น แขน ขา กล้ามเนื้อช่วยในการหายใจ

โดยธรรมชาติปอดจะค่อยๆ ฟื้นฟูตัวเอง ถ้าไม่มีการติดเชื้อซ้ำ ในที่สุดปอดจะค่อยๆ ฟื้นตัวใกล้เคียงปกติ อาจมีการทิ้งร่องรอยความเสียหายไว้บ้าง ขึ้นอยู่กับว่าตอนที่ปอดอักเสบมีความรุนแรงต่อเนื่องมากน้อยเพียงใด มีการติดเชื้อแทรกซ้อนหรือมีอาการหัวใจวายหรือเปล่า

“ส่วนการที่เราให้โปรแกรมกาบภาพบำบัดเป็นการดูแลทางอ้อมที่จะช่วยสนับสนุนให้คนไข้มีสุขภาพโดยรวมที่แข็งแรง และสามารถกลับมาทำกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

“อีกอย่างท่านผู้ว่าฯ กำลังใจดีมาก ครอบครัวดูแลใกล้ชิด ประชาชนก็ให้กำลังใจท่านเต็มที่ ตรงนี้ก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่ช่วยได้ครับ”

LESSON LEARNED

บทเรียนจากการรับมือโควิด

จากประสบการณ์ในการดูแลผู้ป่วยโควิดตลอดระยะเวลา 2 ปีเศษที่ผ่านมา ในฐานะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลผู้ป่วยปอดติดเชื้อ รองศาสตราจารย์ นายแพทย์นิธิพัฒน์ย้ำถึงปัจจัยที่ส่งผลต่ออัตราการรอดชีวิตของผู้ป่วยได้ ดังนี้

“ก่อนหน้ากรณีท่านผู้ว่าฯ คนไข้เรามีอัตราการรอดชีวิต 100 เปอร์เซ็นต์ แต่หลังจากกรณีนี้ไม่นาน จำนวนคนไข้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนในที่สุดก็ส่งผลต่อการดูแล ทำให้ต่อมาถ้ามีคนไข้โควิดที่มีอาการปอดอักเสบหนักพอๆ กับท่านผู้ว่าฯ อัตราการเสียชิวิตจะเพิ่มเป็นร้อยละ 30

“สถิตินี้สอดคล้อยกับปัญหาที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ แม้ในประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างยุโรปหรืออเมริกา ช่วงที่เกิดการระบาดหนักจนคนไข้เข้ามาที่โรงพยาบาลมากขึ้นแบบฉับพลัน

“เมื่อมีบุคลากรและอุปกรณ์เท่าเดิม จึงส่งผลให้อัตราตายของผู้ป่วยในยุโรปช่วงนั้นสูงมาก แพทย์ต้องเลือกว่าจะใส่เครื่องช่วยหายใจให้คนไข้รายไหน เพราะแพทย์ไม่สามารถช่วยได้ทุกคน ตอนนั้นอัตราผู้ป่วยเสียชีวิตในไอซียูของเขาสูงกว่าของเราเยอะ ทั้งๆ ที่เทคโนโลยีและบุคลากรเขาพร้อมกว่า แต่เป็นเพราะว่าคนไข้มาพร้อมๆ กันที่เดียว แบบนั้นจึงยากที่จะบริหารจัดการให้คนไข้ผ่านจุดวิกฤติไปได้

“ตรงนี้เป็นจุดอันตรายที่อยากจะย้ำให้ทุกคนช่วยกันลดความเสี่ยงในการรับเชื้อ เมื่อเราทุกคนช่วยกันดูแลสุขภาพตนเองให้เต็มที่ ฉีดวัคซีนให้ครบ จะช่วยลดอัตราการป่วยแบบรุนแรง ไม่ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ และลดอัตราการเสียชีวิตได้ครับ”

LUNG REHABILITAION GUIDELINE

แนะวิธีฟื้นฟูสมรรถภาพปอด

รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิงวิลาวัณย์ ถิรภัทรพงศ์ ภาควิชาเวชศาสตร์ฟื้นฟู คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล แนะนำวิธีฟื้นฟูสมรรถภาพปอดสำหรับผู้ที่หายจากการติดเชื้อโควิด ดังนี้

⧫ ขั้นตอนที่ 1 จัดท่าเตรียมพร้อม กรณีที่ยังพักฟื้นบนเตียง ให้ปรับเตียงโดยให้ศีรษะสูงขึ้น 30-60 องศา เพื่อประสิทธิภาพการหายใจและเพิ่มการระบายเสมหะออกจากปอด กรณีที่ผู้ป่วยนั่งหรือยืนตรงได้ให้ตั้งศีรษะตรง

⧫ ขั้นตอนที่ 2 ฝึกหายใจ เน้นการหายใจลึกและช้า หายใจเข้าให้ผู้ป่วยยกแขนขึ้นและกางแขนออก หายใจออกให้ผู้ป่วยยกแขนลง มีเป้าหมายให้ไหวแขนพร้อมกับจังหวะหายใจเข้า-ออก โดยหายใจนาทีละ 12-15 ครั้ง ทำเซตละ 10 รอบ โดยพักระหว่างรอบใช้เวลา 30 วินาทีถึง 1 นาที

⧫ ขั้นตอนที่ 3 ฝึกขยายกล้ามเนื้อหน้าอก นั่งในท่าตัวตรงและหายใจเข้า-ออกตามปกติ จากนั้นวางมือสองข้างบนหน้าอก หายใจเข้า-ออกช้าๆ และลึก สังเกตว่าขณะที่หายใจเข้าหน้าอกจะขยาย เมื่อหายใจออกหน้าอกจะค่อยๆ ยุบลง ผ่อนคลายกล้ามเนื้อที่บ่าขณะหายใจไปด้วย ทำซ้ำ 10 ครั้ง แล้วฝึกหายใจเข้า-ออกตามปกติ 5-10 ครั้ง

⧫ ขั้นตอนที่ 4 ฝึกระบายเสมหะ นั่งตัวตรง หายใจเข้าให้ลึกที่สุด กลั้นไว้ 1-3 วินาทีแล้วห่อปากและหายใจออกแรงๆ 1-3 ครั้งโดยไม่หายใจเข้า ขณะหายใจออกต้องเกร็งกล้ามเนื้อหน้าท้องเพื่อช่วยขับเสมหะออกมาได้ดีขึ้นตามไปด้วย ทำซ้ำเท่าที่ทำไหว 3-5 ครั้ง แล้วฝึกหายใจเข้า-ออกตามปกติ 5-10 ครั้ง

4 SIGNS

สังเกตอาการ Long COVID

แพทย์หญิงเปี่ยมลาภอธิบายว่า หลังผู้ป่วยโควิดได้รับการรักษาจนหายดี เชื้อโควิดจะตายภายใน 14 วัน ถ้ามีสภาวะร่างกายปกติจะค่อยๆ ฟื้นตัวเองได้เองตามธรรมชาติในระยะเวลา 2-3 สัปดาห์

จากการดูแลคนไข้ที่ผ่านมาพบว่ากลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป จะมีอาการ 4 ข้อด้านล่างนี้ต่อเนื่องไปถึง 2-4 เดือน หรือนานถึง 6 เดือน ดังนี้

🢒 ครั่นเนื้อครั่นตัว

🢒 ไอเล็กน้อย

🢒 เพลียหรือเหนื่อยง่าย

🢒 หากมีอาการเหนื่อย ไอมากขึ้น หรือมีอาการทางระบบประสาท เช่น ความคิดสับสน ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกายโดยละเอียด

แพทย์หญิงเปี่ยมลาภอธิบายเพิ่มเติมว่า ข้อมูลจากการศึกษาในต่างประเทศพบว่า ในผู้ป่วยโควิดจะมีประมาณร้อยละ 50 ที่มีภาวะ Long COVID แต่จะรักษาหายขาดได้ในระยะ 6 เดือนขึ้นไป ปัจจุบันยังไม่พบว่าร่างกายได้รับผลกระทบระยะยาวจากการเป็นภาวะ Long COVID

ทั้งนี้มีข้อสังเกตว่าคนไข้โควิดที่รักษาหายแล้วในกลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปมีอาการ 4 ข้อดังกล่าวได้มากกว่ากลุ่มคนไข้โควิดที่รักษาหายแล้วซึ่งมีโรคประจำตัวและกลุ่มคนไข้โควิดที่รักษาหายแล้วที่ได้รับยาสเตียรอยด์

(อ่านต่อตอนหน้า☺)

นิตยสารชีวจิต ปีที่ 24 ฉบับที่ 561 เดือน 16 กุมภาพันธ์ 2565

29 March 2565

By STY/Library

Views, 1284

 

Preset Colors