02 149 5555 ถึง 60
Thai Happiness Indicators (THI – 15)

Download เอกสาร

เริ่มทำแบบสอบถาม Online

บทนำ

ดัชนีชี้วัดความสุขคนไทย เป็นแบบประเมินความสุขด้วยตนเอง ซึ่งสร้างขึ้นภายใต้กรอบ แนวคิดคำจำกัดความของความสุข หมายถึง สภาพชีวิตที่เป็นสุข อันเป็นผลจากการมีความสามารถในการจัดการปัญหาในการดำเนินชีวิต มีศักยภาพที่จะพัฒนาตนเองเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี โดยครอบ-คลุมถึงความดีงามภายในจิตใจ ภายใต้สภาพสังคมและสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป

คุณสมบัติของเครื่องมือ

1. เนื่องจากเครื่องมือนี้สร้างขึ้นโดยใช้กลุ่มคนเป็นมาตรฐาน (Normative model) ในการกำหนดเกณฑ์ปกติ (norm) เพราะยังไม่มีการตรวจมาตรฐาน (gold standard) ใด ๆ ที่สามารถตรวจวินิจฉัยได้ว่าบุคคลใดมีความสุขมากน้อยเพียงใด

2. การศึกษาความตรงตามเนื้อหา (content validity)โดยการทบทวนวรรณกรรมที่เกี่ยวข้อง และประชุมร่วมกับผู้ทรงคุณวุฒิทางด้านสุขภาพจิต เพื่อพิจารณาความตรงตามเนื้อหาที่ต้องการประเมิน จำนวน 10 ครั้ง

3. การศึกษาความตรงตามโครงสร้าง (construct validity) ศึกษาความตรงตามโครงสร้างโดยการวิเคราะห์ปัจจัย (factor analysis) และพิจารณาลดข้อคำถามโดยคัดเลือกเฉพาะข้อคำถามที่มีค่า factor loading ตั้งแต่ 0.40 ขึ้นไป (ยกเว้นข้อคำถามที่ผู้ทรงคุณวุฒิลงความเห็นว่าจำเป็นต้องมี ข้อนี้ ค่า factor loading อาจต่ำกว่า 0.40) โดยทำการศึกษาความตรงเชิงโครงสร้างถึง 2 ครั้งในการศึกษานี้ โดยลดข้อคำถามจาก 157 ข้อเหลือเพียง 85 ข้อ ในครั้งที่ 1 และจาก 85 ข้อ เหลือเพียง 66 ข้อ (ฉบับสมบูรณ์) และ 15 ข้อ (ฉบับสั้น) ในครั้งที่ 2

4. การศึกษาความตรงร่วมสมัย (concurrent validity) ในการศึกษาครั้งนี้ ได้ทำการศึกษาความตรงร่วมสมัยโดยใช้ ดัชนีชี้วัดสุขภาพจิตของอัมพร โอตระกูล และคณะ จำนวน 12 ข้อ ทำการศึกษาควบคู่กันไปในช่วงเวลาเดียวกัน ผลการศึกษาพบว่า ดัชนีชี้วัดความสุขคนไทย 15 ข้อ กับดัชนีชี้วัด สุขภาพจิตของอัมพร โอตระกูล และคณะมีความสัมพันธ์กันในระดับปานกลาง อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 โดยมีค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์อันดับของสเปียร์แมน (Spearman’s correlation coefficient) เท่ากับ 0.49

5. การศึกษาค่าความเชื่อมั่นของเครื่องมือ (reliability) โดยมีค่า cronbach’s alpha coefficient เท่ากับ 0.70

วัตถุประสงค์

เพื่อประเมินภาวะความสุขของคนไทยในประชาชนทั่วไป ซึ่งจะเป็นแนวทางในการดูแล สุขภาพจิตตนเอง เมื่อผลของแบบประเมินพบว่าอยู่ในกลุ่มที่มีภาวะความสุขต่ำกว่าคนทั่วไป

วิธีการนำไปใช้

ดัชนีชี้วัดความสุขคนไทยนี้ สามารถนำไปใช้กับ

1. ผู้ที่อยู่ในวัย 15-60 ปี โดยไม่จำกัดเพศ

2. สามารถอ่านออก เขียนได้ ในกรณีที่ไม่สามารถอ่านด้วยตนเองได้ อาจใช้วิธีให้บุคคลอื่นอ่านให้ฟัง และผู้ตอบแบบประเมินเป็นผู้เลือกคำตอบด้วยตนเอง

3. สามารถนำไปใช้ประเมินระดับความสุขของกลุ่มคนในหน่วยงาน องค์กรต่าง ๆ หรือคนในชุมชนในช่วงเวลาที่ต่างกัน เพื่อดูระดับความสุขของกลุ่มคนนั้น ๆ เป็นการเฝ้าระวังภาวะสุขภาพจิตขององค์กรนั้นในอีกรูปแบบหนึ่ง โดยควรใช้ประเมินในระดับกลุ่มคนปีละ 1 – 2 ครั้ง

4. ในการนำดัชนีชี้วัดความสุขคนไทยไปใช้เพื่อประเมินซ้ำ ว่าตนเองมีระดับความสุข เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมหรือไม่ อย่างเร็วควรประเมินซ้ำอีก 1 เดือน

การให้คะแนน

การให้คะแนน แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ในการให้คะแนนดังต่อไปนี้



กลุ่มที่ 1 ได้แก่ข้อ   กลุ่มที่ 2 ได้แก่ข้อ
1 2 4 5 6 7 3 8 12
9 10 11 13 14 15

ในแต่ละกลุ่มให้คะแนนดังนี้

กลุ่มที่ 1   กลุ่มที่ 2
ตอบ ไม่เลย 0 คะแนน ตอบ ไม่เลย 3 คะแนน
ตอบ เล็กน้อย 1 คะแนน ตอบ เล็กน้อย 2 คะแนน
ตอบ มาก 2 คะแนน ตอบ มาก 1 คะแนน
ตอบ มากที่สุด 3 คะแนน ตอบ มากที่สุด 0 คะแนน

การแปลผล

เมื่อท่านรวมคะแนนทุกข้อรวมกันได้คะแนนเท่าไร ท่านสามารถเปรียบเทียบกับเกณฑ์ปกติที่กำหนดดังนี้

คะแนน 33-45 คะแนน หมายถึง มีความสุขมากกว่าคนทั่วไป (Good)

คะแนน 27-32 คะแนน หมายถึง มีความสุขเท่ากับคนทั่วไป (Fair)

คะแนน น้อยกว่า หรือเท่ากับ 26 คะแนน หมายถึงมีความสุขน้อยกว่าคนทั่วไป (Poor)

ในกรณีที่ท่านมีคะแนนอยู่ในกลุ่มมีความสุขน้อยกว่าคนทั่วไป ท่านอาจช่วยเหลือตนเองเบื้องต้นโดยขอรับบริการการปรึกษาจากสถานบริการสาธารณสุขใกล้บ้านของท่านได้

ข้อจำกัดในการนำไปใช้

1. เป็นแบบประเมินฉบับสั้น เหมาะสำหรับการประเมินที่ต้องการใช้เวลาไม่มากนัก แต่หากต้องการการประเมินที่มีรายละเอียดมากกว่านี้ สามารถศึกษาโดยใช้ดัชนีชี้วัดความสุขคนไทยฉบับสมบูรณ์ 66 ข้อได้ (หรือดัชนีชี้วัดสุขภาพจิตคนไทย) สำหรับแบบประเมินนี้ เป็นแบบประเมินที่ผ่านการศึกษาในขั้นตอนที่สมบูรณ์และเผยแพร่ในระดับประเทศแล้ว

2. แบบประเมินนี้หากผู้ตอบ ตอบตรงกับความจริงของตนเองโดยไม่มีอคติจะได้ผลการประเมินที่สอดคล้องกับความเป็นจริง

เอกสารอ้างอิง

อภิชัย มงคล วัชนี หัตถพนม ภัสรา เชษฐ์โชติศักดิ์ วรรณประภา ชลอกุล ละเอียด ปัญโญใหญ่. การศึกษาดัชนีชี้วัดสุขภาพจิตคนไทย (ระดับบุคคล). ขอนแก่น : คลังนานาวิทยา, 2544.

การเผยแพร่

อภิชัย มงคล, วัชนี หัตถพนม, ภัสรา เชษฐ์โชติศักดิ์, วรรณประภา ชลอกุล, ละเอียด ปัญโญใหญ่, สุจริต สุวรรณชีพ. “การศึกษาดัชนีชี้วัดสุขภาพจิตคนไทย (ระดับบุคคล).” วารสารสมาคม จิตแพทย์แห่งประเทศไทย 2544 ; 46 (3) : 209-225.

อภิชัย มงคล, วัชนี หัตถพนม, ภัสรา เชษฐ์โชติศักดิ์ และคณะ “การศึกษาดัชนีชี้วัดสุขภาพจิต คนไทย.” การสัมมนาระบาดวิทยาแห่งชาติ ครั้งที่ 15. (22 – 24 พฤษภาคม 2545) นนทบุรี : กองระบาดวิทยา สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข, 2545.

อภิชัย มงคล, วัชนี หัตถพนม, ภัสรา เชษฐ์โชติศักดิ์, วรรณประภา ชลอกุล, ละเอียด ปัญญาใหญ่. การศึกษาดัชนีชี้วัดสุขภาพจิตคนไทย. ใน : การประชุมวิชาสการสุขภาพจิต ปี 2544. นนทบุรี : สำนักพัฒนาสุขภาพจิต กรมสุขภาพจิต, 2544 : 24 – 27.

อภิชัย มงคล และคณะ. การศึกษาดัชนีชี้วัดสุขภาพจิตคนไทย. ใน : บทคัดย่อผลงานวิชาการ สาธารณสุขประจำปี 2544. นนทบุรี : โรงพิมพ์องค์การรับส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์, 2544 : 28-29.

บุคคลที่สะดวกในการติดต่อประสานงานในการศึกษาเรื่องนี้

1. นายแพทย์อภิชัย มงคล รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กรมสุขภาพจิต ถนนติวานนท์ อำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี 11000 Tel 0-1975-1913 Fax 0-2951-1369

2. นางวัชนี หัตถพนม โรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์ ถนนชาตะผดุง อำเภอเมือง จังหวัด ขอนแก่น 40000 Tel 0-4322-7422 Fax 0-4322-4722 0-1661-8735

Preset Colors