02 149 5555 ถึง 60

 

กลั้วคอ พ่นจมูกลดโอกาสการติดเชื้อเมื่อวัคซีนโควิด-19 ไม่สร้างภูมิคุ้มกันโรคเท่าที่ควร (ตอนที่ 1)

กลั้วคอ พ่นจมูกลดโอกาสการติดเชื้อเมื่อวัคซีนโควิด-19 ไม่สร้างภูมิคุ้มกันโรคเท่าที่ควร (ตอนที่ 1)

ก้าวทันสุขภาพ เรื่องโดย... นพ.สมเกียรติ แสงวัฒนาโรจน์ ชมรมป้องกันและฟื้นฟูหัวใจ สมคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทยฯ สมาคมความดันโลหิตสูงแห่งประเทศไทย

วัคซีนโควิด-19 เป็นเครื่องมือสำคัญที่ชาวโลกหวังว่า จะช่วยลดโอกาสป่วยหนักและเสียชีวิตในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา โดยการเพิ่มภูมิคุ้มกันโรค สร้างแอนติบอดีในเลือด ทำลายเชื้อโควิด-19

ในผู้ใหญ่ปกติทั่วไป วัคซีนดังกล่าวได้ผลในการสร้างภูมิคุ้มกันในเลือด ลดการนอนโรงพยาบาล ป่วยหนักและเสียชีวิตจากโควิด-19 ได้มากกว่าร้อยละ 90 มีเพียงน้อยกว่าร้อยละ 10 ที่ไม่สร้างภูมิคุ้มกันฯ และป้องกันโรคฯ (Powell L. Finally, an FDA Approval for an Immunization Against COVID-19: Hope on the Horizon. Ann Phamacother. 2022 Jan 10:10600280211058387.)

อย่างไรก็ตาม มีผู้ป่วยกลุ่มหนึ่ง ซึ่งแม้ฉีดวัคซีนฯ ไม่ว่าจะฉีดวัคซีนชนิดใด ฉีดแล้วกี่เข็ม ก็สร้างภูมิคุ้มกันโรคในเลือด ลดการป่วยหนักและชีวิตได้น้อยกว่าปกติ

บางรายไม่สร้างภูมิคุ้มกันในเลือดเลยก็มี ผู้ป่วยเหล่านี้รวมเรียกว่า ผู้ป่วยที่มี ภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรือ ภูมิคุ้มกันผิดปกติ (immunocompromised population) ได้แก่

🢖 ผู้ป่วยปลูกถ่ายอวัยวะ โดยเฉพาะปอด ไต หัวใจ ตับ

🢖 ผู้ป่วยมะเร็ง โดยเฉพาะมะเร็งเม็ดเลือด

🢖 ผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง ที่ต้องล้างไตเป็นประจำ

การรวบรวม 157 การศึกษา (แต่ละการศึกษามีผู้ป่วยโควิด-19 มากกว่า 10 คน) ในผู้ที่มีความผิดปกติหรือบกพร่องของภูมิคุ้มกันดังกล่าวจำนวนสองหมื่นห้าพันกว่าคน ตั้งแต่ช่วงโควิด-19 ระบาดจนถึง 31 สิงหาคม 2564 พบว่า ผู้ป่วยปลูกถ่ายอวัยวะเป็นกลุ่มที่มีไม่สร้างภูมิคุ้มกันในเลือด (ตรวจไม่พบ anti-SARS-CoV-2 spike protein antibody) สูงสุด คือ ร้อนละ 18-100 (ปลูกถ่ายปอด ร้อยละ 59-100, ปลูกถ่ายไต ร้อยละ 35-98, ปลูกถ่ายหัวใจ ร้อยละ 25-88 และปลูกถ่ายตับ ร้อยละ 19-63)

กลุ่มผู้ป่วยมะเร็งที่ไม่สร้างภูมิคุ้มกันในเลือดหลังฉีดวัคซีน พบร้อยละ 2-61 (มะเร็งเม็ดเลือด ร้อยละ 14-61 มะเร็งอื่นๆ ร้อยละ 2-36) และกลุ่มผู้ป่วยล้างไตเป็นประจำ พบร้อยละ 2-30

นอกจากนี้โรคภูมิต้านตัวเองหรือออโตอินมูน (autoimmune systemic disease) เช่น โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์, เอสแอลอี, โรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง หลังฉีดวัคซีนฯ ตรวจไม่พบภูมิคุ้มกันในเลือด ร้อยละ 0-63 [Galmiche S. Immunological and clinical of COVID-19 vaccines in immunocompromised populations: a systematic review. Clin Microbiol Infect. 2021 Oct 18:S1189743X(21)00566-8., Ferri C. Impaired immunogenicity to COVID-19 vaccines in autoimmune systemic diseases. High prevalence of nonresponse in different patients’ subgroups. J Autoimmun. 2021 Dec;125:102744.]

ดังนั้น ผู้ป่วยภูมิคุ้มกันผิดปกติ 3 กลุ่มดังกล่าว ไม่จำเป็นต้องไปเจาะเลือดตรวจระดับภูมิคุ้มกันในเลือดหลังการฉีดวัคซีนฯ แล้ว เพราะยังไม่มีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับทั่วไปว่าระดับภูมิคุ้มกันในเลือดเท่าไหร่ จึงได้ผลในการป้องกันโควิด-19 และนอกจากภูมิคุ้มกันในเลือด (ภูมิคุ้มกันเฉพาะโรค หรือ adaptive immunity) แล้ว ภูมิคุ้มกัน/ป้องกันโรคอื่นๆ ตลอดทางเดินหายใจ ตั้งแต่จมูก หลอดลม ไปจนถึงถุงลมอีกมากมาย (ภูมิคุ้มกันโรคแต่กำเนิด หรือ innate immunity) ไม่ได้ทำงานผิดปกติไปด้วย

การสร้างเสริมให้ภูมิคุ้มกันแต่กำเนิด โดยเฉพาะในเซลล์เยื่อบุทางเดินหายู่ใจและหลอดเลือด จึงเป็นสิ่งจำเป็นในการป้องกันโควิด-19 ในผู้ป่วยดังกล่าว (รายละเอียดอ่านเพิ่มเติมได้จากเรื่อง “สองเซลล์ สามกลไก สี่หลักการ ต้านภัยโควิด” ในนิตยสารหมอชาวบ้าน ฉบับเดือนพฤศจิกายน 2564 ถึง กุมภาพันธ์ 2565)

ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ป้องกันการระบาดของโควิด-19 ได้ดีที่สุดประเทศหนึ่ง แม้ในช่วงโควิด-19 ระบาดทั่วโลก ยังจัดโอลิมปิกได้อย่างมีประสิทธิภาพ

การศึกษาในคนญี่ปุ่นวัยทำงาน 27,036 คน พบว่า 7 มาตรการที่ไม่ใช้ยาในการป้องกันโรคโควิด-19 คือ ใส่แมสก์กัน, หมั่นล้างมือหลังเข้าห้องสุขา, ล้างมือฆ่าเชื้อฯ ก่อนเข้าในที่ร่ม, กลั้วคอก่อนเข้าบ้าน, ระบายอากาศในห้อง, ล้างมือหลังสัมผัสจุดสัมผัสร่วม และ พกแอลกอฮอล์ออกนอกบ้าน เป็นสิ่งที่ชาวญี่ปุ่นส่วนใหญ่ถือปฏิบัติเป็นประจำ [Anan T. CORoNaWork project. Association between COVID-19 infection rates by region and implementation of non-pharmaceutical interventions: a cross-sectional study in Japan. J Public Health (Oxf). 2021 Dec 6:fdab385.]

นอกจากนี้ ยังช่วยลดการติดเชื้อทางเดินหายใจจาดเชื้อโรคอื่นด้วย [Nagakubo Y. Non-pharmaceutical interventions during the COVID-19 epidemic changed detection rates of other circulating respiratory pathogens in Japan. PLoS One. 2022 Jan 21;17(1):e0262874.]

มาตรการทั้งเจ็ดที่คนไทยส่วนใหญ่ยังไม่ได้นำมาปฏิบัติเป็นกิจวัตร คือ การกลั้วคอก่อนเข้าบ้านและพกแอลกอฮอล์ทุกครั้งที่ออกนอกบ้าน

การกลั้วคอช่วยลดโอกาสติดเชื้อจากโควิด-19

การศึกษาในประชากรชาวญี่ปุ่นเมื่อปี พ.ศ.2548 เปรียบเทียบการกลั้วคอด้วยน้ำสะอาด (น้ำประปา) และไม่ได้กลั้วคอ พบว่า การกลั้วคอช่วยลดโอกาสเกิดโรคทางเดินหายใจส่วนต้น เช่น โรคหวัด ไข้หวัดใหญ่ ได้อย่างชัดเจน ในเวลา 2 เดือน [Satomura K. Prevention of upper respiratory tract infections by gargling: a randomized trial. Am J Prev Med. 2005 Nov;29(4):302-7.]

การรวบรวม 10 การศึกษาไปข้าง เปรียบเทียบการดื่มน้ำชา กลั้วคอด้วยน้ำชา กับกลุ่มไม่ได้ดื่มหรือกลั้วคอ พบว่า การดื่มน้ำชาสัมพันธ์กับการลดโอกาสโรคทางเดินหายใจ ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ ร้อยละ 32 ส่วนการกลั้วคอ ร้อยละ 17 [Umeda M. Preventive effects of tea and tea catechins against influenza and acute upper respiratory tract infections: a systematic review and meta-analysis. Eur J Nutr. 2021 Dec;60(8):4189-4202.]

การศึกษาไปข้างหน้าแบบ Triple blind randomized controlled trial ในผู้ป่วยชาวสเปนที่ป่วยเป็นโควิด-19 จำนวน 41 คน สุ่มแบ่งเป็นกลุ่มที่อม/กลั้วคอด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ (anionic phthalocyanine derivative ในหลอดทดลอง ทำลายเชื้อโควิด-19 ได้ร้อยละ 92.65-99.96) เป็นเวลาครั้งละ 1 นาที 5 ครั้งต่อวัน ติดต่อกัน 21 วัน พบว่า “ลด” วันนอนโรงพยาบาลจากเฉลี่ย 7 วัน เป็น 4 วัน, “ลด” การนอนไอซียูจากร้อยละ 28.6 เป็น 0, “ลด”การตายจากร้อยละ 14.3 เป็น 0 เมื่อเทียบกับการอม/กลั้วคอด้วยน้ำยาหลอก [da Silva Santos PS. Beneficial effects” of a mouthwash containing an antiviral phthalocyanine derivative on the length of hospital stay for COVID-19: randomized trial. Sci Rep. 2021 Oct 7;11(1):19937.]

การศึกษาบุคลากรสาธารณสุขที่ทำงานสัมผัสผู้ป่วยโควิด-19 ในโรงพยาบาล 2,640 คน อายุ 21-85 ปี พบว่า การดื่มชาเขียวมากกว่าหรือเท่ากับ 4 แก้ว/วัน “ไม่สัมพันธ์” กับการติดเชื้อโควิด-19 (Nanri A. Green tea consumption and SARS-CoV-2 infection among staff of a referral hospital in Japan. Clin Nutr Open Sci. 2022 Apr;42:1-5) แสดงให้เห็นว่าผู้ป่วยภูมิคุ้มกันผิดปกติหรือผู้ป่วยไตวายที่ต้องล้างไตและต้องเข้าโรงพยาบาลเป็นประจำ การดื่มน้ำชาเขียวไม่เพียงพอในการป้องกันการติดเชื้อโควิด-19

การพ่นจมูกกับโควิด-19

การศึกษาการพ่นจมูกด้วยน้ำแร่จากทะเลสาบในประเทศตุรกี ครั้งละ 1 พ่น 4 ครั้งต่อวัน และกินยาในผู้ป่วยโควิด-19 เทียบกับการกินยาอย่างเดียว พบว่าใน 3 วัน สามารถทำลายเชื้อโควิด-19 ได้อย่างชัดเจน [Yilmaz YZ. Effects of hypertonic alkaline nasal irrigation on COVID-19. Laryngoscope Investig otolaryngol. 2021 Nov 19;6(6):12470-7.]

การศึกษาการพ่นจมูกด้วยน้ำยา 0.5% povidone iodine, 2.0% povidone iodine เทียบกับการพ่นจมูกด้วย 0.9% normal saline ในผู้ป่วยโควิด-19 พบว่าน้ำยา 0.5% สามารถลดจำนวนเชื้อโควิด-19 ได้ ภายในเวลา 1 ชั่วโมง และ 3 วัน [Zarabanda D. The Effect of Povidone-lodine Nasal Spray on Nasopharyngeal SARS-CoV-2 Viral Load: A Randomized Control Trial. Laryngoscope. 2021 Nov 1:10.1002/lary.29935.]

การศึกษาป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ในบุคลากรสาธารณสุขชาวอาร์เจนตินา ที่ทำงานใกล้ชิดผู้ป่วยโควิด-19 เทียบระหว่างการพ่นจมูกด้วยน้ำยา iota carrageenan (สารสกัดจากสาหร่ายสีแดง) กับน้ำยาหลอก พ่นจมูกครั้งละ 1 พ่น 4 ครั้งต่อวันเป็นเวลา 21 วัน พบว่าลดโอกาสติดเชื้อโควิด-19 ที่มีอาการ จากร้อยละ 5 เหลือร้อยละ 1 โดยไม่มีผลข้องเคียงที่แตกต่างกัน (Figueroa JM. Efficacy of a Nasal Spray Containing lota-Carrageenan in the Postexposure Prophylaxis of COVID-19 in Hospital Personnel Dedicated to Patients Care with COVID-19 Disease. Int J Gen Med. 2021 Oct 1;14:6277-6286)

สรุปว่า การพ่นจมูกด้วยน้ำยาที่ได้ศึกษาในหลอดทดลอง ได้ผลในการทำลายเชื้อโควิด-19 เช่น 0.5-0.6% povidone iodine หรือ iota carrageenan สามารถลดจำนวนเชื้อโควิด-19 ได้และป้องกันการติดเชื้อในบุคลากรสาธารณสุขที่ทำงานใกล้ชิดผู้ป่วยโควิด-19 การพ่นจมูก จึงเป็นทางเลือกหนึ่งในการป้องกันติดเชื้อโควิด-19 ในผู้ป่วยภูมิคุ้มกันผิดปกติดังกล่าว

(อ่านต่อตอนหน้า☺)

หมอชาวบ้าน ปีที่ 43 ฉบับที่ 515 เดือนมีนาคม 2565

9 May 2565

By STY/Library

Views, 836

 

Preset Colors