02 149 5555 ถึง 60

 

คัมภีร์การรับประทานวิตามินและแร่ธาตุ เพื่อสุขภาพคนวัยทำงาน นอนน้อย เครียด และติดหวาน (ตอนที่ 3)

คัมภีร์การรับประทานวิตามินและแร่ธาตุ เพื่อสุขภาพคนวัยทำงาน นอนน้อย เครียด และติดหวาน (ตอนที่ 3)

เรื่องโดย วรลักษณ์ ผ่องสุขสวัสดิ์

เครียด ปัญหายอดฮิตที่เกิดขึ้นได้กับทุกคน

ความเครียดเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย ทั้งที่รู้ตัวและไม่รู้ตัว และเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ยิ่งกับคนวัยทำงานด้วยแล้ว ความเครียดยิ่งเป็นเหมือน “เพื่อนสนิท” ที่พร้อมจะเข้ามาทักทายได้ตลอดเวลา เนื่องจากวัยทำงานมีภาระรับผิดขอบหลายอย่าง ทั้งการงาน การเงิน การดูแลครอบครัว และการแบกรับความหวังจากคนใกล้ตัว

เหล่านี้สอดคล้องกับผลสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พ.ศ.2562 ที่พบว่า ร้อยละ 70 ของผู้ทำงานทั้งหมดในประเทศถือเป็นกลุ่มเสี่ยงเกิดความเครียดได้สูงกว่าวัยอื่น ยิ่งหากต้องทำงานมากกว่าสัปดาห์ละ 50 ชั่วโมงก็ยิ่งเกิดความเครียดได้ง่าย

ล่าสุดเมื่อทั่วโลกเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ตั้งแต่ปลายค.ศ.2019 เป็นต้นมา ซึ่งส่งผลกระทบต่อคนวัยทำงานอย่างมาก หลายคนต้องเผชิญการสูญเสียทั้งคนที่รัก งานที่ทำ บทบาทความสำคัญในสังคม อนาคตกลับกลายเป็นความน่ากลัว ไม่ใช่ความหวังอีกต่อไป ซ้ำยังกลายเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอน

รู้หรือไม่

จากการเก็บสถิติเกี่ยวกับผลกระทบด้านจิตใจของประชาชนในสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ด้วยระบบ Mental Health Check In ตั้งแต่เดือน เมษายน 2564 เป็นต้นมา พบว่า ประชาชาชนในประเทศไทยมีความเสี่ยงสุขภาพจิตสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยมีตัวเลขสูงสุดที่เดือนสิงหาคม คือ มี ภาวะเครียดสูง 45.5% เสี่ยงซึมเศร้า 51.5% เสี่ยงฆ่าตัวตาย 30.6 % และมีภาวะหมดไฟ 17.6% แน่นอนว่าในจำนวนนี้มีคนวัยทำงานรวมอยู่ด้วยเกินกว่า 90%

ทำไมความเครียดถึงน่ากลัว

“เมื่อเราเครียด สิ่งที่เกิดขึ้นคือระบบของร่างกาย ‘พัง’ เริ่มตั้งแต่ปวดศีรษะ อารมณ์แปรปรวน โกรธ หงุดหงิด คิดลบ สับสน ทำเรื่องเล็กให้เป็นเรื่องใหญ่ พอโกรธมากๆ ระบบประสาทอัตโนมัติก็รวน ควบคุมไม่ได้ สมาธิเสีย ความจำไม่ดี ทำผิดพลาด” คุณหมอแพม-แพทย์หญิงสาริษฐา สมทรัพย์ เปิดประเด็นความเครียดอย่างน่าสนใจ

คุณหมอยังอธิบายเสริมอีกว่า “ผลของความเครียดยังไม่ใช่แค่นั้น เพราะพอพลาดปั๊ปก็ขาดความเชื่อมั่นในตัวเองพอเป็นบ่อยๆก็กลายเป็นโรควิตกกังวลว่า เมื่อต้องทำอะไรก็กลัวจะผิดพลาดไปหมด พอกังวลบ่อยๆ ก็เกิดเป็นโรคจิต สับสน ย้ำคิดย้ำทำ สุดท้ายหากไม่ได้รับการแก้ไขที่ถูกต้องก็จะเก็บสะสมเข้าสู่จิตระบบลึกกลายเป็นโรคซึมเศร้า”

นอกจากเรื่องของอารมณ์และจิตใจที่สัมพันธ์กับความเครียดโดยตรงแล้ว ปฏิกิริยาของความเครียดยังสัมพันธ์กับร่างกายและพฤติกรรมด้วย คุณหมออธิบายผลความเครียดที่มีต่อร่างกายให้ฟังอย่างเข้าใจง่าย ดังนี้

● ผมหงอก ผมร่วง เวลาเครียด การนำส่งออกซิเจนไปสู่เซลล์จะทำได้ไม่ดี เมื่อเซลล์รากผมรับออกซิเจนได้ไม่เต็มที่ก็ทำให้เส้นผมเข้าสู่วงจรของระยะหลุดร่วงเร็วขึ้น ผมจึงร่วงมากขึ้น ไม่เพียงเท่านั้น กลไกความเครียดที่เกิดขึ้นยังทำลายเซลล์ต้นกำเนิดซึ่งทำหน้าที่สร้างเม็ดสีหรือเมลานินในปุ่มรากผม ทำให้ผมที่ขึ้นใหม่เป็นสีขาวหรือผมหงอก ส่วนผมที่มีอยู่แล้วก็กลายเป็นผมหงอก

● หัวใจเต้นผิดจังหวะ เต้นเร็วกว่าปกติ กลไกความเครียดทำให้หัวใจเกิดความผิดปกติ คือ เต้นเร็วขึ้น เต้นผิดจังหวะ ส่งผลให้เกิดอาการหน้ามืด วิงเวียน ใจสั่น เหนื่อยง่าย อีกทั้งยังส่งผลให้ระดับความดันโลหิตสูงขึ้นตามมา

● การทำงานของกระเพาะอาหารและลำไส้รวน บางรายน้ำย่อยหลั่งมากกว่าปกติ ทำให้โรคกระเพาะกำเริบ บางราย น้ำย่อยหลั่งน้อยลงหรือไม่หลั่งเลย ส่วนแบคทีเรียชนิดไม่ดีในระบบทางเดินอาหารก็เพิ่มจำนวนขึ้น ลำไส้และกระเพาะอาหารเคลื่อนตัวน้อยลง ทำให้อาหารไม่ย่อย เกิดอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ และมีแก๊สในท้องมาก

● ตับอ่อนทำงานบกพร่อง ส่งผลให้ผลิตฮอร์โมนอินซูลินน้อยลง เมื่ออินซูลินที่ทำหน้าที่ขนส่งน้ำตาลในกระแสเลือดไปยังเซลล์ต่างๆ ในร่างกายมีปริมาณน้อยลงหรือทำงานได้ไม่มีประสิทธิภาพมากพอ ก็ส่งผลให้ระดับน้ำตาลในกระแสเลือดสูงและอาจเกิดภาวะดื้ออินซูลินตามมาได้ หากเกิดติดต่อกันเป็นระยะเวลานานๆ จะเสี่ยงต่อการเป็นเบาหวานประเภทที่ 2 ได้

● การทำงานของระบบขับถ่ายรวน ผลจากการที่ลำไส้บีบตัวน้อยหรือเคลื่อนตัวน้อย ทำให้ท้องผูกตามมา ในขณะที่บางคนความเครียดทำให้ระบบประสาทอัตโนมัติทำงานมากเกินไป ลำไส้ตอบสนองต่อสิ่งเร้าไวมาก และเกิดการบีบตัวมากหรือเคลื่อนตัวมากจนมีอาการปวดท้อง ท้องเสีย

● การทำงานของระบบภูมิคุ้มกันรวน ความเครียดจะทำให้เม็ดเลือดขาว “ตาบอด” ซึ่งหมายถึง เม็ดเลือดขาว สูญเสียประสิทธิภาพในการตรวจสิ่งแปลกปลอมที่เข้ามาในร่างกายและการแยกเชื้อโรคออกจากเซลล์ดีเพื่อทำลาย ร่างกายจึงมีโอกาสติดเชื้อและป่วยง่ายขึ้น ไม่ว่าจะไข้หวัด โควิด หรือแม้แต่โรคร้ายอย่างมะเร็งก็ตาม

● ระบบประสาทอัตโนมัติรวน เช่น ต่อมเหงื่อและประสาทอัตโนมัติที่ควบคุมต่อมเหงื่อทำงานผิดปกติ ทำให้เหงื่อออกไม่เป็นเวลา เหงื่อออกเฉพาะจุดได้มากขึ้น เช่น ฝ่ามือ ฝ่าเท้า รักแร้ ทำให้มือเท้าเปียกแฉะตลอดเวลาแม้จะอยู่ในห้องปรับอากาศหรือไม่ได้ออกกำลังกายก็ตาม หากมีอาการมาก บางคนอาจเป็นโรคมือเปียก โรคเท้าเปียก เท้าจะมีกลิ่นเหม็น ไม่กล้าจับสิ่งของเพราะเหงื่อออกที่มือตลอดเวลา ทำให้ขาดความมั่นใจ

● ฮอร์โมนและสารสื่อประสาทต่างๆทำงานผิดปกติ เช่น ต่อมหมวกไตหลั่งฮอร์โมน

คอร์ติซอลออกมามากเกินไปแทนที่จะช่วยให้ร่างกายตื่นตัวพร้อมสำหรับทุกสถานการณ์ของแต่ละวันอย่างที่เคยเป็นตามปกติ ฮอร์โมนคอร์ติซอลที่มีปริมาณมากเกินไปจะสลายกลูโคส กรดไขมัน และโปรตีน (Catabolic Hormone) จึงทำให้ร่างกายเสื่อมเร็ว คนที่เครียดมากๆจึงดูแก่กว่าวัย

ไม่เพียงเท่านั้น คนที่เครียดมากๆ ยังอาจมีอาการต่อมหมวกไตล้า (Adrenal Fatigue) ได้ สืบเนื่องจากเมื่อร่างกายหลั่งฮอร์โมนคอร์ติซอลออกมามาก ร่างกายก็จะหลั่งฮอร์โมนดีเอชอีเอ (Dehydroepiadrosterone) ออกมาช่วยรับมือกับความเครียด ช่วยควบคุมสมดุลอารมณ์ แต่หากนอนไม่พอร่างกายร่างกายจะหลั่งดีเอชอีออกมาได้น้อย ทำให้เกิด “ภาวะเสพติดความเครียด” (Adrenal Addict) ตามมาได้

ความเปลี่ยนแปลงอีกอย่างที่น่าสนใจคือ ฮอร์โมนเพศบกพร่อง โดยเฉพาะฮอร์โมน FSH และ LH ที่ทำหน้าที่กระตุ้นให้เกิดการตกไข่ก็จะไม่หลั่ง ทำให้ไข่ไม่ตก ผู้หญิงจึงมีลูกยาก นอกจากนี้บางรายยังอาจมีความต้องการทางเพศ

นิตยสารชีวจิต ฉบับที่ 558 ปีที่ 24 วันที่ 1 มกราคม 2565

(อ่านต่อตอนหน้า)

27 April 2565

By STY/Library

Views, 8338

 

Preset Colors