02 149 5555 ถึง 60

 

สมุนไพรใกล้ตัวกับการรับมือและการฟื้นฟูอาการ LONG COVID ที่ปอด (ตอนที่ 1)

TRADITIONAL THAI MEDICINE &

LONG COVID SYNDROME IN LUNG

สมุนไพรใกล้ตัวกับการรับมือและการฟื้นฟูอาการ LONG COVID ที่ปอด (ตอนที่ 1)

เรื่องพิเศษ เรื่องโดย... ศิริกร โพธิจัทร

ปักษ์นี้ ชีวจิต ได้รวบรวมข้อมูลเรื่องการนำสมุนไพรไทยมาใช้ดูแลอาการ Long COVID ที่ปอด เพื่อให้คุณผู้อ่านนำความรู้ในการใช้พืชสมุนไพรใกล้ตัวมารับมือและฟื้นฟูอาการ Long COVID ที่ปอดได้อย่างถูกต้อง ติดตามรายละเอียดได้เลยค่ะ

LONG COVID CLINIC

“คลินิกหลังโควิด” ทางเลือกของคนรักสมุนไพรไทย

แพทย์หญิงโศรยา ธรรมรักษ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ระบุว่า ทางโรงพยาบาลได้เปิกคลินิกหลังโควิดเพื่อฟื้นฟูสุขภาพผู้ป่วยด้วยแพทย์แผนไทยเป็นแห่งแรกในประเทศไทย โดยเก็บรวบรวมข้อมูลจากผลการให้คำปรึกษาผู้ป่วยที่หายจากการติดเชื้อแล้วเข้ามารับยาฟื้นฟูสุขภาพ โดยเฉพาะระบบทางทางเดินหายใจและปอด

ทั้งนี้ทางโรงพยาบาลได้จ่ายยาต้มบำรุงปอดและยาสมุนไพรอื่นๆ ตามอาการ จากการติดตามผลการรักษาพบว่า ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีอาการดีขึ้น เสมหะลดลง อาการไอหายหรือลดลง หายใจสะดวกขึ้น หอบเหนื่อยน้อยลง

ในรายที่มีอาการมาก เมื่อเอกซเรย์ปอดตรวจพบว่ารอยฝ้าที่ปอดก็หายไป นอกจากการจ่ายยาสมุนไพร เช่น ยาต้มบำรุงปอดและยาสมุนไพรอื่นๆ แล้ว โรงพยาบาลได้จัดเตรียมแนวทางการดูแลรักษาและฟื้นฟูภายหลังการรักษาหายแล้ว โดยใช้แนวคิดความสมดุลของธาตุมาดูแลคนไข้ต่อไป

INTEGRTION OF THAI MEDICINE

แนวทางการใช้สมุนไพรสไตล์ “อภัยภูเบศร”

คุณณัฐดนัย มุสิกวงศ์ หัวหน้าฝ่ายวิจัยและพัฒนาด้านสมุนไพรและการแพทย์แผนไทย โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรอธิบายถึงแนวทางการดูแลผู้ป่วย Long COVID ดังนี้

“ในช่วง 2 ปีเศษที่ผ่านมา ทางโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรมีโอกาสได้ดูแลคนไข้โควิดจำนวนมาก ต่อมาในเดือนพฤศจิกายน ปี พ.ศ.2564 ทางโรงพยาบาลจึงเปิด ‘คลินิกหลังโควิด’ ขึ้นมา เพื่อดูแลผู้ป่วยที่หายจากโควิดแต่ยังมีอาการหลงเหลืออยู่ เพื่อใช้องค์ความรู้ทั้งการแพทย์แผนปัจจุบันและการแพทย์แผนไทยผสมผสานกัน

“วิธีรับมือกับการอักเสบทั่วร่างกายที่เกิดจากโควิดในทางการแพทย์แผนปัจจุบัน ถ้าคนไข้หายใจลำบากก็จะมียาพ่นช่วยขยายหลอดลม ยากินเพื่อลดอาการอักเสบที่มีสเตียรอยด์ ส่วนแพทย์แผนไทยใชเสมุนไพรที่มีคุณสมบัติลดอาการอักเสบได้”

CASE STUDY

กรณีศึกษาจากเคสผู้ป่วย

เพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจถึงศักยภาพของสมุนไพรไทยในการดูแลผู้ป่วย Long COVID ได้ชัดเจนขึ้น คุณณัฐดนัยจึงเล่าถึงเคสผู้ป่วยเพื่อเป็นกรณีศึกษา ดังนี้

“เคสนี้เป็นคนไข้หญิงอายุ 41 ปี มาพบแพทย์แผนไทยด้วยอาการรู้สึกเจ็บปวดง่าย ปวดตามข้อต่างๆ เช่น เวลาเราจับแขนหรือมือด้วยการออกแรงไม่มาก คนปกติจะไม่รู้สึกเจ็บ แต่คนไข้รายนี้รู้สึกเจ็บปวดบริเวณนั้นๆ

“ต้องเรียนให้ทราบว่าก่อนหน้านี้คนไข้ไปพบแพทย์แผนปัจจุบันมาและได้รับยาแก้ปวดกับยากดภูมิคุ้มกัน เพราะแพทย์ระบุว่าคนไข้มีภูมิคุ้มกันที่ไวเกินไปและคล้ายโรค SLE หรือโรคภูมิคุ้มกันทำลายตัวเอง ผลตรวจเลือดพบว่าค่าการอักเสบก็ปริ่มๆ เกือบจะเป็นโรค SLE แต่ก่อนป่วยเป็นโควิด คนไข้ไม่มีอาการนี้นะครับ เพิ่งจะมาเป็นหลังหายจากโควิดแล้ว

“เราเลือกใช้สมุนไพร 2 ตัวในการรักษาคนไข้รายนี้ ชนิดที่ 1 คือใบบัวบก เพราะมีคุณสมบัติลดกระบวนการอักเสบ จากคุณสมบัติดังกล่าวจึงลดการสร้างพังผืดที่ปอดได้ด้วย และชนิดที่ 2 คือเถาวัลย์เปรียง ปกติแพทย์แผนไทยใช้รักษาอาการปวดกระดูก กล้ามเนื้ออักเสบ

“หลังจากใช้ยาสมุนไพรนี้ 2-3 สัปดาห์ โดยคนไข้ใช้ร่วมกับยาแผนปัจจุบัน ได้แก่ ยากดภูมิคุ้มกันและยาแก้ปวดจากเดิมอาการปวด 10 เต็ม 10 ตามที่คนไข้บอก ปรากฏว่าเหลือ 2-3 เต็ม 10 ส่วนค่าการอักเสบในเลือดก็ลดลงอย่างเห็นได้ชัด ถือว่าผลการรักษาที่ได้ค่อนข้างน่าพอใจครับ”

ALTERNATIVE CHOICES

สมุนไพรอื่นๆ ที่ใช้ดูแลผู้ป่วย Long COVID

คุณณัฐดนัยแนะนำว่า นอกจากใบบัวบกกับเถาวัลย์เปรียงแล้ว ยังมีสมุนไพรชนิดอื่นๆ ที่สามารถนำมาใช้ดูแลผู้ป่วย Long COVID ได้

“กรณีที่คนไข้มีอาการระคายคอ คันคอ ไอ ให้ใช้ยาน้ำแก้ไอมะขามป้อม ส่วนเรื่องการเสริมการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันที่มีรายงานการวิจัยมากพอสมควรว่าช่วยต้านการอักเสบและมีสารแอนติออกซิแดนต์คือกระชายขาว ที่โรงพยาบาลเราจะสั่งจ่ายเป็นแคปซูล เป็นสมุนไพรที่มีความปลอดภัยสูง หาซื้อง่ายตามท้องตลาดทั่วไป ราคาไม่แพง

“ขณะที่ฟ้าทะลายโจรนำมาใช้เสริมภูมิคุ้มกันได้เช่นกัน แต่มีข้อจำกัดว่าไม่ควรกินต่อเนื่องนานๆ ใช้ 5 วันแล้วให้หยุดใช้ไป 2 วัน”

ส่วนกรณีที่ขณะป่วยเป็นโควิดคนไข้มีอาการรุนแรง หลังหายจากโควิดแล้วเกิดความเสียหายที่เนื้อปอดมาก คุณณัฐดนัยอธิบายว่า ณ ขณะนี้ยังไม่มีรายงานการศึกษาเรื่องการใช้ใบบัวบกในคนไข้กลุ่มดังกล่าว อย่างไรก็ตาม หากคนไข้สนใจจะใช้สมุนไพรในการฟื้นฟูสุขภาพหลังโควิดก็มีแนวทางดังนี้

“เนื่องจากทุกวันนี้ยังไม่มียาแผนปัจจุบันที่ช่วยลดพังผืดในปอดได้โดยตรง ส่วนกรณีใบบัวบกซึ่งมีคุณสมบัติที่ดีคือ ลดการอักเสบและลดการเกิดพังผืดที่ปอด ถามว่าถ้าคนไข้นำใบสดมาคั้นน้ำดื่มเพื่อหวังผลในการฟื้นฟูปอดและลดการเกิดพังผืดได้หรือไม่ ผมขอชี้แจงว่าวิธีการนี้เราอาจไม่ได้สารสำคัญจากใบบัวบกที่เข้มข้นมากพอ การเลือกใช้ใบบัวบกนั้นน่าสนใจ แต่แนะนำว่าควรใช้เป็นสารสกัดชนิดแคปซูลจะได้สารสำคัญมากกว่าเพราะเราหวังผลทางยา

“ถ้าจะเลือกกินใบสด ผมขออธิบายว่าใบบัวบกดูดซึมโดยการกินได้ไม่ดีนัก มีเคล็ดลับคือต้องกินนานๆ กินต่อเนื่อง เพราะมีงานวิจัยว่าต้องกินทุกวันต่อเนื่อง 1 เดือนให้สะสมในร่างกายถึงจุดหนึ่งก่อน ถึงจะได้ประโยชน์จากใบบัวบก ไม่ต้องกินจำนวนมาก เน้นกินนานๆ”

ทั้งนี้เนื่องจากการรักษาผู้ป่วย Long COVID ยังเป็นการรักษาตามอาการ คุณณัฐดนัยจึงเล่าถึงสมุนไพรชนิดหนึ่งที่มีการสั่งจ่ายมาก คือมะขามป้อม

“หนึ่งในอาการที่เราพบในผู้ป่วย Long COVID บ่อยๆ คือ ไอ ระคายคอ มีเสมหะเหนียวข้น ดังนั้นมะขามป้อมจึงเป็นสมุนไพรยอดนิยมที่มีการสั่งจ่ายให้คนไข้ค่อนข้างมากทั้งแบบยาเม็ดและยาน้ำ

“ในทางการแพทย์แผนไทยระบุว่า มะขามป้อมมีรสเปรี้ยวฝาดขม ช่วยขับเสมหะ ทำให้ชุ่มคอ เป็นยาฝาดสมาน แก้ไข้เจือลม แก้ไอ แก้กระหายน้ำ ลดไข้ ขับปัสสาวะ ระบายท้อง บำรุงหัวใจ ฟอกโลหิต แก้ลม แก้ลักปิดลักเปิด

“นอกจากมะขามป้อม คนไข้อาจให้วิธีกินยาตรีผลา ซึ่งมีมะขามป้อมเป็น 1 ใน 3 สมุนไพรส่วนประกอบที่สำคัญของตำรับยาสูตรนี้ โดยมะขามป้อมจัดอยู่ใน “พิกัดตรีผลา” ซึ่งประกอบด้วยสมอพิเภก สมอไทย และมะขามป้อม ยาตรีผลามีสรรพคุณแก้ปิตตะ วาตะ เสมหะ ในกองธาตุ กองฤดู กองอายุ และกองสมุฏฐาน

“ถ้าดูคุณสมบัติของมะขามป้อมแบบสมุนไพรเดี่ยวนั้น มีการศึกษาพบว่า มะขามป้อมมีวิตามินซีมากกว่าส้มถึง 20 เท่า คนส่วนใหญ่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าวิตามินซีมีคุณสมบัติเป็นสารแอนติออกซิแดนต์ จึงช่วยชะลอความเสื่อมและฟื้นฟูเซลล์ได้ อีกทั้งยังมีส่วนสนับสนุนให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายทำงานได้ตามปกติ

“ดังนั้นการกินมะขามป้อมจึงมีประโยชน์ต่อผู้ป่วย Long COVID ในแง่การฟื้นฟูและเสริมการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน”

(อ่านต่อตอนหน้า☺)

นิตยสารชีวจิต ปีที่ 24 ฉบับที่ 561 เดือน 16 กุมภาพันธ์ 2565

7 April 2565

By STY/Library

Views, 574

 

Preset Colors